3แบงก์เยียวยาเหยื่อโพดุล กฟภ.จ่าย5แสนไฟชอร์ตดับ


เพิ่มเพื่อน    

 

นายกฯ เสียใจหนุ่มขอนแก่นช่วยเพื่อนบ้านหนีน้ำท่วมถูกไฟชอร์ตเสียชีวิต ยันรัฐบาลดูแลครอบครัวเต็มที่ กฟภ.มอบเงิน 5 แสน ธ.ก.ส.-ธอส.-เอสเอ็มอีแบงก์คลอดมาตรการเยียวยาเหยื่อพายุโพดุล พท.ผุด 262 ศูนย์รับบริจาคช่วยผู้ประสบอุทกภัย

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายสราวุธ จันโทแพง อายุ 20 ปี ชาว อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ถูกไฟฟ้าชอร์ตเสียชีวิตขณะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนบ้านขนของหนีน้ำท่วมเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย โดยระบุว่านายสราวุธเป็นผู้ที่มีน้ำใจและเสียสละจนตัวเองต้องแลกด้วยชีวิต ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของนายสราวุธอย่างเต็มที่ และกำชับให้จังหวัดลงพื้นที่ไปดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจของครอบครัวและชาวบ้านด้วย เบื้องต้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมและมอบเงินให้ครอบครัวจำนวน 500,000 บาท 
    นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังตนเอง โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้าเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ส่วนเจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งเตือนหรือตัดไฟตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย พร้อมทั้งขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าในช่วงนี้ยังมีฝนตกและฝนตกหนักต่อเนื่องบางแห่ง จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ตลอดจนกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูสิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน ถนน ระบบไฟฟ้า ประปา พื้นที่การเกษตรให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยจะประเมินความเสียหายร่วมกับจังหวัด หลังจากนั้นกระทรวงพาณิชย์จะดูตัวเลขความเสียหายสำหรับพืชเกษตรแต่ละตัว เพื่อประเมินว่าผลผลิตในปีนี้ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีผลเกี่ยวโยงไปถึงการบริโภคในประเทศและการส่งออก เมื่อสถานการณ์ยุติแล้วคงได้ประเมินเรื่องนี้ต่อไป
    ด้าน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้มอบหมายให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์  รองผู้บัญชาการทหารบก เดินทางลงพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 และ 2 ระหว่าง 2-3  ก.ย.เพื่อให้กำลังใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน พร้อมประเมินและสนับสนุนการฟื้นฟูหลังน้ำลด  โดยเฉพาะการนำข้อห่วงใยของนายกฯ ที่มอบหมายให้หน่วยทหารช่างของกองทัพบก และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกันซ่อมเส้นทางที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ พร้อมกำชับให้จัดชุดแพทย์ทหารจากโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบกออกตรวจสุขภาพประชาชนในทุกพื้นที่ที่น้ำท่วมอย่างทั่วถึง รวมทั้งนำนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ในเรื่องการผันน้ำไปกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งต่อไปด้วย 
    นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ ได้แก่ ข้าวอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่อัตราไร่ละ 1,148  บาท และพืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท 
พม.-มท.ช่วยเหยื่อโพดุล
    นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบสิ่งของแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก พร้อมกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่ และได้ตั้งโรงครัวพระราชทานช่วยเหลือเป็นการเบื้องต้น ขณะที่นายกฯ ได้สั่งการให้ มท.และ พม.ลงพื้นที่ประเมินความเสียหายจากน้ำท่วม
    นายนิพนธ์กล่าวว่าเป็นการดูแลเยียวยาแบบเป็นแพ็กเกจ ซึ่งในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ตนเองดูแล ถือเป็นหน่วยหน้าของการดูแลความปลอดภัยประชาชน รวมถึงการจัดหาอาหาร ที่พักพิง และสำรวจความเสียหายเพื่อให้การเยียวยาความเสียหายในทรัพย์สินและชีวิต และด้าน พม.นายจุติจะเร่งรัดเรื่องการดูแลเยียวยาผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ติดตามกระบวนการสำรวจความเสียหายพืชผลการเกษตรหลังน้ำลด
    ที่ห้องสมุดทักษิณ ชินวัตร ที่ทำการพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี นายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าว เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
    คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้เปิดศูนย์กลางช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ตั้งศูนย์กู้ภัยเร่งด่วน สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2653-4001 และได้เปิดบัญชี เพื่อไทยช่วยไทย รวมใจช่วยน้ำท่วม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาไทยซัมมิท เลขที่ 493-1-08065-7 เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัย นอกจากที่ทำการพรรคเพื่อไทย ใน กทม.จะเป็นศูนย์กลางรับบริจาค และรับสิ่งของช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบภัยน้ำท่วม พรรคยังประสานศูนย์ประสานงาน ส.ส. 136 เขต และศูนย์ประสานงานจังหวัดของพรรคที่ไมได้เป็น ส.ส.เปิดศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้น 262 ศูนย์ทั่วประเทศ 
    ทั้งนี้ วันที่ 3 ก.ย. ตนพร้อมแกนนำพรรคและ ส.ส.จะลงพื้นที่ในจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุบลราชธานี ยโสธร ซึ่งพี่น้องทั้งภาคเหนือและอีสานน่าเป็นห่วง ก่อนหน้าประสบปัญหาภัยแล้ง ตอนนี้ยังเจอภาวะน้ำท่วมอีก ขอให้รัฐบาลเร่งชดเชยจ่ายเงินเยียวยาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมให้มากกว่าปกติ 2 เท่า
    นายการุณกล่าวว่า หลังน้ำลดเรายังมีโครงการที่จะต้องไปช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนอีก  ขณะเดียวกันจะให้สภาหักเงินเดือน ส.ส.ไปช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบภัยน้ำท่วม
    ทั้งนี้ ที่บ้านเลขที่ 28/11 ม.2 บ้านไผ่เก่า คุ้มวัดโพธิ์สิริโสภณ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งศพนายสราวุธ จันโทแพง อายุ 20 ปี ซึ่งเสียชีวิตหลังจากการถูกกระแสไฟฟ้าชอร์ตขณะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนบ้านขนของหนีน้ำท่วม นายสมลักษณ์ กิ่งมาลา รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ภาค 2  พร้อมคณะเจ้าหน้าที่จาก กฟภ.ลงพื้นที่เพื่อเข้าพบครอบครัวของผู้เสียชีวิต รวมทั้งการมอบเงินเยียวยาผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตจำนวน 500,000 บาทแก่ครอบครัวของนายสราวุธ  
    ทั้งนี้ นายเกษม จันโทแพง บิดาของผู้เสียชีวิตกล่าวว่า การที่ กฟภ.นำเงินมาเยียวยาแล้วจบเรื่องนั้นคงไม่ใช่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นครอบครัวสูญเสียอย่างหนัก หากเป็นไปได้อยากให้ กฟภ.เยียวยาคนในครอบครัวต่อไปด้วย ซึ่งอาจจะรับพี่สาวนายสราวุธเข้าทำงานในการไฟฟ้าฯ เพื่อจะได้มีเงินเดือนมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว
3 แบงก์รัฐเยียวยาน้ำท่วม
    วันเดียวกัน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยใน 13 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้มีการพักชำระหนี้เงินต้นเป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมทั้งจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีก 55,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันรายละไม่เกิน  50,000 บาท ปลอดดอกเบี้ย 3 ปีแรก ส่วนที่เหลือคิดอัตราดอกเบี้ย MRR 6.875% และสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูการผลิต วงเงินไม่เกินรายละ 500,000 บาท ระยะเวลาผ่อนนาน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย MRR
     ทั้งนี้ ธนาคารจะสำรวจความเสียหายของเกษตรกรในพื้นที่ได้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งหากพบว่าได้รับความเสียหายสูงจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือพิเศษเพิ่มเติม เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 0.1% โดยเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยสามารถมาติดต่อที่สาขาเพื่อดำเนินการได้ทันที
    นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ได้ประกาศมาตรการเร่งด่วน "โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2562" ภายใต้กรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย  7 มาตรการ อาทิ สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 4.125% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.625% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.625% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้, ส่วนลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส.ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่มหรือกู้ใหม่เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน และยังยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้อง,  กรณีลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้ เป็นต้น 
    นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ธนาคารได้ออก 2 มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จากอิทธิพลพายุโซนร้อนโพดุล ประกอบด้วย 1.มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา พักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ส่วนสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน ออกมาตรการช่วยเหลือพักชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
    2.มาตรการวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0.415% ต่อเดือน ตลอดอายุสัญญา ทั้งนี้รวมวงเงินเดิมแล้วต้องไม่เกิน 15 ล้านบาท ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อนและสามารถใช้หลักประกันบรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน เฉพาะมาตรการที่เพิ่มไม่เกิน 2 ล้านบาท
    สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนเพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจหลังภัยพิบัติผ่านไปแล้ว ธนาคารได้เตรียมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษไว้รองรับ บุคคลธรรมดา 3 ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ย 0.417% ต่อเดือน  หรือ 5% ต่อปี และนิติบุคคลคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษใน 3 ปีแรก เหลือเพียง 0.25% ต่อเดือน หรือ 3% ต่อปี ทั้งนี้สามารถยื่นขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน "SME D BANK" ตลอด 24 ชั่วโมงทั้ง 7 วัน.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"