ถอย...คนละก้าว


เพิ่มเพื่อน    

 

                ก็ยังคงร้อนแรงและต้องจับตากันต่อไป สำหรับข้อพิพาทเรื่องการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ที่แม้ว่าจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาหาทางออกให้กับเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ยังหาทางออกกันไม่เจอะ เพราะแต่ละฝ่ายทั้งภาครัฐกับเอกชนมองต่างมีมุมในเรื่องกฎหมายตามที่ตนเองต้องการ เลยคาราคาซังไม่จบกันสักที เมื่อลองมาดูในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ในประเทศไทยนั้น  กฎหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่ 3 ส่วน คือ 1.พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2.กฎกระทรวง และ 3.สัญญาสัมปทาน ซึ่งในส่วนของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมนั้น ก็เป็นไปตามหลักกฎหมายส่วนใหญ่ที่โดยทั่วไปมักจะเขียนออกมาเป็นภาพกว้างๆ แต่ในรายละเอียดต่างๆ จะอยู่ที่กฎกระทรวงที่ออกตามมา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในรายละเอียด วิธีการ ขั้นตอน และการดำเนินการมากขึ้น

                สำหรับเรื่องรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมที่กำลังเจรจาตกลงกันไม่ได้สักทีนั้น เมื่อดูแล้วไม่ว่าจะตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 กฎกระทรวง และสัญญาสัมปทานต่างมีข้อกำหนดที่เป็นภาพเดียวกัน คือ ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ได้กำหนดประโยชน์ สิทธิ และหน้าที่ของผู้รับสัมปทาน ไว้ในมาตรา 80 แบบกว้างๆ ว่า ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ไม่ว่าสิทธิสำรวจหรือผลิตตามสัมปทานจะสิ้นอายุแล้วหรือไม่ ผู้รับสัมปทานต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเทคนิคและวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดีสำหรับการประกอบกิจการปิโตรเลียมและการอนุรักษ์ทรัพยากรปิโตรเลียม

                ส่วนกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 พ.ศ.2514 ข้อ 15 (1) ก็ระบุว่า เมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานในที่ใด หรือเมื่อสิ้นอายุสัมปทานหรือถูกเพิกถอน ผู้รับสัมปทานหรือผู้ซึ่งสัมปทานสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอนต้องทำพื้นดินและพื้นน้ำให้กลับมามีสภาพเหมือนเดิมเท่าที่จะทำได้ และ (4) ก็ระบุว่า ให้รื้อถอนฐานคอนกรีต โครงก่อสร้างและอาคารที่อยู่อาศัย นำเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุใดที่ไม่ใช้ประโยชน์ต่อไปแล้วออกจากบริเวณหลุมสำรวจหรือหลุมผลิต และเผาเศษปิโตรเลียมในบริเวณนั้นให้หมด เว้นแต่อธิบดีจะสั่งเป็นอย่างอื่น

                 รวมถึง สัญญาสัมปทาน ข้อ 15 (4) ก็ระบุว่า เมื่อสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม หรือสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับการต่อในพื้นที่ผลิตแปลงใด หรือผู้รับสัมปทานคืนพื้นที่ผลิตแปลงใด ทั้งแปลง หรือผู้รับสัมปทานถูกเพิกถอนสัมปทานก่อนระยะเวลาดังกล่าว ผู้รับสัมปทานจะต้องส่งมอบที่ดิน อาคาร ถนน รถไฟ ท่อส่งปิโตรเลียม เครื่องสูบ เครื่องจักร ชานเจาะ ถังเก็บน้ำมัน สถานี สถานีย่อย สถานีปลายทาง โรงงาน ท่าเรือ สิ่งติดตั้ง และเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ อันจำเป็นต่อการสำรวจ ผลิต เก็บรักษา หรือขนส่งปิโตรเลียม หรืออันมีลักษณะที่ใช้เป็นสาธารณูปโภคได้ เช่น ระบบไฟฟ้า ก๊าซ น้ำ สื่อสารหรือโทรคมนาคม ที่เกี่ยวกับพื้นที่ผลิตแปลงนั้นให้แก่รัฐบาลไทยโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ ส่วนทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์มิได้ผู้รับสัมปทานจะต้องรื้อถอนตามที่รัฐมนตรีสั่งให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่สั่ง

                ดังนั้นเมื่อมาดูกันว่าในประเด็นเรื่องกฎกระทรวง ที่ฝ่ายเอกชนไม่ยอมรับนั้น เห็นว่าการออกกฎกระทรวงเรื่องการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมขึ้นมาตามหลัง ไม่ว่าจะเป็นกฎกระทรวงในปี 2555 หรือ 2559 ก็ตาม เรียกได้ว่าเป็นการขยายความตามความใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 เพื่อกำหนดวิธีการดำเนินงานให้ชัดเจนมากขึ้น แต่ไม่ได้ขัดต่อกฎหมายหลักอย่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และไม่ได้สร้างภาระ หรือลดทอนสิทธิของผู้รับสัมปทานแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นเรื่องการวางหลักประกันนั้น การทำธุรกิจอะไรก็ตามแต่ ถือเป็นการวางเพื่อประกันความรับผิดชอบ แต่เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นตามข้อตกลง ก็ต้องมีการคืนหลักประกันทั้งหมดอยู่แล้ว ซึ่งไม่น่าจะเป็นประเด็นอะไรมากนัก

แต่ที่ยื้อกันอยู่และเป็นประเด็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็คงจะเป็นเรื่องสัดส่วนความรับผิดชอบเรื่องค่ารื้อถอนแท่น ที่ต่างฝ่ายต่างก็ยึดถือหลักการของตัวเอง ทำไมเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้สักที จนยืดเยื้อกันมานาน เหลือเวลาอีกแค่เดือนเดียวก็ต้องสรุปกันแล้วว่าใครจะทำอะไรอย่างไร หากแต่ละฝ่ายยอมถอนกันสักคนละก้าวก็น่าจะทันเวลา

เพราะการรื้อถอนแท่นนั้น จากข้อกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น หากภาครัฐต้องการให้รื้อทั้งหมด เอกชนเองก็ต้องเตรียมตัวสำหรับการรื้อทั้งหมดอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการส่งมอบแท่นบางส่วนให้กับรัฐ และเอกชนจะต้องแชร์สัดส่วนค่ารื้อถอนแท่นที่จะส่งมอบนั้น ก็เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกเค้าทำกันอยู่

ยังไงก็ได้แต่หวังว่าเรื่องนี้จะจบลงด้วยดี เพราะดูแล้วถ้ายื้อกันไป ก็ไม่น่าจะเป็นผลดีกับใครสักฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือเอกชน.....

บุญช่วย ค้ายาดี 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"