สั่งผู้ว่าฯจ่ายงบนํ้าท่วมเคร่งครัด


เพิ่มเพื่อน    

 "มท." สั่งผู้ว่าฯ เร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กำชับเบิกจ่ายงบฯ ตามระเบียบเคร่งครัด "ปภ." ส่งสะพานแบริ่งติดตั้งช่วยชาวร้อยเอ็ดสัญจร "กรมชลฯ" เฝ้าระวังปริมาณน้ำเหนือไหลหลาก พร้อมปรับเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา หลังระดับน้ำตั้งแต่ จ.ชัยนาท-อยุธยาสูงขึ้น หวั่นท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ แจ้งชุมชนริมน้ำขนของขึ้นที่สูง "กรมอุตุฯ" เผยยังมีฝนตกต่อเนื่อง

    เมื่อวันที่ 5 ก.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เชิญพวงมาลาหลวงไปวางที่หน้าหีบศพนายสราวุธ จันโทแพง อายุ 20 ปี นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีที่ 2 (ปวส.2) สาขางานโยธา วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ที่ตั้งบำเพ็ญกุศล บ้านเลขที่ 28/11 หมู่ที่ 2 บ้านไผ่เก่า คุ้มวัดโพธิ์สิริโสภณ ต.บ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งนายสราวุธเสียชีวิตเนื่องจากถูกไฟฟ้าชอร์ต ขณะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนบ้านขนของหนีน้ำท่วมจากพายุโพดุล ในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ช่วงเช้าของวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา
    ในการนี้ ครอบครัวจันโทแพง และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพวงมาลา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ครอบครัวจันโทแพงอย่างหาที่สุดมิได้
    ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วมว่า พี่น้องในพื้นที่ภาคอีสานหลายจังหวัดประสบอุทกภัยมากที่สุด โดยเฉพาะ จ.ร้อยเอ็ด ส่งผลให้ถนนหลายจุดมีปัญหาใช้สัญจรไม่ได้ จึงได้สั่งการให้นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถสัญจรติดต่อกันได้
    "ผมได้สั่งให้ ปภ.จัดส่งสะพานแบริ่ง ซึ่งเป็นสะพานเหล็กพร้อมประกอบติดตั้งชั่วคราว โดยส่งอุปกรณ์ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร้อยเอ็ด เพื่อนำไปติดตั้งใช้เป็นสะพานชั่วคราวในพื้นที่ ต.เมยวดี อ.เมยวดี จ.ร้อยเอ็ด ให้พี่น้องประชาชนได้ใช้สัญจรเป็นการชั่วคราว จำนวน 2 จุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้ง เมื่อแล้วเสร็จก็สามารถใช้ได้ทันที" รมช.มหาดไทยกล่าว
    ส่วนนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัด มท. ได้มอบหมายให้นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดฯ เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติตามมติ ครม.ในการแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีนางญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง และ น.ส.นิรมล พานิชพงษ์พันธุ์ ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณเพื่อการบูรณาการเขตพื้นที่ฯ สำนักงบประมาณ พร้อมคณะ ร่วมประชุมด้วย
    นายบุญธรรมกล่าวว่า ได้กำชับให้ผู้ว่าฯ ต้องปฏิบัติตามแนวทางของสำนักงบประมาณอย่างเคร่งครัด และสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยโครงการที่ขอใช้งบประมาณนั้น ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน เช่น โครงการที่เกี่ยวกับการสร้างอาชีพ รายได้ การจ้างแรงงาน ตลอดจนการซ่อมแซม ปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำ การขุดเจาะ เป่าล้างบ่อบาดาล ระบบส่งน้ำ ระบบประปา เป็นต้น และต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อม 
ระวังน้ำเหนือไหลหลาก
    ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำเหนือที่มีปริมาตรมากไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานเฝ้าระวังปริมาณน้ำหลากอย่างใกล้ชิด และการปรับเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไม่กระทบพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรที่ใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.ชัยนาท ลงมาถึงพระนครศรีอยุธยา มีระดับสูงขึ้น รวมทั้งอาจท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ โดยให้แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าก่อนที่จะปรับเพิ่มการระบายแต่ละครั้ง อีกทั้งให้ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ที่ระดับน้ำสูงขึ้น แล้วบรรเทาผลกระทบและช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่สำคัญคือป้องกันพื้นที่เกษตรในคันกั้นน้ำไม่ให้เสียหายเพื่อให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้
    "ย้ำให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปช่วยเหลือประชาชนและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ต้องเข้าไปดูแลตั้งแต่ขณะเกิดภัยและเร่งสำรวจความเสียหายทันทีที่น้ำลด รายงานมายังศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยของกระทรวงเกษตรฯ (วอร์รูมภัยพิบัติ ) เพื่อสรุปสถานการณ์ พื้นที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยและภัยแล้งที่ยังมีบางพื้นที่มีภาวะฝนทิ้งช่วง กำหนดมาตรการช่วยเหลือทุกพื้นที่ประสบภัย" รมว.เกษตรฯกล่าว
    นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า น้ำเหนือปริมาตรสูงสุดจะมาถึง จ.นครสวรรค์ในวันที่ 7 ก.ย.2562 แล้วจึงไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งได้บริหารจัดการ โดยแบ่งน้ำจากแม่น้ำน่านบางส่วนเข้าไปเก็บกักในบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาได้ทดให้ระดับน้ำสูงขึ้นเพื่อให้น้ำไหลเข้าไปในแม่น้ำและคลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่งตามศักยภาพที่จะรับได้เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรริมลำน้ำ จากนั้นจึงระบายออกท้ายเขื่อนเจ้าพระยาโดยวันนี้ระบายในอัตรา 750 ลบ.ม./วินาที โดยยังไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายลุ่มเจ้าพระยาในคันกั้นน้ำ
    "เหตุที่เร่งระบายน้ำ เนื่องจากเป็นช่วงน้ำทะเลไม่หนุน ทำให้ระบายออกอ่าวไทยได้เร็ว และการเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยานั้น กว่าที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ไหลผ่าน จ.อ่างทองและพระนครศรีอยุธยาจะเปลี่ยนแปลงจะใช้เวลา 1-2 วัน เพราะน้ำต้องใช้เวลาเดินทางจาก จ.ชัยนาทมา ขอให้ประชาชนอย่าตระหนกตกใจ เนื่องจากน้ำไม่ได้เอ่อล้นตลิ่งอย่างรวดเร็วทันทีที่เพิ่มการระบายน้ำ" อธิบดีกรมชลประทานกล่าว    
     นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมเช้าวันที่ 5 ก.ย. ที่สถานีวัดน้ำ Y.64 ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เวลา 07.00 น. วัดปริมาณน้ำไหลผ่านได้ 386 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าตลิ่งเพียง 7 ซม. สถานการณ์น้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเริ่มเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งในเขตชุมชนดังกล่าวบางแห่งแล้ว
    “ขอแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ติดกับลำคลองน้ำไหล และแม่น้ำยมสายเก่า-คลองเมม-คลองบางแก้ว ในเขต ต.วังวน ต.พรหมพิราม ต.หนองแขม ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม และ ต.บ้านกร่าง อ.เมืองฯ  ต.บางระกำ ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ และชุมชนที่อยู่บริเวณแม่น้ำยมสายหลักในเขตพื้นที่ ต.บางระกำ ในเขตเทศบาลบางระกำ  ต.คุยม่วง ต.ชุมแสงสงคราม ต.ท่านางงาม ต.ปลักแรด อ.บางระกำ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวขนของไว้บนที่สูง หรือที่ปลอดภัย เพราะอาจเกิดภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมพื้นที่ชุมชนดังกล่าวได้” รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าว
อุตุฯ ชี้ยังมีฝนต่อเนื่อง
    จ.อุบลราชธานี มีน้ำท่วมในพื้นที่แล้ว 22 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ โดยใน 22 อำเภอนี้ได้รับผลกระทบ 102 ตำบล 638 หมู่บ้าน ชาวบ้านได้รับผลกระทบ 12,516 ครัวเรือน บ้านเรือนสูญหาย 562 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 189,000 ไร่ โดยพื้นที่สีแดงที่ต้องเฝ้าระวังและเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม คือ อ.เขื่องใน เกิดน้ำท่วมจากปริมาณน้ำในลำเซบายไหลทะลักเข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ซึ่งพื้นที่นี้ส่งผลให้ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 ซึ่งเป็นถนนสายหลักระหว่างอุบลราชธานี-ยโสธรถูกตัดขาด นอกจากนี้ พื้นที่ อ.โขงเจียม ซึ่งเป็นพื้นที่อำเภอรับน้ำจากแม่น้ำสองสาย คือแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง ปัญหาที่นี้เกิดจากน้ำล้นตลิ่ง ทำให้พื้นที่ริมตลิ่งได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะปริมาณน้ำถึงจะลดลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณแม่น้ำมูลและน้ำโขงว่าจะไหลเพิ่มหรือไม่ เช่นเดียวกับ อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.วารินชำราบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำมูลที่ได้รับผลกระทบ
    จ.อำนาจเจริญ ถนนเลี่ยงเมือง สามแยกสุรวงศ์- สี่แยกดอนแดง น้ำยังคงท่วมขังเป็นวันที่ 7 ซึ่งระดับน้ำในวันนี้ทรงตัวอยู่ที่ 30-40 ซม. เพราะมีน้ำจากอ่างพุทธอุทยานเร่งระบายน้ำผ่านลำห้วยปลาแดก เอ่อล้นไหลท่วมถนนเลี่ยงเมืองตลอดเวลา ทำให้ระดับน้ำไม่ลดลง แม้ฝนจะหยุดตกแล้วก็ตาม รถสัญจรไปมาได้อย่างช้าๆ ส่วนอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยานยังคงมีการระบายน้ำระดับสูงสุด เพราะน้ำในอ่างเกินความจุ ประมาณ 125% จึงต้องมีการระบายน้ำตลอด 24 ชั่วโมง โรงเรียนมัธยมอำนาจเจริญประกาศปิดโรงเรียน 2 วัน คือวันที่ 5-6 ก.ย.62 และโรงเรียนประถมเมืองอำนาจเจริญ ก็ประกาศปิดโรงเรียน 2 วันเช่นกัน เนื่องจากถนนหลายสายถูกน้ำท่วมและบ้านเรือนนักเรียนหลายคนถูกน้ำท่วม ทำให้ไม่สะดวกในการไปเรียน
    จ.หนองคาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังมีฝนตกลงมาตั้งแต่ช่วงเช้า และหยุดตกเป็นระยะๆ ซึ่งจากการที่เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ทั้งในจังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรฯ ทำให้ปริมาณน้ำในลำห้วยหลวงที่มีต้นน้ำมาจากจังหวัดอุดรฯ เป็นลำน้ำสาขาขนาดใหญ่ของแม่น้ำโขงมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้โครงการห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 3 บาน จากเดิมที่เปิดเพียง 2 บาน สามารถระบายน้ำได้วันละ 20 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเร่งระบายน้ำในลำห้วยหลวงลงในแม่น้ำโขง ก่อนที่จะล้นฝั่งเข้าไปท่วมพื้นที่การเกษตรทั้งใน จ.หนองคายและอุดรฯ ที่อยู่ติดกับลำห้วย พื้นที่กว่า 1 หมื่นไร่
    กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 5-11 ก.ย.ว่า วันที่ 5-6 ก.ย. ประเทศไทยยังคงมีฝนต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงวันที่ 7-11 ก.ย. ประเทศไทยมีการกระจายของฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
    สำหรับข้อควรระวังในช่วงวันที่ 5-6 ก.ย. ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนในช่วงวันที่ 7-11 ก.ย. ร่องมรสุมได้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีกำลังปานกลาง
    วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระประธานได้เปิดให้สมาชิกหารือปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล นำเข้าหารือต่อที่ประชุม ส่วนใหญ่ยังคงนำปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ที่เกิดจากฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุโซนร้อนโพดุล โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้เรียกร้องผ่านไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้เร่งช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นโดยเร็ว เพราะประชาชนหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วมตัดขาดเส้นทางคมนาคมจนไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ ขาดแคลนอาหาร-น้ำดื่มและยารักษาโรค ตลอดจนขอให้รัฐบาลเตรียมแผนการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลังสถานการณ์คลี่คลายแล้วโดยเร็วไว้ด้วย.

     


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"