"ภัยออนไลน์ในเด็ก" ปัญหาสังคมยุคดิจิทัล


เพิ่มเพื่อน    

      “ภัยจากโลกออนไลน์ในเด็ก” ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนำมาซึ่งผลเสียทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อีกทั้งนำไปสู่การล่อลวงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ที่สำคัญยังเป็นสาเหตุของการติดเกมติดการพนันที่ทำให้เป็นโรคทางจิต หรือแม้แต่การถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ หรือ “ไซเบอร์บูลลีอิ้ง” (Cyberbullying) ที่พบได้เป็นอันดับต้นๆ ของภัยจากโลกโซเชียล    

      เพื่อเป็นการสะท้อนปัญหาดังกล่าว ในเด็กและเยาวชนไทยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับรู้ ท่ามกลางสังคมโซเชียลที่น้องๆ หนูไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และนำไปสู่การแก้ไขโดยไม่เพิกเฉยนั้น ศูนย์ประสานงานส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (Child Online Protection Action Thailand : COPAT) ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้เผยผลสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ซึ่งทำการสำรวจทางออนไลน์ เมื่อเดือน ก.พ.-เม.ย.2562 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน จากทั่วประเทศ…งานนี้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องได้มาสะท้อนมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวผลสำรวจเกี่ยวกับภัยออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กไทย ตลอดจนทางออกในประเด็นดังกล่าวไว้น่าสนใจ เพราะปัญหาดังกล่าวได้ส่งตรงไปยังห้องนอนของเด็กๆ ที่เล่นมือถือก็ว่าได้

(ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช)

      ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในการใช้สื่อออนไลน์ เผยว่า “จากการสำรวจข้อมูลภัยโลกออนไลน์ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 6-18 ปี ในจำนวน 15,318 คน จากทั่วประเทศ โดยเด็กที่ตอบคำถามนั้น เป็นเด็กในช่วงปฐมศึกษาและมัธยม

      “จากผลสำรวจพบว่าเด็กมัธยมร้อยละ 85 บอกว่า 1 ใน 3 คน เคยถูกกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ หรือ “ไซเบอร์บูลลีอิ้ง” (Cyberbullying) หรือคิดอย่างง่ายๆ ว่าเด็กที่เข้าร่วมการสำรวจนั้น 15,318 คน ในจำนวน 3 ราย มี 1 คน เคยโดนกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าเป็นเด็กในกลุ่มเพศทางเลือก จำนวน 1 ใน 2 ราย เคยถูกล้อเรื่องเพศผ่านทางโซเชียล ที่สำคัญเด็กร้อยละ 40% ที่ถูกเพื่อนล้อจะไม่บอกใคร ซึ่งปัญหาที่ตามมาตรงนี้ คือการที่เด็กจะรู้สึกเครียด เศร้า เพราะต้องเก็บเรื่องที่ถูกล้อไว้ แต่ทั้งนี้ก็มีเด็กบางคนที่รับมือกับปัญหานี้ได้ โดยไม่ให้ค่ากับการถูกล้อ หรือมองเป็นเรื่องขำๆ ที่สำคัญยังพบอีกว่าผู้ใหญ่ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 40

        ส่วนผลสำรวจต่อมานั้นพบว่า เด็กไทยอายุระหว่าง 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน จากทั่วประเทศ ใช้อินเทอร์เน็ต 6-10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 39 ที่ถือได้ว่าเป็นสัดส่วนการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างสูง และส่วนใหญ่เด็กใช้ไปในเชิงของการพักผ่อนและความบันเทิง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 67% ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนในการใช้เพื่อความบันเทิงที่สูงเช่นเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแล้วเด็กในช่วงวัยดังกล่าวไม่ควรอยู่กับโซเชียลนานเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน เพราะข้อมูลทางการแพทย์ออกมาระบุว่า หากเด็กใช้เวลากับโซเชียลนานเกินกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน และติดต่อกันนาน 3 ปี จะทำให้เด็กเสี่ยงต่อการติดเกมสูง 2-3 เท่า ซึ่งคิดร้อยละ 38% อีกทั้งยังกระตุ้นให้เด็กเป็นโรคทางจิตเพราะติดเกมอีกด้วย”

        ดร.ศรีดา กล่าวอีกว่า “เด็กไทยที่เข้าร่วมการสำรวจ อายุ 6-18 ปี ร้อยละ 47% ระบุว่า “เข้าถึงสื่อลามกผ่านทางโลกออนไลน์” ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องเพศได้ และกระตุ้นให้เด็กกระโดดเข้าสู่การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร โดยเริ่มการเข้ารับชม และเซฟเก็บภาพลามกไว้ กระทั่งแชร์ส่งต่อให้เพื่อน ที่สำคัญจะทำให้เด็กถ่ายคลิปตัวเองในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม และส่งให้ผู้อื่นดู นอกจากนี้ เด็กร้อยละ 50% นั้น หรือประมาณ 7,659 ราย จาก 15,318 คนที่เข้าร่วมการสำรวจ ซึ่งเข้าถึงสื่อลามกอนาจารผ่านทางออนไลน์ โดยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่รู้ว่าการที่เซฟภาพลามกอนาจารไว้ดูเป็นเรื่องที่ผิด และเมื่อสอบถามเด็ก บอกว่า ร้อยละ 67 นั้นได้ส่งต่อให้เพื่อนดู

      “จากผลสำรวจที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการให้ความรู้กับเด็ก เพื่อให้เขาตระหนักว่าการเซฟรูปลามกอนาจารไว้ดูคนเดียวก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดแล้ว นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังระบุอีกว่า เด็กร้อยละ 2% เคยถ่ายรูปอนาจารของตัวเองและส่งให้เพื่อนดู ทั้งนี้ เด็กร้อยละ 2% ในจำนวนดังกล่าว เมื่อบวกลบคูณหารจากเด็กที่เข้าร่วมสำรวจจำนวน 15,318 คน จากทั่วประเทศ คิดเป็นจำนวนเด็ก 300 คน ที่มีพฤติกรรมส่งรูปที่ไม่เหมาะสมของตัวเองให้ผู้อื่นดู ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น”

      ประเด็นภัยจากโลกออนไลน์ในเด็กและเยาวชนที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ จากการตอบแบบสอบถามในเด็ก 4,000 ราย เกี่ยวกับการที่ “เด็กนัดพบเจอคนแปลกหน้าที่พบกันในโลกออนไลน์” พบว่าเด็ก 199 คน ในจำนวนเด็ก 4,000 คน กล้าออกไปนัดเจอคนแปลกหน้า และเมื่อออกไปเจอกันแล้ว ก็มักจะได้รับการดูถูกหรือการล้อเลียน และถูกรังเกียจ เนื่องจากรูปในโซเชียลไม่เหมือนกับตัวจริง โดยเด็ก 73 คนที่ออกไปพบคนแปลกหน้าที่นัดเจอผ่านทางโซเชียล ถูกล่วงละเมิดทางเพศคิดเป็น 1.9% และอีก 80 คน ถูกหลอกลวงให้เสียเงินและทรัพย์สิน คิดเป็นร้อยละ 2.1% และอีก 50 คนนั้นถูกหลอกให้ถ่ายคลิปลามกเพื่อไปอนาจาร คิดเป็นร้อยละ 1.3     

      จากปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า คนที่ดูแลนโยบายและเนื้อหาในการใช้สื่อออนไลน์สำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นไปด้วยความเหมาะสม ในการที่เด็กจะสามารถรับชมได้หรือไม่อย่างไร เพราะจากผลสำรวจระบุว่า การที่เด็กใช้อินเทอร์เน็ตเป็นไปเพื่อการพักผ่อนและความบันเทิงเป็นหลัก โดยที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการใช้โซเชียลแต่ประการใด ที่สำคัญเมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจากการใช้อินเทอร์เน็ตแล้วนั้น เด็กหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการตระหนักภัยเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เพราะจากผลสำรวจยังพบอีกว่า เด็กวัยรุ่นร้อยละ 25 นั้น กล้าที่จะออกไปเจอหรือนัดเจอคนแปลกหน้าที่พบกันในโลกออนไลน์โดยที่ไม่บอกให้ผู้ปกครองทราบ”    

      ภัยจากโลกออนไลน์ในเด็กเยาวชนที่พบคือ “การที่เด็กแชร์โลเกชั่น หรือจุดที่ตัวเองเช็กอิน” ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนั้นมักเกิดขึ้นได้อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเด็กได้มีการพูดคุยกับคนแปลกหน้า และมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว มีการถ่ายรูปตัวเอง มีการแชร์โลเกชั่นที่ตัวเองอยู่ ตลอดจนการไลฟ์สด ซึ่งเป็นการเปิดเผยหน้าตาและสถานที่ตัวเองอยู่ ซึ่งพฤติกรรมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 34% ทั้งนี้ ตัวเยาวชนไม่ได้ตระหนักถึงภัยและอันตรายที่จะตามมา.

 

หนังสือแนวทางป้องกัน

คุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์

      “จากผลสำรวจดังกล่าวนั้น เราจึงได้จัดทำ “หนังสือแนวทางป้องกันคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์” ที่เป็นเล่มสีฟ้าขึ้นมา โดยมี 10 ตัวอย่างในการป้องกันระวังเด็กจากการใช้โซเชียล ที่มีเนื้อหาตั้งแต่ภัยคุกคามเล็กน้อย อย่างการส่งดอกไม้เพราะความชื่นชอบ กระทั่งบุกรุกไปหาถึงบ้าน ไปจนถึงภัยร้ายแรงอย่างการพูดคุยผ่านแอปพลิเคชันในโซเชียล และมีการแบล็กเมล์ หากไม่พูดคุยด้วยจะส่งคลิปแช้ตที่เคยคุยกันเพื่อนำไปลงยูทูบ เป็นต้น ซึ่งถ้าเด็กยอมพูดคุยด้วยต่อก็จะนำมาซึ่งการถูกหลอกลวงให้มีเพศสัมพันธ์กัน ซึ่งในหนังสือเล่มนี้จะมีวิธีการรับมือกับภัยดังกล่าว ตลอดจนวิธีที่เด็กจะรับมืออย่างไรกับความเครียด ความกังวล เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายจากการได้รับภัยจากโลกออนไลน์ รวมไปคำแนะนำของคนรอบข้างตัวเด็ก ที่จะช่วยน้องๆ หนูๆ ได้โดยการเป็นผู้ฟังที่ดี และรับฟังปัญหาอย่างจริงใจ อีกทั้งการรับมือการถูกกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ ด้วยการช่วยน้องๆ หนูๆ บล็อกข้อความที่เขียนมา หรือลบข้อมูลเท่าที่จะลบได้ หรือช่วยรายงานไปยังเจ้าหน้าที่ที่ดูแลให้ช่วยจัดการ    

      ที่สำคัญไม่แพ้กันนั้น ผู้ปกครองต้องให้เวลากับลูก เพื่อไม่ให้เด็กอยู่กับมือถือตลอดเวลา หรือกระตุ้นให้เด็กเวลากับโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งผู้ปกครองควรใช้โซเชียลอย่างชาญฉลาด เช่น การไม่ถ่ายรูปลูกของตัวเอง และโพสต์ลงโซเชียล เพราะนั่นจะทำให้ภาพของเด็กถูกนำไปตัดต่อและนำไปใช้ในเชิงของการข่มขู่ และถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กด้านหนึ่งเช่นกัน ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องรู้เท่าทัน”

        ดร.ศรีดา บอกอีกว่า ในปัจจุบันนั้นมีการตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม ทั้งรูปแบบของจิตอาสาในการตรวจสอบ ตลอดจนแอปพลิเคชันจากองค์กรต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการตรวจติดเว็บไซต์ออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม รวมถึงสายด่วนหรือฮอตไลน์ ที่รับร้องเรียนเว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัยต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน แต่ทว่ายังมีข้อจัดอยู่บางประการที่ทำให้การรูปแบบการเฝ้าระวังเหล่านี้ยังใช้งานไม่สบความสำเร็จเท่าที่ควร ประกอบกับปัจจุบันภัยดังกล่าวได้พุ่งตรงไปสู่ห้องนอนของเด็กๆ แล้ว

        “อันที่จริงแล้วรูปแบบเครือข่ายการเฝ้าระวังดังกล่าวก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าไม่มาก เนื่องจากเว็บไซต์ ตลอดจนการติดตามเฝ้าระวังสื่อที่ไม่เหมาะสมจากจิตอาสาต่างๆ นั้น คนมักจะไม่ค่อยรู้จัก นั่นจึงไม่ก่อให้เกิดการแชร์เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมเพื่อให้ผู้อื่นได้รับรู้ไปในวงกว้าง เพราะทุกคนมองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไกลตัว ดังนั้นอันดับที่ 1 จำเป็นต้องมีการโปรโมท หรือประชาสัมพันธ์รูปแบบของการเฝ้าระวังเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นที่รู้จัก 2.สร้างเครือข่ายให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสเว็บไซต์ที่เหมาะสม 3.ผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องมีการจับและปรับจริง สำหรับเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ โดยไปละเมิดสิทธิของเด็กและเยาวชน จึงจะทำให้กลไกลการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ดี ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

(อ.สมพงษ์ จิตระดับ)

 

      ด้าน อ.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว บอกว่า “ถ้าพูดถึงภัยจากโลกออนไลน์ที่พบได้ในเด็กและเยาวชนไทย ภัยของการถูกกลั่นแกล้งในโซเชียล พบมากที่สุด หรือที่รู้จักกันว่า “ไซเบอร์บูลลีอิ้ง” ซึ่งจะทำให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้า แยกตัวเองออกจากกลุ่มเพื่อน กระทั่งทำร้ายตัวเอง และเหตุการณ์เหล่านี้พบรุนแรงขึ้นตามลำดับ อันที่สองนั้นคือ “ความรุนแรงทางเพศ” ที่มาจากการจากเสพสื่อลามกอนาจารของเด็ก นับเป็นสิ่งที่แฝงมากับสื่อออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเด็กเข้าถึงง่ายและเห็นภาพเหล่านี้ได้ง่ายเกินไป และจะนำมาซึ่งปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ อีกทั้งทำให้พฤติกรรมของเด็กเป็นไปในเชิงที่รุนแรงมากขึ้นจากการที่อยู่กับสื่อออนไลน์มากเกินไป

      นอกจากนี้ยังทำให้ “พัฒนาการของเด็กเสีย” เช่น เด็กที่เล่นมือถือมักจะสายตาสั้นขึ้น และสมาธิก็จะสั้นลง ที่สำคัญยังทำให้ “เด็กไม่ออกกำลังกาย” ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพอย่างโรคอ้วน โรคเบาหวานในเด็ก เป็นต้น ที่สำคัญยังทำให้ “ผลการเรียนตกต่ำ”

        แนวทางป้องกันและรับมือกับภัยออนไลน์ในเด็กนั้น ครูอาจารย์ที่เป็นผู้ให้ความรู้เด็กๆ ในโรงเรียนนั้น ควรปลูกฝังเรื่อง “ทักษะชีวิต” ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงสื่อออนไลน์ของเด็กที่ถูกต้องจะมีลำดับขั้นตอนอย่างไร รวมถึงให้ความรู้กับเด็กในการป้องกันตัวเองจากภัยออนไลน์ โดยเฉพาะการไม่เปิดเผยข้อมูลตัวเองกับคนแปลกหน้า เป็นต้น รวมถึงการที่พ่อแม่ที่มีลูกเรียนอยู่ในวัยประถม-มัธยมศึกษานั้น ต้องไม่ปล่อยให้เด็กอยู่กับมือตามลำพัง เพราะการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กกับผู้ใหญ่ต่างกัน ซึ่งผู้ใหญ่จะมีหน้าที่การงานและความรับผิดชอบ ทำให้ไม่สามารถอยู่กับโซเชียลได้ตลอดเวลา และมีประสบการณ์ชีวิตที่มากกว่า เมื่อเล่นก็จะรู้จักพักเบรก ซึ่งต่างกันกับเด็กที่หากเข้าไปเล่นโซเชียลแล้วมักจะติด

        ดังนั้นจึงแนะนำว่าผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กหมกมุ่นอยู่กับมือถือนานเกิน 30 นาที แต่ควรให้ความรักและใส่ใจลูก อีกทั้งต้องหมั่นชวนบุตรหลานพูดคุย เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ และนำไปสู่กิจกรรมอื่นๆทมที่เสริมเข้ามา เพื่อทำให้เด็กไม่ติดอยู่กับโซเชียล เช่น การโหวตว่าเด็กๆ อยากดูภาพยนตร์เรื่องอะไร หรือวันหยุดอยากไปเที่ยวที่ไหน หรืออยากออกกำลังกาย และอยากไปทำงานจิตอาสาอะไรดี เพราะทุกวันพ่อแม่ลูกมีโทรศัพท์มือถือคนละเครื่อง และต่างคนก็ต่างเล่น ที่สำคัญผู้ปกครองควรปลูกฝังความรู้จากการอ่านหนังสือให้กับเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี เพราะนั่นจะทำให้เด็กมีสมาธิ และกลายเป็นคนที่รักการอ่าน อีกทั้งมีคุณธรรมจริยธรรม กระทั่งเมื่อเด็กเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา หรือ ป.5-ป.6 จึงเชื่อมโยงระหว่างการหาความรู้จากหนังสือกับโซเชียลเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อก่อให้เกิดทักษะของการฝึกหัดและลงมือปฏิบัติที่ไปด้วยกันได้”

      อ.สมพงษ์ กล่าวเสริมว่า “การที่บ้านเรามีการตั้งกลุ่มจิตอาสา ในการเฝ้าติดตามสื่อที่ไม่เหมาะสมที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบอาจจะยังไม่เพียงพอ และไม่ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก เพราะโซเชียลค่อนข้างรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดบริบทของครอบครัว และการระบบการศึกษา ศาสนา เป็นแนวทางป้องกันปัญหาโลกออนไลน์ไปสู่เด็กที่สำคัญ และสื่อโซเชียลมีเดียต้องเฝ้าระวังกันเองในการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เหมาะสมไปสู่เด็กและเยาวชน ที่สำคัญภาครัฐต้องเข้ามาดูแลปัญหานี้ และต้องเจ้าภาพหลักในการช่วยแก้ไขปัญหา”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"