แก้เกมชิมช้อปใช้กร่อย


เพิ่มเพื่อน    

              “มาตรการชิม ช้อป ใช้” วงเงินดำเนินการ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเพิ่งส่งออกมา ได้เปิดให้ผู้ประกอบการร้านค้าลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ถึงวันที่ 20 ก.ย.2562 ซึ่งกระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 4 หมื่นร้านค้า โดยแบ่งเป็นร้านอาหารที่มีเลขทะเบียนพาณิชย์ 1.4 หมื่นร้านค้า ร้านอาหารขนาดเล็กในพื้นที่ 1 หมื่นร้านค้า ร้านโอท็อป/วิสาหกิจชุมชน 6 พันราย และโรงแรม/โฮมสเตย์ 1 หมื่นร้าน

                แต่จากข้อมูลยอดการลงทะเบียนของผู้ประกอบการ ถึงวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกอบการสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเพียง 3.3 พันร้านค้าเท่านั้น ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ควรจะมีร้านค้ามาเข้าร่วมลงทะเบียน 500 ต่อวัน จนกลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองว่า มาตรการชิม ช้อป ใช้ อาจจะไม่เปรี้ยง ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงได้ปรับวิธีการไปดังร้านค้าที่เข้ามาลงทะเบียน โดยให้กรมบัญชีกลางและคลังจังหวัดเร่งดำเนินงานเชิงรุก โดยการลงพื้นที่เข้าหาผู้ประกอบการในกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มาลงทะเบียนได้ตามเป้าหมายที่ 4 หมื่นร้านค้า หรือลงทะเบียนเพิ่มเฉลี่ยเป็นวันละไม่ต่ำกว่า 1 พันร้านค้า

                ก่อนหน้านี้ “กรมบัญชีกลาง” ยอมรับว่า มีการปรับเป้าหมายการลงทะเบียนผู้ประกอบการร้านค้าที่จะเข้าร่วมมาตรการลง และหากยังไม่ได้ตามเป้าหมายใหม่ ก็อาจจะมีการพิจารณาขยายระยะเวลาการเปิดรับสมัครผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการออกไปอีก เพื่อรับการใช้จ่ายจากประชาชนที่คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวน 10 ล้านคนได้อย่างแน่นอน

                นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้กระทรวงการคลังจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพิ่มจุดใช้จ่ายจากมาตรการชิม ช้อป ใช้ จากเดิมแค่สินค้าโอท็อป และธุรกิจพื้นเมือง ให้ครอบคลุมถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธรุกิจสปา ธุรกิจเช่ารถ ธุรกิจนำเที่ยว เพื่อให้การใช้จ่ายตอบโจทย์กับมาตรการมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำเสียงตอบรับไปทบทวนรายละเอียดของมาตรการ ก่อนที่จะเริ่มในวันที่ 27 ก.ย.2562

                นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับเงื่อนไขการสมัครให้มีความยุ่งยากน้อยลง จากเดิมที่ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีใบรับรองการจดทะเบียนการค้าจากกระทรวงพาณิชย์ ผ่อนปรนให้ทางจังหวัดที่ร้านค้าดังกล่าวตั้งอยู่สามารถออกหนังสือรับรองการมีร้านค้าจริง หรือเซ็นรับรองในแบบฟอร์มการลงทะเบียนการสมัครมาตรการได้เลย ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีร้านค้าเข้ามาร่วมโครงการเพิ่มขึ้น

                อีกประเด็นที่คาดกันว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ายังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพราะผู้ประกอบการกังวลว่ากระทรวงการคลังจะส่งข้อมูลร้านค้าให้กับกรมสรรพากร เพื่อเข้าไปจัดเก็บภาษี โดยเรื่องนี้ “กระทรวงการคลัง” ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะข้อมูลการลงทะเบียน และข้อมูลการจัดเก็บภาษีเป็นคนละส่วนกัน ดังนั้นจึงจะไม่มีการส่งข้อมูลการลงทะบียนให้กรมสรรพากรอย่างเด็ดขาด เพราะมาตรการนี้เป็นการลงทะเบียนกับธนาคารกรุงไทย จึงไม่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกัน

                ส่วนที่สนใจลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิมาตรการชิม ช็อป ใช้  สามารถลงทะเบียนได้ทาง www.ชิมช้อปใช้.com ตั้งแตวันที่ 23 ก.ย.-15 พ.ย.2562 (วัน/รอบละ 1 ล้านคน) โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย มีบัตรประจำตัวประชาชน และมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน และมีสมาร์ทโฟน เครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีอีเมล โดยต้องกรอกข้อมูล ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล พร้อมเลือกจังหวัดที่ประสงค์จะเดินทางไปใช้สิทธิ ต้องไม่ใช่จังหวัดตามสำเนาทะเบียนบ้าน

                โดยเมื่อลงทะเบียนสำเร็จ ระบบจะยืนยันให้ทราบทันทีว่าลงทะเบียนสำเร็จ และจะแจ้งทางอีเมลให้ทราบอีกครั้ง และภายใน 3 วัน ธนาคารกรุงไทยจะส่งเอสเอ็มเอสแจ้งให้ทราบว่าได้รับสิทธิ และวันที่สามารถไปใช้สิทธิภายใน 14 วัน และดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยจะมีระบบให้ยืนยันตัวตน หลังจากนั้นจะแจ้งวงเงิน 1 พันบาทในเป๋าตัง ช่องที่ 1 และเริ่มใช้งาน และจะมีเป๋าตัง ช่อง 2 เพื่อให้เติมเงินและนำไปใช้จ่าย และได้รับเงินชดเชย (Cash Back) 15% ของจำนวนเงินที่ใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 4.5 พันบาท จากวงเงินการใช้จ่ายไม่เกิน 3 หมื่นบาท. 

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"