ชายอุ๋ยสับวินัยการคลัง!


เพิ่มเพื่อน    

 โพลชี้คนไทยวิตกของแพงค่าครองชีพสูง สะท้อนรัฐบาลไร้น้ำยา บี้ต้องคุมราคาช่วยเหลือปชช.จริงจัง ไม่เชื่อแก้ รธน.แล้วเศรษฐกิจดีขึ้น "ธนาธร" อ้างทำให้ระบบ ศก.เป็นธรรม "หม่อมอุ๋ย" สับวินัยการคลังเหลวแหลกมาก ชม ปชป.เชียร์ประกันรายได้

    เมื่อวันที่ 8 กันยายน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง 1,172 คน สุ่มสำรวจระหว่างวันที่ 3-7 ก.ย.2562 เกี่ยวกับวิตกกังวลของคนไทย “ด้านเศรษฐกิจ” ณ วันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 62.39 ระบุว่าของแพง ค่าครองชีพสูง ส่วนวิธีแก้ไข เห็นว่า ภาครัฐต้องช่วยเหลืออย่างจริงจัง ควบคุมราคา การเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง ประชาชนต้องประหยัด วางแผนการใช้จ่าย ฯลฯ, อันดับ 2 ร้อยละ 35.05 รายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีหนี้สิน ส่วนวิธีแก้ไข มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน ลดดอกเบี้ย แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ต้องหารายได้เสริม ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ฯลฯ 
    อันดับ 3 ร้อยละ 22.75 เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ส่วนวิธีแก้ไข รัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติเข้ามาลงทุน มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเกิดการจ้างงาน ฯลฯ, อันดับ 4 ร้อยละ 16.15 ปัญหาการตกงาน ว่างงาน ส่วนวิธีแก้ไข หาอาชีพเสริม สร้างงานสร้างรายได้ มีนโยบายช่วยเหลือช่วงว่างงาน มีโครงการจัดหางานช่วยเหลือประชาชน ฯลฯ, อันดับ 5 ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 14.22 ส่วนวิธีแก้ไข มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร พยุงราคา มีตลาดกลางในการซื้อขายสินค้า ประชาชนช่วยกันอุดหนุน ฯลฯ
    ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “แก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-6 ก.ย.2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และความเชื่อของประชาชนหากแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ 
    จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.67 ระบุว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รองลงมา ร้อยละ 29.21 ระบุว่าสินค้าแพง รายได้ต่ำ, ร้อยละ 24.13 ระบุว่าเป็นผลกระทบจากภาวการณ์เศรษฐกิจโลก, ร้อยละ 22.54 ระบุว่านักการเมืองไม่สนใจแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง, ร้อยละ 20.79 ระบุว่าราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ, ร้อยละ 13.65 ระบุว่าเป็นผลกระทบจากภัยทางธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม, ร้อยละ 9.60 ระบุว่าประชาชนไม่รู้จักพอเพียง ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นมากเกินไป, ร้อยละ 8.49 ระบุว่าส่งออกไม่ค่อยได้, ร้อยละ 6.03 ระบุว่านักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง, ร้อยละ 3.73 ระบุว่าปัญหาเศรษฐกิจเกิดจากรัฐธรรมนูญไม่ดี, ร้อยละ 2.14 ระบุว่าเศรษฐกิจไม่ดี เป็นแค่ความรู้สึกของประชาชนเอง, ร้อยละ 1.98 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ, ร้อยละ 1.43 ระบุว่าเป็นการปั่นกระแสให้ประชาชนเชื่อว่าเศรษฐกิจไม่ดี และร้อยละ 0.16 ระบุว่าอื่นๆ ได้แก่ ความขัดเเย้งทางการเมืองภายในประเทศ 
ไม่เชื่อแก้รธน.ทำศก.ดีขึ้น
    ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนหากแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.14 ระบุว่าไม่เชื่อเลย เพราะปัญหาเศรษฐกิจไม่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญเลย ขณะที่บางส่วนระบุว่าแก้ไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาล และขึ้นอยู่กับประชาชนมากกว่า รองลงมา ร้อยละ 22.38 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ เพราะถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลน่าจะสนใจ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเป็นการดึงดูดชาวต่างชาติมาลงทุนในประเทศมากขึ้น, ร้อยละ 22.14 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อ เพราะไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับรัฐบาลมากกว่า และเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่อยู่ที่ตัวบุคคลกับนิสัยการใช้จ่ายของคนไทยมากกว่า, ร้อยละ 16.43 ระบุว่าเชื่อมาก เพราะคิดว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น, ร้อยละ 4.13 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ และร้อยละ 2.78 ระบุว่า ไม่แน่ใจ     
    วันเดียวกัน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงการทำงานของรัฐบาลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เป็นการส่งสัญญาณถึงโอกาสที่เพิ่มขึ้นของการลงทุนจากต่างประเทศ และการขยายตลาดการค้าในระดับภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคมีความชัดเจนมากขึ้น อาทิ การมาเยือนของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีนำไปสู่การลงนามระหว่างรัฐบาล 6 ฉบับ ตามด้วยระหว่างสัปดาห์ก็เป็นวาระของการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของกลุ่มประเทศอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมไปเปิดการเจรจาการค้ากับอินเดียช่วงปลายเดือนนี้ มีเป้าหมายขยายการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง 
    ขณะที่เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ครม.เศรษฐกิจได้เห็นชอบแพ็กเกจเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิต สืบเนื่องจากผลกระทบสงครามการค้า(จีน-สหรัฐ) ซึ่งการดำเนินการในรอบสัปดาห์เป็นความตั้งใจของรัฐบาลในการเปิดช่องทางและวางรากฐานเพื่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้เร่งเดินหน้าในทุกทางที่จะเพิ่มโอกาสของประเทศ ทั้งด้านการค้าและการลงทุน และสิ่งที่ได้ทำควบคู่กันไปคือการพัฒนากำลังคนให้มีศักยภาพสอดคล้องกับอุตสาหกรรมในยุค 4.0 และส่งเสริมเอกชนให้มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านการดำเนินงานของหลายกระทรวงร่วมมือกัน 
    ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น พรรคอนาคตใหม่ จัดงานเสวนา “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหน ที่เราอยากอยู่ร่วมกัน” จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญกับปากท้องประชาชน" โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า อัตราการเศรษฐกิจเวลานี้ควรใช้คำว่าชะลอตัว ยังไม่เข้าข่ายถดถอย เพราะเราไม่ได้ติดลบ แต่ช้ากว่าที่เคยเป็น รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพราะประเทศอื่นโตกว่าไทยทั้งหมดในอาเซียน ขณะที่เรื่องความเหลื่อมล้ำนั้น ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 36% แต่ไม่ได้ผิดปกติในอาเซียน ซึ่งไม่ได้ถือว่ามากที่สุด แต่ก็น่าสนใจ
     อย่างไรก็ตาม ในอนาคตที่คาดว่าจะมีปัญหาคือ ไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่จะแก่ก่อนรวย กล่าวคือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนเรารวย ขณะที่ประเทศอื่นอย่างญี่ปุ่น เกาหลี เขารวยแล้ว ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง หากอยากฟื้นให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง ต้องดูเรื่องสินค้าเกษตร ศักยภาพการทำงานของแรงงานไทย และเรื่องธุรกิจขนาดย่อมที่ต้องมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่
    "เรื่องรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีผลกับปากท้องของประชาชนมากนัก แต่จะมีผลโดยตรงต่อการกำหนดอำนาจทางการเมือง ในส่วนของการรวมศูนย์อำนาจ ที่จะจำกัดอำนวจแค่เพียงคนกลุ่มเดียว ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้น แม้จะพยายามตอบโจทย์ในเรื่องของเสถียรภาพทางอำนาจ อย่างไรก็ตาม คิดว่าการแก้ปัญหาโดยการใช้กฎหมายนั้น ไม่สามารถใช้ได้ แต่ต้องเป็นการใช้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนในสังคม ซึ่งวิธีการแก้โดยใช้ยุทธศาสตร์ชาตินั้น เป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงเกินไป และไม่สะท้อนกับความเป็นจริง เพราะมันกว้างเกินไป" ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุ
สับวินัยการคลังเหลวแหลก
    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันนี้ พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ ซึ่งเกิดจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ในส่วนของภายนอก เกิดจากประเทศมหาอำนาจทะเลาะกัน แต่ปัจจัยที่มากกว่านั้นคือปัจจัยภายในที่ทุกคนไม่ได้พูดกัน เพราะรัฐบาลแก้บ้างไม่ได้แก้บ้าง ขอย้อนไปเมื่อตอนปี 57 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจ มีปัญหามากกว่านี้ จีดีพีอยู่ที่ 1% ขณะที่ยอดส่งออกติดลบ งราคาพืชผลตกต่ำ ต้องยอมรับว่าช่วงที่ตนพยายามแก้ เพราะข้าวดึงไม่ขึ้นจากนโยบายจำนำข้าว มีค้างอยู่ 17 ล้านตัน ซึ่งพยายามเร่งข้าว แต่เชื่อไหมช่วงปีแรกที่ตนอยู่ไม่มีการปล่อยข้าวเลย รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เป็นทหาร บังคับเขาไม่ได้ แต่มาขายเอาช่วงปี 59-60 ช่วงนั้นข้าวเสียเกือบหมด รัฐบาลที่แล้วขายข้าวช้าเกินเหตุ จากที่ควรเสีย 3 ล้านตัน แต่ดันไปเสียเกือบหมด
    อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า ตนชอบพรรคประชาธิปัตย์ ตรงที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะกระบวนการประกันรายได้นั้นน่าสนใจ ทั้งชาวนาและชาวสวนยางเปิดบัญชีหมดแล้ว หมายความว่าพอประกันราคาเงินจะเข้าที่ชาวนาเลย ไม่ต้องผ่านคนกลาง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ถือว่าไม่มีความอดทน หรือใจไม่กว้าง และไม่เสาะหาคนเก่งเข้าร่วมทำงานด้วย ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่คอยมองภาพกว้าง วินัยการคลังถือว่าเหลวแหลกมาก ใช้จ่ายไม่มีประสิทธิภาพ ซื้อได้อย่างไร เรือดำน้ำ และเวลาที่ประเทศขาดดุลหลายปี รัฐมนตรีคลังกลับมาแจกเงินให้คนท่องเที่ยว ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเอื้อให้กลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งสืบทอดอำาจ แต่หากได้คนที่เก่งและมีความเป็นผู้นำเป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศก็ยังไปต่อได้ แต่เราไม่ได้มีแบบนั้น ทำให้รัฐบาลพลเรือนในปัจจุบันไปต่อไม่ได้
    นายธนาธรกล่าวว่า คำถามที่หลายคนถามคือก่อนแก้รัฐธรรมนูญ เราแก้ปัญหาปากท้องก่อนไม่ดีหรือ แต่ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาการปากท้องกันอย่างเดียวโดยไม่มีใครกล้าพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่ออำนาจกระจุกตัวอยู่ในมือคนไม่กี่คน จึงเห็นทรัพยากรธรรมชาติมากมายที่ถูกยกไปให้กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ อย่างการใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อกลุ่มทุนโทรคมนาคม หรือการพยายามที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่ได้รับการประมูลธุรกิจปลอดภาษีในสนามบิน จึงอยากชี้ให้เห็นว่าหากประชาชนไม่มีอำนาจ ไม่มีความหมาย นักการเมืองก็ไม่ต้องฟังประชาชน ทรัพยากรต่างๆ ก็ไม่ต้องถูกใช้เพื่อประชาชน ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่ไม่มีประชาชนอยู่ย่อมไม่นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมได้.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"