ฝนไม่ถล่ม‘9จว.’นํ้าเริ่มลด หน่อยบี้ตัดงบเพิ่มเยียวยา


เพิ่มเพื่อน    

 "กรมอุตุฯ" แจง 3-5 วันนี้ยังไม่มีพายุเข้าไทย ฝาก ปชช.ฟังคำเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าเชื่อข่าวลือโซเชียลฯ "ปภ." ระบุ 9 จว.เผชิญอุทกภัยน้ำเริ่มลดลงแล้ว "เฉลิมชัย" สั่งกรมชลฯ เร่งจัดจราจรระบายน้ำชี-มูลลงเจ้าพระยา ห่วงมาพร้อมกันทำ "อุบลฯ-ยโสธร" จมบาดาล "หญิงหน่อย" จี้รัฐบาลตัดงบไม่จำเป็น หันมาจ่ายชดเชยให้ผู้ประสบภัยเพิ่ม "ทวี" ข้องใจ "บิ๊กตู่" ใช้งบ 2 แสนล้านบริหารจัดการน้ำแต่ยังเกิดน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก

    เมื่อวันที่ 8 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงกรณีมีข่าวจะมีพายุอีกลูกหนึ่งเตรียมจ่อเข้าไทย ภาคกลางและใต้เตรียมรับมือ ส่งข้อมูลผ่านสังคมออนไลน์ว่า ขอเรียนว่าในระยะ 3-5 วันนี้ยังไม่มีพายุใดๆ ที่จะเข้าสู่ประเทศไทย และกรมอุตุฯ ได้ติดตามสภาพอากาศในบริเวณทะเลจีนใต้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ถ้ามีสภาพอากาศที่ไม่ดีแล้วมีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย จะแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทันที และขอแนะนำให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสน
    "กรมอุตุฯ และหน่วยงานต่างๆ ได้มีการประชุม วิเคราะห์ข้อมูลและติดตามสถานการณ์ร่วมกันอย่าง
ต่อเนื่อง ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลการพยากรณ์อากาศและการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยราชการเท่านั้น ในการประกาศแจ้งเตือนจะมีรายละเอียด วันและเวลาที่แน่นอน และขอให้อย่าได้ตื่นตระหนกจากข้อมูลที่ไม่ได้มาจากผู้ทำงานรับผิดชอบโดยตรง หรือการส่งต่อกันตามสื่อออนไลน์ต่างๆ" กรมอุตุฯ ระบุ
    ขณะที่นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า อิทธิพลพายุโซนร้อนโพดุลและพายุโซนร้อนคาจิกิ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.ถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ รวม 32 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ กระบี่ ปราจีนบุรี แพร่ นครพนม เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ระนอง เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ น่าน ตราด มุกดาหาร อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ สุรินทร์ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน ชุมพร อุดรธานี สระแก้ว ลำปาง เลย สุโขทัย ศรีสะเกษ และสกลนคร รวม 173 อำเภอ 868 ตำบล 6,279 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล 11 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 359,888 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 25 ราย ผู้บาดเจ็บ 1 คน 
    "ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และนครพนม สถานการณ์โดยรวมระดับน้ำลดลงทุกจังหวัด อพยพประชาชน 4,075 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 24 จุด คือที่ จ.อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี" อธิบดี ปภ.กล่าว
    นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า หลายจังหวัดคลี่คลายแล้ว แต่ยังน่าเป็นห่วงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งลุ่มน้ำชียังท่วมสูง จึงสั่งการกรมชลประทานให้จัดการจราจรน้ำไม่ให้น้ำจากแม่น้ำทั้ง 2 สายไหลไปรวมกันในเวลาเดียวกันที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อที่จะเร่งระบายแม่น้ำชีออกสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด 
    "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยอย่างยิ่ง จึงจะเดินทางไปมอบนโยบายการแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่จังหวัดยโสธรและอุบลราชธานีวันที่ 9 ก.ย.นี้" รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าว
    นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมสูงคือยโสธรและอุบลราชธานี จึงจัดการจราจรน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี โดยลดบานระบายเขื่อนราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อชะลอน้ำจากแม่น้ำมูลแล้วเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีที่มีปริมาตรน้ำมาก ขณะนี้ให้ไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยเร็ว 
    นายทองเปลวกล่าวว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ควบคุมบานระบายที่เขื่อนชนบทและเขื่อนมหาสารคาม เพื่อชะลอน้ำที่จะไปเติมด้านล่าง รวมถึงหยุดการระบายน้ำเขื่อนลำปาว ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จากวันละ 500,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นวันละ 300,000 ลบ.ม. และปรับลดการระบายน้ำผ่านฝายหนองหวาย จากเดิมวันละ 450,000 ลบ.ม. เหลือวันละ 200,000 ลบ.ม. ส่วนเขื่อนวังยางและเขื่อนร้อยเอ็ด ได้ยกบานพ้นน้ำ ในลำน้ำปาวและลำน้ำยังที่น้ำได้เอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ อีกทั้งติดเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมอยู่ในพื้นที่ไหลลงแม่น้ำชีได้อย่างสะดวก ก่อนที่จะไหลไปลงแม่น้ำมูล 
    "แนวโน้มสถานการณ์ลำน้ำชี ที่เขื่อนยโสธร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเขื่อนธาตุน้อย และระดับน้ำที่เขื่อนลำเซบาย จังหวัดอุบลราชธานี แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลประทานติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำทุกเขื่อน บริเวณที่ระดับน้ำในลำน้ำสูงได้นำกระสอบทรายไปเสริมพนังกั้นน้ำ รวมทั้งได้ติดตั้งสะพานชั่วคราว (สะพานเบลีย์) ที่ทางหลวงหมายเลข 3127 บริเวณบ้านหนองกู่ ตำบลหนองไผ่ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ถูกน้ำกัดเซาะขาดพังลง ขณะนี้ติดตั้งสะพานชั่วคราวเรียบร้อย ทำให้ถนนกลับมาใช้สัญจรได้ เป็นการอำนวยความสะดวกและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีเกษตรฯ" อธิบดีกรมชลฯ กล่าว
    ที่ จ.อำนาจเจริญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 06.00 น.ที่ผ่านมา ใน อ.พนา ทางหลวงหมายเลข 2049 พนา (อำนาจเจริญ)-ม่วงสามสิบ-อุบลราชธานี บริเวณสะพานห้วยไผ่ มวลน้ำจำนวนมากได้พัดกัดเซาะคอสะพานขาด ทำให้ถนนขาดเป็นระยะทางยาว จึงต้องปิดการจราจร ห้ามรถทุกชนิดผ่านโดยไม่มีกำหนด
    วันเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำตอนนี้หนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทางคณะเดินทางลงมาอีสานใต้ พบว่าน้ำที่จะไหลออกโขงที่โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มารวมกันอยู่ตรงอีสานใต้ โดยเฉพาะจังหวัดยโสธร ที่มาลงพื้นที่วันนี้ พื้นที่นาถูกน้ำท่วมเกือบหมด เหลือเพียงประมาณ 20% ที่จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ ตนลงมาให้กำลังใจชาวบ้าน พวกเขายิ้มทั้งน้ำตา คือดีใจที่เรามาเยี่ยม อุตส่าห์เตรียมผ้าขาวม้ามาต้อนรับและให้กำลังใจเราให้สู้ต่อไปแทน 
    "ขอเรียกร้องให้รัฐบาลตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป และรวบรวมงบประมาณมาจ่ายชดเชยความเสียหายจากภัยแล้งและน้ำท่วมให้เร็วที่สุดไร่ละ 2,000-3,000 บาท อย่าเกินเดือนหน้า เพื่อให้ชาวบ้านมีเงินทุนเตรียมทำนาปรัง ส่วนระยะสั้นคืออยากให้รัฐบาลดูแลสุขภาพจิตของชาวบ้าน และป้องกันโรคติดต่อที่เกิดจากน้ำท่วมขัง" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
    ส่วน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งด้วย “ระบบประยุทธ์ รวมศูนย์” ที่อาจเป็นการสูญเปล่า!!!  ตอนหนึ่งระบุว่า หลังจากที่มีการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำ ตามระบบนายกฯประยุทธ์รวมศูนย์ แต่ปัญหาก็ยังเป็นเช่นเดิม 
    "ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานบริหารจัดการน้ำ ได้ใช้งบประมาณไปกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งและแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก แต่ยังพบกับปัญหาที่ต้องการแก้ไขยังคงเกิดขึ้นซ้ำซาก ซึ่งรัฐมักอ้างว่าปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้งนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่ตกและภูมิอากาศโลกที่แปรปรวน ดังนั้นแม้รัฐใช้งบบริหารจัดการน้ำไปมากกว่า 2 แสนล้านบาท แต่กลับพบว่าปัญหาน้ำท่วมและแห้งแล้งขาดน้ำไม่ได้เบาบางลงเลย" เลขาธิการพรรคประชาชาติกล่าว.
      


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"