บาทแข็งโป๊กส่งออกระส่ำ คลังตั้งธ.ชุมชน2หมื่นแห่ง


เพิ่มเพื่อน    

 “อุตตม” รับบาทแข็งโป๊กรอบ 6 ปี เลี่ยงไม่พ้นกระทบส่งออกอ่วมเพิ่ม แจงหารือร่วม ธปท. ตลอด ติดตามสถานการณ์ค่าเงินใกล้ชิด "สมคิด” สั่งคลัง-แบงก์รัฐ-กองทุนหมู่บ้าน ระดมสมองผุดมาตรการปลุกเศรษฐกิจฐานราก ก่อนเสนอ ครม.พร้อมดันหมู่บ้านเกรดเอตั้งเป็นธนาคารชุมชน 2 หมื่นแห่ง ด้าน สคร.โอดรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนสุดอืด อยู่ที่ 1.46 แสนล้านบาท ต่ำกว่าแผน 3.5 หมื่นล้าน

     นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า กรณีที่เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30.43 บาทต่อดอลลาร์ ในบางช่วงของการซื้อขาย ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบมากกว่า 6 ปี และตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมาแล้ว 6.9% ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะทำให้กระทบกับการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด
    "ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามการแข็งค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด มีการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องตามข้อมูลและสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น โดย ธปท.ได้มีการหารือกับกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง ในการดูแลตลาดเงินของประเทศให้มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก แต่ยังโชคดีได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่น ซึ่งตอนนี้เรื่องค่าเงินบาทที่กระทบกับการส่งออกเพิ่ม ทาง ธปท.ก็ติดตามดูแลอยู่" นายอุตตมกล่าว
    ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามภาวะเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังและธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และกองทุนหมู่บ้าน กลับไปหาแนวทางในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นองคาพยพเดียวกัน
    นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า ในวันที่ 21 ก.ย.นี้ จะมีการประชุมประจำปี ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ จะให้แต่ละส่วนงานมาเสนอแนวทางในการยกระดับคุณภาพชุมชน เกษตรกร และวิสาหกิจต่างๆ  ให้รับทราบ โดยการทำงานของทุกหน่วยงานจะต้องประสานกัน เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับฐานราก ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทันที
    ทั้งนี้ การทำงานประสานกันของแต่ละหน่วยงานจะต้องเริ่มจากการพัฒนาภาคการผลิตสินค้าเกษตร สินค้าโอท็อป สินค้าชุมชนต่างๆ ที่ต้องใช้การตลาดเป็นตัวนำ โดยจะต้องใช้การทำการตลาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งจะมีภาคเอกชน อย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรให้แข็งแกร่งขึ้น
    “เราจะออกมาเป็นมาตรการตอนนี้ใช้ชื่อแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากก่อน เมื่อได้ข้อสรุปชัดเจน จะมีชื่อมาตรการออกมาอีกครั้ง โดยจะดูว่าจำเป็นต้องใช้งบประมาณเท่าไร ก็จะจัดสรรให้ เบื้องต้นเป้าหมายคือจะยกระดับคุณภาพคนฐานรากทั้งตัวปริมาณและคุณภาพ ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำให้เห็นผลต่อเนื่อง โดยกลุ่มที่จะได้รับการยกระดับจะเป็นกลุ่มคนฐานราก อาจจะรวมถึงกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยก็ได้” นายอุตตมกล่าว
    นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังจะเร่งให้เกิดธนาคารชุมชนได้จริง หลัง พ.ร.บ.ธนาคารชุมชนมีผลบังคับใช้แล้ว รอเพียงกฎหมายลูกที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยคาดการณ์จะสามารถตั้งธนาคารชุมชนที่หมู่บ้านระดับเกรดเอ ที่มีได้ทั้งหมด 20,000 แห่ง จากหมู่บ้านทั่วประเทศ 76,000 แห่ง ซึ่งธนาคารชุมชนจะทำหน้าที่ในการพิจารณาและสินเชื่อที่ได้รับจากธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.กับคนในชุมชนเป็นรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงจุดมากขึ้น เนื่องจากธนาคารชุมชนจะรู้ถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงของผู้กู้
    ขณะที่นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ได้ขอให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนเพื่อช่วยให้มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้น รวมถึงให้พิจารณาโครงการลงทุนเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี 2562 หลังภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจทั้ง 45 แห่ง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2562 ยังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย อยู่ที่ 146,707 ล้านบาท น้อยกว่าแผนที่ตั้งไว้ 181,409 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าหมาย 35,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมเท่านั้น
    ทั้งนี้ หน่วยงานที่เบิกจ่ายต่ำกว่าแผนอย่างชัดเจน ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ลงทุนได้เพียง 966 ล้านบาท น้อยกว่าแผน 4,749 ล้านบาท หรือเบิกได้เพียง 20%, การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงทุนได้เพียง 48%, บมจ.ท่าอากาศยานไทย ลงทุนได้เพียง 62% และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดลงทุนได้เพียง 35%
    นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย- จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ของ กทพ. 
    “สคร.ได้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงเจ้าสังกัดที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจดังกล่าวให้ช่วยกำกับติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ให้ได้ตามเป้าหมาย รวมถึงได้เชิญรัฐวิสาหกิจร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกทางหนึ่งด้วย” นายชาญวิทย์กล่าว.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"