‘มนัญญา’จี้โหวตเปิดเผย แบนหรือไม่แบน3สารพิษ


เพิ่มเพื่อน    

  นายกฯ ชี้แบน 3 สารพิษเกษตรชัดเจน 18 ก.ย. ลั่นต้องทำเปิดเผย "มนัญญา" ค้านโหวตลับบี้เปิดชื่อให้ประชาชนรับรู้ "สุริยะ" หนุนเลิกใช้ แค่รอ กก.วัตถุอันตรายลงมติ 1 ม.ค.63 มีผลทันที

    เมื่อวันที่ 17 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด คือ พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต กรณี น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ จะไปตรวจสอบจากกรมวิชาการเกษตร แต่แตะไม่ได้ ว่าไม่เข้าใจทำไมจะไม่ได้ยังไง ตนถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เปิดเผย การยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด น่าจะมีความชัดเจนในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ จะแสดงรายละเอียดเหตุจำเป็นต่างๆ ในการทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด
    ด้าน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่นั้น จะมีการเสนอเกี่ยวกับเรื่องสารเคมีพิษภาคการเกษตร ต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ซึ่งเอกสารในส่วนนี้ได้เตรียมไว้เรียบร้อยหมดแล้ว ทั้งนี้ การลงมติที่ผ่านมาเป็นการลงคะแนนลับ แต่ในครั้งนี้อยากให้เป็นการลงมติแบบเปิดเผย จะได้รู้ว่ากรรมการจากส่วนราชการใดมีความคิดเห็นอย่างไร เพราะเป็นผลประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่ที่ตัวบทกฎหมายว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง แต่ถ้าไม่มีข้อจำกัด น่าจะเสนอชื่อออกมาเลย
          "ความจริงคนที่ทำก็ต้องรับ ถ้าเกิดเขาต้องการเอาสารพิษ 3 ตัวนี้ไว้ เขาก็ต้องรู้ว่าเอาไว้เพราะอะไร มันมีส่วนดีอย่างไร ก็ต้องออกมาบอกพี่น้องประชาชน เพื่อชี้แจงให้กระจ่างชัด ต้องออกมายอมรับในสิ่งที่เขาทำใช่ไหมคะ" รมช.เกษตรฯ ระบุ
         เมื่อถามว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม แต่ยังไม่เห็นบทบาทของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในเรื่องดังกล่าว น.ส.มนัญญากล่าวว่า "สงสารพี่ไหมล่ะ ต้องทำอยู่คนเดียว เอกสารยังต้องมาตามเอง นี่ขนาดเป็นรัฐมนตรีนะ"
          มีรายงานว่า วันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา น.ส.มนัญญาได้เดินทางไปที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เพื่อทวงถามเอกสารสต๊อกสารพิษในโกดังสินค้าแต่ละแห่งทั่วประเทศไทยว่า ขณะนี้มีเหลือจำนวนเท่าใด เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้รับความร่วมมือ นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลด้วยว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในเรื่องการแบนสารพิษ 3 ชนิดดังกล่าว ปรากฏว่าคณะกรรมการชุดนี้มีทั้งหมด 29 คน มีการลงมติแบบลับทุกครั้ง และมักจะมีกรรมการขาดประชุม โดยผลการโหวตครั้งล่าสุด ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการให้ใช้สารพิษต่อไปนั้น ชนะไปด้วยคะแนน 16 ต่อ 5 เสียง แต่ถ้าหากให้โหวตโดยเปิดเผย และสาธารณชนได้รู้ชื่อผู้ที่ลงมติ คาดว่าคะแนนอาจจะกลับกันแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
    นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ส่วนตัวอยากให้ยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดนี้เช่นกัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นตรงกันว่าควรให้ยกเลิก ซึ่งขอให้เข้าใจว่าคณะกรรมการวัตถุอันตราย ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงาน หากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยและมีมติออกมาให้ยกเลิก สามารถผลักดันเรื่องนี้ให้มีผลได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้นโยบายไปกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วว่าอยากให้ยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าว
    เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรกับสารเคมีอันตรายที่ถูกนำเข้ามาก่อนหน้านี้ นายสุริยะกล่าวว่า ต้องขอดูรายละเอียดก่อนว่าเป็นอย่างไร ขอย้ำว่าเราพยายามจะให้เลิกใช้ เพราะในหลายประเทศยกเลิกใช้สารอันตรายเหล่านี้แล้วเช่นกัน
    ที่รัฐสภา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม แถลงภายหลังประชุมนัดแรกว่า ที่ประชุมได้วางเป้าหมายการทำงานโดยรักษาชีวิตของประชาชน โดยสิ่งที่จะทำเป็นอันดับแรก จะมีการตั้งคณะทำงานชุดเล็กออกไปรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อจัดทำแผนงาน แต่ที่เร่งด่วนและเฉพาะหน้าคือ สารเคมีอันตราย 3 ตัว ประกอบด้วย พาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เพราะอยู่ในความสนใจของประชาชน โดยจะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมารับฟังข้อมูล และลงพื้นที่ที่ประสบปัญหา พื้นที่มีการวิจัยภาคสนามไว้แล้ว 
    ทั้งนี้ กรรมาธิการไม่ได้ศึกษาเฉพาะสินค้าเกษตรในประเทศเท่านั้น แต่จะดูจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่นสินค้าเกษตรจากด่านเชียงของ ประเทศจีน มายังตลาด 4 มุมเมือง โดยดูว่าเครื่องมือ ห้องแล็บ บุคลากรของเรามีความพร้อมมากแค่ไหนในการปกป้องคุณภาพชีวิตคนไทย และยังศึกษาการปรับรูปแบบการทำเกษตรจากวัตถุเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยจะเชิญ 7 องค์กรมาให้ข้อมูล ประกอบด้วย นักวิชาการ กลุ่มเอ็นจีโอ กรมส่งเสริมการเกษตร องค์การอาหารและยา (อย.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
         "เรื่องนี้มีการศึกษามาตั้งปี 55 และมีการลงพื้นที่เจาะเลือดเกษตรกรเพื่อหาสารเคมีตกค้างในร่างกาย แต่พอมีรัฐประหารก็ขาดความต่อเนื่องไป ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องเดินหน้าไม่มีถอย" นายชวลิตกล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"