ลุ้น‘เวิลด์แบงก์’ขยับอันดับ แนะเร่งลงทุนช่วงบาทแข็ง


เพิ่มเพื่อน    

  “คลัง” ลุ้น ต.ค.นี้เวิลด์แบงก์ขยับอันดับทำธุรกิจคล่องให้ไทย หลังหน่วยงานรัฐเร่งปรับกระบวนการทำงานให้ลื่นปรื๊ด “สมคิด” ชี้อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่กลไกสำคัญ โยน ธปท.พิจารณาทิศให้เหมาะสม แนะสร้างความเชื่อมั่นภายในฉวยจังหวะบาทแข็งเร่งลงทุนช่วยเงินอ่อนค่า ด้านคลังห่วงเฟดลดดอกเบี้ยนโยบายทำบาทโป๊กกระทบส่งออกไทยปีนี้สาหัสต่อ

    เมื่อวันที่ 19 กันยายน นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามผลการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) จะประกาศผลการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ในวันที่ 30 ต.ค.2562 โดยคาดว่าการจัดอันดับของไทยในปี 2562 จะได้รับการปรับเพิ่มขึ้น จากปีก่อนที่อยู่ในอันดับที่ 27 โดยไทยยังเป็นรองประเทศในกลุ่มอาเซียนเพียง 2 ประเทศ คือ ประเทศสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 1 ของโลก และประเทศมาเลเซีย ที่อยู่ในอันดับ 10 กว่า โดยภาพรวมเชื่อว่าไทยจะได้รับการพิจารณาปรับอันดับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
    “เราทำตามคำแนะนำของเวิลด์แบงก์ ทำให้คาดว่าจากแนวโน้มการจัดการที่ดีขึ้นนี้ จะทำให้อันดับของไทยจะได้รับการพิจารณาเพิ่มขึ้น แต่การจะบอกว่าได้อันดับที่เท่าไหร่ คงบอกได้ยาก อันดับที่ดีขึ้นเป็นประโยชน์กับประเทศอยู่แล้ว เพราะความสะดวกทางธุรกิจไม่ใช่แค่กับผู้ประกอบการไทย แต่ต่างชาติถ้าเห็นอันดับไทยขึ้น ก็จะเป็นผลบวกกับประเทศไทยด้วย” นายอุตตมกล่าว
    นายอุตตมกล่าวอีกว่า ในปี 2562 ภาครัฐได้ปรับกระบวนการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจในทุกด้าน โดยงานในด้านสำคัญต่างๆ มีความก้าวหน้า ส่วนใหญ่เป็นงานในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชน โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ผ่านเทคโนโลยี ลดจำนวนวัน ลดจำนวนเอกสาร เช่น การจดทะเบียนนิติบุคคล มีความคืบหน้าที่ดี ลดจำนวนวันในการทำงาน, การตรวจแบบการก่อสร้าง ที่ลดจำนวนวันลง
    ทั้งนี้ จากการประชุมพบว่าไทยมีการปรับปรุงชัดเจนในหลายๆ ด้าน น่าจะส่งผลดีกับอันดับของไทย โดยเฉพาะเรื่องที่คาดว่าจะได้รับคะแนนค่อนข้างมาก เช่น การลดค่าใช้จ่ายของการไฟฟ้า ซึ่งทำได้ดี และไทยก็อยู่อันดับที่ 6 ของโลก นอกจากนี้ เป็นเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สินกับกรมที่ดิน ที่สามารถครอบคลุม เชื่อมโยงกว่า 400 สาขาทั่วประเทศ ลดขั้นตอนเรียกเอกสาร รวมทั้งกระบวนการทางศุลกากร ที่มีการใช้ระบบ Pre Arrival Processing เต็มรูปแบบจากปีก่อนที่อยู่ในช่วงนำร่อง และกระบวนการภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมสรรพากรที่ดำเนินการหลายเรื่อง
    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75%-2.00% ว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ไทยจะต้องเร่งดำเนินการ คือการสร้างความเชื่อมั่นภายในประเทศ ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่กลไกที่สำคัญมาก การจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้น อยู่ที่ดุลพินิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องพิจารณาให้ดี
    สำหรับเงินบาทที่แข็งค่าเพิ่มขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่าหลายอย่างมาจากที่ประเทศไทยลงทุนน้อยเกินไป ดังนั้นควรจะถือโอกาสและจังหวะนี้ในการเร่งลงทุนเพื่ออนาคต ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
    “เรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ที่ผ่านมา ธปท.ได้ดูแลมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำได้เองตลอด เพราะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ ต้องมั่นใจในตัวเอง พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังแข็งแรงมาก ยังสามารถเดินหน้าต่อได้ เราต้องสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ไม่ใช่ที่สุดของเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจ ต้องดูปัจจัยหลายอย่างประกอบด้วย” นายสมคิดกล่าว
    นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว และตลาดยังมองอีกว่าปีนี้เฟดจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องนำไปประเมินว่าจะมีผลกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ เสถียรภาพ และการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างไร
     "ในส่วนของกระทรวงการคลัง ยอมรับว่ามีความกังวลว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะมีผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยที่ปัจจุบันไม่ดีอยู่แล้ว ดังนั้น ธปท. ต้องดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมองว่าค่าเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นได้ แต่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศคู่แข่ง และเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพ"
    นายลวรณกล่าวอีกว่า ในส่วนผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น จะมีผลทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ปัจจุบันเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นปัจจัยดังกล่าวจะกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเล็กน้อย ไม่มาก โดยทั้งปี 2562 สศค.คาดการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเฉลี่ยสูงกว่าราคาในปัจจุบันอยู่แล้ว จึงไม่เป็นห่วงในเรื่องนี้
    นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนของไทยในระดับที่ 78% ของจีดีพี เมื่อตัดหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อทำธุรกิจ 12-13% จะทำให้หนี้ครัวเรือนที่แท้จริงอยู่ที่ระดับ 65% ของจีดีพี ถือว่าไม่สูงมากนัก และไม่มีความน่าเป็นห่วง เพราะว่าหนี้เสียของหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับ 3% ซึ่งถือเป็นระดับปกติของหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน ไม่ได้มีนัยแต่อย่างใด
     สำหรับการศึกษาเรื่องการจัดตั้งกองทุนหุ้นยั่งยืน (SEF) ตามที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเสนอมานั้น อยู่ระหว่างการศึกษาว่ามีความจำเป็นต้องมาทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะหมดอายุในสิ้นปีนี้หรือไม่ เพราะ LTF ได้ทำหน้าที่ในการสร้างตลาดทุนให้เข้มแข็งได้ตามวัตถุประสงค์แล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"