หมดเวลายื้อแบนสารพิษ


เพิ่มเพื่อน    

 ไขปมเบื้องหลัง ยื้อแบน 3 สารพิษ เตือนรัฐบาลไม่ทำ เสื่อมแน่!

การแบนสารพิษที่มีความเสี่ยงสูง 3 รายการ คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่หลายองค์กรทั้งสถาบันการศึกษา-หน่วยงานรัฐ-ภาคประชาสังคม-องค์กรอิสระ-นักวิชาการ ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวเรียกร้องมายาวนาน แต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ ท่ามกลางข้อสงสัยของประชาชนจำนวนมากว่า เพราะเหตุใดถึงยืดเยื้อยาวนานเช่นนี้ สุดท้ายถึงตอนนี้ ยังคงติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายจะมีการแบนสารเคมีพิษทั้ง 3 รายการ ได้แบบเด็ดขาดหรือไม่ หลังมีท่าทีจากฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรีคือ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรคภูมิใจไทยที่รับผิดชอบกรมวิชาการเกษตร ยืนยันต้องแบนสารเคมีพิษทั้ง 3 รายการดังกล่าว ขณะที่องค์กรต่างๆ อย่างผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็แถลงล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาย้ำว่า รัฐบาลต้องมีการแบนสารเคมีดังกล่าว ตามมติผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนหน้านี้ ไม่เช่นนั้นอาจจะมีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.เอาผิดได้ แต่ล่าสุดผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 18 ก.ย. ก็ยังไม่มีการลงมติสั่งแบน โดยขอเวลาการพิจารณาอีกรอบ ภายในไม่เกิน 60 วัน หลังได้รับข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร และข้อสรุปจากการหารือร่วมกันของเกษตรกร-ผู้บริโภค-หน่วยงานของรัฐและผู้นำเข้า

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ซึ่งเป็นแกนนำหลักขององค์กรภาคประชาสังคม ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแบนสารเคมี 3 ชนิดดังกล่าว และปัจจุบันก็เข้าไปเป็น กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่ตั้งขึ้นโดยมติเอกฉันท์ของที่ประชุมสภาจะมาขยายไขปม สาเหตุที่การแบนสารเคมีพิษดังกล่าวยืดเยื้อมาร่วม 2 ปีกว่า

                ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี สังเคราะห์ท่าทีของที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 18 กันยายนที่ผ่านมาว่า การประชุมดังกล่าวคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้เรียกประชุม โดยอ้างว่ามีบัญชาจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็มีหนังสือเป็นหลักฐาน โดยนายกรัฐมนตรีขอให้กรรมการวัตถุอันตรายมีการประชุมพิจารณา โดยขอให้มีการหารือ 4 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย เกษตรกร ผู้บริโภค หน่วยงานของรัฐและผู้นำเข้า เพื่อไปพิจารณาใน 3 ประเด็นคือ ปัญหา-ผลกระทบและทางออก โดยกรรมการวัตถุอันตรายได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการภายใต้กรอบ 60 วัน

วิฑูรย์ ย้ำประเด็นสำคัญของผลการประชุมดังกล่าวว่า ผลการประชุมดังกล่าวที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ หากข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ เป็นไปในแนวทางที่จะมีสารทดแทน และมีราคาไม่แพง และสารทางเลือกดังกล่าวจะไม่เป็นอันตราย โดยส่วนใหญ่กรรมการวัตถุอันตรายก็จะมีมติไปตามนั้น แต่ว่า 2 เงื่อนไขดังกล่าวก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ กรรมการวัตถุอันตรายก็อาจจะอ้างได้ว่าสารเหล่านี้แพงกว่า ก็อาจจะอ้างเหตุไม่สั่งแบนก็ได้ อันนี้คือที่เราวิเคราะห์ เพราะมีการเขียนวางไว้แบบนั้น กับประเด็นที่สองคือ ครั้งนี้มีการมอบหมาย มอบอำนาจให้กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้นำเสนอแล้วยังบอกไว้ด้วยว่า โดยส่วนใหญ่ ถ้าข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ ออกมาแบบใด กรรมการวัตถุอันตรายก็มักจะมีมติไปตามนั้น ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวทำให้เราอาจเห็นว่า มันจะแบนได้หรือแบนไม่ได้ต่อไปมันจะง่ายขึ้น หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ้ามีความเห็นชอบให้ต้องทำการแบน ทั้งที่ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯ ไม่เคยเสนอให้แบน เสนอให้แค่จำกัดการใช้เท่านั้นเอง ตอนนี้กลายเป็นว่ากระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเห็นพ้องต้องกัน และล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า ได้คุยกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว โดยนายสุริยะเห็นด้วย ว่าเรื่องนี้ต้องเซย์โน เพราะสังคมเขาเซย์โน แล้วจะไปเซย์เยสได้อย่างไร และจะสู้เรื่องนี้ไปด้วยกัน ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าตอนนี้ก็เห็นด้วยให้แบนแล้ว 3 กระทรวง จากปากคำของนายอนุทิน รมว.สาธารณสุข ตอนนี้ผมจึงคิดว่า โมเมนตัมของการตัดสินใจในเรื่องนี้ ต่อไปนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่จะออกมาแบบไหน ตอนนี้เรายังไม่ทราบ

ที่สำคัญ ในปัจจุบันภายใต้บริบทการเมืองใหม่ ซึ่งไม่ใช่รัฐบาลแบบเดิม ที่เป็นรัฐบาล คสช. แต่ตอนนี้มีการ balance อำนาจในฝ่ายบริหาร และยังมีกลไกฝ่ายนิติบัญญัติคือสภาผู้แทนราษฎร ที่ลงมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ด้วยเสียง 393 เสียง ต่อ 0 เห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร แสดงให้เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งเมื่อไปย้อนดูคำอภิปรายของ ส.ส.จากหลายพรรคการเมืองก่อนที่จะมีการลงมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว ก็พบว่าไปในทิศทางเดียวกัน

...อย่างพรรคภูมิใจไทยจะพบว่า เขาก็ไม่ได้มีนโยบายเรื่องการแบนสารเคมีทั้ง 3 อย่าง เห็นได้จากหากไปย้อนดูตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเรามอนิเตอร์ไว้ตลอดเพื่อดูว่าพรรคการเมืองไหน หาเสียงเรื่องนี้ไว้อย่างไร เราก็จะเห็นมีหลายพรรค เช่น เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ อนาคตใหม่ เศรษฐกิจใหม่ เสนอเรื่องแบนสารพิษที่มีความเสี่ยง แต่พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้เสนอแนวนโยบายนี้มาก่อน แต่พรรคภูมิใจไทยกลับเป็นพรรคการเมืองที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วขับเคลื่อนกันทั้งพรรค โดยดูจากการสื่อสารต่างๆ ของพรรค เช่น เว็บไซต์-เพจ ของพรรคเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีการให้โควตากรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว ที่พรรคภูมิใจไทยมี 4 คน ก็เสนอชื่อตัวแทนจากภาควิชาการและภาคประชาสังคม ก็มองว่ามันเป็นโมเมนตัมทางนโยบายที่สำคัญ

จึงทำให้ผมเชื่อว่า ต่อไปการลงมติของกรรมการวัตถุอันตรายจะไม่เหมือนเดิม คือยังบอกไม่ได้ว่าเขาจะมีมติให้แบนหรือไม่แบน แต่เชื่อว่ามันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

....หลังมติครั้งแรก เกิดจากมีข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขและกรรมการ 4 กระทรวง เสนอให้แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด แต่ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเมื่อ 23 พฤษภาคม 2561 ยืนยันไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว จนต่อมามีแรงกดดันเยอะมากทั้งองค์กรภาคประชาชน 686 องค์กร และหน่วยงานอื่นๆ เช่น องค์กรอิสระอย่างผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงองค์กรด้านสาธารณสุขจำนวนมาก เช่น แพทยสภา  จนเกิดแรงกดดันทำให้กรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งกรรมการก็พยายามฝืน แต่เมื่อกระแสสังคมกดดัน ก็ทำให้กรรมการมีการนัดประชุมหารือเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งที่ประชุมมีมติ 16 ต่อ 5 เสียง ไม่แบนทั้ง 3 ตัว โดยอ้างเหตุผลว่าไม่มีผลกระทบที่ชัดเจน และยังไม่มีสารที่เป็นทางเลือกอื่นมาทดแทน โดยลงมติแบบลับ ทำให้สังคมไม่ทราบได้ว่ากรรมการแต่ละคนออกเสียงอย่างไร

-หากไม่มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ภายในสิ้นปีนี้จะเกิดอะไรขึ้น?

ผมยังนึกไม่ออกเลย แต่มันจะสร้างความเสื่อมศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างร้ายแรง ตอนนี้รัฐบาลเองก็มีปัญหามากพออยู่แล้ว ยิ่งบริหารประเทศมาต่อเนื่องยาวแบบนี้ หากเกิดกรณีดังกล่าว มันจะส่งผลสั่นคลอนต่อรัฐบาลอย่างร้ายแรง จนอาจเป็นจุดเปลี่ยนของหลายเรื่องก็ได้ สำหรับกรรมการวัตถุอันตราย เราพิสูจน์ได้แล้วจากในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา คนเหล่านี้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่พวกคนส่วนใหญ่ที่เป็นตัวแทนมาจากระบบราชการ และตัวแทนจากบริษัทเอกชนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม พวกนี้ก็คงเมินเฉย เพิกเฉยต่อเสียงประชาชนต่อไป คนเหล่านี้จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อฝ่ายบริหารที่กำกับดูแลเขา ดำเนินการหรือสั่งการให้เปลี่ยนเขาถึงจะเปลี่ยน ซึ่งดูเหมือนจะมีสัญญาณเล็กๆ แต่ผมยังจับสัญญาณไม่ได้ว่าเขาจะสำนึก เพราะเขาก็ยังยืนยันจะลงมติลับต่อไป

-ถึงตอนนี้มั่นใจหรือไม่ว่าภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ทุกอย่างจะจบ มีการสั่งแบนสารเคมีพิษทั้ง 3  รายการอย่างเด็ดขาด?

ผมคงยังตอบไม่ได้ แต่ว่าเวลานี้โมเมนตัมมาอยู่ฝั่งที่แบนสารเคมีเรียบร้อยแล้ว ผมคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องแบน นอกจากว่าเขาจะกำหนดกรอบว่าจะแบนกี่ตัว แต่ความเห็นผม เขาต้องมีการสั่งแบนแน่ๆ แต่จะแบนกี่ตัวแล้วจะลากยาวให้กับบริษัทเหล่านั้นออกไปนานเท่าไหร่ จะ 6 เดือนหรือยื้อออกไปอีก 1 ปีหรือไม่ แต่ว่าจะไม่สั่งแบนไม่ได้ ที่ก็ต้องมาดูว่าประชาชนจะยอมรับได้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่น ยังไงก็ต้องไปสู่ทิศทางนี้

...สำหรับที่ให้มีการไปหารือ 4 ฝ่าย เพื่อหาข้อยุติเรื่องปัญหา ผลกระทบ และทางเลือกอื่นๆ หากมีการแบนโดยให้มีตัวแทนจากผู้นำเข้าสารเคมีมาร่วมหารือด้วย ก็มองว่า ท่าทีของนายกฯ ที่มีหนังสือไปถึงกรรมการพิจารณาวัตถุอันตรายดังกล่าว ที่ให้ผู้นำเข้ามาหารือ หาข้อยุติ หาข้อตกลง มันเป็นไปได้อย่างไร มันไม่น่าจะเป็นแบบนี้ แต่อันนี้คือการมองอย่างเลวร้าย แต่หากมองในแง่ดี คำสั่งการของนายกฯ อาจจะเป็นการมองในแง่นี้หรือไม่ คือตอนนี้ไม่ต้องมาพูดถึงเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ตอนนี้ต้องไปดูแลจัดการ เพราะอย่างเกษตรกร ที่เมื่อต้นทุนต่อไปเขาจะแพงขึ้น ผู้ประกอบการสารเคมีที่นำเข้าสารเคมีเข้ามาแล้ว จะจัดการอย่างไร ก่อนหน้าที่จะมีการสั่งแบน เพื่อให้เป็นที่พอใจและยอมรับกันได้ และไม่เกิดปัญหากับรัฐ ถ้าแบบนี้ผมเองก็รับได้ ถ้าจะมีนัยแบบนี้ก็กลายเป็นว่าคนที่สั่งการกรรมการวัตถุอันตราย ที่ประชาชนไม่เชื่อถืออีกแล้ว ตอนนี้มันเหมือนกับกรรมการชุดนี้มันจบไปแล้ว หมดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง ตอนนี้ประชาชนต่างรอว่า รมว.อุตสาหกรรม-เกษตรและสหกรณ์-สาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะดำเนินการมีท่าทีอย่างไร

...โครงสร้างกรรมการวัตถุอันตรายมี 29 คน โดย 19 คนเป็นตัวแทนของหน่วยราชการ และอีก 10 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ สมมุติว่าผู้ทรงคุณวุฒิเขาไม่สนใจนโยบายรัฐบาล แล้วโหวตไปตามสังกัดหรือจุดยืนของตัวเอง ยังไงก็ยังมีเสียงเกินมาอีกถึง 9 เสียงสำหรับการแก้ปัญหานี้ ก็จัดการได้ตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ยื้อมาตั้งเกือบ 2 ปีครึ่ง

เมื่อถามว่าหากมีการสั่งแบนแล้วเกษตรกรจะได้รับผลกระทบอย่างไร จะมีสารเคมีใช้ในการทำเกษตรฯ หรือไม่ วิฑูรย์-ผอ.ไบโอไทย มองว่า ต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจริงๆ ควรต้องเริ่มตั้งแต่ตอนที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้แบน เมื่อ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา แต่เราก็แปลกใจว่าทำไมข้าราชการถึงไม่ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อประชาชน ทั้งที่จากข้อมูลที่พบ มีทางเลือกอื่นๆ เต็มไปหมด แล้วที่มาอ้างว่าจะไม่มีทางเลือกหากมีการแบน ผมก็อยากให้ลองไปดูประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย ผู้นำเขาบอกเลยว่า แบนแล้วไม่ต้องกลัว จะมีทางเลือกอื่นที่มีประสิทธิภาพ แล้วยังมีอีกร่วม 50 ประเทศที่เขาสั่งแบนไปเรียบร้อยหมดแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องหามาตรการในการปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องเป็นฝ่ายรับภาระจากโครงสร้างทางนโยบายนี้

ระบบราชการ ตัวยื้อแบนไม่สำเร็จ

 -พอจะสรุปได้ไหมว่าการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว ที่มันยืดเยื้อมา 2 ปีกว่า เกิดจากอะไร?

ปัญหาใหญ่อยู่ที่ระบบราชการ ตอนที่เราเริ่มทำเรื่องนี้ เรามีการมอนิเตอร์ความเห็นของประชาชน ก็พบว่าด้านหนึ่งก็มีการโทษนักการเมือง ซึ่งผมก็คิดว่าก็เป็นความจริง ต้องยอมรับว่านักการเมืองจำนวนมากเข้ามาสู่อำนาจได้โดยการสนับสนุนของบริษัทยักษ์ใหญ่และบริษัทที่ค้าขายสารเคมี

                “ผมบอกก็ได้ว่ามีนักการเมืองใหญ่คนหนึ่ง เคยสารภาพว่าตัวเองเคยได้รับการสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับบริษัทสารเคมีเหล่านี้ ที่ผมขอไม่เอ่ยชื่อ แต่บัดนี้นักการเมืองคนนั้นบอกว่าสิ่งที่เขาทำไปคือความผิดพลาด สิ่งที่ประชาชนตั้งคำถามต่อนักการเมืองเป็นความจริง”

...แต่อันที่ 2 ที่ประชาชนเห็นชัดเจนมากขึ้นในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็คือ ตัวระบบราชการ ให้พูดแบบตรงไปตรงมาก็คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และกรรมการวัตถุอันตราย โครงสร้างของระบบราชการ และกลไกเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบริษัทค้าสารเคมีมาโดยตลอด ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม และเรามีหลักฐานหมด ว่าผู้เล่นของระบบราชการที่เป็นกระบอกเสียงในการสนับสนุนให้ใช้สารเคมีเหล่านี้มีความสัมพันธ์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอย่างไร เราไล่มาได้เลยทีละคน ไล่ได้เป็นฉากๆ ระบุตัวบุคคลเลยก็ยังได้

...อย่างผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืชของกรมวิชาการเกษตร คนหนึ่งตอนนี้เป็นนายกสมาคมแห่งหนึ่งด้านวัชพืช มีที่ตั้งอยู่ในกรมวิชาการเกษตร ดำเนินงานกิจกรรมของตัวเองโดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกลุ่มบริษัทพวกนี้ และยังมีนักวิชาการในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่ออกมาบอกว่าสารไม่ตกค้าง เมื่อลงไปในดินจะเสื่อมฤทธิ์ทันที จะเป็นไปได้อย่างไร จุลินทรีย์ 80-90 เปอร์เซ็นต์ถูกทำลาย หลังฉีดพ่นไป 1 เดือนแล้วตกค้าง ยังไปเจอในปลา ในนา และถึงกับเจอในทารก เข้ามาสู่ทารกได้อย่างไร ขนาดแม่ของทารกเขาไม่เคยเข้ามาอยู่ในพื้นที่เกษตร แล้วคุณพูดไปแบบนั้นได้อย่างไร แบบขาดความรับผิดชอบ ต่อมาก็พบว่านักวิชาการคนนี้อยู่ในคณะของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ค้าพาราควอต แล้วเดินทางไปมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อไปกดดันต่างๆ

และกรรมการวัตถุอันตรายที่ลงมติไม่แบนสารเคมีในการประชุมนัดที่ 2 ที่พิจารณาเรื่องนี้แล้วลงมติ 16 ต่อ 5 เสียง ทางกรรมการวัตถุอันตรายอย่างน้อย 3 คนในห้องนั้น ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทค้าสารเคมี 3 ชนิดดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็กลายเป็นเรื่องของระบบราชการนั่นเอง แล้วข้อมูลที่เสนอออกมา จริงๆ ในกระทรวงเกษตรฯ ก็มีข้อมูลที่บอกว่ามีทางเลือกต่างๆ มากมาย มีคนอย่างนายอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ซึ่งจบการศึกษาจากต่างประเทศ เป็นบุตรชายอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นบุตรชาย ดร.อำพล เสนาณรงค์ อดีตองคมนตรี โดยสิ่งที่เขาพูดและเสนอ พบว่ากลับไม่ถูกนำไปเสนอให้กรรมการพิจารณาวัตถุอันตราย โดยก่อนหน้านี้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีต รมช.เกษตรฯ ในรัฐบาลชุดที่แล้ว เคยขอให้ ผอ.อัคคพล มาช่วยเพื่อเสนอทางเลือก และทำรายงานเสนอไปยังกรรมการวัตถุอันตราย แต่ที่ประชุมกลับไม่ได้เอาเอกสารนี้ไป และไม่รู้วาตอนนี้เอกสารหายสาบสูญไปไหน

...เรื่องนี้นักการเมือง ผู้บริหารประเทศ ที่มาจากระบบราชการแบบนี้ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย แล้วก็ยังมีเรื่องของ connection อย่างคนที่ได้รับการผลักดันให้เข้าไปเป็น ส.ว.ชุดปัจจุบัน หากลองไปตรวจสอบประวัติดูก็จะพบว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร คือเรื่องของฝ่ายการเมือง ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธ ทุกคนก็เห็น เพราะนักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจ แน่นอนเขาต้องการกลุ่มทุนสนับสนุน แต่เมื่อประชาชนลุกขึ้น เขาไม่ฟังเสียงประชาชนไม่ได้ เพราะเขาจะหมดอนาคตทางการเมือง

ปมเหตุ 'มนัญญ' นำทัพแบนสารพิษ

วิฑูรย์-ผอ.ไบโอไทย ยอมรับว่าตัวเขาก็ไม่เคยคาดคิดว่าคนอย่าง รมช.เกษตรฯ-มนัญญา ไทยเศรษฐ์ จะลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ พูดได้เลยว่าตอนที่เขาประกาศท่าทีเรื่องนี้ครั้งแรก ทางไบโอไทยก็แสดงท่าทีผ่านเฟซบุ๊กของเรา ว่ามันตีความได้หลายอย่าง หนึ่ง อาจจะให้แบนสารเคมีจริง กับสอง คือมันเคยมีกรณีแบบนี้ คือใช้กรณีการแบน เพื่ออัพให้มีการต่อรอง เคยมีกรณีแบบนี้ นักการเมืองเคยทำแบบนี้ แลกเปลี่ยนเรื่องผลประโยชน์ ต้องดูกันนานๆ แต่ก็พบว่า คุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ไม่ได้ทำแค่นั้น สิ่งที่ได้ใจประชาชน ก็คือการที่รัฐมนตรีหญิงคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มของนักการเมืองที่เป็นโมเดล แต่สิ่งที่เขาอธิบายชัดเจนมาก สิ่งที่เขาอธิบายถึงเหตุผลที่เขาผลักดันเรื่องนี้ ตอนที่ตัวแทนกลุ่ม 686 องค์กรไปพบเขาที่กระทรวงเกษตรฯ เขาบอกว่า ตอนที่เขาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เขารู้ เขาเห็น เขาไปงานศพแล้ว งานศพเล่า คำบอกเล่าของเจ้าภาพล้วนแล้วแต่ จำนวนมาก มาจากผลกระทบเรื่องสารเคมี เขาบอกว่าเขาตั้งข้อสงสัย ว่าทำไมมันไม่แบนเสียที

...ถ้าจะสรุปก็คือว่า บทบาทของพรรคการเมืองที่เราเห็นทั้งหมด ที่ต้องทยอยมาแสดงบทบาทตอนนี้ ว่าไม่เอาสารเคมี ทั้งการแสดงออกโดยตรงและโดยอ้อม และ ส.ส.หลายคนก็แสดงบทบาทนี้ไปในทิศทางเดียวกัน ผมว่าท้ายสุดมันเกิดขึ้นจากประชาชน การเปลี่ยนแปลงของนักการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นแบบลอยๆ แต่เกิดจากประชาชนตื่นขึ้น และเมื่อเขาตื่นขึ้น มันจะหยุดไม่ได้ หยุดลำบาก แล้วการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิด

-สรุปว่าสาเหตุที่การแบนสารเคมีทั้งสามชนิดยืดเยื้อมาเป็นปีๆ ก็มาจากระบบราชการที่เกรงใจผลประโยชน์กลุ่มทุน?

ก็เรื่องของผลประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ผมอยากยกตัวอย่าง คือผมจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบด้านพืชไร่ ซึ่งคนจบด้านนี้ต้องเชี่ยวชาญด้านวัชพืชหรือการกำจัดวัชพืช  อันนี้ในภาคการผลิต และอีกส่วนหนึ่งคือการเติบโตเป็นนักบำรุงพันธุ์ ต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้

ผมพบว่าเพื่อนฝูงของผมก็ไปประกอบธุรกิจสายสารเคมี และอีกส่วนหนึ่งไปอยู่ระบบราชการ โดยก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันโดยส่วนตัวด้วย อันนี้ผมตัดเรื่องผลประโยชน์ออกไปเพราะได้พูดไปแล้ว ดังนั้นสิ่งที่แวดล้อมโดยกลไกของรัฐกับบริษัทเอกชน จึงมีความสัมพันธ์ทั้งโดยความสัมพันธ์ส่วนตัว ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยระบบการศึกษาที่เป็นเรื่องของเพื่อนฝูง แต่ไม่ได้ยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศ ของเกษตรกรและคนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง มันมีจริง ผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัวนั้นทั้งแบบโดยตรงและโดยอ้อม

“โดยอ้อมก็คือเขาเอาเงินมาสนับสนุนคุณให้ทำกิจกรรม ทำงานวิจัย ซึ่งเราก็มีข้อมูลหมดว่ามีใครบ้าง ส่วนโดยตรงก็คือการทำโดยการจ้างมาเป็นที่ปรึกษา มาเป็นตัวแทนเลย หรือหากบางคนออกจากราชการมาแล้ว เขาเห็นว่าผลงานดีก็ให้มาเป็นนายกสมาคมค้าสารเคมีเลย  แบบนี้ก็มี ตอนนี้มันกำลังเข้าสู่จุดนี้ ปัญหาที่ยังแบนสารเคมีไม่ได้ในตอนนี้ เข้ามาสู่ระบบที่ว่าระบบราชการคือปัญหาใหญ่ บวกกับกลไกทางนโยบายที่ให้อำนาจระบบราชการในการตัดสินใจ”

เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องประเมินตัวเองในฐานะผู้นำรัฐบาล ว่าที่ผ่านมาได้ช่วยแก้ปัญหาหรือยืดปัญหาเหล่านั้นออกไป หรือว่ามันกลับยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา ตอนนี้ยิ่งการที่ประชาชนลุกขึ้นพูด ผมเกรงว่าจะไม่ใช่แค่ว่าท่านยื้อ แต่จะเห็นว่าท่าน-ในความเห็นของผม-คือท่านอาจจะเป็นปัญหาเสียเอง

ชงออก 'พ.ร.ก.' ยุติยื้อแบนสารพิษ

วิฑูรย์-ผอ.ไบโอไทย ที่วันนี้ไปขับเคลื่อนเรื่องการแบนสารเคมีพิษผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยการเข้าไปเป็น กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการศึกษาและขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าวของ กมธ.ว่า  จากที่ได้เข้าร่วมประชุมคณะ กมธ.ครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ากรรมาธิการหลายคนได้พูดในที่ประชุมที่มีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกัน คืออยากเห็นการยกเลิก แต่เขาก็อยากเห็นการหาทางเลือกให้กับเกษตรกร และหลายคนพูดตรงกันมากว่าไม่อยากเห็นการเกิดวังวนในเรื่องสารเคมี คือไม่ใช่สั่งแบนพวกนี้แล้วก็ต้องไปเอาสารเคมีตัวอื่นมาแทน แล้วใช้ไปสักพักก็มีปัญหาอีก แต่ต้องไปสู่ระบบเกษตรปลอดภัยยั่งยืนกว่านี้ ซึ่งก็จุดยืนตรงกันกับ กมธ.ที่มาจากภาควิชาการ ประชาสังคม ที่เราก็จะทำงานเต็มที่ในเรื่องนี้ ผมก็มองว่าการแสดงบทบาทของพรรคการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัญหาเวลานี้ เกิดขึ้นกับฝ่ายบริหาร เกิดจากกฎหมายที่วางโครงสร้างกรรมการวัตถุอันตรายไว้แบบนี้ เราจะสามารถผ่าทางตันด้วยกระบวนการทางนิติบัญญัติ ซึ่งกรรมาธิการก็มีอำนาจในการเสนอแนะเรื่องนี้ได้

ตอนนี้ก็มีข้อเสนอต่างๆ มากมาย เช่น การเสนอให้ออกเป็นพระราชกำหนด หากกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ยอมแบน ก็มีกรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์เสนอ โดยก็มีกรรมาธิการจากพรรคอื่นเสนอด้วย มีการหยิบยกมาพิจารณาด้วย

...ข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญฯ ก็จะมีสองระดับ คือเฉพาะหน้าที่จะให้แบนสารเคมีแน่ๆ กับระยะยาว คือเรื่องของการหาทางออกทางกฎหมายในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งหากสภาได้แสดงออกว่าเขารับผิดชอบต่อปัญหาใหญ่ของประเทศ อนาคตของประเทศ และปากท้องชีวิตของเกษตรกร ผมคิดว่ามันจะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของระบบการเมืองในรัฐสภา หลังประชาชนจำนวนหนึ่งเคยตั้งคำถามในเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้ เรื่องนี้อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างความหวังการพัฒนาประเทศโดยระบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆ คือรู้ร้อนรู้หนาวต่อปัญหาของประชาชน

.................................

เปิดสารพัดวิธี สกัด-ขัดขวาง-ข่มขู่ หวังหยุดแนวร่วมต้านสารพิษ

วิฑูรย์-ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย ที่ขับเคลื่อนเรื่องการสั่งแบนพาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตมาร่วมสองปีกว่า พูดถึงแนวทางการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมที่ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนาน จนปัจจุบันมีเครือข่ายแนวร่วมจำนวนมากร่วม 686 องค์กรว่า ที่มาที่ไปของการรวมตัวกันเกิดขึ้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2561 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการทำงานของพวกเรา ที่มีกลุ่มบุคคลจำนวนมากมาร่วมลงชื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหว

...จุดเริ่มต้นมาจากการที่ข้อเรียกร้องให้มีการแบนสารเคมีทั้งสามชนิด มันเริ่มกลายเป็นประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเจ็บป่วย ไม่ใช่แค่องค์กรท้องถิ่น แต่มีประชาชน ผู้บริโภคที่ส่งข่าวสารความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ มีหมอ มีนักวิจัยในมหาวิทยาลัยที่ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่มาเคลื่อนไหวลักษณะแบบนี้ และไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยแห่งเดียว แต่มีหลายมหาวิทยาลัยเช่นมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่นักวิชาการจุดประเด็นเรื่องสารตกค้าง แล้วก็ยังมีมหาวิทยาลัยมหิดลที่พูดถึงสารตกค้างในมนุษย์ หรือสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ในทางวิชาการถือว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องมะเร็ง โรคที่เกิดขึ้นจากสารต่างๆ ถือว่าเป็นผู้นำในการวิจัยระดับโลก เป็นต้น และยังมีนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของชาติ มีแพทย์ อย่างศาสตราจารย์ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผมจำ key word ของหมอธีระวัฒน์ได้เลยในตอนนั้น ที่บอกว่า "หากแบนสารเคมีเหล่านี้ไม่ได้ สังคมไทยก็สิ้นหวังแล้ว" ซึ่งทำให้สังคมตื่นขึ้นมา และเห็นแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองของขั้วการเมืองใดขั้วการเมืองหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกกลุ่ม

หลังมีมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งแรกที่ไม่แบนสารเคมีทั้ง 3 สาร วันที่ 4 มิถุนายน  2561 เราจึงเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนมติดังกล่าว ซึ่งการที่คนลุกขึ้นมาก็เพราะคนในสังคมไม่สามารถยอมรับได้กับมติของกรรมการวัตถุอันตรายที่ไม่ยอมแบน โดยมาอ้างว่ามันไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคน จึงทำให้คนมารวมตัวกันในวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ซึ่งทุกวันที่  4 มิถุนายนก็คือวันสิ่งแวดล้อมโลก จนเป็นประเด็นใหญ่เพราะความไม่พอใจของประชาชนหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับมติการไม่แบนสารเคมีของกรรมการวัตถุอันตราย จึงทำให้กลุ่มต่างๆ มาร่วมลงชื่อกันจำนวนมากจนเป็น 686 องค์กร

วิฑูรย์ เล่าถึงการก่อตัวของเครือข่ายภาคประชาชนดังกล่าวต่อไปว่า การเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแบนสารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในกรุงเทพฯ แต่มีการเคลื่อนไหวพร้อมๆ กันในจังหวัดต่างๆ ร่วม 50 กว่าจังหวัดพร้อมกัน ซึ่งประชาชนแต่ละจังหวัดจัดตั้งรวมตัวกันเอง จึงทำให้รายชื่อที่ร่วมสนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีมากและหลากหลาย เราจะเห็นได้เลยว่ามีกิจกรรมของประชาชนหลายกลุ่มที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มากมาย และไม่ได้มาจากแค่ส่วนกลางหรือนักวิชาการส่วนเดียว แต่เกิดจากประชาชนในท้องถิ่นที่เขาเจอปัญหา เช่นเขาเข้าไปในสวนหรือพื้นที่เกษตรซึ่งมีการฉีดพ่นสารพิษได้ หรือเขาไปเจอเห็ดขึ้นในสวนยาง โดยเขาเห็นว่ามีการฉีดสารเคมีเหล่านี้ แต่เขาก็คิดว่าแม้เขาจะไม่เก็บไปกิน แต่คนอื่นมาเห็นก็อาจนำไปกิน เขาต้องใช้เท้าขยี้ทิ้งเลย อย่างนี้เป็นต้น และที่สำคัญในหลายจังหวัดชาวบ้านเดินไปในท้องทุ่งแล้วเกิดมีแผลขึ้นมา ออกมาก็กลายเป็นแผลเรื้อรังจนกลายเป็นโรคเนื้อเน่า ซึ่งชาวบ้านก็สรุปกันว่าเกิดจากการใช้สารเคมี แบบนี้เป็นต้น จึงเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมาจากท้องถิ่นด้วย อันนี้คือสิ่งที่เราเห็น

...เราเห็นจังหวัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้เช่นจังหวัดอำนาจเจริญ ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งเป็นเขตปลอดยาฆ่าหญ้า 40-50 ตำบล ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดจากความเดือดร้อนของชุมชนท้องถิ่นและชาวบ้าน พลังในการเคลื่อนไหว เราจึงเห็นพลังของคนจากทุกระดับ

อย่างตอนที่หมอธีระวัฒน์จะถูกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตอนแรกมีข่าวจะตั้งกรรมการสอบ แต่เขาใช้คำใหม่ว่าสืบหาข้อเท็จจริง เป็นสิ่งที่คนในสังคมรับไม่ได้ เพราะอาจารย์ธีระวัฒน์เผยแพร่ความจริง แต่กลับจะมาถูกสอบจากมหาวิทยาลัย ก็ไม่รู้คิดได้อย่างไร แล้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้เองที่เป็นสถาบันการศึกษาที่เผยแพร่ผลงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ของจุฬาฯ ว่า สัตว์น้ำในทะเลเช่น ปู ปลา หอย ที่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมมีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน แต่กลับจะมีผู้บริหารที่เป็นใครก็ไม่ทราบจะให้มีการตั้งกรรมการสอบสวน แบบนี้คนก็รับไม่ได้

ผมเห็นประชาชนที่มาร่วมให้กำลังใจหมอธีระวัฒน์เมื่อ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็พบว่าไม่ได้มาจากประชาชนทั่วไปอย่างเดียว แต่เป็นประชาชนผู้บริโภคที่มีฐานะเข้ามาร่วมด้วยจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่ากระบวนการเคลื่อนไหวแพร่หลายไปมาก ผมท้าทายเลยว่าถ้ามีการทำโพลสำรวจประชาชนทุกกลุ่ม เรื่องความไม่พอใจต่อการไม่ยอมแบนสารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าว ผมว่าจะเป็นความเห็นจากเสียงส่วนใหญ่น่าจะร่วม 80-90 เปอร์เซ็นต์ ที่เห็นด้วยให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าว

-นับแต่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ จนถึงปัจจุบันแกนนำหรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวเจอปัญหา แรงกดดันอะไรบ้าง?

แน่นอนตลอดการเคลื่อนไหวเราบอกได้เลยว่า เราเจอกับกระบวนการที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือ รวมถึงการใช้กระบวนการทางกฎหมาย อย่างเช่นหมอธีระวัฒน์ เป็นต้น หรือการใช้กระบวนการแทรกแซงกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยของนักวิชาการที่มาเคลื่อนไหวเรื่องนี้

...เช่นกรณีของ รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นักวิชาการที่เปิดเผยผลวิจัยเรื่องการตกค้างของสารเคมี ก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติไปเอานักวิชาการที่เป็นผู้แทนของเขา เอาองค์กรเกษตรกรที่เขาจัดตั้งขึ้น บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยแล้วมีการประกาศว่ามหาวิทยาลัยจะต้องนำนักวิชาการคนนี้ออกไปจากสถาบัน

 ส่วน BIOTHAI ก็เจอที่กลุ่มของบริษัทเอกชนทำหนังสือลับถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการให้ไบโอไทยยุติบทบาทในการเผยแพร่ให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ โดยมีคนในรัฐบาลนำมาให้เราดู เราก็นำไปเผยแพร่ให้ประชาชนเห็น หรือการที่คนพวกนี้ไปกดดันมหาวิทยาลัย ให้ตั้งกรรมการสอบสวนหมอธีระวัฒน์ กล่าวหาว่าให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือกรณีของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช : ThaiPAN ก็ถูกแรงกดดันมีการข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดี หาว่าทำให้หน่วยงานราชการเสียหายจากการเปิดเผยว่ามีสารเคมีพวกนี้ตกค้างอยู่ในผักผลไม้ ซึ่ง ThaiPAN ก็รออยู่ว่าเมื่อไหร่จะฟ้อง จนในที่สุดก็ไม่เห็นมีการฟ้อง ทั้งที่การวิจัยของเขาทำโดยอย่างมีมาตรฐาน มีความครอบคลุมในการตรวจมากกว่าหน่วยราชการที่ทำอยู่ และได้ข้อมูลมาแบบไหนก็นำเสนอไปแบบนั้น

-เห็นคนใน ThaiPAN  ให้สัมภาษณ์สื่อว่าได้รับข้อมูลจากคนใกล้ชิดนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.เกษตรฯ ว่าได้รับการติดต่อขอให้ยุติการแบนสารเคมีโดยมีการพูดถึงตัวเลขเก้าหลัก แล้วเคยมีกลุ่มทุนมาล็อบบี้ เจรจาอะไรทางองค์กรภาคประชาสังคมหรือไม่ เพื่อให้ยุติการเคลื่อนไหวเรื่องนี้?

อย่างไบโอไทยและตัวผมเองคงไม่มีใครกล้ามาอะไร ไม่กล้ามาเสนอเพราะรู้ดีว่าจุดยืนเราคืออะไร  แต่จะใช้วิธีแบบอื่นมากกว่า คือแบบบีบเพื่อจะไม่ให้พวกเราทำงานต่อไปได้

นักวิชาการบริสุทธิ์ที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับนโยบายอะไรเลย เขาก็ทำวิจัยของเขาบ้างในเรื่อง เช่น สารตกค้างในทารก คือ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปรากฏว่ามีหนังสือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ไปยังผู้บริหาร ขอให้ตอบว่าตรวจอย่างไรถึงได้ผลออกมาแบบนี้ ซึ่งเจตนาก็คือบริษัทเขาต้องการกดดันนักวิทยาศาสตร์ แต่สุดท้ายก็ต้องหน้าม้านกลับไป เพราะนักวิจัยเขาแจ้งตอบกลับไปว่าก็ใช้เทคโนโลยีของบริษัทคุณนั่นเอง

       คือไบโอไทยไม่ได้รับข้อเสนอแบบนั้น เพราะเราได้พิสูจน์ตัวเองเสมอมาตั้งแต่ต้นว่า การขับเคลื่อนของเราไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง มีการรักษาระยะกับกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองมาโดยตลอด ไม่ได้เชียร์รัฐบาลแล้วก็ไม่ได้ถล่มรัฐบาล แต่เอาความจริงเข้าว่า เรื่องไหนหากทำไม่ถูกต้องเราก็สู้ถึงที่สุด ตรวจสอบและเปิดเผยต่อประชาชน แม้กระทั่งรัฐมนตรีที่มาจากสายอำนาจเราก็ไม่กลัว

                วิฑูรย์ บอกว่าการเคลื่อนไหวให้แบนสารเคมีทั้งสามชนิดข้างต้น ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนหลายฝ่าย สาเหตุสำคัญเป็นเพราะทางเครือข่ายภาคีมีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนต่อประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยหากย้อนไปในอดีตประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูล ประชาชนไม่รู้ว่าอาหารที่เขากินอยู่มีสารพิษตกค้าง แต่ราชการมาบอกว่าจากการตรวจสอบพบว่ามีสารตกค้างไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ บางหน่วยงานตัวเลขอาจออกมาระดับหลักหน่วย แบบนี้เป็นต้น แต่ทันทีที่ ThaiPAN เริ่มกระบวนการเฝ้าระวังเรื่องนี้ พบว่ามันไม่ใช่เพราะพบว่าการตกค้างของสารเคมีในอาหารมันอยู่ในระดับที่เกินครึ่งหนึ่งเลย แต่เมื่อเราเริ่มขับเคลื่อนมาเรื่อยๆ ก็ดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นที่น่าพอใจ ประชาชนก็ตื่นขึ้นมาเพราะเขาเข้าถึงความจริงแล้วว่าเราอยู่ในระบบที่ "อาหารไม่ปลอดภัย"

อีกทั้งประชาชนเขาได้ประจักษ์ได้ด้วยตัวเอง ผมว่าไม่มีครอบครัวไหน ไม่มีเพื่อนกลุ่มใดที่ไม่มีคนตายด้วยโรคร้าย และโรคร้ายนั้นทุกคนก็เห็นว่า เรื่องอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคร้าย ซึ่งมันยืนยันได้ด้วย แล้วไม่ใช่แค่การเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่ภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาควิชาการ เช่นนักวิชาการอิสระ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือการขับเคลื่อนเรื่องนโยบายอะไรเลย ก็ลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้

                ...อย่าง รศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ อดีตรอง ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ตอนแรกที่อาจารย์มาร่วมประชุมกับ  ThaiPAN  อาจารย์รักษาระยะมาก มาร่วมสังเกตการณ์ พอปีที่สองอาจารย์จุฑามาศก็มานั่งประชุมทั้งวัน ตั้งแต่เช้าถึงบ่าย นำนักศึกษามาร่วมฟัง คืออาจารย์เริ่มเห็นว่าสิ่งที่พวกเราทำไม่ได้ทำโดยนักรณรงค์  แต่เราขับเคลื่อนจริงเพื่อให้มีผลในการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย จนท้ายที่สุดอาจารย์จุฑามาศก็เข้าร่วมในฐานะเครือข่ายนักวิชาการ ที่เรียกร้องรัฐบาลเรื่องนี้ มีการทำสมุดปกขาวส่งถึงรัฐบาล โดยมีข้อมูลทางวิชาการที่หนักแน่นมาก การเคลื่อนไหวของเครือข่ายเราจึงหนักแน่นด้วยข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงวิชาการ

                สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ ตอนที่กรรมการวัตถุอันตรายมีมติครั้งที่สองยืนยันไม่แบนสารเคมีทั้งสามชนิด  เกิดขึ้นในช่วงที่ต่างประเทศมีเคสบริษัทยักษ์ใหญ่ คือ มอนซานโต ที่ปัจจุบันเป็นของไบเออร์แพ้คดี มันเป็นสถานการณ์ระดับโลกด้วยกับการที่สารเคมีซึ่งบริษัทต่างๆ โฆษณาว่าปลอดภัยกว่าเกลือแกง แต่องค์กรอนามัยโลกจัดชั้นให้เป็นสารที่น่าจะก่อให้เกิดมะเร็ง แล้วศาลในสหรัฐอเมริกาตัดสินคดีว่าจะเป็นสารที่ทำให้ก่อมะเร็ง จนบริษัทต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้มีการฟ้องคดีแบบนี้จำนวนมากในต่างประเทศเกินหมื่นคดีแล้ว จนจะทำให้บริษัทล้มละลายได้ จากการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตัวเองว่าปลอดภัย ผมก็อยากเตือนนักวิชาการบางคนเหมือนกันที่ไม่รักษาจุดยืนทางวิชาการ ไปพูดโดยไม่รับผิดชอบว่าพาราคอวตไม่เป็นอันตราย หากโดนรดก็ล้างน้ำเสีย หรือมาบอกไกลโฟเซตปลอดภัยกว่าเกลือแกง ระวังให้ดีจะไม่มีที่ยืนในสังคม.

                โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

......................................... 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"