ไฮสปีดอีอีซี15ต.ค.ต้องจบ


เพิ่มเพื่อน    

       หลังจากซีพี หรือกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯ ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD), China Railway Construction Corporation Limited หรือ CRCC จากจีน, บมจ.ช.การช่าง (CK) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าการลงทุน 224,544.36 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไปเมื่อช่วงเดือน พ.ค.2562 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้นานกว่า 4 เดือนที่ยังไม่มีความคืบหน้าของโครงการ ว่าจะเดินหน้ากันหรืออย่างไร การเจรจาคืบหน้าไปถึงไหน และจะเซ็นสัญญาเพื่อก่อสร้างโครงการกันได้เมื่อไหร่

                ล่าสุด อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ต้องออกโรงเรียกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปหารือและรับฟังความคืบหน้า

                โดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้รายงานอย่างชัดเจนว่า  ขณะนี้ได้ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในเอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) แล้ว แต่ที่ยังไม่สามารถคืบหน้าไปถึงไหนได้ เพราะบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯ ยังกังวลคือเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างของ รฟท.ที่หลายพื้นที่ยังติดขัดปัญหา เกรงว่าการส่งมอบล่าช้าจะทำให้การก่อสร้างล่าช้าไปด้วย และการหาแหล่งเงินกู้ทำให้ยังไม่มีการเซ็นสัญญา ต้องมีการเจรจากัยยืดเยื้อมานานถึง 4 เดือน

                ดังนั้น เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปตามเป้าหมาย นายอนุทินจึงได้ขีดเส้นชัดเจนว่าภายใน 15 ต.ค. กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ต้องมาเซ็นสัญญา หากไม่มาลงนามในสัญญาตามกำหนดดังกล่าวทางภาครัฐจะดำเนินการตามกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดย 1.ริบเงินประกันซอง 2,000 ล้านบาท และ 2.ขึ้นบัญชีดำ ในฐานผู้ละทิ้งงานภาครัฐ

                และจากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเชิญรายถัดไป คือ กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ มาเจรจาต่อ และหากเจรจาแล้วราคายังสูงกว่ากิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งฯ เสนอมา ทางกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งฯ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่างที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งถือเป็นหลักการปกติของการประมูลตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ขณะที่ RFP ก็เขียนข้อกำหนดภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวเช่นกัน

                เพราะ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น เป็นโครงการสำคัญที่จะเกื้อหนุน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หากไม่สามารถดำเนินการได้ หรือมีความล่าช้ามากก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุน รวมไฟถึงกระทบกับโครงสร้างพื้นฐานโครงการอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภา 

                ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าขณะนี้มีหลายๆ โครงการที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี ได้ชะลอการลงทุนไว้เพื่อรอดูความพร้อมและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาล ทั้ง 5 โครงการ ทั้งรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา เมืองการบิน ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ว่าจะมีความคืบหน้าอย่งไร และจะเดินหน้าได้จริงจังแค่ไหน

                ดังนั้น ต้องยอมรับว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ใช้เวลานานมากกว่า 2 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าไปเท่าไหร่นัก เพราะติดปัญหาในเรื่องการเวนคืนที่ที่มีความล่าช้า ทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างยิ่งนานยิ่งเหลือน้อยลงไปทุกที 

                และหากล่าช้า ก็มีแนวโน้มว่านักลงทุนต่างชาติที่หนีผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน มาลงทุนที่ประเทศไทย จะหนีไปลงทุนที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะที่เวียดนามที่มีการส่งเสริม และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ด้วยสารพัดสิทธิประโยชน์ที่มากมาย จะคว้าโอกาสไปก่อนไทย

                สุดท้ายสิ่งที่ไทยจะได้รับ คือ นั่งกินสมหวังกันต่อไป และความหวังที่จะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก็คงริบหรี่กันเสียแล้ว. 

บุญช่วย  ค้ายาดี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"