รฟท.เล็งชงร่างสัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบินเข้า กพอ.30 ก.ย.นี้


เพิ่มเพื่อน    

28 ก.ย.62-นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การหารือครั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาร่างจดหมาย ร่างสัญญาเอกสารแนบท้าย ซึ่งประกอบไปด้วย เอกสารส่งมอบพื้นที่เป็นหลัก ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะยึดตามกรอบที่กำหนดไว้ในเอกสารข้อเสนอโครงการ (RFP) ตามที่ระบุไว้ว่า รฟท.ต้องส่งมอบพื้นที่อย่างน้อย 50% ของส่วนที่เป็นสาระสำคัญของการก่อสร้างโครงการ ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนพญาไท – ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา

“การเจรจาในรายละเอียดส่งมอบพื้นที่ ที่ผ่านมาใช้เวลาค่อนข้างนานแล้ว ก็เกรงว่ายิ่งช้าจะยิ่งมีปัญหา จึงได้ข้อตกลงร่วมกันว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะส่งมอบพื้นที่ส่วนสาระสำคัญ 100% เพราะพื้นที่มีปัญหาอยู่ และมีบางส่วนซ้ำซ้อนโครงการอื่นด้วย ดังนั้นพื้นที่ที่จะพร้อมส่งมอบก็ต้องกลับไปยึดตาม RFP โดยคณะทำงานของการรถไฟฯ จะเร่งสรุปพื้นที่ที่พร้อมส่งมอบแต่ละส่วนว่ามีที่ใดบ้าง และจะเสนอให้ที่ประชุม กพอ.เห็นชอบร่างสัญญา เพื่อส่งให้กลับทางเอกขนรับทราบต่อไป ยืนยันว่ามันเป็นสิ่งที่เราพยายามทำให้ได้ผลมากที่สุด และหลังลงนามจริงๆ ก็ยังมีเวลาคุยในรายละเอียดได้อีก”นายวรวุฒิกล่าว

สำหรับกรอบการดำเนินงานของ รฟท.ระหว่างนี้จะเร่งสรุปรายละเอียดพื้นที่พร้อมส่งมอบทั้งหมด คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาในวันจันทร์ที่ 30 ก.ย.นี้ หาก กพอ.เห็นชอบก็จะแจ้งให้เอกชนคู่เจรจา คือ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) รับทราบโดยไม่ต้องนัดมาเจรจาอีกครั้งแล้ว เบื้องต้นกำหนดวันลงนามสัญญาตามกรอบที่รัฐบาลตั้งไว้ คือวันที่ 15 ต.ค. 2562

นายวรวุฒิ ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาส่งมอบพื้นที่ที่เจรจากันมานาน ตอนนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันหมดแล้วว่า รฟท.จะต้องยึดตามกรอบ RFP ส่วนหน้าที่การรับผิดชอบเคลียร์พื้นที่แต่ละส่วน ก็แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรกบนดิน ที่มีผู้บุกรุก รฟท.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายโยกย้ายผู้บุกรุก ส่วนเอกชนจะต้องรับผิดชอบเคลียร์พื้นที่ รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างที่เหลือ ซึ่งหลักการดังกล่าว เป็นหลักการทั่วไปของโครงการก่อสร้าง ผู้รับเหมาจะต้องรับผิดชอบในการรื้อย้าย เคลียร์หน้าดินเพื่อเตรียมงานก่อสร้าง

และส่วนที่สอง เป็นส่วนของใต้ดิน รฟท.ในฐานะคู่สัญญากับเจ้าของสาธารณูปโภคต่างๆ จะรับหน้าที่ในการบอกเลิกสัญญากับสาธารณูปโภค โดยสัญญาที่ทำร่วมกับสาธารณูปโภคได้กำหนดไว้แล้วว่าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ และทางเจ้าของสาธารณูปโภคจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อย้าย แต่จะต้องบอกเงื่อนไขของการรื้อย้ายให้ทราบด้วยว่า สาธารณูปโภคดังกล่าวต้องรื้อย้ายไปทางไหน ดังนั้นหน้าที่กำหนดแนวทางรื้อย้าย ถือเป็นหน้าที่ของกลุ่มซีพี เพราะจะต้องระบุให้ทราบว่ามีออกแบบก่อสร้างไว้อย่างไร

“พื้นที่เวนคืนต้องปล่อยไปตามเวลาเพราะต้องออก พ.ร.ฎ. เวนคืน ถ้าถามว่าหนักใจไหมเรื่อง พ.ร.ฎ.เวนคืน ก็ต้องบอกว่าไม่หนักใจ เพราะปกติเราจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพื่อรอ พ.ร.ฎ.เวนคืน และเมื่อออกก็สามารถเริ่มทำได้เลย”

อย่างไรก็ตามขณะที่ปัญหาการรื้อย้ายเสาโฮปเวลล์ เป็นสิ่งที่ต้องมาดูว่าเมื่อทรัพย์สินมีเจ้าของ อยู่ในเขต รฟท. ถือได้ว่า รฟท.เป็นเจ้าของ แต่ปัจจุบันยังมีคดีกันอยู่ ดังนั้นการรับผิดชอบส่วนนี้ไม่ใช่หน้าที่ของเอกชน แต่เป็นหน้าที่ของ รฟท.แน่นอน โดยที่ผ่านมา รฟท.มั่นใจว่าได้รวมเงินค่ารื้อย้ายดังกล่าวไว้ในส่วนเงินที่รัฐจะอุดหนุนแล้ว แต่ทางเอกชนชี้แจงว่าไม่เห็นวงเงินดังกล่าว ดังนั้นการรับผิดชอบส่วนนี้ รฟท.จะต้องมาหารายละเอียดรายการใช้จ่ายเงินอุดหนุนให้ได้ว่ารวมค่ารื้อโฮปเวลล์แล้วหรือไม่ หากยังไม่ได้รวมก็จะต้องหาเงินไปชดเชย แต่เบื้องต้นยืนยันว่าได้มีการหารือกับเอกชนแล้ว ไม่ใช่ปัญหาหลัก เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยที่สามารถเจรจาภายหลังได้

ทั้งนี้ส่วนกรณีของการลงนามสัญญาก่อน และกำหนดออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง หรือ Notice to Proceed (NTP) หลังจากนั้นภายใน 1 ปี ยืนยันว่าเป็นหลักการที่สามารถทำได้ และไม่ขัดกับเอกสาร RFP รวมทั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทำการศึกษาโมเดลดังกล่าวมาจากโครงการร่วมทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ซึ่งพบว่ามีการออก NTP หลังจากลงนามสัญญาแล้วกว่า 1 ปี

ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงยังคงความเห็นที่จะกำหนดลงนามสัญญาตามกรอบที่รัฐบาลตั้งไว้ โดย ร.ฟ.ท.จะต้องส่งมอบพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 50% ของพื้นที่ส่วนที่มีสาระสำคัญ โดยหลังจากการลงนามทั้งสองฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อเข้าเคลียร์พื้นที่ที่ได้รับส่งมอบ เมื่อเริ่มงานเคลียร์พื้นที่แล้วเสร็จ และเล็งเห็นว่าพื้นที่ที่เหลือไม่ใช่ปัญหาที่จะกระทบกับงานก่อสร้างในอนาคต จึงจะออก NTP เพื่อเริ่มงานก่อสร้างได้

“รายงาน กพอ.วันจันทร์นี้ หากเห็นชอบ ก็สามารถแจ้งทางซีพี และส่งร่างสัญญาให้ซีพีได้เลย ไม่ต้องผ่านใครดูร่างแล้ว ก็ยืนยันว่าตอนนี้ทำทุกอย่างเป็นไปตาม RFP สิ่งที่พูดกันที่ผ่านมา มันเป็นการเจรจาต่อรอง เรื่องส่งมอบ 100% ก็รวม 120 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ วันนี้ก็ต้องกลับมาดูให้เป็นไปตาม RFP เพราะเราคุยยืดเยื้อมานานไปแล้ว ดังนั้นวันนี้การปรับสัญญาแนบท้าย ก็ต้องปรับ เพราะมันคุยกันในรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่หลักการมันควรเริ่มการก่อสร้างไปก่อน มันไม่มีส่งมอบทั้งหมดได้”นายวรวุฒิ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท โดยมี นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)เป็นประธานประชุม เมื่อวันที่ที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 17.30 น.-23.00 น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"