ภาคีแนวร่วมนอกสภาฯ รอเคลื่อน ดันแก้ รธน.


เพิ่มเพื่อน    

ขอให้เสียสละแบบเสรีไทยเสียงจากกลุ่มหนุนแก้ รธน.

                ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะช่วงนี้ ก็คือการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พบว่าช่วงปิดสมัยประชุมสภา บางพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยและอนาคตใหม่ได้มีการเคลื่อนไหวรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพื่อสร้างแนวร่วมให้สนับสนุนการแก้ไข รธน. เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าหลังเปิดประชุมสภาในช่วงต้นเดือน พ.ย. ญัตติที่หลายพรรคการเมืองทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกผลักดันให้สภาเห็นชอบเป็นเรื่องแรกๆ หลังเปิดสภา ซึ่ง กมธ.ดังกล่าวหากมีการตั้งเกิดขึ้นก็จะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่การแก้ไข รธน.ต่อไป

                ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะในเดือนตุลาคมนี้จะมีการเปิดตัวเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เป็นการรวมกลุ่มกันของเครือข่ายองค์กรต่างๆ ที่จะจับมือกันรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ คู่ขนานไปกับการเคลื่อนไหวในสภา เช่น กลุ่มภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (Associate for Democratic Constitution) ที่ทางกลุ่มมีการหารือกันหลายรอบ โดยมีแนวร่วมหลายฝ่าย เช่น อดีต กกต., อดีตนักวิชาการที่เคยปรากฏเป็นข่าว เช่น สมชัย ศรีสุทธิยากร, โคทม อารียา สองอดีต กกต. เป็นต้น

เรื่องดังกล่าว ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในฐานะประธานคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (Associate for Democratic Constitution) ซึ่งจะเป็นเครือข่ายขององค์กรต่างๆ ที่จะรวมตัวกันเป็นลักษณะกลุ่มภาคีเพื่อการรณรงค์และเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยที่มาที่ไปของการเคลื่อนไหวครั้งนี้และทิศทางของการรวมกลุ่มดังกล่าว 

                อนุสรณ์ เกริ่นที่มาของการพยายามจัดตั้งภาคีดังกล่าวว่า กลุ่มที่ขับเคลื่อนหลายคนเป็นเครือข่ายกลุ่มคนที่เคยทำงานร่วมกันตอนที่เคยรณรงค์ไม่รับร่าง รธน.ฉบับปัจจุบันตอนทำประชามติเมื่อช่วงสิงหาคม 2559 ซึ่งช่วงนั้นคนในเครือข่ายต้องไปประชุมกันบ้านทูตอียู เพราะตอนนั้นยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ที่สะท้อนให้เห็นว่า ต่างประเทศให้ความสำคัญกับประเทศไทยและอยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย

                ...สำหรับการขับเคลื่อนเวลานี้ เขาก็ตั้งผมเป็นคณะทำงานวางกรอบการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป้าหมายคือให้เป็นองค์กรประสานงาน เนื่องจากภาคีเครือข่าย องค์กรต่างๆ พรรคการเมืองต่างๆ ก็มีการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ อยู่แล้ว และทางสภาก็เตรียมจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเคลื่อนไหว รณรงค์จากนอกสภาด้วย เพื่อให้เกิดกระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะ รธน.ฉบับนี้เขียนออกมาโดยที่การแก้ไขเพิ่มเติมทำได้ไม่ง่าย และการดำเนินการเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไข ก็ต้องได้รับการยอมรับจาก ส.ว.ด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือร่วม 84 เสียง และพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

ดังนั้น การรณรงค์ของเครือข่ายที่จะตั้งขึ้นจึงต้องแสวงหาความร่วมมือ การแก้ไข รธน.จะต้องมุ่งไปที่มาตรา 256 ที่เกี่ยวกับการแก้ไข รธน.เพื่อให้แก้ไข รธน.ได้ง่ายขึ้น จากนั้นก็ค่อยไปดูรายละเอียดว่า มาตราไหนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นมาตราที่จะสร้างปัญหา เช่น ระบบเลือกตั้ง เพื่อให้แก้ไขแล้วแก้ปัญหาให้ประชาชนได้จริง ปราบโกงได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นการปราบโกงในลักษณะที่ยังให้ตั้งรัฐมนตรีที่มีคดีติดตัว หรือมีปัญหาด้านจริยธรรมมาบริหารประเทศ แบบนี้แสดงว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา เราก็อยากให้ รธน.เป็น รธน.ที่ทำให้ระบบนิติรัฐ นิติธรรม เข้มแข็ง เป็น รธน.ที่แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ เพราะว่าหากประเทศไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก็จะทำให้ประชาธิปไตยของเราไม่มีคุณภาพ แล้วจะนำมาสู่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ประเทศก็จะไม่มีอนาคต ประชาชนก็จะไม่สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้

"การเปิดตัวเราต้องการให้มีการคิกออฟแรงๆ เพื่อทำให้เกิดกระแส เหมือนที่สังคมไทยเราเคยร่วมรณรงค์ตอนที่เราสร้างกระแสธงเขียว ตอนช่วงโหวตผ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เราต้องการให้เกิดเช่นนั้น"

อนุสรณ์ เปิดเผยว่า ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้จัดประชุมเป็นระยะๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการและพลังขับเคลื่อนเพื่ออนาคตของประเทศที่ดีกว่าด้วยการทำให้เกิดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญของประชาชน นอกจากได้หารือกับเครือข่ายองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ แล้ว ขณะที่พยายามประสานเพื่อขอคำแนะนำและหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทุกขั้วทุกกลุ่ม และต้องประสานกลุ่ม elite และบรรดาผู้นำทางความคิด อาจต้องประสานมากกว่าสิบทิศเพื่อให้งานสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยบรรลุเป้าหมาย

...กระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเป็นโอกาสของการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ เสริมสร้างประชาธิปไตยพื้นฐานให้เข้มแข็งมั่นคง หากเราทุกภาคส่วนช่วยกันทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบถกแถลง (Deliberative Democracy) เป้าหมายสุดท้ายของการรณรงค์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญ แต่เป้าหมายสุดท้ายเป้าหมายที่แท้จริงคือ ชีวิตที่ดีกว่าของประชาชนภายใต้สังคมสันติธรรมและประชาธิปไตย ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ

เราต้องฟันฝ่ากับดัก ขวากหนามต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช.ด้วยความอดทน การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ต้องอาศัยการถกแถลงระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่แสวงหาความเห็นพ้องมากกว่าจะมุ่งตัดสินด้วยเสียงข้างมากที่มีการยกเหตุผลมาสนับสนุนหรือหักล้างข้อเสนอหรือญัตติ ทางภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ ต้องการออกแบบกระบวนการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีลักษณะรวมทุกฝ่าย (Inclusive) แทนที่จะเป็นฝักเป็นฝ่าย (Partisan) ให้เป็นการถกแถลงโดยใช้เหตุผล ใช้ข้อมูลโดยประชาชนได้เข้าร่วมอย่างกว้างขวาง ให้มีการใช้เวลาทำความเข้าใจอย่างรอบคอบ มากกว่าที่จะเร่งรัดให้เกิดข้อสรุปใดๆ โดยไม่ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน การดำเนินการของเราจะแตกต่างอย่างชัดเจนจากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนที่มีการร่างและการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ความเห็นต่างถูกปิดกั้น นอกจากนี้ผู้เห็นต่างยังถูกดำเนินคดีอีกต่างหาก

อนุสรณ์ เปิดเผยท่าทีของภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยว่าเบื้องต้นทางภาคีมีความเห็นว่า 1.ขอสนับสนุนการจัดตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาที่ประกอบไปด้วย ส.ส. ทั้งพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และภาคส่วนต่างๆ และเครือข่ายภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญพร้อมเป็นเวทีกลางหลอมรวมพลังทุกฝ่ายเพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน  2.เห็นด้วยกับการเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน เพื่อปลดล็อกให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น โดยให้เป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยเสนอให้มีการจัดลงประชามติ 3.ในส่วนของกระบวนการแก้ไขเนื้อหาและมาตราต่างๆ นั้น ขอให้เปิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมีความเชื่อมโยงกับประชาชน

4.เนื้อหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย จึงเห็นว่าควรมุ่งไปที่การแก้ไขมาตราที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยก่อน แก้ไขเพื่อให้ระบบการเมืองและระบบเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนโดยไม่บิดเบือน ส่งเสริมระบบนิติรัฐนิติธรรมให้เข้มแข็งขึ้น ส่งเสริมการกระจายอำนาจ และไม่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาของประชาชน รวมทั้งสร้างระบบที่ออกแบบให้รัฐบาลมีเสถียรภาพโดยไม่ต้องอาศัยเสียงจาก ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. 5.ควรใช้โอกาสในการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เสริมสร้างบรรยาการเจรจาหารือเพื่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์และการปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้น 6.นำเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้เพื่อสำรวจความคิดเห็นต่างๆ ของประชาชนได้อย่างเต็มที่

ทางภาคีเครือข่ายเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ขอคัดค้านการกระทำใดๆ ของผู้มีอำนาจในการปิดกั้นการแสดงความเห็นเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือทำลายบรรยากาศการมีส่วนร่วมในการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย แม้นว่าพวกเราจะอยู่ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตย แต่พวกเราก็หวังว่าสถานการณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพและการใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมต้องปรับตัวในทิศทางดีขึ้น

 ถามถึงว่า เครือข่ายดังกล่าวจะมีคนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มต่างๆ เช่น  คนเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือ กปปส. มาร่วมด้วยใช่หรือไม่ อนุสรณ์-ประธานคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ให้คำตอบว่า เราต้องการแบบนั้น ประเด็นก็คือ สิ่งที่เราคิดและเสนอ เราก็ต้องไปถามองค์กรสมาชิกด้วยว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเราต้องการคนจากทุกภาคส่วน ทุกขั้วความคิดมาร่วมผนึกกำลังกันเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไข รธน.ให้เป็นประชาธิปไตย หากจะมีตัวแทนจากพรรคการเมืองมาร่วมด้วยเราก็เปิดกว้าง แต่ตัวแทนจากพรรคการเมือง ตัวเขาเองก็ต้องจัดวางบทบาทของเขาให้เหมาะสม โดยที่บทบาทนำน่าจะเป็นจากภาคประชาสังคม ภาควิชาการ โดยฝ่ายการเมือง ก็มาสนับสนุน เพราะหากให้ฝ่ายการเมืองเป็นฝ่ายนำ ฝ่ายการเมืองก็จะมีวาระการเมืองของตัวเอง ซึ่งจะทำให้ขบวนของการเคลื่อน มันจะไม่มีพลังพอ เพราะหากเกิดไปเถียงบางเรื่องรายละเอียดที่มันมีโอกาสที่จะเห็นต่าง

อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่าการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไข รธน.ดังกล่าว ปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จหรือไม่ ก็อยู่ที่การสนับสนุนจากประชาชนที่ต้องตื่นตัวและสนับสนุน ดังนั้นการดึงการมีส่วนร่วมจากประชาชนจึงต้องเคลื่อนไหวเหมือนตอนช่วงรณรงค์ให้มีการผ่าน รธน.ปี 2540 โดยให้ทุกภาคส่วน ทุกองคาพยพของสังคมต้องรณรงค์ให้มีส่วนร่วมจนกระทั่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.ก็ต้องยอมรับโดยปริยาย เหมือนตอนที่ร่าง รธน.ปี 2540 เข้าสภาฯ ตอนนั้นก็มีนักการเมืองบางกลุ่มทำท่าจะไม่โหวตรับ แต่สุดท้ายก็ต้องโหวตรับ

การจะทำตรงนี้ได้ การกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวรณรงค์จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยไม่ต้องถือเขาถือเรา ต้องเอาทุกคนที่เป็นคนที่คนศรัทธา เป็นคนมีบารมี มีเจตนาที่ดีต่อประชาชนต่อประเทศ และมีจุดยืนประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมาเป็นแกนนำในการสร้างเครือข่ายภาคีดังกล่าวนี้ทั้งหมด ต้องเอามาให้หมดและต้องเป็นคนที่มีน้ำหนักในสังคม คือพูดแล้วคนต้องฟัง ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการประสานงาน ที่มีเข้ามาเรื่อยๆ

-แต่ตอนนี้ประเทศก็มีปัญหาหลายเรื่องให้แก้ไข หากจะมาเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าประชาชนถามว่าทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญจะตอบยังไง?

ถ้าไม่แก้ไข เราก็จะอยู่ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตย ภายใต้ระบอบกึ่ง คสช. ระบอบที่ คสช.สืบทอดอำนาจไปอีกไม่ต่ำกว่า 8 ปี แล้วถ้าเราคิดว่าเรายอมรับสภาพนั้นได้ เศรษฐกิจดี เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ การคอร์รัปชันไม่มี ถ้าเราเชื่อแบบนั้น 8 ปีข้างหน้าเราก็ไม่ต้องทำอะไร ก็อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องมายุ่งการเมือง ปล่อยให้เขาบริหารประเทศไป เราก็ไม่เหนื่อยด้วย ก็ไปทำมาหากินตามปกติ แต่ถ้าเราไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจมันจะดี ปากท้องมันจะดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะได้รับการแก้ไข เราก็ต้องเคลื่อนไหวรณรงค์เปลี่ยนแปลง เพราะประเทศเป็นประเทศของเรา

...หากทุกคนเอาแต่คิดว่าธุระไม่ใช่ ทุกคนเพลย์เซฟ กลัวจะถูกเพ่งเล็งจากผู้มีอำนาจรัฐ กลัวถูกกลั่นแกล้ง เราก็เห็นแก่ตัวเกินไป เพราะวันนี้ถึงจุดสำคัญที่คนที่แมีน้ำหนักในสังคมต้องช่วยกัน แล้วที่เราทำ ก็ไม่ได้ทำแล้วจะเกิดความขัดแย้งเกิดปัญหา แต่เรารณรงค์เคลื่อนไหวโดยแนวทางสันติวิธี โดยใช้เหตุผลในการบอกกล่าวกับคนส่วนใหญ่ให้เขาเห็นดีเห็นงามด้วย จนผลักดันให้เกิดกระแส จนสมาชิกรัฐสภาเขาตระหนักแล้วเขาเสนอให้แก้ไข เราไม่ได้ไปทำอะไรให้เกิดปัญหา เราไม่ได้มีวาระพวกนั้นเลย ดังนั้นก็ต้องทำ

“วันนี้ทุกคนต้องเสียสละ เหมือนขบวนการเสรีไทย หากทุกคนวางเฉย ไม่ยอมเสียสละเลย แล้วการเสียสละครั้งนี้มันไม่ได้มีอะไรมากมายเท่าขบวนการเสรีไทย ตอนขบวนการเสรีไทย หากคุณพลาดคือคุณต้องติดคุก ถูกยิงเป้า อาจเสียชีวิต เพราะตอนนั้นคือสถานการณ์สงคราม แต่พวกเขาก็ยินดีเสียสละ สำหรับวีรชนเหล่านั้นที่เขายอมเสียสละ เพราะหากเขาไม่ทำ แล้วประเทศไทยแพ้สงคราม ประเทศไทยอาจไม่ได้มีเอกภาพแบบนี้ อาจถูกแบ่งประเทศไป เราไม่ได้อยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม เพราะเรามีขบวนการเสรีไทย เรามีบรรพบุรุษที่เสียสละ เช่นเดียวกันกับสถานการณ์วันนี้ที่มันถึงจุดที่คนไทยทั้งหมดต้องมาร่วมกันว่าเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีระบบเศรษฐกิจที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่คนหนึ่งเปอร์เซ็นต์หรือคนสิบเปอร์เซ็นต์ ได้ผลประโยชน์ไปเกือบทั้งหมด เราต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็นแบบนั้น”

                ...แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ต้องทำให้มันเป็นกลไกสำคัญ ยกตัวอย่าง หากสมาชิกรัฐสภาเป็นตัวแทนของคนกลุ่มผลประโยชน์หนึ่งเปอร์เซ็นต์ หรือคนสิบเปอร์เซ็นต์ ถามว่ามันจะมีกฎหมายหรือนโยบายดีๆ อย่างแท้จริงหรือไม่ ที่มันจะเป็นประโยชน์กับคนเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ หรือคนเก้าสิบเปอร์เซ็นต์หรือไม่ มันไม่มีทางที่เราจะได้นโยบายหรือกฎหมายแบบนั้นเลย ฉะนั้นเราต้องทำให้รัฐธรรมนูญ ทำให้คนเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ หรือเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เข้ามานั่งอยู่ในกลไกอำนาจ เขาจะต้องมีตัวแทนเข้ามาอยู่ในกลไกอำนาจเพื่อจะได้ออกกฎหมายหรือนโยบายที่เอื้อกับคนส่วนใหญ่จริงๆ แต่ไม่ได้ไปเอื้อหรือไปสร้างความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ที่เป็นความสัมพันธ์ซึ่งไม่เท่ากัน ถ้าตราบใดยังมีการผูกขาดอำนาจทางการเมืองอยู่ มันจะนำมาสู่การผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ แล้วในที่สุดมันไม่มีทางที่ประชาชนส่วนใหญ่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ผมมองว่า รธน.ฉบับปัจจุบันก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมือง แล้วเป็นการผูกขาดอำนาจทางการเมืองที่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยบ้าง แต่เนื้อในมันไม่ใช่ ดังนั้นต้องแก้ตรงนี้ ต้องทำให้เป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ เป็นประชาธิปไตยที่เนื้อหา ไม่ใช่แค่มีเลือกตั้งแล้วบอกว่าเป็นประชาธิปไตย

 การเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้เห็นว่าเริ่มเป็นประชาธิปไตยแล้วบ้าง ซึ่งก็ใช่ ก็ดีกว่าสมัยระบอบ คสช. แต่ว่ามันยังไม่ใช่ เพราะการเลือกตั้งมันไม่ได้สะท้อนเสียงประชาชน หรือเจตนารมณ์ของคนจริงๆ จนนักวิชาการ สื่อต่างประเทศ เขามองว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน คือมันอาจไม่ได้แย่เหมือนเขมร แต่ก็ใกล้เหมือนเขมร ใกล้พม่า ของเราจริงๆ ต้องระดับเดียวกับมาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้แบบนั้น เพราะที่ผ่านมาเราเคยเป็นประเทศแถวหน้าของประชาธิปไตยในอาเซียน แต่ที่ผ่านมาเราเหมือนเขมรกับพม่ามากกว่า

อนุสรณ์ ให้ความมั่นใจว่า การเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไข รธน.จะไม่เป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ เพราะภาคีเครือข่ายที่จะเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีท่าที ซึ่งต้องการดึงการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เราจะนำคนจากทุกขั้วให้มาร่วมเจรจาหารือกัน มันก็จะไม่สร้างบรรยากาศความขัดแย้งที่จะนำไปสู่วิกฤติ ซึ่งรูปแบบการเคลื่อนไหวก็จะทำแบบคู่ขนานในรูปแบบภาคประชาสังคมไปกับทางสภาที่จะตั้ง กมธ.วิสามัญหลังเปิดสภาสมัยหน้า

แก้ปัหาปากท้องกับแก้ รธน.

อะไรสำคักว่ากัน?

-แต่บางฝ่ายเช่นคนในรัฐบาลหรือบางพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรครัฐบาลก็มองว่า  ตอนนี้ประเทศมีปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข อย่างเรื่องปากท้องประชาชน ทำไมต้องมาเร่งเคลื่อนไหวแก้ รธน.?

การแก้ไข รธน.เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา รัฐบาลให้สัญญากับประชาชน ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องรักษาสัญญาประชาคม เพราะว่ารัฐบาลบอกเองว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน  และการแก้ไข รธน.ให้เป็นประชาธิปไตยสามารถทำพร้อมกับการแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ได้ และมันต้องทำไปพร้อมๆ กันด้วย

ยกตัวอย่างเราต้องการทำให้เราร่างกายแข็งแรง เราก็ต้องทานอาหารที่มีคุณภาพและต้องออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ คือต้องทำมิติหลายอย่างพร้อมกัน ไม่ใช่ว่าทำอย่างหนึ่งแล้วไม่ทำอย่างอื่น ไม่ได้

รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดที่วางกรอบในเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ และเป็นกติกากฎหมายที่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นสิ่งที่กำหนดภาระหน้าที่ของพลเมืองไว้ ดังนั้นมันก็เป็นสิ่งสำคัญ กลไกสำคัญในการแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องก็เป็นส่วนหนึ่ง  แต่ยังมีปัญหาอย่างอื่นของประเทศมากมายที่ต้องแก้ไข ซึ่งการมี รธน.มีกติกาที่ดีก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำได้ดีขึ้น แล้วผลก็คือก็จะดีต่อประชาชน เราต้องพยายามที่จะทำให้ประเทศนี้เป็นของประชาชน แล้วประชาชนมีส่วนร่วม

 การผ่านประชามติ รธน.ฉบับปัจจุบัน แม้จะมีการลงมติประชามติ แต่เป็นการลงประชามติภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มันเลยทำให้การมีส่วนร่วมมีข้อจำกัด กติกาสูงสุดควรเป็นเรื่องประชาชนต้องตกลงร่วมกัน ซึ่งมันไม่ได้เป็นแบบนั้น 87 ปีของระบอบประชาธิปไตย เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานพอที่ประชาธิปไตยไทยควรต้องยกระดับแล้ว ไม่ใช่มานั่งวนแก้ปัญหาแบบร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็มาฉีก รธน. แล้วร่างกันใหม่ แล้วพอเกิดวิกฤติการเมือง ทหารก็มายึดอำนาจ แล้วมาร่าง รธน.ใหม่ที่มีเนื้อหาสืบทอดอำนาจ มีการเลือกตั้ง แล้วก็เกิดวิกฤติการเมืองอีก มันก็จะวนแบบนี้ ซึ่งมันไม่ควร จึงควรมาช่วยกันทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ประชาชนทั้งสังคมยอมรับด้วยกัน และอยู่กันได้ด้วยกติกาตรงนี้  และต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากรัฐประหาร แต่มาจากการผลักดันการมีส่วนร่วมของประชาชนร่วมกัน ต้องทำให้เกิดแบบนั้น

เมื่อถามความเห็นเพื่อต้องการรู้แนวคิดว่า เพราะเหตุใดจึงต้องการเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญ โดยขอให้ยกตัวอย่าง จุดอ่อน-ปัญหา ของรัฐธรรมนูญมาประกอบ อนุสรณ์-ประธานคณะทำงานจัดตั้ง ภาคีเครือข่ายเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย บอกว่ามีหลายเรื่อง แต่ปัญหาหลักๆ ก็เช่น ระบบเลือกตั้งมันไม่สะท้อนความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชน มันบิดเบี้ยว บิดเบือนเสียงประชาชน ทำให้เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วประชาชนที่มาออกเสียงเขาเลือกใครกันแน่จากระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว แล้วมีระบบคะแนนแบบสัดส่วนและการคิดคะแนนแบบสัดส่วน ก็มีการตั้งคำถามกันมากเรื่องการคิด ทำให้ระบบการเลือกตั้งมีปัญหา

...และที่บอกว่าเป็น รธน.ปราบโกง แต่การทุจริตคอร์รัปชันก็พบว่าไม่ได้น้อยไปกว่าเดิม ไม่สามารถคัดสรรคนที่เป็นคนดี คนมีความรู้ความสามารถเข้าสู่ระบบการเมืองได้เหมือนที่คุยเอาไว้ ไม่สามารถได้ ครม.ที่มีคุณสมบัติที่เห็นชื่อ เห็นประวัติการทำงานแล้วเรายอมรับได้ว่าเป็น ครม.ที่ดีที่สุด  เพราะหากบอกว่าเป็น รธน.ที่ดีก็ต้องสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น คือเนื้อหาใน รธน.เองไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเลย แต่ไปสร้างความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น

...ที่เห็นชัดเจนคือความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ เช่นประชาชนทั้งประเทศมีสิทธิ์เลือก ส.ส. ในขณะที่คนไม่กี่คนสามารถเลือก ส.ว.ได้ 250 คน ซึ่งก็คือหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกรัฐสภา แล้วการเลือกก็เกิดประเด็นอีกว่ากระบวนการสรรหาไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าคัดคนที่มีภูมิหลัง ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ ได้จริง ส่วนมากก็เลือกจากพวกเครือข่าย เลือกพรรคพวกมาเป็น ก็เป็นสภาอุปถัมภ์ ไม่ใช่สภาผู้ทรงคุณวุฒิ หากเราคิดว่าวุฒิสภาคือสภาของผู้ทรงคุณวุฒิ มันก็ต้องได้คนอีกแบบ ในขณะเดียวกันในคนที่เป็น ส.ว.ด้วยกันเองก็มีเหลื่อมล้ำกันอีก เพราะมีตัวแทนจากการที่เป็นข้าราชการประจำ คือผู้นำเหล่าทัพมาเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง แต่ข้าราชการคนอื่นไม่ได้เป็น ในระบบราชการเองก็ยังเหลื่อมล้ำกันเองเลย มันคือความเหลื่อมล้ำทางอำนาจซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควร หากจะบอกว่าไม่เชื่อระบบเลือกตั้งทั้งหมด ก็ต้องมีระบบสรรหาที่จะหาผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาชีพต่างๆ มาเป็น ส.ว. แต่ถ้ายึดหลักประชาธิปไตยเลยก็ไม่ควรมีเลย แต่ให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยเมื่อไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เขาก็ไม่ควรมามีอำนาจเหมือนกับคนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐธรรมนูญก็ยังมีปัญหาในเรื่องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบนโยบายหรือโครงการต่างๆ ของภาครัฐก็ด้อยลงเมื่อเทียบกับ รธน.ปี 2540 และ 2550 องค์กรอิสระก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน แต่โครงสร้างที่มาไปเชื่อมโยงกับฝ่าย คสช.เดิมทั้งสิ้น อย่างนี้ไม่ตอบโจทย์เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรอิสระ ระยะยาวประเทศมันไปไม่ได้ ต้องแก้ไข ต้องปรับให้ระบบดีกว่านี้เพราะจะนำมาสู่วิกฤตการณ์การเมืองได้

แล้วข้อดีของรัฐธรรมนูญไม่มีเลยหรือ เราตั้งคำถาม ซึ่ง อนุสรณ์ แสดงท่าทีคิดอยู่นานก่อนตอบว่า ผมยังไม่เห็นจุดเด่นที่เป็นข้อดีที่ชัดเจน เมื่อเทียบกับ รธน.ปี 2540 และ 2550 มันอาจมีเรื่องเช่น ระบบไพรมารีโหวตที่พยายามจะทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานจากประชาชนมากขึ้น แต่มันก็ไม่ตอบโจทย์อยู่ดีเพราะตอนร่าง รธน.เขาดึงการมีส่วนร่วมน้อยเกินไปจากกลุ่มคนนักการเมือง เพราะไปตั้งเงื่อนไขว่าไม่อยากให้คนเหลานี้เข้ามา แต่จริงๆ เขาคือกลุ่มคนที่อยู่ในการเมืองก็ควรฟังเขาบ้าง

สำหรับมติของที่ประชุมสภาที่มีมติเอกฉันท์เห็นด้วย ให้มีการเลื่อนญัตติเสนอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มี ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันเสนอเข้าสภาร่วม 4 ญัตติ โดยมีของ ส.ส.พลังประชารัฐด้วยขึ้นเป็นญัตติอันดับต้นๆ ในการพิจารณาของสภาสมัยหน้า เรื่องนี้ อนุสรณ์ วิเคราะห์ท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ ไว้ว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าทุกคนก็เห็นปัญหาอยู่และอยากให้มีการแก้ไข ส่วนที่พลังประชารัฐก็เอาด้วยในการเสนอญัตติ ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจเพราะ รธน.เองก็ออกแบบมาให้รัฐบาลไม่เข้มแข็ง คนร่าง รธน.เองก็ยังตก "กับดัก" ที่ตัวเองวางไว้ เลยทำให้ได้เสียงปริ่มน้ำ  การออกแบบระบบต่างๆ เช่นระบบเลือกตั้งทำให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยเยอะ จนนำมาสู่รัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพ สำหรับความคาดหวังต่อสภาในการตั้งกรรมาธิการ จนนำไปสู่การแก้ไข รธน.มองว่าถ้าเป็น ส.ส.ส่วนใหญ่น่าจะเอาด้วยให้ตั้ง กมธ. แต่สำหรับสมาชิกวุฒิสภาจะเอาด้วยหรือไม่ เราไม่แน่ใจ  ต้องทำให้กระแสสังคมเรียกร้องไปยัง ส.ว.ให้ดังพอ เขาถึงจะหันมาฟัง ไม่เช่นนั้นเขาก็จะรับใบสั่งอย่างเดียว

ซึ่งก็มองว่าหากกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นมีผลการศึกษาและมีข้อเสนออกมาให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญก็จะเป็นเรื่องดีเลย เพราะจะทำให้กระบวนการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่เกิดขึ้นทันที แต่เราต้องดูรูปแบบของสภาร่าง รธน.ที่จะเสนอด้วย อย่างผมเสนอว่าเสนอให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง บวกกับผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่ง แล้วมีการวางกรอบเวลาให้ชัดเจนว่าให้ยกร่าง รธน.แล้วเสร็จเมื่อใด แล้วจากนั้นก็ให้นำร่าง รธน.ดังกล่าวไปลงประชามติ

ส่วนข้อถามที่ว่าแต่กระบวนการแก้ไข รธน.สุดท้ายอาจยื้อได้ เช่น กมธ.ที่สภาตั้งขึ้นมีข้อเสนอออกมาแล้วฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วย เช่นจะให้ตั้งสภาร่าง รธน.มายกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ พรรคร่วมรัฐบาลก็อาจใช้วิธีใช้เสียงข้างมากโหวตไม่รับรองรายงานของ กมธ. อนุสรณ์ ยอมรับว่าการยื้อแก้ไข รธน.ก็มีความเป็นไปได้ เพราะว่าสิ่งนี้มันก็เกิดขึ้นตอนรัฐบาลสมัย คสช.ที่ก็มีการเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง  เรื่องแบบนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการซื้อเวลายื้อไปเรื่อยๆ

...สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เขาอยากแก้ไข รธน.เพราะเขาก็มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาบางส่วนใน รธน.ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขณะที่พลเอกประยุทธ์กับพลังประชารัฐก็คงยื้อให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว เขาก็ต้องยื้อให้นานที่สุดเพราะมันเป็นประโยชน์กับฝ่ายเขา แต่แก้ รธน.แล้วจะเป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ เป็นประโยชน์กับประเทศ เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะทำให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพดีขึ้น

ประธานคณะทำงานจัดตั้งภาคีเครือข่ายเพื่อรัฐธรรมนูญฯ มองด้วยว่า ส่วนการที่ ส.ส.พลังประชารัฐเข้าชื่อกันเสนอญัตติให้มีการตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้ไข รธน.ประกบเข้าไปด้วยในช่วงก่อนปิดประชุมสภาไม่กี่วัน เพราะพรรคพลังประชารัฐคงเห็นกระแสสังคมว่าต้องการให้แก้ไข รธน. เลยรีบเสนอ

“การแก้ไข รธน.จะได้หรือไม่ได้จึงอยู่ที่กระแสสังคม ดังนั้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาจึงมีความสำคัญพอๆ กับการทำงานในรัฐสภา

...การที่พลังประชารัฐยอมให้เป็นนโยบายเร่งด่วน ก็เกิดจากข้อต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาล แล้วข้อต่อรองดังกล่าวก็เกิดจากกระแสสังคม ที่ตอนนั้นพรรคร่วมรัฐบาลไปหาเสียงกับประชาชนแล้วบอกว่าต้องการให้ประเทศมีประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะหากเขาไม่ทำเช่นนั้นก็ไม่ตอบสนองต่อประชาชน  พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งก็หาเสียงว่าไม่เอาสืบทอดอำนาจ เพราะเขารู้ว่าประชาชนต้องการแบบนั้น  แต่พอผลเลือกตั้งออกมามันมีการบิดเบี้ยวที่เกิดจากมี ส.ว. 250 คน ก็เลยทำให้พรรคการเมืองที่เป็นพรรคที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยเลยอยู่ในฐานะเสียเปรียบ เพราะพอมี ส.ว. 250 เสียง ก็เป็นสภาวะที่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายสืบทอดอำนาจได้เปรียบ จึงเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะฝ่ายหนึ่งเริ่มสตาร์ทที่ 250 เมตรไปก่อน แต่อีกฝ่ายอยู่ที่ศูนย์ ก็เป็นระบบที่ไม่เป็นธรรม

ใช้กระแสสังคมกดดัน ส.ว.เอาด้วย

อย่างไรก็ตาม อนุสรณ์ ยอมรับว่าการที่จะไปตั้งธงนำไว้ก่อนว่าจะแก้ไข ยกเลิกรัฐธรรมนูญเรื่องไหน เช่นจะไปแตะเรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา ก็อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 อาจไม่ได้รับความร่วมมือจาก ส.ว. เพราะว่าคนจำนวนหนึ่งก็อาจห่วงสถานภาพของตัวเอง กลัวหลุดจากตำแหน่งเช่นไปโละ ส.ว. เรื่องเนื้อหาต่างๆ ใน รธน.ที่จะแก้ไขต้องมาหารือกันอีกรอบ หลังมีการแก้ไขมาตรา 256 แล้วเสร็จ เพราะเมื่อไปถึงขั้นตอนการแก้ไขเนื้อหาจะมีความเห็นแตกต่างกันเยอะ

“เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ผมก็มองว่า ส.ว.บางส่วนที่เขามีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม โดยไม่ได้คิดเพื่อตัวเองมาก แล้วเขาฟังกระแสสังคม เขาก็อาจจะเอาด้วย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น การไปโหวตอะไรให้ตัวเองต้องเสียประโยชน์ จิตสำนึกต้องสูงพอ ต้องนึกถึงส่วนรวมมากพอ”

อนุสรณ์ มองด้วยว่าสำหรับกรอบเวลาในการพิจารณาศึกษาแก้ไข รธน.จนนำไปสู่การแก้ไขให้เกิดขึ้นจริง เบื้องต้นเรายังไม่ควรกำหนดกรอบเวลาเพราะเราต้องการให้ได้ รธน.ที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่ควรชักช้านักเพราะประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาสิบกว่าฉบับแล้ว ที่เราทำเราไม่ได้ทำอยู่บนสุญญากาศ แต่มีสิ่งที่เป็นต้นแบบอยู่แล้ว ผมก็เสนอให้นำ รธน.ในอดีตสามฉบับคือ ฉบับปี พ.ศ.2540 พ.ศ.2517 และ พ.ศ.2489 มาเป็นต้นแบบ เพราะ รธน.ทั้งสามฉบับมีความเป็นประชาธิปไตยและเกิดในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน เพราะก็จะมีกรอบมีโครงอยู่ เราก็นำกรอบมาพิจารณาร่วมกับปัญหาในปัจจุบัน  และปัญหาในอนาคตว่าควรเพิ่มเติมตรงไหน ดังนั้นการดำเนินการไม่ควรชักช้า

...สิ่งที่เราต้องการคือ ต้องการเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน เราถึงเสนอให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ส.ส.ร.หากทำแบบนี้กระบวนการมันอาจช้า แต่มันจะดีเพราะเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วจะแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ความขัดแย้งในอนาคตได้ดี เพราะมันจะเกิดความรู้สึกร่วมกันว่านี้คือรัฐธรรมนูญที่ทุกคนร่วมกันสร้างกันมา จะเกิดสภาวะแบบนี้ว่านี้คือ รธน.ที่เราสร้างร่วมกันมา  ดังนั้นเราจะไม่ทำลายแล้ว จะไม่มีการฉีก จะไม่มีการยึดอำนาจ จะไม่มีการรัฐประหารอีกแล้ว มันควรจะอย่างนั้น และหากใครจะทำแบบนั้นมันจะมีการต่อต้านทันที เพราะมันมีความผูกพันความเป็นเจ้าของอยู่

 ...เราจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วเราจะไม่กลับไปสู่วงจรอุบาทว์อีกเลย แล้วเราจะได้มีความหวังว่าลูกหลานเราจะอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว  ลูกหลานเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นเรามาก เราต้องสร้างตรงนี้ ซึ่งถ้าคนรุ่นนี้ไม่คิดจะทำอะไร ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจยิ่ง

ถามถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ยื่นญัตติเสนอแก้ไข รธน.นำร่องไปก่อน จากนั้นพรรคพลังประชารัฐถึงค่อยมายื่นประกบหลังสภาปิด เป็นเรื่องทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลในการต่อรองอะไรกันหรือไม่ ประธานคณะทำงานจัดตั้งเภาคีเครือข่ายฯ บอกว่า ผมมีจุดยืนที่ชัดเจนและมั่นคงต่อหลักการประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ผมจึงไม่ได้สนใจว่าขั้วการเมืองไหนจะเล่นเกมอะไร แต่ธงของเราคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์กับประชาชนจริงๆ เช่นการลดความเหลื่อมล้ำได้จริง ทำให้เกิดธรรมาภิบาลได้จริง เราต้องการแบบนั้น ส่วนใครจะมีเกมการเมืองอย่างไร เราไม่สนใจ เรามุ่งสู่เป้าหมายนี้อย่างเดียว เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่าทุกคนต่างก็มีผลประโยชน์ มีวาระของตัวเองทั้งสิ้น ดังนั้นหากเรามาวิตกกังวลเรื่องนี้ก็เดินหน้าไปไม่ได้ เราก็ต้องเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย แต่หากใครจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ แต่สิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์จากส่วนรวม เราไม่ได้สนใจ

ส่วนที่แกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ออกมาเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องของแนวคิด เขาก็อาจมองว่าองค์กรอิสระที่ถูกออกแบบมาโดย รธน.ปี.2560 มันเป็นองค์กรอิสระที่ไม่มีอิสระ รับใบสั่งจากผู้มีอำนาจรัฐ ดังนั้นในฐานะพรรคการเมือง เขาก็ย่อมมีสิทธิ์ตั้งคำถาม เมื่อเขาเป็นขั้วที่อยู่ตรงข้ามกับผู้มีอำนาจรัฐเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในสวนของคนที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็ต้องดูว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นอย่างไร ยังไงเราก็ต้องฟังประชาชน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็อยากได้ระบบยุติธรรมที่มันยุติธรรมจริง ไม่ใช่ยุติธรรมแค่สำหรับคนบางกลุ่ม ถ้าเป็นเช่นนั้นประเทศก็ไม่สามารถมีความสมานฉันท์ปรองดองได้ในระยะยาว และจะไม่มีสันติสุข แต่ถ้าเราทำให้ประเทศมีความยุติธรรมจริงๆ กฎหมายเป็นกฎหมาย ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก ไม่เลือกปฏิบัติ ก็จะดีต่อประเทศ เราต้องสร้างระบบนี้ขึ้นมา โครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เขียนไว้ใน รธน.ที่เป็นกติกาสูงสุด ต้องสร้างระบบพวกนี้ หากไม่สร้างระบบพวกนี้แล้วเปิดช่องโหว่ให้มีใครไปบิดเบือนเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง แบบนี้จะสร้างปัญหาระยะยาว แล้วนำมาสู่วิกฤตการณ์ไม่รู้จบ

 หากเรามองโลกในแง่ร้ายว่ามีคนจำนวนหนึ่ง มีความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย  เขาก็ต้องออกแบบระบบ กติกาสูงสุด ให้ระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนดูอ่อนแอ ไม่สามารถทำงานได้ ก็จะเป็นการสร้างความชอบธรรมที่จะยึดอำนาจอีกรอบ แล้วคราวนี้ก็จะอยู่ยาวเลย ถ้าสมมุติมันเป็นแบบนั้นซึ่งเราก็ไม่ปรารถนาให้มันเป็น แต่เราก็ต้องไม่ประมาท  โดยการทำให้ประชาชนเข้มแข็ง ทำให้องค์กรประชาชนเข้มแข็ง ถ้าไม่เกิดตรงนี้เขาจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งมันไม่ใช่.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

................................................

   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"