สร้างศูนย์ฟื้นฟูฯ คนไร้บ้านแห่งที่ 3 ที่ปทุมธานีเป็นแหล่งพักพิง-สร้างชีวิตใหม่ เผยผลสำรวจพบคนไร้บ้านทั่วประเทศ 2,669 คน


เพิ่มเพื่อน    


ปทุมธานี/ นายไมตรี อินทุสุต ประธานบอร์ด พอช. เป็นประธานพิธียกเสาเอกศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านปทุมธานี  ถือเป็นแห่งที่ 3 หลังจากเปิดที่เชียงใหม่และขอนแก่นแล้ว  คาดกลางปีหน้าสามารถเปิดศูนย์ฯ ได้  รองรับคนไร้บ้านได้ 100 คน  เพื่อเป็นแหล่งพักพิง  ฝึกอาชีพ ฯลฯ เป้าหมายเพื่อให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมหรือกลับไปอยู่กับครอบครัวได้  ขณะที่ข้อมูลการสำรวจพบคนไร้บ้านทั่วประเทศ 2,669 คน 

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ดำเนินการ  มีเป้าหมายครัวเรือนที่มีรายได้น้อยประมาณ 1 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ  ซึ่งในจำนวนนี้รวมกลุ่มคนไร้บ้านจำนวน  689 ราย  โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณรวม 118.6 ล้านบาท  เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน  จำนวน 3 แห่ง (เชียงใหม่  ขอนแก่น  และกรุงเทพฯ-ปทุมธานี) ดำเนินการแล้วที่จังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่น 

นายไมตรี  อินทุสุต (กลาง) ประธานพิธียกเสาเอก

 

ล่าสุดวันนี้ (1 ตุลาคม) ระหว่างเวลา 9.00-12.00 น.  มีพิธียกเสาเอกศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านปทุมธานี ซึ่งถือเป็นศูนย์ฟื้นฟูฯ แห่งที่ 3  ตั้งอยู่ที่ ต.บางพูน  อ.เมือง  จ.ปทุมธานี  โดยมีนายไมตรี  อินทุสุต  ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ผู้แทนสำนักงานงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบางพูน  นายกสมาคมคนไร้บ้าน  เครือข่ายสลัมสี่ภาค  และสมาชิกเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนเข้าร่วมงานประมาณ 150 คน

 

ทั้งนี้ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพปทุมธานี  มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งานเศษ   ใช้งบจัดซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 1 หลัง  ราคา 19.5 ล้านบาท  งบก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูฯ จำนวน 10.61 ล้านบาท  และงบสนับสนุนการฟื้นฟูฯ  รวมทั้งหมด 30 ล้านบาทเศษ  โดยใช้งบประมาณจากการสนับสนุนของรัฐบาลผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  สามารถรองรองรับคนไร้บ้านในย่านดอนเมือง  จตุจักร  ปทุมธานี  รังสิต  ฯลฯ ได้ประมาณ 100 คน 

 

ภายในศูนย์จะมีห้องพัก  ห้องจัดกิจกรรม  ห้องประชุม  สถานที่ฝึกอาชีพ  สันทนาการ  มีแปลงปลูกผักสวนครัว  โรงเพาะเห็ด เพื่อใช้เป็นอาหารและขายเป็นรายได้  มีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน  เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม  รวมถึงกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวได้  ตามแผนงานจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ  8 เดือน  หรือคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2563

 โมเดลศูนย์ฟื้นฟูฯ คนไร้บ้าน

 

นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดูแลพี่น้องที่กระจัดกระจาย และไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องอาศัยที่สาธารณะ ค่ำไหนนอนนั่น  โดยเมื่อ 3 ปีก่อนรัฐบาลได้ให้งบประมาณแก่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เพื่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูฯ ให้กับคนไร้บ้านทั้งหมด 3 แห่ง  คือ 1.จังหวัดเชียงใหม่ 2.จังหวัดขอนแก่น  และ 3.จังหวัดปทุมธานี  คือที่ตำบลบางพูนแห่งนี้ คาดว่าหลังสงกรานต์ปีหน้าคงจะสำเร็จแล้วเข้าอยู่ได้ เพื่อเป็นแหล่งทำกิน  เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย

 

“ทั้งนี้ขอให้พี่น้องที่จะมาอยู่ที่นี่  มีความพูนสุข  สุขเกษม  และเป็นคนดีของสังคม เกื้อกูล เอื้ออาทรกัน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นสถาบันฯ ที่มาช่วยขับเคลื่อนการทำงานของพี่น้อง  โดยอาศัยหลักการ ก-ข-ค  ‘ก’ คือ แกนนำ ‘ข’ คือ ขบวนชุมชน ‘ค’  คือเครือข่าย เพื่อเกิดเป็นพลังที่แกร่ง  เข้มแข็ง  และเคลื่อนงาน” นายไมตรีกล่าว

 

นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  พี่น้องคนไร้บ้านถือว่าเป็นคนชายขอบของเมือง  สิ่งที่สำคัญคือว่า  แม้ว่าเราจะเป็นคนชายขอบของเมือง  แต่ความมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  ทุกคนย่อมควรจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  และจะต้องมีกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง  โดยมีหลักสำคัญ  คือ การช่วยตนเอง  การแก้ไขปัญหา  ทั้งระดับพื้นที่และนโยบาย  ดังนั้นสถานที่แห่งนี้ที่เราสร้างก็คือศูนย์เรียนรู้ อยากให้พวกเราทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และเป็นประโยชน์กับสังคมต่อไป  

นายสุชิน  เอี่ยมอินทร์

 

นายสุชินทร์   เอี่ยมอินทร์  นายกสมาคมคนไร้บ้าน  กล่าวถึงที่มาของคนไร้บ้านว่า  มีที่มาจากหลายสาเหตุ  เช่น  บางคนมีปัญหากับครอบครัว  มีโรคประจำตัว  พิการ  ครอบครัวรังเกียจ  เป็นผู้สูงอายุไม่มีคนดูแล  ตกงาน  ไม่มีรายได้  ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน   บางคนเพิ่งออกมาจากคุกไม่มีทางไป  บางคนชอบอิสระ   ไม่ชอบทำงาน  ฯลฯ  จึงต้องออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อน  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามที่สาธารณะ  เช่น  ริมถนน  สวนหย่อม  สถานีรถไฟ  ใต้สะพานลอย  สถานีขนส่ง  ฯลฯ   ส่วนใหญ่มีรายได้จากการเก็บขยะรีไซเคิลต่างๆ  เช่น  ขวด กระป๋องเครื่องดื่ม  เศษกระดาษ  และมีปัญหาต่างๆ  เช่น  สุขภาพไม่ดี  ไม่มีบัตรประชาชนหรือบัตรหาย  เมื่อเจ็บป่วยไปหาหมอไม่ได้  ทำให้เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ

 

“การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ คนไร้บ้านขึ้นมาถือว่าเป็นเรื่องที่ดี  เพราะจะทำให้คนไร้บ้านมีที่พักพิง ไม่ต้องร่อนเร่  หรือไปอาศัยหลับนอนตามใต้สะพานหรือตามที่สาธารณะ  ผมถือว่าที่นี่เป็นสถานที่ตั้งหลักชีวิต  ไม่ว่าเราจะล้มลุกคลุกคลานมาจากที่ไหน  แต่ที่ศูนย์ฟื้นฟูฯ จะทำให้เรามีที่อยู่อาศัย  มีข้าวกิน เมื่อท้องอิ่ม  ได้หลับนอนอย่างเต็มที่  เราก็จะมีพลังความคิดที่จะแก้ไขปัญหา  หรือทำมาหากินต่างๆ เพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงดูตัวเอง  ไม่ต้องเร่ร่อนอีกต่อไป”  นายกสมาคมคนไร้บ้านกล่าว

 

นายสุชินกล่าวด้วยว่า  ยังมีกลุ่มคนไร้บ้านอีกจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามสถานที่สาธารณะ  กระจายอยู่ทั่วประเทศ  หลายคนไม่มีบัตรประชาชน  หรือบัตรประชาชนหาย  ทำให้เข้าไม่ถึงบริการจากรัฐ  โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล  ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  9 หน่วยงาน  เช่น  กระทรวง พม.  กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น   สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สสส.  พอช.  และสมาคมคนไร้บ้าน   จึงได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลประชากรคนไร้บ้านในเขตเทศบาลทั่วประเทศ  รวมทั้งหมด 45 จังหวัด  ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา  พบว่า  มีคนไร้บ้านทั่วประเทศจำนวน 2,669 คน   ซึ่งข้อมูลที่ได้นี้จะนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหากลุ่มคนไร้บ้านต่อไป

ร่วมปลูกผักสวนครัว

 

ปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนการจัดสร้าง “ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน” ขึ้นมา 3 แห่ง  คือ  1.เชียงใหม่  ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อกลางปี 2561 สามารถรองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ 50 คน  ทำให้คนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่มีที่พักพิง  มีทั้งห้องพักส่วนตัวและห้องพักรวม  มีการฝึกอาชีพต่างๆ   ทำแปลงเกษตร  เลี้ยงไก่  การคัดแยกขยะขาย ฯลฯ 

 

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือสมาชิก โดยสมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเดือนละ 50 บาท  ขณะที่คนไร้บ้านที่มีอาชีพ  มีรายได้จะต้องช่วยกันออกค่าน้ำค่าไฟ (เฉลี่ยจากมิเตอร์) และค่าบำรุงห้องพักเดือนละ 300 บาท  โดยมีกฎระเบียบในการอยู่อาศัยร่วมกัน  เช่น  ห้ามเล่นการพนัน  ห้ามดื่มสุรา  ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น  ฯลฯ

ศูนย์ฟื้นฟูคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่

 

2.ขอนแก่น เพิ่งก่อสร้างเสร็จ  แต่มีคนไร้บ้านส่วนหนึ่งเข้าอยู่อาศัยแล้ว  สามารถรองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ 100  คน  และ 3.กรุงเทพฯ (ปทุมธานี) กำลังดำเนินการก่อสร้าง  รองรับได้ประมาณ 100 คน  นอกจากนี้ยังมีศูนย์พักคนไร้บ้าน  สุวิทย์  วัดหนู  เขตบางกอกน้อย, ศูนย์พักคนไร้บ้านตลิ่งชัน  และโครงการบ้านหลังแรกของคนไร้บ้าน  ที่ริมทางรถไฟย่านพุทธมณฑลสาย  2  ดำเนินงานโดยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและเครือข่ายสลัม 4 ภาค  รองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ 100 คน

ทั้งนี้แผนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน  ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาว  และเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย  และครอบคลุมในทุกมิติ  มีเป้าหมายทั้งหมดประมาณ 3 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รับผิดชอบประมาณ 1 ล้านครัวเรือน (บ้านมั่นคง บ้านพอเพียงชนบท  คนไร้บ้าน ฯลฯ) ส่วนการเคหะแห่งชาติรับผิดชอบ 2 ล้านครัวเรือน (บ้านเอื้ออาทร  บ้านการเคะฯ)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"