จัดระเบียบเมืองมหานคร


เพิ่มเพื่อน    

               หากเราเดินไปตามท้องถนน ในเมืองใหญ่มักจะเห็นภาพสายไฟห้อยระโยงระยางไปทั่ว โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. ที่ทำให้เป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก และหลายๆ คนเกิดความกลัวว่าสักวันคงจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน  จนทำให้เกิดคำถามกันว่าไอ้สายไฟที่ห้อยระโยงนี้เมื่อไหร่จะหมดไป  

                แต่เพื่อความเป็นธรรมต้องไปตรวจสอบกันให้ดีว่าสายไฟที่ห้อยระโยงระยางนั้นจริงๆ แล้วเป็นสายอะไรกันแน่ สายไฟฟ้าหรือสายสื่อสาร หรือสายอะไรกันแน่ เพราะถ้าลองมองกันในหลักของความเป็นจริงแล้ว สายไฟฟ้าที่เห็นพาดกันไปพาดกันมาตามเสาไฟฟ้านั้นไม่ใช่เป็นแค่สายไฟเพียงอย่างเดียว แต่จะมีทั้งสายไฟฟ้าแรงสูง สายไฟฟ้าแรงต่ำ และสายสื่อสาร เช่น สายเคเบิล สายโทรศัพท์ สายอินเทอร์เน็ต สายทีวี

                โดยสายไฟฟ้าจะเดินสายอย่างมีระเบียบไว้ที่ด้านบนสูงสุด รองลงมาคือสายไฟแรงต่ำที่จ่ายเข้าตามบ้านเรือน และล่างสุดที่จะมองเห็นกันว่า พันกันจนยุ่งเหยิงมั่วไปหมด แถมบางจุดจะเห็นว่ามีการม้วนเป็นขดกลมๆ แขนไว้ตามเสาไฟ หลายๆ ม้วนนั้นไม่ใช่สายอะไรอื่น มันคือสายสื่อสารดีๆ นี่เอง

                แต่ไม่ว่าจะเป็นสายอะไร ขณะนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งเดินหน้าจัดระเบียบ อย่างเช่น การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ในฐานะเจ้าของสายไฟฟ้า ได้เดินหน้าประกาศแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ภายใต้งบประมาณ 143,092 ล้านบาท เพื่อปรับโฉมสภาพภูมิทัศน์บ้านเมืองให้สวยงาม เพิ่มความปลอดภัยให้ชีวิตประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น

                โดยแผนการดำเนินงาน ประกอบด้วย โครงการย่อยที่ 1 ปี 2557-2565 จำนวน 49 เส้นทาง รวมระยะทาง 144.6 กิโลเมตร แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 99.2 กม. นนทบุรี 12.3 กม. สมุทรปราการ 33.1 กม. โครงการย่อยที่ 2 ปี 2558-2560 30 เส้นทาง รวมระยะทาง 117 กม. แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 92.6 กม. และนนทบุรี 24.4 กม. เมื่อรวมทั้งสิ้นจะมี 79 เส้นทาง รวมระยะทางทั้งหมด 261.6 กม. แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 191.8 กม. นนทบุรี 36.7 กม. และสมุทรปราการ 33.1 กม.

                ซึ่ง กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าฯ กฟน. ได้ระบุว่า   การเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในระยะเวลา 5 ปี (2560-2564) ระยะทางที่ต้องเปลี่ยน 214 กม. ต้องใช้งบประมาณรวมกว่า 80,000 ล้านบาท ล่าสุดมีการดำเนินการแล้วเสร็จ รวมระยะทาง 45.6 กิโลเมตร ประกอบด้วยโครงการถนนสีลม, โครงการปทุมวัน, โครงการจิตรลดา, โครงการพหลโยธิน, โครงการพญาไท, โครงการสุขุมวิท, โครงการปทุมวัน จิตรลดา และพญาไท

                เหลืออีก 174 กม. ในปี 2562 จะดำเนินการใน ถ.จรัญสนิทวงศ์ ช่วงตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งได้ผู้รับเหมาแล้ว ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท, ถ.พระราม 4, ถ.พระราม 3 เชื่อมกับ ถ.นราธิวาสราชนครินทร์, ถ.ช่องนนทรี และ ถ.รัชดาภิเษก-พระราม 9 ซึ่งจะทยอยกันมาเรื่อยๆ

                ขณะที่ในพื้นที่ จ.นนทบุรีและสมุทรปราการ ที่ กฟน.ดูแลนั้น เบื้องต้นเส้นทางที่คาดว่าจะสามารถดำเนินการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินได้นั้น ประกอบด้วย 1.ช่วงแจ้งวัฒนะ-ติวานนท์  ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างประสานงานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ 2.ช่วงสุขุมวิท 101-บางปู-เทพารักษ์ เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ก่อสร้างเสร็จแล้ว กฟน.ต้องทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเอง จึงอยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบโครงการอยู่

                อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูกันว่า จะสามารถนำสายไฟฟ้าลงดินได้ทั้งหมดกันหรือไม่ เพราะการนำระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ช่วยเสริมสร้างความมั่นคง ปลอดภัย ของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น อุบัติเหตุจากรถชนเสาไฟฟ้า ฝนตกลมแรงซึ่งอาจพัดกิ่งไม้หรือป้ายโฆษณามาเกี่ยวสายไฟฟ้าทำให้เกิดความเสียหายและความอันตรายได้ และยังช่วยเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม

                แต่บรรดาสายสื่อสารทั้งหลายไม่ใช่เฉพาะที่ กทม.เท่านั้น ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศก็เกิดปัญหาเดียวกันว่าจะจัดระเบียบตัวเองอย่างไร โดยที่ไม่ไปรุกรานคนอื่นให้มัวหมองไปด้วย และที่สำคัญต้องไม่ใช้เป็นข้ออ้างและผลักภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้กับผู้บริโภคเหมือนที่ผ่านๆ มา. 

บุญช่วย  ค้ายาดี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"