Checking point ลดอุบัติเหตุ


เพิ่มเพื่อน    

                               

           เป็นเรื่องน่าตกใจที่ข้อมูลจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดอันดับไทยเป็นประเทศที่เกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก เมื่อปี 2558 และ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติ (UN) ว่าไทยจะแก้ไขอุบัติเหตุให้ลดลงภายในปี 2563 จึงได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการในเรื่องการ ตั้งจุดตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะและรถรับจ้างทุกประเภท และพนักงานขับรถ (Checking point) ในทุกๆ ระยะทาง 90 กิโลเมตร (กม.)

                เรื่องนี้ทำให้กระทรวงคมนาคม นำโดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ได้มีการรับสนองนโยบายจากนายกรัฐมนตรี โดยการตั้ง Checking Point กำหนดจุดจัดตั้งจะให้เริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วัดระยะทางที่เหมาะสมออกไปทุกๆ 90 กม.ตาม 111 สายทางทั้งหมดทั่วประเทศ โดยให้ประสานงานกับปั๊มน้ำมันทุกแห่งทั่วประเทศในการตั้งจุดตรวจ จะต้องตั้งให้ได้ 245 จุดกระจายไปทั่วประเทศ

                อย่างไรก็ตาม ในการตรวจ Checking Point แต่ละจุดต้องปฏิบัติงาน 24 ชม. แบ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการ 3 ช่วงเวลา ช่วงเวลาละ 8 ชม. โดยจะให้สำนักงานขนส่งจังหวัดแต่ละแห่งออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะประจำจังหวัด ประกอบด้วยผู้ตรวจการขนส่งเป็นหัวหน้า ส่วนผู้ช่วยให้สำนักงานขนส่งจังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสม คาดว่าจะใช้ผู้ตรวจการขนส่งจำนวน 735 คน ส่วนผู้ช่วยจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 คน/จุด ส่วนงบดำเนินการจะดึงจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนจำนวน 180 ล้านบาท หรือประมาณ 10 ล้านบาท/เดือนใช้จ่ายในเรื่องค่าเบี้ยเลี้ยงและอุปกรณ์การตรวจสอบต่างๆ

                โดย Checking Point จะเริ่มตรวจตั้งแต่คนขับเริ่มสตาร์ทรถในขนส่ง เพราะรถโดยสารแต่ละคันติดตั้ง GPS อยู่แล้ว ถ้าเข้ารับการตรวจที่จุดแรกและใช้เวลาเดินทางเร็วกว่า 1 ชม. ถือว่าใช้ความเร็วเกินกฎหมายทันที เบื้องต้นจะเตือนก่อน แต่หากไปจุดถัดไปยังขับเร็วอีกก็จะดำเนินการขั้นต่อไป คือพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตตามขั้นตอน ซึ่งจะทำให้เวลาเดินทางของประชาชนช้าลง 5-10 นาที ส่วนรถที่ไม่ยอมเข้า Checking Point ก็จะแจ้งจุด checking Point ถัดไป และตำรวจทางหลวง เพื่อสกัดจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป หากเป็นไปได้ก็อยากให้อุบัติเหตุลดลงเหลือศูนย์

                สำหรับมาตรการ Checking Point นี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ลงพื้นที่จุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ (Checking Point) บริเวณจุดตรวจอินทร์บุรี (ฝั่งขาออก) และบริเวณสถานีบริการน้ำมันวิบูลย์พานิชย์ (ฝั่งขาเข้า) จังหวัดสิงห์บุรี หลังจากมอบนโยบายกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการตั้งจุด Checking Point ทุกๆ  ระยะทาง 90 กิโลเมตรทั่วประเทศนั้น จากข้อมูลพบว่าตั้งแต่วันที่ 16-20 ก.ย.ที่ผ่านมา มีรถโดยสารเข้าตรวจความพร้อมทั้งสิ้น 53,411 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง จำนวน 50,513 คัน, รถโดยสารไม่ประจำทาง (รถเช่าเหมา)  จำนวน 2,898 คัน โดยในจำนวนดังกล่าว พบข้อบกพร่อง 344 คัน เช่น ชั่วโมงการทำงานเกิน, ความเร็วเกิน, GPS ไม่เชื่อมต่อ เป็นต้น

                และภายหลังการดำเนินการ Checking Point ที่ผ่านมา  พบว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะลดลงเหลือ 0.4 ครั้ง จากเดิมในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-31 ส.ค.ที่ผ่านมา มีอัตราเฉลี่ย 1.07 ครั้ง โดยตั้งเป้าให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ พร้อมทั้งมอบหมายให้ ขบ.ดำเนินการทำการตรวจความพร้อมของรถและพนักงานขับรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางอย่างต่อเนื่องทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนของปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการนั้น ได้รับรายงานว่ายังขาดแคลนบุคลากรประจำจุดตรวจฯ จึงได้บูรณาการร่วมกับจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดอาสาสมัครมาช่วยดำเนินการ

                โดยในสัปดาห์หน้ากระทรวงคมนาคมเตรียมหารือร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เพื่อขอความร่วมมือในการตั้งจุดตรวจฯ ภายในสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊มน้ำมัน) ด้วย และในอนาคตเตรียมขยายการดำเนินการกับรถบรรทุก รวมทั้งรถประเภทอื่นในระยะต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเข้าใจมาตรการของกระทรวงฯ ในครั้งนี้ แม้จะทำให้เพิ่มเวลาการเดินทางไปอีกประมาณ 30 นาที แต่เชื่อว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น และประชาชนถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ.

กัลยา ยืนยง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"