7พรรคดิ้นโต้ปลุกปั่น ขู่เอาคืนกอ.รมน.หลังแจ้งความผิดม.116แก้รธน.‘มาตรา1’


เพิ่มเพื่อน    

 ปมแก้ รธน.มาตรา 1 ลาม! กอ.รมน.ภาค 4 แจ้งจับ "7 แกนนำพรรคฝ่ายค้าน-ชลิตา" รวม 12 ราย ผิดมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น เผยปัตตานีเป็นพื้นที่ใช้กฎหมายพิเศษ เปราะบางต่อสถานการณ์ เมื่อมีการบิดเบือนจึงต้องเอาผิด “บิ๊กป้อม” แจงเหตุเหมาเข่งเพราะไม่ยอมทัดทานนักวิชาการพูดถึงมาตรา 1 ด้านตัวแทนฝ่ายค้านแถลงโต้ ใช้ กม.ข่มขู่ปิดปากเป็นเครื่องมือการเมือง ยันเวทีเสวนาไม่มีเหตุจูงใจที่เข้าข่าย ม.116 ปัดต้องการแก้ ม.1 ขู่แจ้งความกลับ "บุรินทร์" ส่วน "ปิยบุตร" จ่อเรียกมาชี้แจง กมธ.กฎหมายฯ ขณะที่ "บุรินทร์" ลั่นพร้อมไปชี้แจง

    เมื่อวันศุกร์  มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และผู้ชำนาญการสำนักงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ได้รับมอบอำนาจจาก พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้เข้าพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับบุคคลรวม 12 คน ประกอบด้วย 1.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อายุ 78 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย 2.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 40 ปี หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ 3.พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อายุ 64 ปี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) 4.นางชลิตา บัณฑุวงศ์ อายุ 47 ปี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลับเกษตรศาสตร์ 5.นายสมพงษ์ สระกวี อายุ 69 ปี  6.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อายุ 75 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ 7.นายมุข สุไลมาน อายุ 70 ปี 8.นายนิคม บุญวิเศษ อายุ 49 ปี หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย 9.นายรักชาติ สุวรรณ อายุ 55 ปี 10.นายอสมา มังกรชัย อายุ 45 ปี 11.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อายุ 75 ปี หัวหน้าพรรคประชาชาติ และ 12.นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อายุ 48 ปี
    โดยทั้ง 12 คนได้จัดเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ย.62 โดยทางเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 ได้เข้าไปตรวจสอบพบว่าการจัดเวทีเสวนาดังกล่าวของผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 12 คน ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเวทีเสวนา โดยมีประชาชนร่วมรับฟังประมาณ 150 คน ซึ่งการจัดเสวนาดังกล่าวได้มีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อออนไลน์เฟซบุ๊กพรรคประชาชาติ และมีการอัพโหลดการจัดเสวนาดังกล่าวลงในช่องยูทูบ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชนทั่วไปรับรู้รับทราบ รับชม รับฟัง ลักษณะการจัดเวทีเสวนาดังกล่าว 
    "โดยกลุ่มผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 12 คน ได้มีการพูดนำเสนอข้อมูลในลักษณะมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องต่อประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบภายในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 "
    รายงานข่าวเปิดเผยว่า ในระหว่างการเสวนาดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเข้าร่วมรับฟังอยู่ด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่นางชลิตา บัณฑุวงศ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า “สถานการณ์ชายแดนใต้ไม่มีทางที่จะดีขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ มันสืบทอดอำนาจของระบอบเหล่านี้ ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ปัญหาชายแดนใต้คืออะไร มีผู้อธิบายว่ามีมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักๆ ที่มีน้ำหนักมากก็คือสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมันเป็นผลพวงของความรู้สึกถึงความไม่ชอบธรรม ความคับข้องหมองใจของผู้คนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง และก็ถูกกีดกันออกจากการพัฒนาต่างๆ แล้วก็ใช้ช่วงเวลา 10-15 ปีมานี้ มันก็เป็นความขัดข้องหมองใจที่เกิดจากการกระทำของรัฐในการกวาดล้าง การใช้กฎหมายพิเศษ รวมถึงเรื่องแนวคิดและอุดมการณ์เรื่องการแบ่งแยกดินแดน ทั้งหมดเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ แต่รัฐมีแนวทางแก้ปัญหาคือ 1.การใช้กำลังทหารและตำรวจในการรักษาความมั่นคง 2.การพัฒนาพื้นที่คุณภาพชีวิต และ 3.การส่งเสริมทางสังคมและวัฒนธรรม พบว่าแนวทางดังกล่าวมีปัญหา เพราะแนวทางเหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของกองทัพ ซึ่งที่จริงไม่ควรเป็นงานด้านความมั่นคง แต่ทหารกลับมามีอำนาจและมีบทบาทในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาของประเทศไทยอาจไม่ต้องอยู่กันเป็นรัฐเดียวหรือรวมศูนย์ก็ได้ การแก้รัฐธรรมนูญอาจแก้มาตรา 1 ด้วย ก็ไม่แปลกอะไร” 
ไม่ทัดทานนักวิชาการ
    คำพูดดังกล่าวถือเป็นบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่อง ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบภายในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินได้ ส่วนที่ต้องดำเนินคดีกับผู้ที่อยู่ในเวทีเสวนาทั้งหมดนั้น เพราะถือว่าทุกคนเป็นผู้ร่วมกันกระทำความผิด และทุกคนสมัครใจมีส่วนร่วมในการจัดการเสวนาครั้งนี้ อีกทั้งพื้นที่จัดงานเสวนาก็เป็นพื้นที่ที่ยังคงประกาศใช้กฎหมายพิเศษอยู่ซึ่งมีความเปราะบางต่อสถานการณ์เป็นอย่างมาก
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายของ กอ.รมน.ภาค 4 ซึ่งคงได้พิจารณาอยู่แล้ว แต่ตนยังไม่ได้เห็นเรื่องทั้งหมด จึงไม่สามารถพูดได้ว่ารัฐบาลจะทำอะไร
    ผู้สื่อข่าวถามว่าจะบานปลายไปเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ก็แล้วเขาทำผิดหรือเปล่า ก็ต้องไปดูข้อกฎหมาย กอ.รมน.ภาค 4 เขาก็ดูข้อกฎหมาย และต้องดูที่คำพูดของเขา ส่วนจะเดินทางไปไหนก็ไป ไปพูดที่ไหนก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ต้องดูที่คำพูด เพราะเขาพูดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอะไรนั่น” เมื่อถามว่าจะกลายเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรบอกว่า ไม่มีหรอก
    “ก็ในเมื่อนั่งอยู่ด้วยกัน ก็ต้องคัดค้านกันสิ” พล.อ.ประวิตร กล่าวเมื่อถามว่า แต่ในเวทีเสวนาดังกล่าวข้อเสนอเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1 เป็นเพียงความเห็นเดียวของนักวิชาการ เมื่อถามย้ำว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนไม่ทราบ ต้องถามนักกฎหมายดู
    เมื่อถามว่า แสดงว่า กอ.รมน.ภาค 4 พิจารณาจากภาพรวมเวทีวันดังกล่าวใช่หรือไม่ ถึงไปแจ้งความ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ตนยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะทาง กอ.รมน.ภาค 4 ยังไม่ได้รายงานมา แต่ก็ดูแล้วว่าผิด แต่ยังไม่ทราบว่าผิดข้อหาอะไร แต่เขาแจ้งความตามมาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่น
    ถามว่าจะต้องย้อนไปดูการจัดเวทีเสวนาของ 7 พรรคฝ่ายค้าน ในจังหวัดอื่นๆ ที่ผ่านมาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายจะดูว่าอะไรผิด อะไรไม่ผิดเขาต้องดู ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ก็คงดูว่าผิดกฎหมายอะไร ตนคงไม่กำชับอะไร เพราะเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย
     พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ โดยขณะนี้ยังไม่ได้มีการเชิญบุคคลใดมาให้ปากคำแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าเนื้อหาที่มีการเสวนาเข้าข่ายความผิดตามที่มีการแจ้งความร้องทุกข์ และได้สั่งกำชับให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร.ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ ไปติดตามความคืบหน้า และยังฝากเตือนไปยังประชาชนไม่ควรพูดอะไรเป็นการสุ่มเสี่ยง เพราะหากมีการพูดลักษณะเข้าข่ายความผิดก็จะต้องถูกดำเนินคดีไปตามกฎหมาย 
     บ่ายวันเดียวกัน ที่พรรคเพื่อไทย ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ถูกแจ้งความเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ร่วมแถลงข่าว โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า บทบัญญัติกฎหมายอาญามาตรา 116 ใครที่เรียนกฎหมายต่างทราบถึงความผิดทางกฎหมายด้านนี้ นอกจากมีความผิดแล้ว ยังต้องมีมูลเหตุจูงใจและเจตนาพิเศษ ซึ่งมีการกำหนดการกระทำไว้ 3 ประการ 1.ต้องกระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน ใช้กำลังประทุษร้าย 2.กระทำเพื่อสร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ทำให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง 3.ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน 
ไม่เข้าข่าย ม.116
    "แต่จากการไปอภิปรายที่สาธารณะของตัวแทน 7 พรรค ที่มีนักการเมือง นักวิชาการไปร่วมเสวนา ไม่เห็นว่าจะมีมูลเหตุจูงใจทั้ง 3 ประการ ไม่มีการกระทำที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน ไม่มีการใช้กำลังประทุษร้าย ไม่มีการทำให้เกิดความปั่นป่วน ก่อความไม่สงบในบ้านเมือง ไม่มีการกระทำใดที่จะทำให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน จึงถือว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 ซึ่งหลังจากยึดอำนาจเมื่อปี 2557 คสช.ได้ใช้อำนาจแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชน นิสิตนักศึกษา นักการเมือง เป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังก็มีการยกฟ้อง ไม่อยากให้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไปแจ้งความปิดปากให้เกิดความกลัว" นายชูศักดิ์กล่าว
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมา มีการไปแจ้งความเอาผิดลักษณะนี้จำนวนมาก สุดท้ายอัยการก็ยกฟ้อง ต่อไปถ้าใช้มาตราดังกล่าวแจ้งความไปทั่ว บุคคลจะไม่กล้าใช้เสรีภาพแสดงความเห็นอีก โดยผู้ที่ไปแจ้งความ ได้ดิบได้ดีมียศเป็นพลตรี นานวันเข้าจะถูกมองว่าเมื่อวิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะโดนคดี 116 อีกหรือไม่ ในฐานะประธานกรรมาธิการกฎหมายฯ เพื่อให้พิจารณาเรื่องการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก กลั่นแกล้งกัน โดยตนจะพิจารณาต่อไป และเรียกพล.ต.บุรินทร์มาให้การว่าสุดท้ายแล้วมีวัตถุประสงค์อะไร อ่านกฎหมายไม่เข้าใจหรือ ที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายมั่วซั่วหรือไม่ ต้องเข้ามาให้คำชี้แจงว่าใช้กฎหมายนี้เพื่ออะไร 
    "การร้องทุกข์กล่าวโทษ มีเรื่องบังเอิญอย่างน่าประหลาด เพราะรัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงขาลง ทั้งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังจุดติด แต่มามีการแจ้งความเพื่อเบี่ยงเบน กอ.รมน.และกองทัพคิดอะไรอยู่ หวังจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินต่อไปไม่ได้ใช่หรือไม่ ต้องถามนายกฯ บ้านเมืองกำลังเดินหน้าไปได้ แต่กลับเอาเรื่องคดีมายัดใส่ให้คนอื่นอีกอย่างนั้นหรือ" นายปิยบุตรกล่าว 
    พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า กฎหมาย กอ.รมน. นายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ซึ่งในทางกฎหมายเท่ากับว่านายกฯ สั่งการให้ดำเนินคดี ซึ่งการไปใช้สิทธิในเรื่องนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่สำคัญอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์แถลงเอาไว้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เมื่อมีการไปแจ้งความเช่นนี้ ผู้แจ้งความกำลังบิดเบือนประเด็นทางกฎหมาย โดยอาจารย์ที่ถูกแจ้งความก็ไม่ได้ผูกพันนักการเมือง แต่เป็นนักวิชาการที่ไปทำงานในพื้นที่ แต่ กอ.รมน.ก็ไปแจ้งความ เพื่อหวังจะข่มขู่นักวิชาการ ประชาชน ว่าต่อไปไม่ควรแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ถ้าเป็นเช่นนี้ ถือเป็นอันตรายต่อประเทศ
    "เมื่อมีการแจ้งความเป็นคดีแล้วก็ต้องต่อสู้ทางคดี สำหรับผู้ถูกกล่าวหาจะมีทีมนักกฎหมาย 7 พรรคเข้าไปช่วยเหลือ เพราะตำรวจต้องเรียกไปสอบสวน เรายังพบว่ามีการไปแจ้งความเท็จ กระทำเพื่อข่มขู่ โดยนักการเมืองทั้ง 7 พรรค จะมีการดำเนินคดีกับผู้แจ้งความเท็จ ผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ และกำลังพิจารณาว่าจะไปถึงนายกฯ หรือไม่ การที่จะสืบทอดอำนาจแต่มาใช้กฎหมายบ้านเมืองข่มขู่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง" พ.ต.อ.ทวีกล่าว 
    นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า ถือว่าได้รับเกียรติเป็นคดีแรก นับแต่เป็นหัวหน้าพรรค การที่มีการไปแจ้งความหัวหน้าพรรค นักวิชาการ ทั้งที่เราได้รณรงค์ 4 ภาค ก็ได้พูดชัด ไม่แตะหมวด 1-2 การที่มีคนไปพูด ประเด็นใด เป็นสิทธิเสรีภาพ การจำกัดสิทธิ เสรีภาพเป็นเรื่องอันตราย ไม่รู้ว่ายังเข้าใจว่า ยังอยู่ในยุค คสช.หรือไม่ จึงยังใช้กฎหมายคุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง เมื่อเราโดนคดี ก็คงคิดว่าเราจะหยุด แต่เราไม่หยุด เรายังมีแผนที่จะเดินต่อไป การไปแจ้งความก็เป็นการแจ้งความเท็จ แน่จริงควรไปแจ้งความเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนด้วย วันอาทิตย์นี้เราจะไปแจ้งความกลับ
แจ้งความกลับ "บุรินทร์"
    พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร กล่าวว่า ในฐานะอดีตเลขาธิการสมช. มีข้อห่วงใย พล.ต.บุรินทร์ และหน่วยงานความมั่นคง ที่ส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินคดี บุคคลที่ได้รับมอบมา น่าจะไม่แตกฉาน กฎหมายความมั่นคง แทนที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา อาจเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดปัญหามากขึ้น โดยทำให้ผู้บังคับบัญชาเดือดร้อนเสียเอง และจากนี้ไปคงจะมีมาตรการตอบโต้เสียบ้าง ขอให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายอ่านกฎหมายให้แตกฉาน ถ้ายังมีการดำเนินการตามใบสั่ง อาจจะเป็นทุกขัง อนิจจัง การรับราชการต่อไปของท่านอาจไม่ราบรื่น ในวันอาทิตย์ที่ 6 ต.ค. จะมีการไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนายทหารผู้นี้
    นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า การไปรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ เราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และพูดย้ำเสมอ ไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1-2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคนที่ไปแจ้งความ ถ้าไม่เข้าใจกฎหมาย อาจจะต้องไปเปิดกูเกิลดู
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เมื่อมีผู้ถูกแจ้งความ จะมีทีมนักกฎหมายเข้าไปให้การช่วยเหลือ
    นายชัยเกษม นิติสิริ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากรายงานประจำวันที่บันทึกการแจ้งความข่าว พบว่าไม่มีการแจ้งว่าใคร พูดอะไร ตอนไหน อย่างไร ที่จะเข้าข่ายความผิดมาตรา 116 เป็นเพียงการแจ้งความหว่านแห แสดงให้เห็นว่าคนแจ้งยังไม่เข้าใจชัดเจนด้วยซ้ำว่าข้อเท็จจริงจะเข้าความผิดมาตรานี้ ในฐานะที่เป็นฝ่ายกฎหมายของทหาร ควรกลั่นกรองให้ดีก่อนที่จะฟ้องใคร  อ่านเนื้อหาที่แจ้งความแล้วยังไม่รู้ว่าตรงไหนที่จะเข้า ปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ก่อความไม่สงบ หรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ดังนั้นผู้แจ้งความควรตัดตอนออกมาให้ชัดเจนว่าคำกล่าวท่อนไหนที่ผิด ไม่ใช่กล่าวหาลอยๆ กว้างๆ แล้วให้เจ้าพนักงานไปทำเอาเอง รู้แต่ข้อหา แต่ไม่รู้ว่าตรงไหนอย่างไร เหมือนโยนเข็มในมหาสมุทร ให้พนักงานไปทำงานเอง
    “หมดยุค คสช. หมดยุคที่หน่วยงานทั้งหลายที่จะทำตามความเห็น คสช. และหมดยุคการใช้อำนาจตาม ม.44 แล้ว การกระทำเช่นนี้อาจไม่ใช่การหวังผลทางกฎหมาย แต่อาจจะทำเพื่อให้ส่งผลต่อประชาชนให้ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมากกว่า สิ่งที่พูดแล้วน่าจะทำไม่ได้คือ ม.255 ในรัฐธรรมนูญคือเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง เช่น การปกครองท้องถิ่นที่มีเอกภาพของตัวเองมากขึ้นอย่างกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา เป็นสิ่งที่สามารถทำได้และหยิบยกขึ้นมาพูดได้” นายชัยเกษมกล่าว
    นายปิยบุตรให้สัมภาษณ์ที่พรรคอนาคตใหม่ด้วยว่า ยืนยันว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป โดยสิ่งที่เราฝันถึงคือโมเดลของรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ภายใต้กรอบเงื่อนไข ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้รูปของรัฐราชอาณาจักร เป็นรัฐเดี่ยว
    เมื่อถามว่าได้คุยกับนายธนาธรหรือยัง นายปิยบุตรกล่าวว่า คุยแล้ว เจ้าตัวกำลังใจดี ได้ยินเรื่องนี้ก็หัวเราะ เขาบอกตนว่าเห็นชื่อนายพลคนนี้ไปแจ้งความพร้อมกับข้อหา ม.116 ก็เข้าใจได้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างล่าสุดอัยการก็สั่งไม่ฟ้องเรื่องที่ไลฟ์เฟซบุ๊กไม่กี่วันมานี้
ไม่ต้องการแก้หมวด 1-2
    ส่วนกรณีการแสดงความคิดเห็นของ ดร.ชลิตา จะเสนอให้ไทยเลิกเป็นราชอาณาจักร นายปิยบุตรกล่าวว่า นักวิชาการมีเสรีภาพของการแสดงออกความคิดเห็น ถือเป็นการให้ความรู้ทางวิชาการ เปิดจินตนาการใหม่ๆ แต่นักวิชาการไม่ได้มีกำลังหรืออาวุธไปทำอะไรได้ ตรงกันข้าม กองทัพต่างหากไม่ต้องพูดอะไร อยากจะยึดอำนาจก็ยึดเลย และนิรโทษกรรมตัวเอง และเป็นแบบนี้ทุกครั้ง พรรคการเมืองที่เข้าร่วมพูดบนเวที ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ก็ยืนยันว่าไม่มีใครพูดว่าต้องการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 และหมวด 2
    ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า การที่ประชาชนคนใดสะท้อนถึงความบกพร่องด้วยหลักเหตุและผลต่อรัฐธรรมนูญนั้นนับเป็นความหวังดีต่อชาติ เพราะหากเราทั้งหลายสามารถทำให้รัฐธรรมนูญมีความรัดกุม รอบคอบ ตรงหลักการทั้งประชาธิปไตย มนุษยชน มนุษยธรรม ความยุติธรรม การมีส่วนร่วมของประชาชนมากเท่าไร ความมั่นคง มั่งคั่งของประเทศก็จะมีมากขึ้นไปเท่านั้น ไม่มีใครอยากอยู่ภายใต้ความไม่ยุติธรรมจากอำนาจรัฐ ตามกฎธรรมชาติ หากมีการกดขี่ ก็ย่อมมีการต่อสู้ ฉันใดฉันนั้น
    "การข่มขู่ด้วยลุแก่อำนาจ คิดว่าประเทศนี้นั้นมีพรรคพวกของตนเท่านั้นที่ถูกต้อง มองอย่างไตร่ตรองอย่างหยาบๆ ก็ทราบได้ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่คำนึงถึงเหตุและผล ยิ่งหากข้อพิสูจน์เป็นไปด้วยตาม “ใบสั่ง” มากกว่าหลักเหตุผล ประชาชนเขาก็ยิ่งเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญนี้มีชนชั้น ใครอย่าไปหือไปอือ เพราะมิเช่นนั้นจะถูกอำนาจบางอย่างเล่นงานเข้าได้" นายวันมูหะมัดนอร์ระบุ และว่า ถามจริงๆ ว่ากระด้างกระเดื่องต่อรัฐธรรมนูญ หรือกระด้างกระเดื่องต่ออำนาจกลุ่มตนเองกันแน่ อำนาจแห่งการข่มขู่” ย่อมมิใช่อำนาจที่ยิ่งใหญ่ไปกว่า “การเรียกร้องของประชาชน”
     นายอดิศร เพียงเกษ โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน เห็นว่าการกระทำของ กอ.รมน.ภาค 4 เป็นการแจ้งความที่หลงละเมอเพ้อพก เพราะปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ปกครองโดย คสช. แต่ พล.ต.บุรินทร์ได้ดิบได้ดีจาก พ.ท. ถึง พล.ต. ในช่วงที่ประเทศปกครองโดยระบอบเผด็จการคือ คสช. จึงหลงว่าการเคลื่อนไหวที่จะแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นการกระทำผิด ทั้งที่ทำตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ซึ่งได้มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ มหาสารคาม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และปัตตานี เพื่อไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีข้อบกพร่องควรจะแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย
    "โดยส่วนตัวได้เข้าร่วมการเสวนา ไม่ได้มีการแตะต้องหมวดที่ 1 และที่ 2 เลย มีแต่เพียงต้องการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอันจะพึงมีพึงได้ โดยนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นแบบอย่างในการที่จะแก้ไข และไม่เคยมีการกระด้างกระเดื่องปลุกปั่นยุยงตามที่ กอ.รมน.ฝันกลางวัน โดยแท้จริงแล้ว กอ.รมน. เกิดจากการที่ คสช.ผ่องถ่ายอำนาจของตัวเองมาให้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่สะทกสะท้าน ไม่ยินดียินร้าย และไม่ให้ความร่วมมือกับสภา ทำตัวเหมือนหัวหน้า คสช. เพราะ กอ.รมน.คือรัฐซ้อนรัฐ อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ระงับยับยั้ง อย่าให้มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เพราะปัจจุบันมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว"
        นายอดิศรกล่าวว่า สาเหตุเหล่านี้จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ฝ่ายค้านจะเอาไปอภิปรายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ในส่วนงบประมาณของ กอ.รมน. และนําไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งจะมีขึ้นอย่างแน่นอนในเดือน ธ.ค.นี้  ส่วนที่นักวิชาการเห็นว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 เป็นความเห็นส่วนตัว เพราะนักวิชาการเขาเป็นคนสอนหนังสือ ดังนั้นต้องเปิดเวทีให้นักวิชาการได้มีโอกาส อย่าให้ประเทศนี้มืดมน อย่าให้เป็นประเทศที่เขาบอกว่าเป็นกะลาแลนด์ ขอให้ กอ.รมน.เปิดกะลาและกะโหลกออกมาหน่อย
"บุรินทร์"พร้อมเจอ"ปิยบุตร"
    นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) กล่าวว่า  พล.ต.บุรินทร์สับสนบทบาทหน้าที่หรือไม่ คสช.จบไปแล้ว มีแต่รัฐบาลที่มีนโยบายเห็นควรให้แก้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้แล้วเกิดปัญหาได้ถือเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย พล.ต.บุรินทร์ อาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาเสียเอง บุคคลทั้ง 12 คน อาจใช้สิทธิ์แจ้งความและหรือฟ้องดำเนินคดีกลับได้ ทาง สกสส. ยินดีที่จะเป็นทนายความเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของประชาชนอย่างเต็มที่ 
    "หยุดการกระทำที่อาจทำให้สังคมเข้าใจว่าใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปาก คุกคาม ข่มขู่ประชาชน เพราะนั่นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในชาติไม่จบสิ้น ทหารควรจะทำหน้าที่ตัวเองอย่างทหารอาชีพในประเทศอื่นทำกัน หากรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับ กอ.รมน. ก็ควรจะออกมาแถลงแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจคิดได้ว่าเป็นแผนทำลายความมั่นคงของพรรคฝ่ายค้านหรือไม่" นายวิญญัติกล่าว
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า เป็นความพยายามกลั่นแกล้งให้เดือดร้อนและปิดปากไม่ใช้แสดงความเห็นต่อไป ตำรวจก็ดำเนินคดีให้ทั้งๆ ที่ไม่มีมูลอะไร มาวันนี้หลังการเลือกตั้งมาแล้ว กอ.รมน.ยังใช้วิธีเดียวกันอีก เลวมาก การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ มุ่งหมายให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญภายใต้กติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จะเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐได้อย่างไร แจ้งจับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านนี่เกินไปมากแล้วประยุทธ์
     ด้าน พล.ต.บุรินทร์ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายปิยบุตร ในฐานะประธาน กมธ.กฎหมายฯ เตรียมเรียกไปชี้แจงว่า "ผมพร้อมไปชี้แจงต่อ กมธ.กฎหมายฯ หากเชิญมา ซึ่งไม่มีอะไรต้องกลัว ผมจะชี้แจงว่าทำตามหน้าที่ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจ ส่วนเรื่องรายละเอียดของคดี ผมไม่สามารถพูดได้ เป็นความลับ ให้ไปว่ากันในชั้นศาล" 
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินคดีอาญาก็ว่ากันไป แต่ตนขอเรียกร้องไปที่ 5 ส.ส. ประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา,  นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ และนายนิคม บุญวิเศษ  ลาออกจากความเป็น ส.ส.ทันที เพื่อรับผิดชอบในการร่วมในเวทีเสวนาที่นางชลิตาเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ โดยไม่มีการทักท้วง เท่ากับรู้เห็นเป็นใจให้มีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรานี้ จึงเข้าข่ายละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในหมวด 1 ข้อ 6 พฤติกรรมของคนเหล่านี้สะท้อนว่าไร้สำนึกในความเป็นชาติ ถือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ ไม่เหมาะสมที่จะเป็นคนไทยด้วยซ้ำ
    ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้พิจารณากรณี ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ แสดงความคิดเห็นว่า “ประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องมีรัฐเดี่ยวหรือแบบรวมศูนย์ ซึ่งอาจจะรวมถึงมาตราที่ 1 ด้วยก็ได้” เพื่อให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ ดร.ชลิตา รวมถึง 7 พรรคฝ่ายค้านเลิกการกระทำดังกล่าว โดยมีนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แทนรับเรื่อง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เรื่องนี้ลุกลามบานปลาย อันจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ในที่สุด
    นายสนธิญา สวัสดี อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย เปิดเผยว่า ตนได้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยสั่งการให้ยุติการดำเนินการเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในทุกประเด็น เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้มีการทำประชามติ และผ่านความเห็นชอบจากประชาชนกว่า 16 ล้านคน เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวต่างๆ ของ 7 พรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ที่จะมีการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกือบ 16 ล้านคน ที่ให้ความเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 โดยก่อนหน้านี้ตนได้ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ย.62 แต่เมื่อครบ 15 วัน ตนกลับไม่ได้รับคำตอบจากอัยการ จึงขอใช้สิทธิร้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
    "กรณีที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่เรียกร้องให้ประชาชนลงมาบนถนน ระบุอีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เฮงซวยทุกมาตรา การที่นักวิชาการคนหนึ่งพูดที่ จ.ปัตตานี ว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีรัฐเดียว นั่นหมายความว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดที่ 1 มาตรา 1 ที่ระบุว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ซึ่งตนเห็นว่ากรณีเหล่านี้น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 25 และมาตรา 49
    นายสนธิญาเปิดเผยว่า ตนได้มายื่นเรื่องที่สำนักงาน กกต.เพื่อขอลาออกจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยมีความประสงค์ที่จะไปสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากเห็นว่ามีอุดมการณ์และการทำงานที่ตรงกับตน.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"