ผงะ!ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นยะลายิงตัวคาบัลลังก์


เพิ่มเพื่อน    

 ผงะ! ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลายิงตัวตายหลังพิจารณาคดี โชคดีช่วยชีวิตทัน แชร์ว่อนคำแถลงการณ์ ระบุถูกแทรกแซงคำพิพากษา พ่วงปัญหาการเงิน เรียกร้องคืนความยุติธรรม ส่วน “โฆษกศาล” บอกเครียดเรื่องส่วนตัว ศาลอาญาอนุมัติฝากขังอุสตาซ รร.รุ่งอรุณวิทยา 12 วัน

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม ศูนย์รวมข่าว สภ.เมืองยะลา รับแจ้งว่ามีเหตุใช้อาวุธปืนภายในห้องพิจารณาคดีศาลจังหวัดยะลา จึงได้แจ้ง พ.ต.อ.นราวี บินแวอารง ผกก.สภ.เมืองยะลา พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวน และเจ้าหน้าที่จากศูนย์พิสูจน์หลักฐานที่ 10 ยะลา เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที
    และเมื่อถึงที่เกิดเหตุ ทราบว่าผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลาไปก่อนหน้าแล้ว ทราบชื่อคือ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ถูกยิงด้วยอาวุธปืนยังไม่ทราบขนาดเข้าที่ใต้ราวนม 1 นัด อาการสาหัส โดยจากการสอบสวนทราบว่า นายคณากรได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองหลังพิจารณาคดีเสร็จภายในห้องพิจารณาคดีศาลจังหวัดยะลา ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุของการยิงว่าเกิดจากสาเหตุใด
    ส่วนที่ รพ.ศูนย์ยะลา แพทย์ยังคงดูแลอาการนายคณากรอย่างใกล้ชิด โดยมีญาติและบุคลากรในศาลเดินทางมาดูอาการในห้องไอซียู ขณะที่ รพ.ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ห้องไอซียูโดยเด็ดขาด
    ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว ซึ่งสอบถามเบื้องต้นสาเหตุเกิดจากความเครียดส่วนตัว ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมจะตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป โดยผู้บริหารศาลยุติธรรมมีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้ติดตามสอบถามอาการอย่างใกล้ชิด
    ขณะที่ในโลกออนไลน์ต่างแชร์ข้อมูลคำแถลงของนายคณากรในคดีหมายเลขดำที่ 3428/2561 จำนวน 25 หน้า ซึ่งเป็นคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดยะลาเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายซูกรี มูเซะ ที่ 1, นายสาแปอิง สะเดาะ ที่ 2, นายแวอาแซ แวยูโซะ ที่ 3, นายมัสสัน เจะดือเระ ที่ 4 และนายอับดุลเล๊าะ มะสาเม๊าะ ที่ 5 เป็นจำเลยในความผิดต่อชีวิต อั้งยี่ ซ่องโจร ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ลหุโทษ โดยในแถลงการณ์ดังกล่าวได้ให้รายละเอียดในคดีดังกล่าว และขั้นตอนการดำเนินการ รวมทั้งเผยถึงการถูกบีบถูกกดดันจากผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ให้แก้ไขคำพิพากษา และปัญหาด้านการเงินของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงท้าย ในแถลงการณ์นายคณากรได้เรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.ให้สภานิติบัญญัติออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรมเพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำใดๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา และ 2.ให้สภานิติบัญญัติ และนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้พิพากษาบางกลุ่มจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้นานแล้ว แต่มีข้อขัดข้องไม่สามารถส่งออกจากศาลยุติธรรมเพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรีได้
“ผมขอฝากถ้อยคำถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยและผู้รักความยุติธรรมทุกท่านไว้ 2 ประโยค คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน คำแถลงของผมอาจมีน้ำหนักเบาเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลงขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน”นายคณากรทิ้งท้าย
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กร อัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากผู้พิพากษาหลายท่านให้ช่วยติดตามเพื่อพิจารณาในกรณีนายคณากรว่าเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะการโพสต์เฟซบุ๊กของท่านก่อนฆ่าตัวตาย ที่ระบุถึงการถูกแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรม และยังเผยแพร่เอกสารความเห็นของนายคณากรที่เน้นที่คำว่า “คืนคำพิพากษาให้กับผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน” ซึ่งเป็นข้อความที่สะเทือนใจในวงการตุลาการ
“ผมจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ กมธ.เพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าวเพื่อเป็นข้อศึกษาในเชิงป้องกันและแก้ไข และจะนำร่างพระราชบัญญัติที่ท่านผู้พิพากษาได้ร่างนำเสนอมาพิจารณาศึกษา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกต่อไปในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความทั้งโจทก์และจำเลย” นายจิรายุกล่าว และว่า ในฐานะประธาน กมธ.ศาลฯ ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของนายคณากร และขอให้ท่านปลอดภัย หากมีโอกาสเมื่อท่านปลอดภัยแล้วจะเชิญมาให้ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
    วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา นายพงศธร อินอำนวย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คุมตัวนายมาหะมะรอมือลี สาแม อายุ 56 ปี ครูสอนศาสนา (อุสตาซ) โรงเรียนรุ่งอรุณวิทยา ใน จ.สตูล ชาว จ.ยะลา ผู้ต้องหาตามหมายจับเลขที่ 87/2548 ลงวันที่ 7 ม.ค.2548 ข้อหาร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร อันเป็นความผิดฐานกบฏ, สะสมกำลังพลหรืออาวุธตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อเป็นกบฏหรือรู้ว่ามีผู้จะเป็นกบฏแล้วกระทำการใดเป็นการช่วยปกปิดไว้, ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ หรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ การกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดหวั่นในหมู่ประชาชน อันเป็นลักษณะการกระทำผิดฐานก่อการร้าย, สะสมกำลังพลหรืออาวุธจัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน หรือรับการฝึกการก่อการร้าย สมคบกันเพื่อก่อการร้ายหรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อก่อการร้าย มาฝากขังครั้งแรกมีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-15 ต.ค.2562 
คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์สรุปว่า ผู้ต้องหาได้ร่วมกับผู้ต้องหาอื่นๆ ในคดีนี้กระทำความผิดโดยร่วมกันเป็นกลุ่มบุคคลดำเนินเป็นขบวนการ และมีวัตถุประสงค์แบ่งแยกดินแดนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้คือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และสงขลา มีการวางแผนและดำเนินการในลักษณะใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักรอันเป็นความผิดฐานกบฏ และจากการสอบสวนข้อเท็จจริงคือ การสืบสวนสอบสวนติดตามอาวุธปืนและคนร้ายในคดีปล้นปืนของทางราชการจำนวน 4 คดี ซึ่งเป็นคดีพิเศษมีอาวุธปืนที่ถูกปล้นจำนวน 4 ครั้ง รวม 478 กระบอก ยังไม่สามารถติดตามคืนได้ เหตุปล้นปืนทั้ง 4 คดีดังกล่าวเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนใต้ มีนายสะแปอิง บาซอ ครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดน เกี่ยวข้องกับการปล้นอาวุธปืนของทางราชการ รวมทั้งก่อคดีความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลายคดี โดยมีพยานซึ่งเป็นสมาชิกในขบวนการให้การสนับสนุนจำนวนหลายปาก 
และในทางสอบสวนเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึดอาวุธปืนชนิดเอ็ม 16 จำนวน 1 กระบอก มาตรวจสอบพิสูจน์แล้วเป็นปืนที่ถูกปล้นไปจากกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และการยึดอาวุธปืนชนิดเอชเค 33 จำนวน 1 กระบอก เมื่อได้ตรวจพิสูจน์แล้วพบว่า เป็นปืนที่ปล้นมาจากอุทยานบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา จากการวิเคราะห์ผลการซักถามบุคคลจำนวนหลายร้อยคนยืนยันว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดนจริงใช้ชื่อว่า บีอาร์เอ็น โค-ออร์ดิเนต และในการสอบสวนพบว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันคือ ปี 2545 เกิดเหตุ 51 ครั้ง, ปี 2546 เกิดเหตุ 54 ครั้ง, ปี 2547 เกิดเหตุ 496 ครั้ง โดยเฉพาะในปี 2547 พบว่ามีการลอบยิงประมาณ 600 ครั้ง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บ 136 นาย, กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน 30 คน, เจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ 120 คน 
จากการตรวจพิสูจน์ปลอกกระสุนในที่เกิดเหตุ พบว่ามีการนำอาวุธปืนกระบอกเดียวกันมาใช้ก่อเหตุตามสถานที่ต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีกลุ่มบุคคลที่ได้ร่วมกันวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน เป็นขบวนการ ตั้งแต่จัดตั้งมวลชน ปลุกระดม ปลูกฝังแนวความคิดโดยนำประวัติศาสตร์บางตอนและคำสอนของศาสนามาบิดเบือนปลุกระดม นำความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐมาอ้างเป็นเงื่อนไข จากการสอบสวนพบว่ากระบวนการดังกล่าวได้วางแผนเป็นเวลานาน เป็นแผนบันได 7 ขั้น เพื่อไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ได้ใช้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาโรงเรียนปอเนาะและตาดีกาในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสบังหน้า และแฝงตัวใช้เป็นฐานในการปฏิบัติการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ซึ่งแกนนำของขบวนการ ได้แก่ นายสะแปอิง บาซอ, นายอดุลย์ มูณี, นายการียา ยะลาแป, นายแวยูโซะ แวดือราแม และนายหีพนี มะเร๊ะ โดยเป็นผู้ร่วมกันกำหนดนโยบาย เช่น การปล้นอาวุธปืนของทางราชการ ตามนโยบายของกลุ่มที่ว่าปืนของรัฐคือปืนของเรา 
พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ทุกชนิดได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเห็นว่า นายมะหะมะรอมือลีเป็นผู้จัดตั้งมวลชนแนวร่วมเป็นกองกำลังจัดการประชุม เพื่อหาผู้ที่จะเข้าเป็นแนวร่วมของขบวนการโดยการปลุกระดม เผยแพร่อุดมการณ์ชาตินิยม โดยบิดเบือนคำสอนในศาสนาเป็นผู้ที่มีความคิดรุนแรงในอุดมการณ์ชาติปัตตานี โดยเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2562 เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ติดตามจับกุมตัวนายมะหะมะรอมือลีได้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร  ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาไม่ขอให้การใดๆ ทั้งนี้ การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากอยู่ระหว่างการรอผลตรวจประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขอศาลฝากขังผู้ต้องหารายนี้
    อนึ่ง ผู้ต้องหารายนี้มีหมายจับตั้งแต่ปี 2548 และมีการประกาศให้เงินรางวัลผู้นำจับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งผู้ต้องหาในระหว่างหลบหนียังได้กระทำความผิดในคดีนี้อยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2562 มีกลุ่มบุคคลลอบวางระเบิดและซุ่มยิงเจ้าหน้าที่อาสาสมัครชุดคุ้มครอง ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยครูโรงเรียนควนปะ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย และได้รับบาดเจ็บ 4 นาย ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนพบว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ร่วมดำเนินการด้วยการเป็นคนจัดหาโทรศัพท์และซิมการ์ดให้ผู้ก่อเหตุไปใช้ในการวางระเบิด ทั้งนี้ หากผู้ต้องหาขอปล่อยชั่วคราวพนักงานสอบสวนคดีพิเศษขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้
    ศาลพิจารณาคำร้องแล้วสอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังได้ และปรากฏว่ามีญาติหรือทนายความของนายมาหะมะรอมือลี ยื่นคำร้องและหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวผู้ต้องหาไปคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"