เดินหมากเขย่าศาล! ‘ปิยบุตร’อ้างมีเพื่อนเป็นผู้พิพากษาหลายคนอึดอัดชงรื้อระบบ


เพิ่มเพื่อน    

 ผู้พิพากษายิงตัวเองออกจากไอซียูนอนห้องพิเศษแล้ว  เลขาธิการศาลเผยได้รับรายงานข้อเท็จจริงเตรียมเข้าที่ประชุมกรรมการ ก.ต.จันทร์นี้ ยันคำพิพากษาถือเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยก่อนการอ่านคำพิพากษาได้ แต่ "ปิยบุตร" โพสต์เฟซบุ๊ก อ้างมีผู้หวังดีส่งมาให้ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ให้ช่วยเปิดเผยต่อสังคม เดิมเกมขย่มศาลยุติธรรม มีเพื่อนเป็นผู้พิพากษาจำนวนมากส่งข้อความมาบ่นกลไกศาล เข้าทางจี้ทบทวนแนวทางของกฎหมายพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ระเบียบของศาลฎีกา 

    เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองที่ศาลจังหวัดยะลาว่า ขณะนี้ได้รับรายงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเหตุการณ์ผู้พิพากษายิงตัวเองในห้องพิจารณาที่ศาลจังหวัดยะลา จากนายเพิ่มศักดิ์ สายสีทอง อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 9 และนายอนิรุธ ใจเที่ยง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา เพื่อนำไปเสนอข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการ ก.ต. ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ และได้รายงานไปยังนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ตามลำดับแล้ว 
    สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อรายงานที่ประชุม ก.ต.ไปแล้ว ก็ดูว่า ก.ต.จะพิจารณาอย่างไร ขณะนี้ตนได้เตรียมรายละเอียด เช่น คำแถลงการณ์ของผู้พิพากษาคนดังกล่าวเพื่ออธิบายแก่ ก.ต.แล้ว และต้องรับข้อมูลจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 9 เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องอีกด้วย
    ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องที่มีการระบุว่ามีการแทรกแซงคดี นายสราวุธชี้แจงว่า คำพิพากษาถือเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยก่อนการอ่านคำพิพากษาได้ ไม่เช่นนั้นจะรู้ผลล่วงหน้า และเป็นวิธีปฏิบัติของศาลที่จะปรึกษาหารือกันได้ ซึ่งในกระบวนการทำงาน คดีที่มีโทษสูง คดีสำคัญ กฎหมายพระธรรมนูญ มาตรา 11 (1) ให้อำนาจอธิบดีนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆ ของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ และสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้น ในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา 
    และในมาตรา 14 ระบุไว้ด้วยว่า ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจด้วยผู้หนึ่ง โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง รวมทั้งได้ให้อำนาจรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคไว้ด้วย เพราะปริมาณคดีมีมาก ดังนั้นอธิบดีจึงมีสิทธิที่จะตรวจสำนวนคำพิพากษา แม้ไม่ได้ขึ้นไปนั่งพิจารณาคดีก็มีข้อแนะนำได้ หากการเขียนคำพิพากษามีจุดบกพร่อง ก็แนะนำให้แก้ไขได้ ซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน แต่อธิบดีไม่สามารถไปก้าวก่ายการตัดสินของผู้พิพากษาได้ ไม่สามารถแทรกแซงการทำงานได้ เพราะหากผู้พิพากษาไม่เห็นตามนั้น ก็สามารถยืนยันความเห็นของตนเองได้
    นายสราวุธเผยว่า มีตัวอย่างในคดีที่อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ถูกฟ้องคดี 157 นายชีพ จุลมนต์ อดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นอธิบดีศาลอาญาในขณะนั้น เคยมีความเห็นแตกต่างจากองค์คณะว่าควรลงโทษ แต่องค์คณะเห็นว่าควรยกฟ้อง อธิบดีจึงมีความเห็นว่าให้เอาไปทบทวน ทางองค์คณะยืนยันเหมือนเดิมว่ายกฟ้อง นายชีพจึงทำความเห็นแย้งไป 
    "ในภาค 9 มีคดีความมั่นคงจำนวนมาก การที่อธิบดีมีอำนาจตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งได้ จึงถือเป็นเรื่องปกติในกระบวนการทำงาน เปรียบเสมือนการตรวจให้มีความรอบคอบได้มาตรฐาน ถ้าผู้พิพากษาที่พิจารณาสำนวนยังยืนยันคำพิพากษา ก็ต้องเป็นไปตามที่เขียนไว้อยู่แล้ว ผมขอบอกไว้เลย ในศาลใครจะมาสั่งผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในการตัดสินคดี มันสั่งไม่ได้ นี่ไม่ใช่เรื่องอำนาจบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ดุลยพินิจของเจ้าของสำนวนจะมีความเป็นอิสระ เรื่องนี้เป็นมานานแล้ว และไม่ใช่เฉพาะเรื่องภายในเท่านั้น ในทางภายนอกไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตำรวจ ทหาร หรือฝ่ายบริหาร ยิ่งสั่งเราไม่ได้" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าว
ผู้พิพากษามีอิสระไม่ถูกแทรกแซง
    เมื่อถามว่า เหตุผู้พิพากษายิงตัวเองในห้องพิจารณาโดยอ้างว่ามีเหตุจากการทำคำพิพากษา จะกระทบต่อผู้พิพากษาอื่นหรือไม่ นายสราวุธแจงว่า ผู้พิพากษาทั่วประเทศมีขวัญกำลังใจดี ไม่มีปัญหาอะไร เรื่องอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษามีกำหนดชัดเจนในกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ตนก็เป็นผู้บรรยายกฎหมายวิชาพระธรรมนูญศาลในเนติบัณฑิตยสภา ส่วนจะมีการแก้ไขกฎหมายพระธรรมนูญศาลหรือไม่ ให้รอฟังผลการประชุม ก.ต. ก่อน ขอย้ำว่าผู้พิพากษามีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงแน่นอน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรมคือกฎหมายกำหนดระเบียบแบบในการทำงานของผู้พิพากษา เกี่ยวกับเขตอำนาจศาล การนั่งพิจารณาขององค์คณะ ขอบเขตอำนาจของตัวผู้พิพากษาคนเดียวหรือร่วมกันเป็นองค์คณะ การจ่ายสำนวน การเรียกคืนสำนวน เป็นต้น ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีนี้น่าจะอยู่ที่ "อำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาภาค" ในมาตรา 13 ที่ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 ที่เป็นอำนาจของอธิบดีศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาหัวหน้าศาลด้วย เช่น มาตรา 11 (1) มีอำนาจในการทำความเห็นแย้งคำพิพากษาของเจ้าของสำนวน และ (4) อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจในการให้คำแนะนำผู้พิพากษาในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา
    ทั้งนี้ นายสุริยัณห์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าอาการบาดเจ็บของนายคณากรว่า หลังจากที่นายคณากรได้เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดยะลาตั้งแต่วันเกิดเหตุ จนถึงขณะนี้อาการของนายคณากรปลอดภัยแล้ว ล่าสุดก็ได้ย้ายการรักษาจากห้องไอซียู (ICU) มาพักรักษาอยู่ที่ห้องพักผู้ป่วย (แบบห้องพักพิเศษ) ภายใต้การดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดของคณะแพทย์และครอบครัว โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลาได้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดด้วย ขณะที่นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา และนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้แสดงความห่วงใยติดตามอาการของนายคณากรอย่างใกล้ชิดโดยตลอด 
    อย่างไรก็ดี ในส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น นายสราวุธ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ก็จะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กับที่ประชุม ก.ต.ทราบ และพิจารณาต่อไปในวันจันทร์ที่ 7 ต.ค.นี้ด้วย 
    นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักคดีอาญาธนบุรี ได้โพสต์ข้อความที่เฟซบุ๊กส่วนตัว ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ด้วยข้อความระบุว่า “อย่ารีบวิจารณ์สิ่งที่เห็น เพราะอาจเป็นภาพลวงตา หลายครั้งที่โอละพ่อ”
อย่าอ่านคำพิพากษาแค่ 2 หน้า
    นอกจากนี้ นายปรเมศวร์ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ดังกล่าวว่า “ผมอยากให้นักกฎหมายทั้งหลายอ่านคำพิพากษาทั้งหมด อย่าอ่านหน้าสองหน้า “คำพิพากษา” ที่ลงกันนั้น กล่าวถึง “อธิบดี” และท่านแทนตัวเองว่า “ผม” และช่วยพิจารณาว่า สิ่งที่ท่านเขียนนั้นเป็น “คำพิพากษา” ตามประมวลฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186, 183 หรือไม่ องค์คณะครบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 หรือไม่ 
    การวิจารณ์หรือการแชร์และให้ความเห็นดังกล่าวทั้งหลาย ควรให้ผู้ที่ปรากฏในคำพิพากษาได้มีโอกาสชี้แจงก่อน เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อองค์กรตุลาการและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศได้ง่ายครับ เรามาช่วยกันรักษากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบดีกว่าครับ”
    ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมนายคณากร โดยนายวันนอร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เยี่ยมให้กำลังใจเพื่อคารวะแก่นักต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เราต้องการหาคนแบบนี้ เพื่อช่วยหาความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชน และผดุงไว้เพื่อความสูงส่งของกระบวนการยุติธรรม 
    จากนั้นจึงได้เข้าไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้พิพากษาภายในห้องไอซียูชั้นสอง โดยที่สื่อมวลชนไม่สามารถเข้าไปบันทึกภาพภายในได้ ซึ่งนายวันนอร์ใช้เวลาในการเข้าเยี่ยมประมาณ 10 นาที ก่อนที่จะออกมาพร้อมระบุว่าท่านผู้พิพากษาอาการปลอดภัย แต่ยังคงมีอาการบาดเจ็บ ได้มีการพูดคุยกันเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ตนเองก็ให้กำลังใจและให้ท่านพักผ่อนเพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้น
    นายมุข สุไลมาน แกนนำพรรคประชาชาติ เผยว่า เป็นสิ่งที่น่าเศร้า ท่านผู้พิพากษาได้ยิงตัวเองเพื่อฆ่าตัวตาย แล้วมารู้เบื้องหลังว่าเขาไม่มีอิสระในการที่จะดำเนินคดีให้กับประชาชน สิ่งที่ต้องเคารพผู้พิพากษาคือ เขายืนหยัดที่จะรักษา และไม่ทรยศหักหลังในวิชาชีพของเขา แล้วเขาปกป้องความถูกต้องโดยทางกฎหมายต่อประชาชนที่เขาต้องรับผิดชอบในการพิจารณาคดี 
    "ผู้พิพากษาลักษณะนี้หายาก และเป็นอุทาหรณ์ว่า ส่วนอื่นก็คงอาจจะมีลักษณะอย่างนี้ เพียงแต่ว่าไม่มีใครกล้าแสดงออก บางคนเกิดความกลัว จึงรักษาตัวเองเพื่อความอยู่รอด ก็คงจะต้องปฏิบัติคำสั่งในสิ่งที่ไม่ชอบธรรม อันนี้เป็นการนำความเสียหายของบ้านเมือง นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ถ้าทั่วโลกได้รู้ ทำให้นำไปสู่การไม่ยอมรับ และโลกปัจจุบันนี้ที่เจริญแล้ว อยากจะให้ชาวต่างชาติมองอย่างนั้นอีกหรือ กรณีนี้เป็นอุทาหรณ์ให้คิด" นายมุขกล่าว
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ให้สัมภาษณ์ว่า นายคณากรเคยเขียนเข้ามาที่กล่องข้อความของเพจพรรคอนาคตใหม่ และเพจของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน โดยเขียนถามว่าพรรคมีนโยบายเกี่ยวกับการประกันหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการตัดสินคดีอย่างไร เพื่อมิให้ผู้บริหารศาลเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม 
คณากร ตุลาคม
    นอกจากนั้นยังบอกว่า มีเรื่องจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการถูกแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรม เพราะเขาคงเห็นว่าพรรคอนาคตใหม่ให้ความสนใจเหตุการณ์ซ้อมทรมานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ แต่ตอนนั้นนายคณากรยังไม่ได้ส่งเอกสารมา เราก็พยายามหาทางติดต่อกลับไป แต่เกิดเหตุการณ์เมื่อวานนี้ (4 ต.ค.) เสียก่อน 
    นายปิยบุตรกล่าวอีกว่า โดยหลังเกิดเหตุ ทางเพจของนายคณากร ที่ชื่อ “คณากร ตุลาคม” ได้โพสต์เอกสารแถลงการณ์ทั้งหมด 25 หน้า พร้อมคลิปไลฟ์ก่อนจะยิงตัวเอง แต่ไม่ทราบว่าคลิปและเอกสารดังกล่าวหายไปจากหน้าเพจได้อย่างไร น่าสงสัยว่ามีใครไปลบ อย่างไรก็ตาม มีผู้หวังดีส่งเอกสาร 25 หน้าพร้อมเอกสารประกอบหลายชิ้นมาให้พรรคอนาคตใหม่ แต่เรายังไม่ทราบว่าที่มาที่ไปอย่างไร 
    "ผมคิดว่าเรื่องนี้มีความน่าสนใจตรงที่มีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจำนวนมากมีความอึดอัดและร้องเรียนเข้ามาที่เพจของพรรค และเพจของตน ว่าคดีสำคัญหรือคดีนโยบายต่างๆ สุดท้ายแล้วผู้บริหารศาลจะลงมาพิจารณา ซึ่งตามระเบียบของศาลฎีกาอนุญาตให้ทำได้ เรียกว่าการตรวจคำพิพากษาโดยผู้บริหารศาลก่อน แต่ปัญหาคือ ตอนนี้มีการเพิ่มจำนวนคดีสำคัญ เช่น ในปี 2560 ได้เพิ่มคดีความมั่นคง ปี 2562 เพิ่มคดีใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อย่างไรก็ดี ผมยังไม่ได้ติดต่อกลับไป และยังไม่ได้พบกับผู้พิพากษาเหล่านั้น และส่วนตัวมองว่าผู้พิพากษาเป็นปัจเจกบุคคล มีสิทธิเสรีภาพในการคิดและแสดงออก เพียงแต่ต้องอย่าทำให้การพิจารณาคดีเสียหาย"
    เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องทางการเมืองหรือไม่ เพราะมีคนพยายามเชื่อมโยงระหว่างผู้พิพากษากับพรรคการเมือง นายปิยบุตรกล่าวว่า ควรให้ความเป็นธรรมกับนายคณากร คงไม่มีใครบ้าถึงขนาดจัดฉากขึ้นมาโยงใยเพื่อทำลายเรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่าลดทอนศักดิ์ศรีเกียรติยศของนายคณากร ด้วยการปลุกปั่นข่าวในลักษณะนี้ 
    "ต้องคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ท่านด้วย วันนี้ท่านรอดชีวิตมาได้ ถือเป็นข่าวดี สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องคุ้มครองคุณคณากรและครอบครัว รวมถึงจำเลยในคดี นอกจากนี้ตนได้รับทราบว่าสื่อมวลชนก็ถูกกดดันในการนำเสนอข่าวนี้ ดังนั้น อยากให้ปล่อยเรื่องนี้เป็นไปตามกระบวนการ อย่ามีการแทรกแซง และอย่านำไปโยงว่าเป็นประเด็นการเมือง เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นในกระบวนการยุติธรรมที่ผู้พิพากษาคนหนึ่งสะท้อนมา"
    ถามว่า หนึ่งในข้อเรียกร้องของนายคณากรคือขอให้เข้าไปแก้ไขกฎหมายเรื่องการทำสำนวน ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ตอบว่า ครั้งนี้จะเป็นโอกาสดี ตนมีเพื่อนเป็นผู้พิพากษาหลายคน ชอบส่งข้อความมาเล่ามาบ่นให้ฟังว่าระบบกลไกต่างๆ เป็นอย่างไร เพราะโดยสถานะของเขาพูดอะไรมากไม่ได้ ดังนั้น ในเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้ว เราน่าจะลองพิจารณาทบทวนกันดูว่าแนวทางของกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ระเบียบของศาลฎีกาที่ให้อำนาจผู้บริหารศาลตรวจร่างคำพิพากษา สุดท้ายจะหาจุดสมดุลอย่างไร
รู้คำพิพากษาตั้งแต่ต้นกันยา.
    “พรรคอนาคตใหม่ในฐานะที่ติดตามกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด เห็นว่าอาจถึงเวลาต้องเดินหน้าพูดคุยระหว่างองค์กรตุลาการ ศาล ผู้พิพากษาในแต่ละลำดับ เพื่อตกลงกันว่าแนวทางต่อไปที่ผู้บริหารศาลจะเข้ามาดูร่างคำพิพากษา จะทำอย่างไรจึงจะสมดุลกันระหว่างการให้ความเป็นอิสระกับองค์คณะ กับการให้ผู้บริหารศาลได้ตรวจสอบแนวคำพิพากษาให้สอดคล้องต้องกัน จากนี้อาจใช้กลไกคณะกรรมาธิการในสภา อย่างน้อยจัดงานเสวนาให้ระดับผู้บริหารศาล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น มาพูดคุยว่าจะออกแบบเรื่องนี้อย่างไร ส่วนเอกสารทั้งหมดที่ได้รับมา ผมพบว่ามีการร้องไปหลายที่ ทั้งสภา สื่อมวลชน คณะรัฐมนตรี ส.ส. โดยจากนี้ต้องหาช่องทางดำเนินการต่อไป” 
    ซักว่าจะมองได้หรือไม่ว่ากระบวนการยุติธรรมหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือการเมือง อาจถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจหรือผู้บังคับบัญชา นายปิยบุตรตอบว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องพิจารณาต่อไป แต่เสียงจากคนในพื้นที่ได้สะท้อนในลักษณะนี้มาเหมือนกัน แต่เรายังไม่สามารถตัดสินได้ ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป
    เมื่อถามว่า มีการตรวจสอบเฟซบุ๊กของนายคณากร พบว่ามีการแชร์ข่าวของพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงแสดงความเห็นว่าอยากจะช่วยเหลือพรรคในเรื่องการเมือง นายปิยบุตรกล่าวว่า ตนไม่ทราบจริงๆ ว่าท่านสนับสนุนอะไร ทราบเพียงว่าท่านติดต่อมาถามเรื่องนโยบายของพรรค และเขียนมาเล่าให้ฟังว่าท่านเจออะไรมาและอยากมาพบ อยากเอาเอกสารมาให้ เมื่อถามต่อว่า เช่นนี้จะขัดต่อจริยธรรมของตุลาการหรือไม่ ในเรื่องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง นายปิยบุตรกล่าวว่า ตนเข้าใจว่าท่านไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค
    “มันกระทบกระเทือนอะไรต่อการตัดสินคดีหรือไม่ ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับท่านหน่อย จะวิพากษ์วิจารณ์กัน จะเอาเรื่องการเมืองไปโยง อยากให้คำนึงถึงความเป็นมนุษย์กันบ้าง คนคนหนึ่งเป็นผู้พิพากษา ประกอบอาชีพที่ดี มีเกียรติยศ และมั่นคงอยู่แล้ว แล้วตัดสินใจของท่านแบบนี้ โชคดีที่ยังมีชีวิตได้ต่อไป แต่กลับมีกระแสข่าวมาโหมกระหน่ำบอกว่าไอ้นี่เป็นพวกพรรคการเมือง มีความคิดปลุกปั่น จัดฉากกันมาแล้ว ผมว่าเอาให้มันพอสมควรแก่เหตุ อย่าเล่นการเมืองบนชีวิตของคนให้มากเกินไป” นายปิยบุตรกล่าว
    เมื่อถามว่า ตามระเบียบแล้ว สามารถนำอาวุธเข้าเขตอำนาจศาลได้หรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า เรื่องนี้ขอให้ไปถามแวดวงผู้พิพากษาดู
    อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายปิยบุตรโพสต์เฟซบุ๊กโดยมีเนื้อหาดังนี้ “ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่มีผู้พิพากษาใช้อาวุธปืนยิงตัวเองที่ศาลจังหวัดยะลา ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว สอบถามในเบื้องต้น สาเหตุเกิดจากความเครียดส่วนตัวของท่าน”
    เท่าที่ผมทราบข้อมูลมาทั้งหมดจากคุณคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา และผู้หวังดีส่งมาให้เราตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน เพื่อขอให้เราช่วยเปิดเผยต่อสังคม
    ทั้งหมดยืนยันว่าการตัดสินใจของคุณคณากรไม่เกี่ยวกับเรื่องความเครียดส่วนตัวแน่นอน แต่เป็นเรื่องของการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
    ตามข่าวล่าสุด เขายังไม่เสียชีวิต ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันคุ้มครองความปลอดภัยของเขาด้วย
    ผมจะนำข้อมูลที่คุณคณากรและผู้หวังดีส่งให้แก่เราเปิดเผยต่อสาธารณชน สมดังเจตนารมณ์ของคณากร เพียรชนะ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
"หมวดเจี๊ยบ"ไม่ตกขบวน
    ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีใครในรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารเข้าไปแทรกแซงหรือก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายตุลาการหรือไม่ เพราะผิดหลักการแบ่งแยกอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ก็ต้องเร่งไต่สวนข้อเท็จจริงว่าฝ่ายบริหารในองค์กรของศาลได้เข้าไปแทรกแซงการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาอย่างไม่ชอบธรรมหรือไม่ 
    เพราะจากคำบอกเล่าในแถลงการณ์ส่วนตัวของนายคณากร ยืนยันว่าตนเองโดนแทรกแซงการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคดีหนึ่ง เป็นเรื่องของการบีบให้ลงโทษจำเลย ทั้งๆ ที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเห็นว่าไม่ควรลงโทษ เพราะพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนัก ส่วนอีกคดีหนึ่ง ผู้พิพากษาถูกบีบให้ยกฟ้องหรือลดโทษให้ทหารที่ยิงชาวบ้านเสียชีวิตที่ จ.ปัตตานี 
    ซึ่งถ้าหากคำบอกเล่าของผู้พิพากษาดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะผิดหลักความเป็นอิสระของศาล ที่ต้องปลอดจากการครอบงำจากฝ่ายอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานว่าด้วยความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ ตามที่บัญญัติไว้ในข้อที่ 10 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพราะขณะนี้สังคมกำลังตื่นตระหนกเกี่ยวกับข่าวดังกล่าว จนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการใช้อำนาจของรัฐและความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทุกฝ่ายต้องเร่งนำความเชื่อมั่นกลับคืนมาโดยเร็ว ที่สำคัญ กระบวนการไต่สวนหาความจริงต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะไม่เชื่อถือคำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายแน่นอน ถ้าชาวบ้านรู้สึกว่าความยุติธรรมไม่สามารถเป็นที่พึ่งของพวกเขาได้"
    ด้าน ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า คงต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มาชี้แจง เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ยังมาจากฝ่ายเดียว และเรื่องนี้หากเป็นจริง ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อความรู้สึกและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
    ดร.รยุศด์กล่าวว่า เป็นที่ทราบและรับรู้กันในเชิงหลักการและถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยพระมหากษัตริย์ทรงมีสถานะอยู่เหนือการเมืองทั้งปวง และทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญผ่าน 3 สถาบันทางการเมือง กล่าวคือ 1.ทรงใช้พระราชอำนาจทางบริหารผ่านคณะรัฐมนตรี 2.ทรงใช้พระราชอำนาจทางนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา และ 3.ทรงใช้พระราชอำนาจทางตุลาการผ่านศาลยุติธรรม โดยในกระบวนการใช้อำนาจทั้ง 3 สถาบันนี้ จะมีกลไกและขั้นตอนในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันอยู่แล้ว 
"ศรีสุวรรณ"ร้องคลี่ปมยิงตัว
    “แต่หากสถาบันใด หรือทั้ง 3 สถาบันเกิดมีปัญหา จนทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาและความไม่เชื่อมั่นแล้ว ประชาชนก็ย่อมไม่อาจที่จะฝากความหวังไว้กับใครได้ ดังนั้น ผมจึงขอฝากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการใช้อำนาจทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล ขอให้ช่วยกันดูแลอย่าให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ที่สำคัญขอให้ใช้อำนาจที่มีอยู่ด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง” ดร.รยุศด์กล่าว
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมฯ 
เรื่อง "ขอเรียกร้องให้ศาลยุติธรรมคลี่ปมเบื้องหลังกรณีผู้พิพากษายิงตัวเอง" ระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมาว่า นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองบนบัลลังก์ศาล พร้อมกับมีการเผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว และคำแถลงความเพื่อฟ้องสาธารณชนว่า ตนถูกกดดันจากผู้บังคับบัญชาให้เปลี่ยนคำตัดสินคดีสำคัญคดีหนึ่ง จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันของสังคมไทยในขณะนี้นั้น
        การกระทำดังกล่าวอาจไม่เคยมีปรากฏในกระบวนการพิพากษาอรรถคดีต่างๆ ในองค์กรตุลาการของไทยมาก่อน อันอาจเนื่องมาจากสังคมไทยให้ความยำเกรงและเคารพในความเที่ยงตรงของศาลสถิตยุติธรรมมาอย่างยาวนาน แม้ข้อเท็จและข้อจริงอาจจะไม่สามารถไปด้วยกันได้ก็ตาม
         แต่บัดนี้เสียงกระสุนปืน 1 นัดที่ศาลจังหวัดยะลา ได้ปลุกให้สังคมไทยหันมาเพ่งมองระบบการพิจารณาอรรถคดีต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างมีข้อสงสัยว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ม.188 วรรคสอง ที่ว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง” หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุที่เกิดขึ้นที่ศาลจังหวัดยะลานั้น สะท้อนความจริงอีกมุมหนึ่งว่าผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีจริงหรือ หรือกระบวนการยุติธรรมสามารถเปลี่ยนแปลงหลักกฎหมายและคำพิพากษาได้ หากผู้บังคับบัญชาของศาล นักการเมือง และผู้มีบารมีชี้ธงให้ศาลพิพากษาตามที่ตนต้องการ ใช่หรือไม่? เมื่อข้อสรุปในคำแถลงของท่านคณากร เพียรชนะ ได้ระบุไว้ชัดว่าต้องส่งคำตัดสินคดีให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่าคนหนึ่งพิจารณา ซึ่งตนยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน แต่ภายหลังกลับมีบันทึกส่งมาให้ตนเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา แต่ถ้าหากไม่ทำ ก็ให้ทำหนังสือส่งไปอธิบายว่าทำไมถึงไม่ทำ
         ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงใคร่ขอเรียกร้องไปยังฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี เพื่อเร่งรีบตั้งเรื่องเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้องของท่านคณากร เพียรชนะ คือ 1) ให้ออกกฎหมายห้ามแทรกแซงการพิพากษา และห้ามให้มีการตรวจคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง และ 2) ให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ ส่วนท่านประธานศาลฎีกาและหรือสำนักงานศาลยุติธรรม ควรเร่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบและลงโทษเอากับผู้ที่มีพฤติการณ์แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษาในกรณีดังกล่าวและสั่งให้มีการตรวจสอบ รื้อฟื้นคดีต่างๆ ที่สังคมมีข้อสงสัยว่ามีคำพิพากษาที่อาจขัดต่อหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในหลายๆ อรรถคดีทั่วประเทศ ให้สมกับมอตโต้ของท่านคณากรที่ได้ฝากทิ้งท้ายถึงประชาชนคนไทยที่รักความยุติธรรมทุกคนว่า "คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน" .
     


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"