ลุ้นก.ต.ตั้งกรรมการ สอบเหตุ‘ผู้พิพากษา’ยิงตัวหมอแจงดูอาการ1สัปดาห์


เพิ่มเพื่อน    

 เลขาฯ ศาลเข้าเยี่ยม “คณากร” ยังไม่ถามข้อเท็จจริง ต้องรอสภาพพร้อม ย้ำผู้พิพากษามีความอิสระ ไม่สามารถแทรกแซงได้ เผยสถิติคดีชายแดนใต้ยกฟ้องครึ่งต่อครึ่ง เก็บข้อมูลชง ก.ต. 7 ต.ค.นี้ ผอ.รพ.ยะลาแถลงภาพรวมปลอดภัยแล้ว พบใช้กระสุน 9มม.ยิงทรวงอกซ้ายทะลุหลังซ้ายม้ามฉีกขาดไม่ต้องผ่าตัด ให้นอนดูอาการ 1 สัปดาห์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจี้ย้ายบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบอำนาจพิเศษ สร้างความเชื่อมั่นตุลาการ "สิระ" จ่อนำเข้า กมธ.กฎหมายฯ "หมอวรงค์" ไล่ไทม์ไลน์ปูดการเมืองจ้องทำลายตุลาการ 

    ที่จังหวัดยะลา วันที่ 7 ตุลาคม นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม เดินทางมาเยี่ยมอาการนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลาที่ยิงตัวเอง ซึ่งพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา พร้อมเปิดเผยว่า ทางสำนักงานศาลยุติธรรมมาเยี่ยมท่านผู้พิพากษา อาการปลอดภัยดีแล้ว อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และขอเรียนว่าศาลยุติธรรมทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม อิสระ ทุกศาลในประเทศไทยอยู่ภายใต้การดูแลของประธานศาลฎีกา ให้คำแนะนำได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม สำหรับกรณีนายคณากรใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี สำนักงานศาลยุติธรรมจะตรวจสอบข้อเท็จจริง สาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไขต่อไป ซึ่งในการประชุม  คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในวันที่ 7 ต.ค. ตนจะรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นต่อที่ประชุม
    "ส่วนอาการของผู้พิพากษาคณากรดีขึ้น อยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแจ้งว่าปลอดภัยแล้ว ได้ย้ายจากห้องไอซียูมาที่ห้องพิเศษ แต่ไม่ทราบจะพักรักษานานเท่าไหร่ โดยในวันนี้ผมไม่ได้พูดรายละเอียดเรื่องข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น วันนี้เพียงต้องการมาเยี่ยมให้กำลังใจท่านให้ปลอดภัย ไม่ได้สอบถามเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากเข้าใจสภาพท่านไม่พร้อมที่จะพูดเรื่องที่เกิดขึ้น" นายสราวุธกล่าว
    เมื่อถามว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการวิจารณ์การแทรกแซงการทำหน้าที่ของศาลยุติธรรม นายสราวุธกล่าวว่า เราเสียใจสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรียนพี่น้องประชาชนให้มั่นใจ เราเคารพรูปแบบของการพิพากษาของคณะผู้พิพากษา เรื่องการแทรกแซงเราระมัดระวังไม่ให้เกิดอยู่แล้ว และการทำงานของผู้พิพากษาเขียนไว้ในกฎหมาย นอกจากพระธรรมนูญวิธีพิจารณาความอาญา ก็มีชัดเจนในมาตรา 183 กรณีถ้าผู้พิพากษามีความเห็นต่างกัน สามารถทำความเห็นแย้งได้ ซึ่งการทำความเห็นแย้งต้องทำเป็นหนังสือ และในมาตรา 184 คดีอาญา ผู้พิพากษาสามารถปรึกษาหารือกัน ถ้ามีความเห็นต่างกันในคดีอาญา คนที่เห็นเป็นผลร้ายกับจำเลยมากกว่า ต้องยอมตามความเห็นของผู้พิพากษาที่เห็นเป็นผลร้ายน้อยกว่า เช่น ถ้ายกฟ้องมากกว่าลงโทษ ต้องเห็นชอบยกฟ้อง
    "จึงเห็นชัดว่าการพิจารณาความคดีอาญา หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดชัดเจน ประชาชนต้องได้รับความยุติธรรม มั่นใจได้ว่าผู้พิพากษาศาลยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระ ปราศจากการแทรกแซง นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีเกี่ยวกับความมั่นคงก็ดี มีสัดส่วนของคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษกับยกฟ้อง ไม่ได้ลงโทษ 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวนเกือบครึ่งหนึ่งยกฟ้อง และเราก็ไม่ได้มีปัญหากับฝ่ายบริหาร ซึ่งฝ่ายบริหารต้องไปทบทวนว่ารูปแบบในการรวบรวมพยานหลักฐานมีจุดบอดตรงไหนบ้าง ศาลมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน มีคดีที่เข้าสู่ศาลได้รับความคุ้มครองจากองค์คณะผู้พิพากษา"
    “ผมขอย้ำว่าศาลมีความเป็นกลางและมีความเป็นอิสระที่แท้จริง” นายสราวุธย้ำ 
    ส่วนกรณีมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบคดีย้อนหลังในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายสราวุธกล่าวว่า เราดูข้อมูลทั้งหมด คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีระบบตรวจสอบตลอดเวลา ปัจจุบันศาลยุติธรรมมีการพิจารณาคดีทั่วประเทศกว่า 2 ล้านคดี คดีจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง นโยบายประธานศาลฎีกาให้พิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว ในศาลชั้นต้นไม่เกิน 2 ปี ศาลอุทธรณ์ไม่เกิน 6 เดือน ศาลฎีกาไม่เกิน 1 ปี การทำงานของศาลให้เกิดประสิทธิภาพ รอบคอบ รวดเร็วด้วย
รวบรวมข้อมูลชงก.ต.7ต.ค.นี้
    เมื่อถามว่ากรณีที่มีการพาดพิงไปยังอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ท่านได้สอบถามข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่ เลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวว่า ได้สอบถามข้อมูลจากทุกฝ่าย สำนักงานศาลได้ฟังข้อมูลทุกรูปแบบ 
    ถามต่อว่า สำหรับการพกอาวุธปืนและไลฟ์สดจะตรวจสอบวินัยหรือไม่ นายสราวุธกล่าวว่า สำนักงานศาลฯ จะรวบรวมข้อมูลรายงานต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) พิจารณาในวันที่ 7 ต.ค. และยืนยันจะทำงานอย่างโปร่งใส 
    ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา มอบหมายให้นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เดินทางไปเยี่ยมนายคณากร เพียรชนะ ซึ่งพักรักษาที่โรงพยาบาลยะลา โดยล่าสุดนายคณากรได้ออกจากห้องไอซียูมาพักรักษาตัวอยู่ที่ห้องพักผู้ป่วยปกติแล้ว 
    โดยหลังการเข้าเยี่ยมนายคณากรแล้ว จากนั้นเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้เดินทางไปศาลจังหวัดยะลา เพื่อหารือข้อราชการกับนายอนิรุจ ใจเที่ยง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา และ น.ส.ภูษิตา หล้าหลี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดยะลา พร้อมทั้งนำความห่วงใยจากประธานศาลฎีกาที่ให้กำลังใจบุคลากรทุกคนของศาลในจังหวัดชายแดนใต้ ที่มุ่งมั่นทำงานอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่
     วันเดียวกัน เวลา 14.00 น. ที่โรงพยาบาลยะลา นายแพทย์บรรยง เหล่าเจริญสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา และนายแพทย์สมชาย ไวกิตติพงษ์ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ได้ร่วมกันแถลงข่าวอาการของนายคณากร เพียรชนะ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุใช้อาวุธปืนยิงตัวเองจนได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา
     นายแพทย์บรรยงเปิดเผยว่า สำหรับอาการของผู้ป่วยท่านนี้มาโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 4 ต.ค.62 ประวัติคือโดนกระสุนปืนที่ทรวงอกด้านซ้ายด้านล่าง ทะลุออกด้านหลังซ้าย และได้มีการนำตัวส่งโรงพยาบาลยะลาทันที เท่าที่ตรวจดูก็พบรอยรูกระสุนที่บริเวณทรวงอกด้านซ้ายทะลุหลังซ้าย เมื่อมาถึงห้องฉุกเฉิน คนไข้ก็มีสัญญาณชีพปกติ หายใจปกติ มีอาการเจ็บบริเวณชายโครงซ้าย แพทย์ที่ตรวจดูในห้องฉุกเฉินขณะนั้นประเมินว่ากระสุนน่าจะโดนบริเวณชายปอดซ้ายและบริเวณม้าม จากนั้นได้ทำการเอกซเรย์ทรวงอกพบว่าไม่มีลมรั่วในช่องปอดหรือเลือดออกในช่องปอดด้านซ้าย แต่เนื่องจากว่าคนไข้มีอาการปวดในช่องท้องช่วงบน จึงคาดว่าน่าจะบาดเจ็บบริเวณม้าม จึงได้ทำการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จึงพบว่าบริเวณม้ามมีรอยฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกบริเวณช่องท้อง แต่ในปริมาณไม่มาก 
พักรักษาตัว 1 สัปดาห์
    "ซึ่งแพทย์ที่ดูแลอาการวินิจฉัยว่าอาการเช่นนี้ยังไม่จำเป็นที่จะต้องผ่าตัด จึงให้รักษาตัวตามอาการที่ตึกไอซียู และให้ยาที่ช่วยในเรื่องหยุดเลือดของม้ามได้ จากนั้นก็ให้อยู่ในห้องไอซียู 1 วัน ติดตามสัญญาณชีพ เฝ้าระวังเลือดออกในช่องท้อง ป้องกันการช็อกจากการเสียเลือด แต่จากการเฝ้าดูอาการ 1 วัน พบว่าสัญญาณชีพปกติ จึงให้เฝ้าดูอาการต่อโดยไม่ต้องตัดม้าม จากนั้นก็ได้ย้ายผู้ป่วยไปพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษ และเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งล่าสุดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา คนไข้ก็มีอารมณ์แจ่มใส ยิ้มแย้มแจ่มใส อาการทางทรวงอกก็ไม่มีอะไร ช่องท้องมีอาการปวดแผลที่ถูกยิง และได้เอกซเรย์ซ้ำอีกครั้งที่ช่องปอด ก็พบว่าไม่มีอะไร สรุปปัญหาในตอนนี้คือม้ามที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะต้องผ่าตัด แต่ก็ต้องดูอาการไปอีกสักระยะ ให้แน่ใจว่าไม่มีเลือดออกแล้ว จากนี้ก็คงจะเหลือการดูแลทางด้านจิตใจ ที่จะให้แพทย์ทางด้านจิตเวชและทีมแพทย์มาพูดคุยกับคนไข้ ซึ่งภาพรวมขณะนี้ท่านปลอดภัยแล้ว แต่ต้องการให้พักผ่อนมากที่สุด จึงได้มีการสั่งห้ามเยี่ยมสำหรับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้รบกวนผู้ป่วย"
    ผอ.โรงพยาบาลยะลากล่าวต่อว่า นอกจากม้ามแล้วก็ไม่พบการบาดเจ็บที่อวัยวะอื่นภายใน แต่ก็จะต้องดูอาการอีกระยะ เช่นอาจจะมีอาการปวดท้องเพิ่มมากขึ้น ก็จะต้องนำไปเอกซเรย์ช่องท้องอีกครั้ง เพราะบางรายในระยะแรกจะมองไม่เห็น ผู้ป่วยน่าจะต้องพักรักษาตัวไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ ต้องการให้ท่านหายปกติ   ส่วนอาการเครียดของผู้ป่วย เท่าที่ได้พูดคุยก็ไม่น่าจะมีความเครียดอะไร ส่วนรายละเอียดลึกๆ ก็คงจะต้องให้จิตแพทย์มาประเมินอีกครั้งในวันจันทร์หรืออังคารนี้ ส่วนกระสุนที่พบก็น่าจะเป็นกระสุนขนาด 9 มม. และเป็นกระสุนจริง บาดแผลมีรูเข้าและรูออก ไม่มีเศษกระสุนภายใน ซึ่งโดยหลักการแพทย์แล้ว อาการเช่นนี้ถือว่าสาหัส
     ด้านนายแพทย์สมชายเปิดเผยว่า สำหรับอาการคนไข้ในขณะนี้ถือว่าปลอดภัยแล้ว พ้นระยะวิกฤติแล้ว อย่างที่ท่านผู้อำนวยการแจ้งคือ จะต้องรอเยียวยาทางด้านจิตใจ และทางด้านร่างกายก็ถือว่าพ้นระยะวิกฤติไปแล้ว ไม่มีอะไรที่น่าห่วง
    ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสังคม เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่ประชาชนจะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบตุลาการในเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการกลับคืนมาให้ โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1.ขอให้มีคำสั่งย้ายบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำแถลงนี้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานภายในที่พึงมีบุคลากรจากภายนอกของศาลยุติธรรมเข้าร่วมด้วย โดยให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายเพื่อให้ได้ความจริงและแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์การแทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการดังเช่นนี้อีก
     2.ขอให้มีการตรวจสอบอำนาจพิเศษในทุกรูปแบบที่ส่งผลต่อการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งในคดีความมั่นคงและคดีอาชญากรรมปกติ ตามที่คำแถลงการณ์ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ของท่านคณากร เพียรชนะ ได้ระบุไว้ เช่น การตั้งข้อหาเกินจริง การควบคุมตัวบุคคลโดยอำนาจกฎอัยการศึก แล้วนำตัวมาเป็นพยานในคดีอาชญากรรม การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีอาชญากรรมและซักถามด้วยอำนาจกฎหมายพิเศษก่อนการทำสำนวนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ  การรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดจากการซักถาม รวมทั้งการมีคำสั่งให้เขียนคำพิพากษาให้ขังระหว่างอุทธรณ์ หากไม่ยอมเปลี่ยนจากคำพิพากษายกฟ้องให้เป็นลงโทษ เป็นต้น
    3.บทเรียนครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ระบบตุลาการของไทยและระบบศาลยุติธรรม โดยการนำของประธานศาลฎีกาท่านใหม่ด้วยว่าเราไม่อาจข้ามผ่านปรากฏการณ์ไปได้ด้วยคำชี้แจงว่า กรณีของผู้พิพากษาคณากรเป็นเรื่องส่วนตัว รวมทั้งต้องตรวจสอบการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม และนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง และต้องไม่ทำให้เรื่องนี้จบลงท่ามกลางความสับสนและการสูญเสียความเชื่อมั่นต่อระบบตุลาการที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายประชาชน
การเมืองจ้องทำลายตุลาการ
     นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ในแวดวงตุลาการ เพราะสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อระบบยุติธรรมของศาล ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น ดังนั้นในวันพุธที่ 9 ต.ค.นี้ ตนจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมกรรมาธิการกฎหมายฯ ลงมติว่าจะรับพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่การก้าวก่ายอำนาจตุลาการ แต่เป็นการทำงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาถึงสาเหตุของปัญหา อันจะนำไปสู่แนวทางแก้ไขต่อไป โดยในส่วนที่เป็นอำนาจของ ก.ต. กรรมาธิการจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่จะดูในเรื่องของข้อกฎหมายว่ามีปัญหาที่ทำให้เกิดการแทรกแซงและไม่ยุติธรรมตามที่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาจริงหรือไม่ จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา ตามข้อเรียกร้องของนายคณากรหรือไม่ รวมถึงการศึกษาโครงสร้างรายได้ของผู้พิพากษาว่ามีความเหมาะสมหรือยังด้วย 
     "ผมอยากให้สังคม ช่วยกันถอดบทเรียน ใช้ปัญหามาก่อให้เกิดปัญญา เพื่อวางแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน และหากมีใครโหนกระแส บิดเบือนให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นทำลายล้างการเมือง คนเหล่านั้นสมควรถูกประณาม" 
    นายสิระกล่าวต่อว่า ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่มีต้นตอมาจากขั้นตอนกระบวนการศาล ก็ต้องแก้ปัญหาที่ศาล โดยการปฏิรูประบบศาลเสียที แต่ถ้าเกิดที่ตัวบุคคล กฎหมาย ก็ต้องนำบุคคลดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย 
    นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กหัวข้อ “เมื่อศาลถูกพายุกระหน่ำ” มีเนื้อหาดังนี้  องค์กรศาลคือเป้าหมายของการทำลาย แต่หลายคนคงคิดไม่ถึงว่าจะเป็นแผนการร่วมมือจากคนในของศาล กับนักการเมืองที่จ้องทำลาย นักการเมืองดังกล่าวเคยโพสต์เฟซบุ๊กว่าได้รับข้อมูลจากผู้พิพากษาและจากฝั่งจำเลย ก่อนที่จะแก้ข้อมูลจากฝั่งจำเลยเป็นข้อมูลจากผู้หวังดี เพราะหมิ่นเหม่ผิดกฎหมาย และยืนยันว่าจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวที่ได้รับจากทั้งสองฝ่ายสะท้อนว่าพวกเขาทำงานร่วมกันมาร่วม 1 เดือน
    ที่สำคัญคดีของหัวหน้าพรรคของนักการเมืองคนนี้ ใกล้ๆ ที่จะตัดสิน และผู้พิพากษาดังกล่าวเคยไปร่วมโพสต์ความเห็นต่อประเด็น ถ้านาทอน Endgame ต้องติดคุก? ว่า “ผมจะทำ, ช่วยอีกแรงครับ”  
    สิ่งที่ควรต้องคิดคือ 1.ระบอบประชาธิปไตยประกอบด้วยฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ด้วยหลักการ ฝ่ายนิติบัญญัติต้องตรวจสอบฝ่ายบริหาร ไม่ใช่มาตรวจสอบการพิจารณาคดีของตุลาการ เพราะตุลาการเขามีระบบตรวจสอบกันเอง
    2.สิ่งที่เกิดขึ้น นักการเมืองได้เข้าไปแทรกแซงการพิจารณาคดีของตุลาการ ชนิดที่นักการเมืองรับรู้ข้อมูลจากจำเลย และตุลาการ การกระทำดังกล่าวเท่ากับกำลังทำลายระบบของตุลาการ
      3.เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ที่ทุกองค์กรย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี ไม่ใช่ระบบตุลาการทั้งหมด บางคนมีจิตใจฝักใฝ่การเมือง และก็มีนักการเมืองฉวยโอกาสลูกเข้าเท้าเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ ของระบบตุลาการเพราะคดีของหัวหน้าพรรคตนเองใกล้ตัดสิน แต่โชคร้ายที่ความจริงถูกตีแผ่
     4.ฝ่ายตุลาการต้องตระหนักว่าเป็นเป้าจ้องทำลายการดำเนินคดีทุกอย่าง รวมทั้งระบบตรวจสอบกันเองต้องโปร่งใสและอธิบายได้
    "ท้ายที่สุดนี้ สังคมไทยต้องช่วยกันให้สามเสาของระบอบประชาธิปไตยทำหน้าที่ของตนเอง และช่วยกันปกป้องเสาตุลาการ ไม่ให้ฝ่ายการเมืองมาแทรกแซง เป็นเสาหลักของประเทศ ถ้าปล่อยให้ฝ่ายการเมืองโหมกระหน่ำจนหมดความเชื่อถือ ประเทศไทยของเราจะเดินต่อไม่ได้เลย" นพ.วรงค์ระบุ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"