ธนาธรเพิ่งรู้ว่าเลว!อนาคตมี2ทาง‘คุก-ซุกตปท.’


เพิ่มเพื่อน    

 "ธนาธร" โอด "เพิ่งรู้ว่าเลว" ตั้งพรรคอนาคตใหม่ 1 ปีเจอ 20 คดี ฉะเผด็จการใช้วิธีนี้ทำลายฝ่ายตรงข้ามมาแต่ยุค 6 ต.ค.19 ปลุกอย่าให้เกิดเหตุซ้ำอีก มธ.จัดรำลึก 43 ปี 6 ตุลา โพลชี้ผลงานรัฐบาลประยุทธ์ 2 ไม่กระเตื้อง ศก.ยังแย่ "จุรินทร์" มั่นใจปชป.ซิว ส.ส.นครปฐม 

    ที่พรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ได้จัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปีสมัครสมาชิกพรรค โดยงานนี้มีชื่อว่า “มาสิครับผมจะเล่าให้ฟัง” โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนายธนาธรให้สัมภาษณ์ว่า งานวันนี้จัดขึ้นเพื่อครบรอบ 1 ปีของการรับสมัครสมาชิก พรรคอนาคตใหม่ได้รับการอนุมัติให้เป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.61 ดังนั้นวันที่ 6 ตุลาคมปีที่แล้วจึงเริ่มการสมัครสมาชิกพรรคเกิดขึ้นที่นี่ และอีกเหตุผล เพราะตรงกับวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศไทย นั่นก็คือ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งวันนี้ครบรอบ 43 ปี หวังว่าสังคมไทยจะไม่ลืมเหตุการณ์นี้ เพราะถ้าเราลืม มันก็จะเกิดขึ้นซ้ำอีก โดยเป็นวันที่คนไทยสูญเสียความรักความเมตตาให้กับการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง จนกลายเป็นประวัติศาสตร์
    "ชนชั้นนำในสังคมไทยพยายามลบเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ออกจากหน้าประวัติศาสตร์ มีประชาชนมากมายถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม มีการใช้สื่อโจมตีการทำงานของนักศึกษา ใช้สื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม 43 ปีที่แล้วกับวันนี้แทบไม่ต่างอะไรกันเลย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งข้อหากับฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่เป็นธรรม ในตอนนี้ไม่ว่ากำลังจะเจอกับอะไรก็ตาม ผมก็ยังเป็นห่วงในสภาวะความเป็นไปของประเทศ เศรษฐกิจที่กำลังส่งสัญญาณอันตราย และนั่นทำให้ผมพร้อมที่จะสู้ต่อไป ไม่เคยหมดหวัง และอยากขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนอย่าได้สิ้นหวัง ประเทศไทยต้องดีกว่านี้" นายธนาธรระบุ
    หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าวระหว่างจัดกิจกรรม “มาสิครับผมจะเล่าให้ฟัง" โดยเป็นการพูดคุยระหว่างนายธนาธรและประชาชนว่า ตอนแรกนับอยู่ว่าตนและสมาชิกคนอื่นๆ ในพรรคมีคดีเท่าไร แต่นับไปนับมาตอนนี้เลิกนับไปแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ลองคิดดูว่ามีพรรคการเมืองมา 1 พรรค ขณะที่กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดไม่เคยมีคดีมาก่อน ไม่ว่าทางแพ่งหรืออาญา แต่พอก่อตั้งมา 1 ปี กลับมีกว่า 20 คดี
"ธนาธร"เพิ่งรู้ว่าเลว
    “ผมเพิ่งรู้ว่าเป็นคนเลวแค่ไหนก็ตอนตั้งพรรคนี่ละ แต่ผมคิดว่าคนที่อยู่ที่นี่น่าจะเข้าใจ เพราะสิ่งที่เราพยายามทำคือการท้าทายอำนาจและระบอบที่ไมเป็นธรรม ฉะนั้นไม่แปลกใจที่ระบอบนี้พยายามจะล้มเรา เพราะหมายความว่าการมีเราอยู่ทำให้พวกเขาสั่นคลอน และจำเป็นต้องจัดการกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทุกคนดีที่เกิดขึ้นเกิดจากแรงจูงใจที่จะทำลายกันทางการเมือง มากกว่าที่จะเอาผิดตามตัวบทกฎหมาย” นายธนาธรกล่าว
    สำหรับคดีเงินกู้นั้น เงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่อยู่งบดุล กำไร-ขาดทุน ถ้าตีความแบบนี้ว่าผิด หมายความว่าคุณกำลังพังกฎหมายทั้งหมดเลยนะ แต่เรื่องนี้ตนยักไหล่เฉยๆ เพราะคนทั้งโลกเขาไม่ได้มีมาตรฐานแบบนั้น เช่นเดียวกับกรณีหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งความสมบูรณ์ของการทำธุรกรรม คือการแลกเปลี่ยนเงินกับใบหุ้น กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่เรื่องจะไปแจ้งกระทรวงพาณิชย์เท่าไรนั้นเป็นคนละเรื่อง หากใช้มาตรฐานแบบนั้น แสดงว่าในประเทศที่ผ่านมาผิดหมดเลย หากจะเล่นงานตนด้วยวิธีนี้ หมายคำว่าจะเอาธนาธรเป็นมาตรฐานใหม่เลยนะ อย่างไรก็ตาม หากตีความตามตัวบทกฎหมาย คิดว่าไม่มีใครเอาผิดเราได้ ดังนั้นเรื่องกระบวนการยุติธรรมตอนนี้ไม่ใช่มี 1 หรือ 2 มาตรฐาน แต่ไม่มีมาตรฐานอะไรเลย อย่างตนโดนแบนอยู่คนเดียว จาก ส.ส.กว่า 60 คน ที่มีปัญหาเรื่องเดียวกัน ทุกคนน่าจะเข้าใจ
    นายธนาธรกล่าวว่า การสร้างปีศาจหรือศัตรูสมมติขึ้นมา เป็นวิธีทางของการดำรงอยู่ของเผด็จการมาอย่างช้านาน วันที่ 6 ต.ค. ยังเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ย้อนหลังไป 43 ปีที่แล้ว วันนี้เป็นหนึ่งในวันที่น่าเศร้าใจที่สุดในประวัติชาติไทย มีคนถูกฆ่าตายอย่างโหดร้าย มีคนถูกไล่ยิง จากเหตุการณ์ขับไล่ทรราช 16 ตุลาคม 2516 ที่ทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมือง ทำให้มีการเรียกร้องสิทธิของชาวนา แรงงาน นักศึกษา เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม เป็นธรรม และประชาธิปไตย กลายเป็นกระแสหลักของสังคม แต่สิ่งเหล่านี้ดันไปสั่นคลอนผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทย ขณะที่เรื่องที่ใช้โจมตีฝ่ายตรงข้าม ก็เป็นข้อหาเดียวกันปัจจุบัน อย่างแบ่งแยกชาติ, ล้มล้างสถาบันฯ, เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งกระบวนการที่เกิดไม่ต่างกันเลย คือการจัดตั้งมวลชนมาเผชิญหน้ากัน เป็นเหตุผลให้มีการรัฐประหาร รวมทั้งเป็นการใช้สื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม
    อย่างไรก็ตาม หนึ่งอย่างที่ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยตั้งแต่วันตั้งพรรคถึงวันนี้คือ ความแน่วแน่ที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ระบบข้าราชการรวมศูนย์ กระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถผดุงความยุติธรรมไว้ได้ และกลุ่มทุนผูกขาด ที่เป็นเสาค้ำความอยุติธรรมของสังคมไว้อยู่ เราไม่ใช่กลุ่มคนแรกที่เลือกเดินทางเส้นนี้ มีคนเลือกเดินตามเส้นทางนี้ก่อนปี 2475 ด้วยซ้ำ หากพวกท่านจำกบฏหมอเหล็งได้ ส่วนใหญ่ที่เลือกเส้นทางเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในคุกก็อยู่ต่างประเทศ การมารวมกันตรงนี้ครบรอบ 1 ปี ยืนยันกับทุกคนว่า คดีที่ทุกคนเห็นไม่ได้ทำให้คนในพรรคสั่นคลอนลงไป อุดมการณ์ต่างๆ ยังมั่นคงและหนักแน่น
    “เราต้องตระหนักว่า เราไม่ต้องมีฮีโร่ ภารกิจนี้ใหญ่เกินไป ธนาธรหรือปิยบุตรไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่ทุกคนต้องทำไปด้วยกัน หากไม่เดินไปด้วยกัน เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็จะต้องเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำสิ่งที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ระบุ
    ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ "ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เวลา 08.00 น. มีการจัดงานรำลึก "ครบรอบ 43 ปี 6 ตุลาคม 2519" เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และไว้อาลัยต่อวีรชนผู้สูญเสีย โดยมีนักศึกษา คณาจารย์ ญาติวีรชน ผู้แทนพรรคการเมือง เข้าร่วม ทั้งนี้ ช่วงเช้ามีการตักบาตรพระสงฆ์ 19 รูป ต่อด้วยการอ่านรายชื่อผู้วายชนม์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และพิธีวางพวงมาลาและดอกไม้
รำลึก 43 ปี 6 ตุลา 19
    โดย ร.ศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 จะผ่านมาแล้ว 43 ปี แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นยังคงส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในหลายๆ ระดับ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตระหนักดีถึงความสำคัญและยอมรับความจริงในบาดแผลทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การสรุปบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้มีพิธีมอบรางวัล จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย ให้กับนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จนมีคดีติดตัวอยู่หลายคดีด้วย
    จากนั้นได้มีการเสวนาวิชาการหัวข้อ “จาก 6 ตุลา 2519 ถึงวิกฤติการเมืองร่วมสมัย : สี่ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า เรายังคงฆ่ากัน” โดยมี น.ส.ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, น.ส.นวลน้อย ธรรมเสถียร สื่อมวลชน, น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนางเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเสวนา
    น.ส.พูนสุขกล่าวว่า การใช้อำนาจของรัฐได้เปลี่ยนรูปแบบออกไป แม้จะไม่มีการใช้อาวุธและความรุนแรง แต่อาจใช้ในรูปแบบของกฎหมายหรือคำสั่งต่างๆ กับประชาชน เพื่อให้รัฐนั้นคงไว้ซึ่งอำนาจ และแม้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะมีการเยียวยาให้ประชาชนบ้าง แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริงก็คือความยุติธรรม ทั้งนี้เห็นว่าข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะถือเป็นส่วนหนึ่งในปฏิรูปความยุติธรรม และจัดการกฎหมายหรือคำสั่งต่างๆ ที่ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนอยู่ในทุกวันนี้ 
    นางเบญจรัตน์มองว่า ปัจจุบันรัฐมีความหวาดกลัวกับกลุ่มคนที่เห็นต่างในสังคม และไม่ต้องการยอมรับความคิดเห็นเหล่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา สังคมไม่ได้เรียนรู้อะไรอย่างจริงจัง ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังมีการข่มขู่หรือดำเนินการกับกลุ่มคนที่เห็นต่างจนเกิดการลี้ภัยไปต่างประเทศด้วย
    “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,223 คน เปรียบเทียบผลงานระหว่างรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่มาจากการเลือกตั้ง กับรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่มาจากรัฐประหาร ว่าจะดีกว่าหรือแย่กว่า สรุปผลได้ดังนี้ 1.ประชาชนคิดว่า "รัฐบาลประยุทธ์ 2" มีผลงานอะไรที่ดีขึ้น พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.11 ระบุความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ มาตรการชิมช้อปใช้ รองลงมา ร้อยละ 43.78 การควบคุมดูแลสถานการณ์ในบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย, ร้อยละ 30.67 มีการลงทุนด้านการคมนาคมและขนส่ง รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง
    2.ประชาชนคิดว่า "รัฐบาลประยุทธ์ 2" มีผลงานอะไรที่แย่ลง พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.87 ระบุการควบคุมราคาสินค้า ของแพง ค่าครองชีพสูง รองลงมา ร้อยละ 40.42 ปัญหาการลักลอบขนยาเสพติด การทุจริตคอร์รัปชัน, ร้อยละ 22.43 ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ให้ไว้ตอนหาเสียง เช่น การขึ้นค่าแรง 3.ประชาชนคิดว่า "รัฐบาลประยุทธ์ 2" มีผลงานอะไรที่ยังคงเหมือนเดิม ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.94 ระบุยังแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชนไม่ได้ รองลงมา ร้อยละ 31.61 ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม, ร้อยละ 28.55 การตรวจสอบการทุจริตในการดำเนินงานโครงการต่างๆ 
ประยุทธ์ 2 ไม่กระเตื้อง
         4.เมื่อเปรียบเทียบในภาพรวมระหว่างผลงาน “รัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่มาจากการเลือกตั้ง” กับ “รัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่มาจากการรัฐประหาร” เป็นอย่างไร พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.68 ระบุเหมือนเดิม เพราะมาจากคณะทำงานชุดเดียวกัน เป็นทีมงานเดิม ดำเนินงานต่อเนื่องจากนโยบายเดิม ไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ รองลงมา ร้อยละ 41.70 แย่ลง เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอย เศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ประชาชนยังมีความเป็นอยู่ลำบาก ยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ฯลฯ, ร้อยละ 6.62 ดีขึ้น เพราะพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เร่งดำเนินโครงการช่วยเหลือประชาชน มีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการชิมช้อปใช้ ฯลฯ
         5.สิ่งที่ประชาชนอยากให้ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” เร่งดำเนินการ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.24 ระบุการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 38.56 ลดภาษี ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดค่าครองชีพ, ร้อยละ 35.23 แก้ปัญหาความยากจน คนตกงาน ว่างงาน สร้างงาน สร้างรายได้
    วันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำพรรค อาทิ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายสุรชัย อนุตธโต ผู้สมัคร ส.ส.นครปฐม เขต 5 ของพรรค ได้ลงพื้นที่หาเสียงที่ตลาดเช้าวัดนักบุญเปโตร ต.ท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยได้พบปะผู้ค้าและประชาชนที่เดินทางมาจับจ่ายซื้อของในตลาด 
        นายจุรินทร์กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พอประเมินเบื้องต้นได้ว่าเสียงตอบรับจากพี่น้องประชาชนที่มีต่อนายสุรชัยถือว่าดีมาก และเชื่อว่าพี่น้องประชาชนจะให้โอกาสผู้สมัครของพรรคได้เข้าไปทำงานในสภา ซึ่งแกนนำพรรคจะลงพื้นที่มาช่วยหาเสียงอย่างเต็มที่และกระจายกันไปในหลายจุด ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้คะแนนเสียงมาติดอันดับสอง ครั้งนี้ก็เชื่อว่าจะได้รับโอกาสที่จะได้รับการเลือกตั้ง และเชื่อว่าจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีขึ้น เพราะประชาธิปัตย์ยุคนี้ก้าวเข้าสู่ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ อุดมการณ์ ทันสมัย สัญญาอะไรไว้กับประชาชนเราทำได้ไว ทำได้จริง อีกทั้งนายสุรชัยเป็นคนที่เกิดและทำงานในพื้นที่ อ.สามพราน มานาน รวมถึงมี ส.ส.ใน จ.นครปฐมอยู่ คือ พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร จึงเชื่อว่าทั้งหมดนี้จะมีส่วนช่วยทำให้เราได้ ส.ส.เพิ่มอีก 1 คนใน จ.นครปฐม
    อย่างไรก็ตาม ถือเป็นสิทธิ์ของทุกพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงแข่งขันแม้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และเกินหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะบอกว่าพรรคไหนควรลง พรรคไหนไม่ควรลง แต่ว่าเป็นพรรคร่วมด้วยกันก็เป็นหน้าที่ของพรรคแกนนำ และนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่จะพูด แต่ว่าท่านจะพูด-ไม่พูด ประชาธิปัตย์ก็ไม่ติดใจ ถือว่าเมื่อเราตัดสินใจลงรับสมัครเลือกตั้งแล้วก็ต้องเดินหน้าหาเสียง 
    เมื่อถามว่า การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ดังกล่าว ดูเหมือนมีแรงกดดันมากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากฝ่ายค้านมองจะส่งผลต่อจำนวนเสียง ส.ส.ของฝ่ายค้านและรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร นายจุรินทร์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การหาเสียงของแต่ละฝ่าย และไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร ย่อมจะมีคนนำไปตีความว่าเป็นการแข่งขันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน แม้พรรคพลังประชารัฐหรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะมีผู้เอาไปเชื่อมโยง ถือเป็นกลยุทธ์การหาเสียงของแต่ละพรรค.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"