15 หนังไทยมรดกภาพยนตร์ชาติ " แค่เศษฟิล์มหรือหนังดัง-ถูกแบน" แต่ทรงคุณค่า


เพิ่มเพื่อน    

อาปัติ หนังสยองขวัญถ่ายทอดพระแท้และพระเทียมในสังคม 

 

     แม้จะเป็นเศษฟิล์มที่เหลือจากการตัดต่อของภาพยนตร์เรื่อง การเสด็จเลียบเมืองเหนือ ที่กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ศูนย์ผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์อย่างเป็นทางการแห่งแรกของสยาม ถ่ายทำขึ้นจากเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ.2469 และเป็นส่วนที่ไม่ได้ใช้จัดฉายตามโรงภาพยนตร์ แต่เศษเสี้ยวที่กระจัดกระจายนี้ยังมีคุณค่า ทำให้เห็นเค้าโครงและมุมมองของการนำเสนอเหตุการณ์ครั้งนั้น และเติมเต็มภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่พระเจ้าแผ่นดินได้ถ่ายไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และทำความเข้าใจ ถือเป็นเครื่องยืนยันบทบาทของภาพยนตร์ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงคุณูปการ เหตุนี้ ภาพยนตร์เรื่อง [การเสด็จเลียบเมืองเหนือ ROYAL TOUR IN NORTHERN SIAM] ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม ได้เก็บอนุรักษ์เศษที่เหลือจากการตัดต่อของหนังมาเรียบเรียงใหม่ ได้รับเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกภาพยนตร์ให้เป็น 1 ใน 15 เรื่อง ภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี พ.ศ.2562 เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย 4 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

ภาพยนตร์เรื่องการเสด็จเลียบเมืองเหนือ จากเศษฟิล์มที่ยังทรงคุณค่า ร.7 ทรงถ่ายไว้

 

      ในปีนี้ยังมีภาพยนตร์ที่ตีทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติที่มีความสำคัญอย่างมากทางสังคมและประวัติศาสตร์ รวมทั้งหนังเรื่องที่มีความโดดเด่นทางศิลปะ และมีอิทธิพลต่อผู้ชม เรียกว่า เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปทั่วประเทศ และหนังสะท้อนด้านมืดสังคมที่กลายเป็นประเด็นร้อนตั้งแต่ยังไม่ทันได้ฉายในโรงภาพยนตร์ช่วงหนึ่ง ดังนี้

      ภาพยนตร์เรื่อง พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวเสดจฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดแรกที่รัชกาลที่ 7 ทรงถ่ายขึ้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ราวปีเศษ บันทึกเหตุการณ์เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.ถึง 6 ก.พ. พ.ศ.2469 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรีที่เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือจนถึงนครเชียงใหม่ คุณค่าเปรียบดังนิราศส่วนพระองค์ที่ได้พระราชนิพนธ์ไว้ด้วยกล้องถ่ายหนัง และตกทอดมาให้พสกนิกรรุ่นหลังได้ศึกษา ในฐานะจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ศิลปวัฒนธรรม เป็นความรู้ที่หาไม่ได้จากสื่ออื่น การสะกดชื่อเรื่องอ้างอิงตามที่ปรากฏในไตเติลหนัง ใครได้ชมจะเห็นภาพภูมิประเทศ พสกนิกร กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งพิธีต้อนรับยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ

 

หนังเรื่อง ชมสยาม ได้รับคัดเลือกขึ้นทะเบียน

 

      นอกจากนี้ ยังมีหนังเรื่องชมสยาม ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง สร้างปี 2473 หวังให้ชาวต่างชาติเห็นสภาพบ้านเมืองและวัฒนธรรมของประเทศ แม้ฟิล์มไม่สมบูรณ์แต่ล้ำค่า ในฐานะเป็นภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุดแรกของสยาม

 

 อิทธิพล คุณปลื้ม ร่วมประกาศรายชื่อหนัง 15 เรื่องขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ 

 

    อีกหนึ่งเรื่อง เลือดชาวนา เป็นเศษภาพยนตร์ที่สร้างปี 2479 โดยโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง โรงถ่ายแห่งแรกของไทยของพี่น้องตระกูลวสุวัต เจ้าของฉายาว่า  “ฮอลลีวูดแห่งสยาม” และสามารถผลิตหนังได้เกือบ 20 เรื่อง แต่ปัจจุบันผลงานเหล่านี้กลับเหลือรอดมาแค่เศษหนัง สามารถนำมาฉายให้คนรุ่นหลังดูได้เพียง 15 นาทีเท่านั้น มีคุณค่าในฐานะตัวแทนผลงานของทีมงานผู้บุกเบิกการสร้างหนังไทยที่หลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด และเป็นตัวอย่างของภาพยนตร์ไทยประเภทภาพยนตร์เรื่อง 35 มม. เสียงในฟิล์มตามแบบมาตรฐานสากลที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบ เป็นหลักฐานหาได้ยากยิ่งต่อการศึกษาเรื่องราวที่ยังคงพร่าเลือนช่วงเริ่มต้นประวัติศาสตร์หนังไทย

 

ภาพยนตร์เรื่อง เลือดชาวนา ตัวอย่างภาพยนตร์ไทยประเภทภาพยนตร์เรื่อง 35 มม.

 

      นอกจากนี้ ยังมีเรื่องปิดทองหลังพระ สร้างปี 2482 เศษภาพยนตร์ที่เหลืออยู่เพียงเรื่องเดียวของโรงถ่ายไทยฟิล์ม โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานสากลแห่งที่สองของประเทศ ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญในการผลิตหนัง 35 มม. เสียงในฟิล์มของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะมีความยาวเพียง 10 นาที แต่ทำให้เห็นถึงลักษณะที่แตกต่างของสองโรงถ่ายคู่แข่งสำคัญ เห็นฉากร้องเพลง จุดขายของหนังเสียงไทยในยุคแรก เศษฟิล์มนับเป็นซากดึกดำบรรพ์ชิ้นสำคัญ ทำให้นักประวัติศาสตร์หนังปะติดปะต่อภาพรวมช่วงยุคทองของหนังเสียงไทยได้

 

กะเทยเป็นเหตุ หนังสมัครเล่นได้รับขึ้นทะเบียน ปี 2562 

 

      หนังเรื่องต่อมา กะเทยเป็นเหตุ ถ่ายทำประมาณ ปี 2497 หนังสมัครเล่นไทยเสนอเรื่องกะเทยและใช้กะเทยเป็นตัวละครหลักที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ สร้างโดยชาลี ศิลปี นักถ่ายหนังสมัครเล่นและอดีตพนักงานธนาคารมณฑล และ BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS สร้างราวปี 2501 โดยสุพจน์ ธวัชชัยนันท์ นักธุรกิจผู้เคยประกอบกิจการรถเมล์ชื่อบริษัท ส.ธวัชชัยนันท์ ออกวิ่งรับส่งผู้โดยสารช่วงตลาดพลู-พาหุรัด โดยสุพจน์ตระเวนบันทึกภาพรถเมล์มากมายที่โลดแล่นอยู่ทั่วกรุงเทพฯ สมัยปี 2501 รวมถึงวิถีชีวิตชาวเมืองที่สัญจรในท้องถนน ดูแล้วจะย้อนรำลึกถึงระบบขนส่งมวลชนและระบบการคมนาคมยุคที่เมืองเริ่มขยายตัว

      “มวยไทย” สร้างปี 2506 เสนอการสอนมวยไทยของครูบัว วัดอิ่ม ครูมวยไทยสายโคราชคนสำคัญ การฝึกซ้อมของอภิเดช ศิษย์หิรัญ นักมวยไทยชื่อดังยุคนั้น ได้ขึ้นทะเบียนด้วย เป็น “ตำรามวยไทย” ในรูปแบบหนังเรื่องแรกเท่าที่พบ สื่อความรุ่งเรืองของกีฬามวยไทย มรดกของไทย

 

หนังดังในอดีต  นางสาวโพระดก

 

      แล้วยังมีหนังดังในอดีต นางสาวโพระดก ผลงานปี พ.ศ.2508 ของวิจิตร คุณาวุฒิ ศิลปินแห่งชาติด้านภาพยนตร์คนแรก สร้างจากบทประพันธ์ของสุวัฒน์ วรดิลก นำแสดงโดยมิตร ชัยบัญชา และพิศมัย วิไลศักดิ์ เล่าเรื่องราวของ โพระดก สกุณา สาวน้อยผู้ต้องผจญกับกิเลสตัณหา เป็นหนัง 16 มม.ที่ต่างออกไป ไม่ใช้ดาราตลกเป็นตัวชูโรง งานสร้างสุดประณีต เทคนิคการถ่ายทำใช้ศิลปะหนังชั้นสูงสื่อความหมาย คว้ารางวัลตุ๊กตาทองจำนวนมาก

      ส่วนหนังบ้านเรื่อง ฟ้าเมืองไทย ฉลองขึ้นปีที่ 8 วันพุธที่ 7 เมษา.ปี 2519 เป็นหนังของอาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนและบรรณาธิการชั้นครู เป็นบันทึกภาพเคลื่อนไหวของนักเขียนทั่วฟ้าเมืองไทยยุคที่วงการหนังสือเฟื่องฟูมากยุคหนึ่งเอาไว้อย่างมีชีวิตชีวา ขณะที่ ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด ปี 2536 ผลงานหนังขวัญใจนักวิจารณ์ กวาดรางวัลเพียบ และแจ้งเกิดให้แก่ผู้กำกับอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ เป็นบทบันทึกอารมณ์และชีวิตพนักงานออฟฟิศชาวกรุงเทพฯ ในช่วงการเติบโตทางธุรกิจของประเทศ แสดงให้เห็นว่าท่ามกลางความเจริญทางวัตถุ ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและกรรมยังคงอยู่ในสำนึกของคน หนังวิพากษ์ระบบทุนนิยม ทำให้คนกลายเป็นเครื่องจักรไร้หัวใจ ก่อนที่ไทยจะพบวิกฤติต้มยำกุ้ง 4 ปีต่อมา

ฝันบ้าคาราโอเกะ ฉีกกฎเกณฑ์การเล่าเรื่องหนังไทย 

 

      ส่วน ฝันบ้าคาราโอเกะ ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเป็นเอก รัตนเรือง ที่ฉีกกฎเกณฑ์การเล่าเรื่องและขนบหนังไทย โดยเฉพาะหนังแนววัยรุ่นที่กำลังได้รับความนิยมก่อนหน้านั้นอย่างสิ้นเชิง ฉายภาพชีวิตคนกรุงที่แวดล้อมไปด้วยอาชญากรรม แหล่งอบายมุขและความเชื่องมงายที่ฝังแน่นในจิตสำนึก

      หนังทำเงินระดับพันล้าน พี่มาก..พระโขนง กำกับโดยบรรจง ปิสัญธนะกูล ที่ตีความตำนานผีแม่นาคแห่งท้องทุ่งพระโขนงออกมาในรูปแบบที่ไม่เคยมีหนังแม่นาคเรื่องใดเสนอมาก่อน โดยเฉพาะการยั่วล้อภาษาและบรรยากาศย้อนยุคลักษณะทีเล่นทีจริง แถมจบเรื่องลงอย่างฉีกขนบของเนื้อหา หนังฮอตเกิดกระแสปากต่อปาก ปลุกโรงหนังให้ฟื้นขึ้นมา เรื่องนี้คือความทรงจำร่วมของผู้คนในสมัยปัจจุบันและเป็นตำนานของแฟนหนังในอนาคต

 

พี่มาก...พระโขนง หนังทำเงินระดับพันล้าน ความทรงจำร่วมของคนปัจจุบัน

 

      ทอล์กออฟเดอะทาวน์ อาปัติ หนังไทยแนวสยองขวัญ ผลงานเรื่องแรกของผู้กำกับหญิง ขนิษฐา ขวัญอยู่ ทั้งแรง ทั้งหลอน จุดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง หลังถูกสั่งห้ามฉายในปี พ.ศ.2558 จนทีมผู้สร้างตัดสินใจตัดทอนเนื้อหาบางฉากออกไปให้หนังได้ออกฉาย ก่อนจะได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนหนังไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในเวลาต่อมา

      คณะกรรมการฯ ระบุ อาปัติ เสมือนปรอทวัดอุณหภูมิความอ่อนไหวของสังคมไทยที่มีต่องานศิลปะว่าด้วยพระพุทธศาสนา ทั้งยังกล้าหาญถ่ายทอดให้เห็นถึงพระแท้และพระเทียมที่ปะปนกันอยู่ในสังคม มีการหลอมรวมความเป็นหนัง“พระ” และหนัง “ผี” เข้าด้วยกัน กลายเป็นภาพอุปมาที่ดีของศาสนาพุทธแบบไทยในปัจจุบัน

 

แมลงรักในสวนหลังบ้าน หนังเคยถูกแบนและเปิดประเด็นเรื่องเพศสภาพ

 

      และสุดท้าย INSECTS IN THE BACKYARD แมลงรักในสวนหลังบ้าน ผลงานของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ที่ถือเป็นภาพยนตร์ไทยอิสระขนาดยาวเรื่องแรกๆ ที่กล้าเปิดประเด็นปะทะกับขนบธรรมเนียมของสังคมไทยทั้งเรื่องเพศสภาพของพ่อแม่ผู้ปกครองและการแสวงหาตัวตนของวัยรุ่นในสังคมปัจจุบัน ที่สถานะทางเพศมีทางเลือกได้หลากหลายกว่าชายหญิงปี 2553 หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ถูก “แบน” จาก พ.ร.บ.พิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ก่อนที่ธัญญ์วารินจะฟ้องศาลปกครองจนหนังได้ออกฉายปี พ.ศ.2560 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หนังไทยที่คนทำหนังใช้กฎหมายต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ทำให้หนังซึ่งเคยตายไปแล้ว 7 ปี กลายเป็นผีดิบที่ก่อผลสะเทือนสำคัญต่อการพิจารณาหนังในบ้านเรา

กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ หญิงข้ามเพศผู้กำกับหนัง “แมลงรักในสวนหลังบ้าน” 

 

     ในการส่งต่อภาพยนตร์ที่มีคุณค่านั้น อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติเริ่มตั้งแต่ปี 2554 โดยเมื่อรวมในปีนี้แล้วมีภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรวม 200 เรื่อง ตนมีนโยบายให้ต่อยอดนำภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปประชาสัมพันธ์เผยแพร่ในกิจกรรมต่างๆ ของ วธ.ให้ขยายวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่หอภาพยนตร์จะทำการอนุรักษ์ตามมาตรฐานสากลและเผยแพร่ภาพยนตร์บางส่วนลงใน youtube ของหอภาพยนตร์และนำมาจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา จ.นครปฐม รอติดตามโปรแกรมจัดฉายได้ที่ www.fapot.org นอกจากนี้จะส่งเสริมโครงการพาหนังเข้าสู่โรงเรียน โดยนำหนังขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติไปฉายในโรงเรียน สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นจินตนาการ รวมถึงสร้างทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆ นอกจากนี้ถือเป็นการส่งต่อหนังดีมีคุณค่าทั้ง 15 เรื่องให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ด้วย.

 

พลอย ศรนรินทร์ นักแสดงหญิงในหนังเรื่องอาปัติ ร่วมงาน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"