ตั้งกก.คลี่ปมคณากรยิงตัว


เพิ่มเพื่อน    

 “ประยุทธ์” ลั่นไม่มีใครแทรกแซงกระบวนศาลได้ ก.ต.ประชุมก่อนเคาะตั้งอนุกรรมการสอบกรณี “คณากรยิงตัวเอง” แล้ว ให้ “ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา” นั่งแท่นประธานสรุปผลใน 15 วัน แฉยุครัฐธรรมนูญ 2540 เคยใช้หลักไม่ตรวจร่างคำพิพากษา แต่พอถึงชั้นศาลสูงถูกตีกลับและแก้ไขอื้อ จนต้องกลับแบบเดิมยุค 2550 เพื่อไม่ให้ประชาชนซวย ไอลอว์เผยเป็นเรื่องที่มีมานานแต่ไม่ใช่การเปลี่ยนคำตัดสิน “ปชป.-พปชร.” ประสานเสียงอย่าดึงเป็นเกมการเมือง ข้องใจ “ปิยบุตร” ได้ข้อมูลแบบผลไม้พิษตีกินหรือไม่

    เมื่อวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองภายในห้องพิจารณาคดีบัลลังก์ 4 ชั้น 2 ในศาลจังหวัดยะลาหลังการอ่านแถลงการณ์ของคดี จนได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 4 ต.ค. โดย พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) ถึงเรื่องนี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้พิพากษา การตัดสินคดีเป็นเรื่องของศาล กระบวนการยุติธรรมได้ชี้แจงไปแล้ว ซึ่งเลขาธิการศาลยุติธรรมก็ได้ชี้แจงแล้วว่าไม่มีใครสามารถจะไปแทรกแซงกระบวนการของศาลได้ อันนี้เป็นเรื่องของศาล กระบวนการยุติธรรม ส่วนกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียก็เป็นเรื่องของโซเชียล ซึ่งวันนี้มีเยอะแยะอยู่แล้ว วิพากษ์วิจารณ์กันไปมาอยู่แล้ว แต่ตนเองยึดถือตามกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดทุกประการ
ขณะเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม แก้ไขเพิ่มเติมการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการตุลาการ จากเดิมที่ข้าราชการตุลาการสามารถพ้นจากตำแหน่งโดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีมติถอดถอนจากตำแหน่งได้ ซึ่ง พ.ร.บ.ใหม่ ส.ว.จะไม่มีอำนาจลงมติถอดถอนแล้ว โดยข้าราชการตุลาการจะพ้นจากตำแหน่งได้เพียง 3 กรณีประกอบด้วย 1.เสียชีวิต 2.เกษียณอายุ และ 3.ถูกลงโทษ รวมทั้งที่ต้องขอกราบบังคมทูลเพื่อให้มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง  แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้แก้ไขเป็นการกราบบังคมทูลเพื่อให้พระองค์ทรงทราบเท่านั้น
วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมศาลฎีกา นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็นประธานการประชุม ก.ต.ทั้งคณะครั้งที่ 15/2562 พิจารณาวาระต่างๆ โดยในช่วงบ่ายนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการ ก.ต.ได้รายงานให้ที่ประชุม ก.ต.รับทราบเกี่ยวกับกรณีนายคณากรด้วย
โดยนายสราวุธกล่าวหลังการประชุมว่า ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 15 คนได้มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งหลังจากที่ได้พิจารณาระเบียบวาระการประชุมตามที่ฝ่ายเลขาฯ ได้แจ้งล่วงหน้าเสร็จสิ้นแล้ว ตนเองได้แถลงสรุปข้อเท็จจริงกรณีนายคณากรให้ที่ประชุมทราบ โดย ก.ต.พิจารณาแล้วมีมติให้ตั้งอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมวิสามัญ ซึ่งประกอบด้วย ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน เป็นอนุกรรมการวิสามัญ  ประกอบด้วย นางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลฎีกา เป็นประธานอนุกรรมการวิสามัญ, นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลอุทธรณ์ เป็นอนุกรรมการวิสามัญ และนายสุวิชา สุขเกษมหทัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลชั้นต้น เป็นอนุกรรมการวิสามัญ โดยกำหนดให้อนุกรรมการวิสามัญดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ และรายงานให้ ก.ต.ทราบภายใน 15 วัน ทั้งนี้ หากมีรายละเอียดเพิ่มเติมสำนักงานศาลยุติธรรมจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ด้านความคืบหน้าอาการบาดเจ็บของนายคณากรนั้น ในเวลาประมาณ 09.15 น.แพทย์ได้นำตัวเข้าห้องผ่าตัดเพื่อตรวจดูบาดแผลอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่มีการผ่าตัดใดๆ โดย นพ.บรรยง เหล่าเจริญสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลากล่าวถึงอาการของนายคณากรว่า โดยรวมดีขึ้นอยู่ในระยะปลอดภัยแล้ว  ส่วนการรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณม้ามที่มีรอยฉีกขาด จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ยังต้องพักรักษาดูอาการอีกสักระยะ พร้อมทั้งให้คณะแพทย์จิตเวชเข้ารักษาเยียวยาทางด้านจิตใจ
    สำหรับข้อเสนอนายคณากรที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษานั้น แหล่งข่าวผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีการะบุว่า ศาลใช้ระบบตรวจสำนวนและร่างคำพิพากษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาตั้งแต่ดั้งเดิม โดยถือว่าเป็นการตรวจสอบภายในองค์กรเพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมแก่คู่ความ และเป็นการช่วยดูแลมาตรฐานของคำพิพากษาที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน อีกทั้งยังเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้พิพากษาผู้ใหญ่ไปยังผู้พิพากษารุ่นต่อๆ มา ซึ่งการตรวจร่างคำพิพากษายังคงให้อิสระแก่องค์คณะผู้พิพากษาที่จะยืนยันคำตัดสินของตน โดยไม่จำต้องปฏิบัติตามความเห็นที่มีลักษณะเป็นข้อทักท้วงของผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ที่ต้องมีความรับผิดชอบในการทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรและสามารถตรวจสอบได้  
    “ในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มีแนวคิดให้องค์คณะผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ปราศจากการตรวจสอบ โดยห้ามผู้พิพากษาที่เป็นผู้บริหารศาลตรวจสำนวนและร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง หลังจากนั้นมีสถิติซึ่งรวบรวมไว้ ปรากฏชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกกลับและแก้ไขโดยศาลสูงมากขึ้นเป็นลำดับๆ จนน่าตกใจ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงตกแก่ประชาชน แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะถูกแก้ไขโดยศาลสูงให้ถูกต้องสมบูรณ์ก็ตาม ครั้งเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงแก้ไขกฎหมายกลับมาใช้ระบบตรวจคำพิพากษาแบบเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ถือเป็นการแทรกแซงการตัดสินคดี แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้องและละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น” แหล่งข่าวกล่าวและว่า หากแก้ไขตามข้อเสนอดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการพิจารณาพิพากษาคดี และความเสียหายย่อมตกแก่ประชาชนในที่สุดดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
    นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของสถาบันตุลาการ  ส่วนตัวไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ และยังไม่เห็นว่ามีการเสนอเรื่องมา แต่ในฐานะคนเรียนกฎหมาย เห็นว่าในทางปฏิบัติแม้แต่หัวหน้าศาลก็สามารถตรวจสำนวนได้อยู่แล้ว เช่น ผู้พิพากษาที่มาใหม่ การเขียนสำนวนต้องมีผู้พิพากษาอาวุโสหรือหัวหน้าศาล หรืออธิบดีผู้พิพากษาช่วยให้คำแนะนำ รวมทั้งทำความเห็นแย้ง ซึ่งเป็นการให้ดุลพินิจ แต่จะไปแทรกแซงไม่ได้ หากเสนอให้แก้ไขกฎหมายส่วนนี้ทั้งหมดอยู่ที่สถาบันศาลพิจารณาว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง สภามีหน้าที่ให้ความสะดวกเท่านั้น
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวเช่นกันว่า ถ้าดูโครงสร้างของกฎหมายไม่สามารถแทรกแซงได้ เพียงแต่มีอำนาจหนึ่งที่ผู้บังคับบัญชาหรืออธิบดีมี คือการให้คำแนะนำผู้พิพากษาในเขตศาลของตัวเอง แต่เมื่อแนะนำแล้วผู้พิพากษาไม่ปฏิบัติตามก็ได้ ซึ่งถ้าแนะนำแรงไปหรือมีการคาดโทษในกรณีที่ผู้พิพากษาไม่ทำตาม อันนี้ถือเป็นการแพรกแซงได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นมันขึ้นอยู่กับบุคลิกของผู้พิพากษาและอธิบดีแต่ละคนด้วยว่ามีวิธีแนะนำอย่างไร อย่าให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้สึกว่าคุณกำลังแทรกแซงอยู่
    “ผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้พิพากษาบางคนก็อ่อนไหว คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่โตมากสำหรับเขา หากถูกผู้บังคับบัญชาแนะนำหรือถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิ แต่บางคนก็อาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ท่านแนะนำเราก็ปฏิบัติตามไป ขึ้นอยู่กับบุคลิกของผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคน โดยในกรณีผู้พิพากษาท่านนี้ที่ตัดสินใจยิงตัวตาย ท่านคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับท่านและก็คิดว่าถูกแทรกแซงแล้ว ท่านก็รับไม่ได้ท่านก็เลยตัดสินใจในการยิงตัวตาย พร้อมมีเอกสารอธิบายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อหวังให้สังคมได้รับรู้” นายนิพิฏฐ์กล่าว
      นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า การแทรกแซงหากเกิดขึ้นจริงวิธีการที่จะแก้ได้ทุกอย่างต้องโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ แต่เป็นเรื่องแก้ได้ยาก เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าในประเทศนี้มีอำนาจ 3  อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่สิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้คืออำนาจตุลาการ โดยเป็นคณะกรรมการแก้วิกฤติตุลาการมาตลอด เคยคิดกันว่าจะมีการสร้างโครงสร้างเสมือนในต่างประเทศว่าต้องให้ทั้ง 3 อำนาจมีการถ่วงดุลกัน แต่เราไม่สามารถใช้วิธีการตรวจสอบตุลาการได้ เพราะเราไม่เชื่อใจนักการเมือง ไม่เชื่อว่าจะตรวจสอบผู้พิพากษาได้ และจะดีกว่าระบบเดิม เพราะต้องยอมรับความจริงว่า นักการเมืองบางส่วนมีสีเทา บางส่วนก็สีดำ และบางส่วนก็สีดำมาก ซึ่งหากใช้นักการเมืองที่มีสีเทา สีดำไปถ่วงดุล หรือไปดูแลกระบวนการตุลาการ จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหามานานร่วม 30 ปีที่มีการคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ แต่สุดท้ายก็ยังหาวิธีไม่ได้
    “เราอย่ามองเรื่องนี้เป็นการเมือง ผู้พิพากษาบางท่าน ท่านอาจชอบพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งเป็นพิเศษ นั่นเป็นสิทธิ์ของท่าน เพราะท่านก็เป็นพลเมืองของประเทศนี้ ท่านอาจชื่นชอบพรรคการเมืองใดก็ได้ ถ้าท่านคิดว่าพรรคการเมืองนั้นสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ตรงกับหน่วยงานของท่านที่มีปัญหาอยู่” นายนิพิฏฐ์กล่าว
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ  องค์การมหาชนและกองทุน กล่าวว่า ได้เสนอวาระในการประชุม กมธ.กิจการศาลฯ ในวันพฤหัสบดีที่  17 ตุลาคม เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หลังจากนายคณากรระบุว่าเคยเสนอต่อนายกฯ ครม.และสภานิติบัญญัติให้เร่งออกกฎหมายที่ห้ามตรวจร่างคำพิพากษาของผู้พิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟังและอีกหลายประเด็น เพื่อนำเสนอยกร่างแก้ไข  พ.ร.บ.ต่อไป และจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอเพื่อพิจารณาเป็นข้อศึกษาในเชิงป้องกันและแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
    “การเชิญผู้มาชี้แจงจะเชิญอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9, ผู้แทนจากสำนักงานกฤษฎีกา, ผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม และผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม เข้ามาชี้แจงในวันที่ 17 ต.ค.ด้วย ส่วนผู้พิพากษาคณากรต้องรอดูอาการก่อน หากท่านพร้อมจะชี้แจง กมธ.ก็ยินดีอย่างยิ่ง” นายจิรายุกล่าว
     นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระบุว่า เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องดำเนินการหาข้อเท็จจริงกันต่อไป เป็นเรื่องขององค์กรที่มีขั้นตอนกระบวนการอยู่แล้ว ทุกฝ่ายควรปล่อยให้เป็นเรื่องผู้มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ และที่สำคัญพรรคการเมืองและนักการเมืองอย่าหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาเป็นประเด็นทางการเมือง โดยมีเจตนาให้เกิดความเสียหายและทำลายความน่าเชื่อถือของอำนาจตุลาการ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับความจริงว่าองค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่เป็นหลักให้กับบ้านเมืองมาโดยตลอด มีระบบอย่างชัดเจน หากมีสิ่งใดที่ต้องดำเนินการปรับปรุงหรือว่าแก้ไข ก็ให้เกิดขึ้นโดยจิตบริสุทธิ์ที่มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศ ก็ไม่ควรตั้งต้นพูดโดยจิตที่คิดร้าย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการคิดโดยมีอคติ การแก้ไขปัญหาก็จะไม่ตรงจุด 
“ในฐานะนักกฎหมาย ยังเชื่อว่ากระบวนการของความเห็นต่างของผู้พิพากษาที่นำไปสู่การทำความเห็นแย้งนั้น คู่ความทุกฝ่ายสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการของคดีได้ การเห็นแย้งภายในองค์กรไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากบุคคลภายนอกซึ่งมีรายละเอียดพอสมควร ฉะนั้น พรรคการเมืองและนักการเมืองอย่าใช้ประเด็นนี้มาเป็นประเด็นทางการเมืองเลย” นายราเมศระบุ
    นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทบทวนและสังคายนากระบวนการยุติธรรม ซึ่งคมกระสุนครั้งนี้เป็นการจุดประกายไฟไม่เพียงในสื่อมวลชนไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกก็ให้ความสนใจ ทุกฝ่ายต้องทำความจริงให้ปรากฏ ให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง ควรสังคายนาและปฏิวัติการดำเนินคดีทางการเมืองมีผลกระทบรุนแรงให้ปรากฏผล ไม่ว่าจะเป็นคดีทางการเมือง
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ประชาชนบางกลุ่มตั้งข้อสงสัยว่า หรือจะเป็นความพยายามของพรรคการเมืองบางพรรคที่ช่วงชิงให้ข้อมูลและเชื่อมโยงบริบทต่างๆ เพื่อหวังผลทำลายความน่าเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรม และชี้นำให้เป็นประโยชน์ต่อคดีความของพรรคพวกตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมส่วนใหญ่  ซึ่งประเด็นนี้พรรค พปชร.สนับสนุนให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ก่อนจะด่วนวิพากษ์วิจารณ์จากการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวอันจะสร้างความสับสนในสังคม
    น.ส.ทิพานันกล่าวอีกว่า มีข้อสังเกตว่าการได้มาซึ่งข้อมูลเอกสารคำแถลงการณ์ของผู้พิพากษาท่านนั้น สังคมเกิดความสับสนต่อคำชี้แจงของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่  (อนค.) ถึงแหล่งที่มาว่าได้มาโดยวิธีใด จากผู้พิพากษา จำเลย หรือผู้หวังดี แต่ไม่ว่าจะทางใดขอให้นายปิยบุตรทบทวนว่าพยานหลักฐานดังกล่าวได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นผลไม้พิษของต้นไม้พิษหรือไม่ หากเข้าข่ายว่าเป็นผลไม้พิษ เป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ ไม่สามารถรับฟังได้ ก็ขอให้นายปิยบุตรหยุดหาประโยชน์จากผลไม้พิษนั้นเสีย มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่านายปิยบุตรฝ่าฝืนหลักการที่เชิดชู กลายเป็นบิดาแห่งข้อยกเว้นไปเสียเอง หากผู้พูดเป็นเสียเองแล้ว ต่อไปในการกล่าวหาผู้อื่น  เช่นใช้อำนาจเอื้อประโยชน์พวกพ้อง แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ไม่เป็นกลาง ใช้ประโยชน์จากผลไม้พิษหาข้อยกเว้นให้ตนเอง ก็คงเป็นเพียงการพูดลอยๆ ไม่มีใครเชื่อถืออีกต่อไป
     ด้านนายกนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ยิงตัวไม่ตาย แต่ความเป็นผู้พิพากษา คณากร ตายคาที่!" โดยระบุว่า นายปิยบุตรจะไม่ออกมาชี้แจงบ้างหรือว่า ทำไมผู้พิพากษาคนนี้ต้องส่งข้อมูลความลับให้ นายปิยบุตรมีความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกับนายคณากรและจำเลยอย่างไร 
    ส่วนเพจไอลอว์ระบุว่า ประเด็นการตรวจทานคำพิพากษานั้น ไอลอว์พบว่าระเบียบมีการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการปฏิบัติเป็นปกติในคดีสำคัญโดยเฉพาะคดีการเมือง โดยประเภทคดีที่ศาลต้องรายงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอยู่หลายประเภท เช่น คดีอาญา ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มาตรา 107-135 คดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย และคดีทุกประเภทที่อัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต เป็นต้น
“แม้มีข้อกำหนดให้ผู้พิพากษาต้องส่งร่างคำพิพากษาคดีบางประเภทให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคทำการตรวจทาน แต่ระเบียบดังกล่าวก็น่าจะกำหนดขึ้นเพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเพื่อให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกันเท่านั้น ไม่น่าจะมีเจตนารมณ์ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสกว่ามีดุลพินิจเหนือเจ้าของสำนวนและสั่งให้กลับหรือแก้ไขคำพิพากษาได้” ไอลอว์ระบุ
นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายไสลเกษได้ออกสารประธานศาลฎีกา  เพื่อเปิดรับฟังข้อเสนอแนะทุกภาคส่วนมาประมวลผลเป็นนโยบายประธานศาลฎีกาว่า หลังจากที่สำนักประธานศาลฎีกาได้เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ปรากฏว่าขณะนี้การสำรวจความคิดเห็นเพื่อกำหนดนโยบายประธานศาลฎีกาได้สิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 5 ต.ค. มีผู้ตอบแบบสำรวจความคิดเห็นทั้งสิ้น 567 คน  ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรในศาลยุติธรรม จำนวน 354 คน หรือ 62.4% และประชาชนผู้มาติดต่อราชการศาล 213 คน หรือ 37.6% ซึ่งสำนักประธานศาลฎีกาจะประมวลผลข้อมูลเรียนนายไสลเกษเพื่อประกาศเป็นนโยบาย และนำไปสู่การปฏิบัติแก่ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"