ไฮสปีดเชื่อมสนามบินชะงัก รอเคาะ‘บอร์ดรฟท.’ชุดใหม่


เพิ่มเพื่อน    

  เลื่อนเซ็นไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินไป 25 ต.ค. เหตุบอร์ด รฟท.ลาออกทั้งคณะ เร่งคัดชุดใหม่ชง ครม.ตั้ง 15 ต.ค. พ่วงเคาะรถไฟไทย-จีน 5 หมื่นล้าน "อนุทิน" หนุนแยกสัญญาสายสีส้มตะวันตก อ้างรัฐกู้เองถูกกว่า สั่งคมนาคมสรุปตัวเลขต้นทุน หลังข้อมูล รฟม.กับ ขร.ไม่ตรงกัน ก่อนถก 10 ต.ค.

    เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีเอกสารแนบท้ายสัญญาโครงการดังกล่าว ขัดกับข้อกำหนดเอกสารคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) ว่า ล่าสุดได้เลื่อนวันลงนามในสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) จากเดิมวันที่ 15 ต.ค.2562 เป็นวันที่ 25 ต.ค.นี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้ลาออกทั้งคณะ ทำให้การพิจารณายังไม่สมบูรณ์ จึงต้องรอให้มีการแต่งตั้งบอร์ด รฟท.ชุดใหม่ขึ้นมาก่อน 
    สำหรับการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่นั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตามที่ รฟท.ได้เสนอ และคาดว่าจะส่งรายชื่อดังกล่าวกลับมายังกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแต่งตั้งในวันที่ 15 ต.ค.นี้ จากนั้นบอร์ด รฟท.ชุดใหม่จะพิจารณาในสัปดาห์นั้น ภายหลังที่ได้รับการแต่งตั้งทันที ก่อนที่จะเสนอเข้า ครม.ในวันที่ 22 ต.ค. และลงนามในสัญญาตามวันที่กำหนด หรือวันที่ 25 ต.ค.2562 ทั้งนี้ ได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว และนายกฯ มีบัญชาว่าโครงการนี้ต้องเดินหน้า 
    “เลื่อนลงนามรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินออกไป 10 วัน บอร์ดใหม่ต้องไปทำให้สมบูรณ์ โดยมีเวลาเพิ่มขึ้น จะทำให้ทุกฝ่ายได้เห็นเอกสารอย่างละเอียด เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ และเป็นอนาคตของประเทศ โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องทำหนังสือแจ้งไปยังซีพี ถึงกำหนดการที่เลื่อนนี้” นายศักดิ์สยามระบุ
ชงไฮสปีดไทย-จีน 15 ต.ค.
    นอกจากนี้ เมื่อได้บอร์ด รฟท.ชุดใหม่แล้ว จะต้องเร่งพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) วงเงิน 50,600 ล้านบาท เพื่อเสนอเข้า ครม. ในวันที่ 22 ต.ค. และให้ลงนามได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนที่จะมีการจัดงานประชุมอาเซียนซัมมิตที่ประเทศไทย ซึ่งจะมีผู้นำรัฐบาลจีนเข้าร่วมด้วย
    รมว.คมนาคมยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 1.28 แสนล้านบาทว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ, สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.),  กรมการขนส่งทางราง (ขร.) มาประชุมร่วมกันถึงโครงการดังกล่าว เพื่อสรุปหารูปแบบการดำเนินการว่ารัฐบาลจะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของงานโยธาเองหรือไม่ หรือจะดำเนินการตามรูปแบบเดิมคือเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) 100% 
    โดยในเบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการในแนวทางใด เนื่องจากตัวเลขวงเงินการลงทุนระหว่าง รฟม.กับ ขร. ที่เสนอมานั้นยังไม่ตรงกัน โดยตัวเลขข้อมูลของ รฟม. ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% ขณะที่ ขร.ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5-1.6% ดังนั้น จึงได้ให้โจทย์ว่าจะต้องพิจารณาอัพเดตให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านโครงสร้างพื้นฐาน) เป็นประธานพิจารณาดังกล่าว ในช่วงเช้าวันที่ 10 ต.ค.นี้ ก่อนที่จะรายงานนายอนุทินในช่วงบ่ายวันเดียวกัน และจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจพิจารณาในวันที่ 11 ต.ค. 
    อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าหากรัฐบาลดำเนินการงานโยธาเองนั้น จะไม่ล่าช้า และเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ เนื่องจากได้มีการออกแบบไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่ได้แบ่งออกเป็นหลายสัญญา และแล้วเสร็จเร็วกว่ากำหนด ทั้งยังมีความเสี่ยงน้อยลงด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลงานโยธาได้ภายในปี 2563 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 และเปิดให้บริการได้พร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรีในปี 2569
    “ผมได้รับรายงานมาว่าเบื้องต้นโครงการนี้พิจารณาแยกการก่อสร้างกับเดินรถ แต่หลังจากนั้นก็มาพิจารณารวมกัน เพราะว่าในขณะนั้นมีข้อจำกัดเรื่องกรอบวงเงินไม่มี เพดานหนี้เงินกู้ไม่พอ โดยตอนนี้ปี 2563 กรอบวงเงินเราเหลือ 11.5% ของงบประมาณ ซึ่งไม่มีปัญหาแล้ว แต่ต้องไปดูเลขให้ถูกต้องว่าควรเป็นเลขต้นทุนใด ระหว่าง รฟม.กับ ขร. และต้องเป็นปัจจุบัน อย่าไปใช้ตัวเลขที่ไม่อัพเดต ซึ่งต้องบอกว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณา ยังไม่ได้อนุมัติให้ดำเนินการ” นายศักดิ์สยามกล่าว
    ส่วนกรณีมีข่าวเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือไม่นั้น รมว.คมนาคมกล่าวว่า การพิจารณาโครงการนั้นได้เรียงลำดับความสำคัญ เพื่อตอบโจทย์ 3 กลุ่มหลักที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คือลำดับที่ 1 ประชาชนจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด และรับภาระน้อยที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของอัตราค่าโดยสาร, ลำดับที่ 2 รัฐจะต้องมีการลงทุนน้อย และลำดับที่ 3 เอกชนที่มาลงทุนจากรัฐจะต้องได้รับผลตอบแทน และถ้าหากดำเนินการในรูปแบบพีพีพี 100% จะมีต้นทุนแพงกว่ารัฐบาลดำเนินการในส่วนของงานโยธาเอง
    ด้านนายอนุทิน ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ซึ่งได้มีการหารือกันในเรื่องการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 ซึ่งโครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) เมื่อรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้มีรัฐบาลใหม่ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีการพิจารณาและมีแนวคิดใหม่ที่นำเสนอ ซึ่งควรมีการทบทวนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินโครงการและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่จะมาใช้บริการ
หนุนแยกสัญญาสายสีส้ม
    โดยแนวคิดที่มีการเสนอคือการแยกสัญญาในการลงทุนงานก่อสร้างกับสัญญาการเดินรถ น่าจะเป็นวิธีการที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีการเสนอในที่ประชุมวันนี้ยังมีตัวเลขที่ไม่ตรงกัน ทางฝ่ายกระทรวงคมนาคมมองว่าการแยกสัญญาการก่อสร้างและการเดินรถดีกว่า ส่วนกระทรวงการคลังให้ข้อมูลว่าในเรื่องนี้มีการเสนอมาแล้วในบอร์ดพีพีพีให้มีการรวมสัญญากัน ดังนั้นต้องมาดูในเรื่องผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อโครงการที่รัฐจะได้เป็นสำคัญ
    ทั้งนี้ ในการพิจารณาตัวเลขอัตราผลตอบแทนภายในที่หน่วยงานต่างๆ คิดมา ตนได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าวิธีการคำนวณยังไม่ตรงกัน จึงให้หน่วยงานต่างๆ ไปปรับตัวเลขให้ตรงกันให้แล้วเสร็จ โดยจะมีการประชุมพร้อมกันในวันพฤหัสบดีที่ 10 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นการหารือกันในส่วนของหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงคมนาคม ซึ่ง รฟม.ได้มีการนำเสนอตัวเลขต่างๆ ก่อนหน้านี้ โดยมายืนยันตัวเลขนี้และเอาไปเปรียบเทียบกันในทุกสมมติฐานเพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด เพื่อเสนอให้ที่ประชุม ครม.ตัดสินใจแนวทางในการเปิดประมูลโครงการต่อไป
    รองนายกฯ กล่าวว่า โครงการในลักษณะนี้รัฐต้องเสียเงินในการลงทุนงานโยธาอยู่แล้ว แต่จะดูว่าจะให้เกิดการประมูลในลักษณะใด เงินที่รัฐลงไปต้องเกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจให้มากรอบมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยการกู้เงินของภาครัฐมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าภาคเอกชนอยู่แล้ว เช่น โครงการกู้เงินในโครงการสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) รัฐกู้เงินได้โดยต้นทุนต่ำดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 2% หรือไม่เกิน 2% แต่เอกชนต้นทุนการเงินอยู่ที่ 4-5% จึงทำให้มูลค่าการลงทุนรวมของโครงการต่างกันเป็นหลักหมื่นล้านบาท
    “ผมไม่ได้จะรื้อโครงการ แต่ต้องการให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด ส่วนตัวผมมองว่าเราแยกสัญญาดีกว่า เพราะก็ทำกันมาแบบนี้ตลอดก็ไม่มีปัญหาอะไร การแยกสัญญายังเป็นการกระจายความเสี่ยงได้ด้วย ขณะเดียวกันก็มีการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น เนื่องจากคนที่จะมารับจ้างการทำงานอยู่ในวงกว้าง ซึ่งเหมาะกับเศรษฐกิจแบบนี้ ที่ช่วยให้เกิดการขยายงานก่อสร้างออกไป แต่ผมไม่ได้ตัดสินใจคนเดียว ต้องดูข้อมูลและข้อเสนอจากทุกฝ่ายด้วยว่าข้อมูลที่มีการวิเคราะห์ออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งต้องดูผลตอบแทนที่ภาครัฐจะได้เป็นสำคัญ และไม่ใช่เหตุผลที่รัฐต้องมีการควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่ม ขณะที่ รฟม.ก็มีความเชี่ยวชาญในการควบคุมงานก่อสร้างงานในลักษณะนี้ได้อยู่แล้ว การแยกสัญญาจึงไม่มีผลต่อการควบคุมงาน” นายอนุทินระบุ
     ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการญาติพฤษภา 35 และสภาที่ 3 จัดงานเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง บัญญัติกลโกง 10 ประการ อันดับที่ 1 “รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน โครงการอีอีซี กระทรวงคมนาคม” โดยมีนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง กล่าวว่า การที่อ้างว่าเป็นการประมูลนานาชาติ ที่มีบริษัทต่างชาติร่วมประมูลเยอะแยะไปหมด กลับพบว่าส่วนใหญ่ที่มาซื้อซองนั้นเป็นพวกซัพพลายเออร์ รวมทั้งบอกว่ารัฐได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม แต่ทราบหรือไม่ว่า ที่ดินของการรถไฟฯ แถวมักกะสัน ราคาประเมินตารางวาละประมาณ 2 ล้านบาท กำลังประเคนให้ผู้ชนะประมูลจ่ายปีละ 1,000 ล้านบาท จำนวน 50 ปี  ซึ่งเป็นจำนวนเงินในอนาคต แต่เมื่อทอนเป็นมูลค่าปัจจุบัน จะมีราคาตารางวาละ 2-3 แสนบาทเท่านั้น.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"