จ่อถกส่งออก-ท่องเที่ยว ‘ชิมช้อปใช้เฟส2’ทันพ.ย.


เพิ่มเพื่อน    

 "ครม.เศรษฐกิจ" เตรียมถกมาตรการส่งเสริมการส่งออก-ท่องเที่ยววันศุกร์นี้ "คลัง" เลื่อนชง "ชิมช้อปใช้ เฟส 2" เข้าครม. 15 ต.ค. อ้างรายละเอียดเสร็จไม่ทัน แต่ยันใช้ทันเดือน พ.ย.แน่ "พท." ค้านทำเฟส 2 ชี้ก่อปัญหาเยอะ เหน็บรัฐบาลแจกเงินยังไม่เป็น "พิชัย" ขย่ม "บิ๊กตู่" หลงทาง จี้ลาออกหัวหน้าทีม ศก. "ธนกร" โต้อย่าอิจจา โพลเผย ปชช.หนุนปีหน้าทำอีก

    เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ) ในวันที่ 11 ต.ค.ว่า การประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีวาระพิจารณา 2 เรื่อง คือ 1.มาตรการส่งเสริมการส่งออก และ 2.มาตรการเรื่องการท่องเที่ยว ในส่วนที่เหลือจะเป็นการรายงานสภาพสถานการณ์เศรษฐกิจโดยทั่วไปที่จะต้องรายงานให้ที่ประชุมรับทราบ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้บันทึกเทปรายการ "Government Weekly" ที่จะเผยแพร่ในเวลา 15.00 น. วันที่ 11 ต.ค. ทางเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า ซึ่งเป็นเทปที่ 3 ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยครั้งนี้ได้บันทึกเทปที่บริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า 
    นางนฤมลกล่าวว่า เนื้อหารายการสัปดาห์นี้ในช่วงของ PM TALK พล.อ.ประยุทธ์จะตอบคำถามที่มีประชาชนทางบ้านสอบถามมาเกี่ยวกับเฟส 2 โครงการชิมช้อปใช้ รวมถึงความคืบหน้าการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เรื่องการรณรงค์ให้ประชาชนลดปริมาณบริโภคน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดปริมาณการใช้น้ำตาลในผลิตภัณฑ์ และจะพูดถึงมาตรการแก้จน ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกฯ สั่งการมาโดยตลอด ได้ให้วิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อกำหนดเป็นนโยบาย
    ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(รมว.การคลัง) กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 2 ว่า ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารกรุงไทยกำลังเร่งพิจารณารายละเอียดโครงการชิมช้อปใช้ระยะ 2 อยู่ แต่จะเสร็จไม่ทันส่งให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 15 ต.ค.นี้ 
    "คลังยืนยันชิมช้อปใช้จะต้องได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้แน่นอน เพื่อให้เริ่มใช้ได้ต่อเนื่องในเดือน พ.ย.ทันที" รมว.การคลังกล่าว
      นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คลังได้ทยอยตัดสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนชิมช้อปใช้วันแรก ที่ยังไม่ได้ยืนยันตัวตนและเริ่มใช้จ่าย 1,000 บาทแล้ว โดยมีผลตั้งแต่เที่ยงคืน 1 นาทีของวันที่ 11 ต.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากเกินกำหนดใช้จ่ายภายใน 14 วัน ซึ่งหลังจากนี้จะนำสิทธิที่ตัดกลับมาเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ 
    “การตัดสิทธิ์ชิมช้อปใช้จะมีการตัดทุกวันหลังจากนี้ หากใครครบ 14 วันแล้วยังไม่ยอมใช้จ่ายครั้งแรกก็จะถูกตัดสิทธิ์ทันที จึงขอแจ้งเตือนให้ผู้รับสิทธิชิมช้อปใช้ ให้รีบยืนยันตัวตนและใช้เงินครั้งแรกภายใน 14 วัน เพื่อรักษาสิทธิการใช้ไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย.62  ซึ่งปัจจุบันมีคนที่ลงทะเบียนได้รับสิทธิแล้วแต่ยังไม่ยอมยืนยันตัวตนและใช้จ่ายครั้งแรกอยู่ประมาณ 7 แสนคน จากผู้ได้รับสิทธิทั้งหมดเกือบ 10 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะถูกตัดสิทธิ์และยึดเงินคืนก่อน” โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว
    ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า มาตรการชิมช้อปใช้สารพัดปัญหา เฟสหนึ่งยังแก้กันไม่จบ เฟสสองกำลังจะตามมา ทุกฝ่ายก็สะท้อนตรงกันว่ามาตรการลักษณะนี้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แจกเงินยังแจกไม่เป็น จะไปหวังผลในการออกนโยบายอย่างอื่นคงเป็นเรื่องยาก
    นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังหลงทางคิดว่าชิมช้อปใช้จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ และจะเพิ่มจีดีพีได้เกิน 3% ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผิด ชิมช้อปใช้ไม่ต่างอะไรกับเช็คช่วยชาติสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่มีผลต่อเศรษฐกิจเลย ประชาชนอาจจะดีใจเพียงชั่วคราวที่ได้เงินฟรี แต่เป็นเงินจำนวนน้อยมาก การใช้จ่ายเพียงเท่านั้นไม่สามารถทำให้จีดีพีขยายได้ เหมือนกับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ 
    "รัฐบาลยังหลงทางคิดว่าดีจะออกชิมช้อปใช้เฟส 2 อีก ยิ่งเท่ากับหลงทางเข้าไปใหญ่ แทนที่จะใช้เงินเพิ่มความสามารถแข่งขันหรือเพิ่มศักยภาพของประเทศที่อันดับความสามารถแข่งขันลด เพราะอีก 2-3 เดือนให้หลังคนก็จะลืมชิมช้อปใช้ และเริ่มลำบากกันต่อแล้ว เพราะชิมช้อปใช้ไม่ก่อให้เกิดการสร้างงาน ซึ่งปัญหาการว่างงานจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป" นายพิชัยกล่าว
    เขากล่าวว่า ถ้ารัฐบาลยังสับสน ยังไม่มีหลักในการบริหารเศรษฐกิจ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจก็ไม่รู้เรื่อง ปล่อยทำกันไปแบบไร้ทิศทาง เศรษฐกิจไทยจะยิ่งเสื่อมลงเรื่อยๆ และประชาชนจะทนกันไม่ไหวแน่ จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ตั้งหลักให้ดี ถ้ารู้ตัวแล้วว่าบริหารเศรษฐกิจไม่ไหวก็อย่าฝืน และควรเร่งลาออกไป เพื่อให้คนที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารเศรษฐกิจแทน ประชาชนจะได้มีความหวังบ้าง
    อย่างไรก็ดี นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.การคลัง ออกมาตอบโต้นายพิชัยทันทีว่า ขอทำความเข้าใจกับนายพิชัยให้เข้าใจว่ามาตรการชิมช้อปใช้เป็นมาตรการหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่ประเทศได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งมาตรการดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศขับเคลื่อนไปได้ ที่สำคัญประชาชนทั่วประเทศได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว 
    “ไม่เข้าใจว่าทำไมเมื่อรัฐบาลทำโครงการดีๆ ให้ประชาชนฝ่ายค้านจะออกมาคัดค้านตลอด จะมาอิจฉาอะไรรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์และนายอุตตมเดินมาถูกทางแล้ว นายพิชัยจึงออกมาโจมตี คงทำใจไม่ได้ที่เห็นรัฐบาลทำอะไรดีๆ กลัวพี่น้องประชาชนจะมารักรัฐบาลมากเกินไป ในอดีตที่ผ่านมาพรรคของนายพิชัยสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากมาย โดยเฉพาะการทุจริตจำนำข้าว ที่รัฐบาลนี้ต้องตั้งงบประมาณมาชดใช้หนี้ นายพิชัยน่าจะกลับตัวกลับใจได้แล้วสังคมให้อภัยอย่ารับใช้สิ่งที่จะทำลายประเทศต่อไปเลย” นายธนกรกล่าว
    วันเดียวกัน กรุงเทพโพลล์ เปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ความเห็นของประชาชนต่อมาตรการชิมช้อปใช้” จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,184 คน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.5 สามารถลงทะเบียนได้ ขณะที่ร้อยละ 35.5 ไม่สามารถลงทะเบียนได้ โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 14.7 ให้เหตุผลว่าต้องรอคิว รองลงมาร้อยละ 13.0 ให้เหตุผลว่าครบ 1 ล้านคนต่อวันแล้ว และร้อยละ 9.5 ลงแล้วไม่ผ่านเกณฑ์
    ถามว่าจะนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายในเรื่องใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.4 จะนำไปซื้อของใช้ภายในบ้าน รองลงมาร้อยละ 50.8 จะนำไปซื้อของกิน ไปใช้ในร้านอาหาร และร้อยละ 10.3 จะนำไปใช้เป็นค่าโรงแรม ค่าที่พัก เมื่อถามความเห็นต่อมาตรการชิมช้อปใช้ ทำให้ตัวท่านและครอบครัวสามารถไปเที่ยว ไปกิน ไปช้อป ใช้เงินได้คล่องตัวขึ้นมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 65.6 เห็นว่าช่วยให้ใช้เงินได้คล่องตัวขึ้นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 34.4 เห็นว่าค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
    ถามว่า อยากให้ภาครัฐมีการขยายเวลาและเพิ่มจำนวนผู้ลงทะเบียนมาตรการชิมช้อปใช้หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.7 อยากให้เพิ่ม เพราะจะได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ร้อยละ 44.3 ไม่อยากให้เพิ่ม เพราะคิดว่าไม่ช่วยอะไร เปลืองภาษีประชาชน
    ส่วนความเห็นต่อการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว ช่วงปลายปีได้มากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.1 เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นได้ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 46.9 เห็นว่าจะช่วยได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด สุดท้ายเมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่หากภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบนี้อีกในปีหน้า ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.4 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 40.2 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 9.4 ไม่แน่ใจ.
        


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"