วันที่อยู่อาศัยโลก 2562 “บ้านมั่นคง  บ้านโดยชุมชน  ทุกคนร่วมกันสร้าง”  (Collective Housing)


เพิ่มเพื่อน    

(เต๊นท์ที่พักของผู้ไร้ที่ยู่อาศัยในเมืองลอสแอนเจลิส (ภาพลอสแอนเจลิสไทม์) /การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ พอช.)

          ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาสำคัญของคนทั้งโลก  เพราะแม้แต่ประเทศที่เจริญและมั่งคั่งอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังมีปัญหานี้   ในปี 2561 ที่ผ่านมา  กรมการพัฒนาชุมชนและเมืองของสหรัฐฯ (The U.S. Department of Housing and Urban Development) รายงานผลการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านทั่วประเทศ  พบว่า  มีจำนวน  552,830 คน   รัฐที่มีคนไร้บ้านมากที่สุดคือ แคลิฟอร์เนีย  มีจำนวน 129,972 คน  รองลงมาคือ รัฐนิวยอร์ก  จำนวน  91,897 คน  รัฐฟลอริดา  จำนวน 31,030 คน  รัฐวอชิงตัน 22,304 คน ฯลฯ

          ส่วนประเทศไทย  ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  ระบุว่า  ประเทศไทยมีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 21,325,000 ครัวเรือน  สัดส่วนครัวเรือนที่มีบ้านและที่ดินเป็นของตัวเองมีแนวโน้มลดลง  ขณะที่ครัวเรือนเช่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และที่สำคัญก็คือ  “สัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

          โดยในปี 2552 จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมีจำนวน  2,468,160  ครัวเรือน   แต่ในปี 2558  จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็น  3,595,581 ครัวเรือน (ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน  ปี 2552-2558  สำนักงานสถิติแห่งชาติ)

 

แผนแม่บทแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย 20 ปี

          จากปัญหาดังกล่าว  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)’  เสนอต่อรัฐบาล  และได้รับการเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 12 กันยายน 2560  โดยมีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนเข้าถึงสิทธิในที่อยู่อาศัย  มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ  และเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายและครอบคลุมในทุกมิติ  มีวิสัยทัศน์  คือ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว  และมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579”

ทั้งนี้ตามแผนแม่บทดังกล่าว  การเคหะแห่งชาติ  จะดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ในรูปแบบของการขาย  หรือเช่า-ซื้อให้แก่ประชาชนทั่วไป  โดยมีเป้าหมายประมาณ 2 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ  เช่น  โครงการบ้านเอื้ออาทร  บ้านการเคหะฯ

          ขณะที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จะดำเนินการในรูปแบบการสนับสนุนให้ชุมชนที่เดือดร้อนและมีรายได้น้อยรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  ชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านในที่ดินรัฐและเอกชน  ชุมชนเช่าที่ดินเอกชนแต่ไม่มีความมั่นคง  ฯลฯ   มีเป้าหมายประมาณ 1,050,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ

          สมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  หลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ พอช.ก็คือ  “ให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาของตนเอง”  โดยมีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน  เช่น  พอช.  องค์กรปกครองในท้องถิ่น  และภาคีเครือข่ายต่างๆ  เปลี่ยนจากการที่หน่วยงานรัฐทำให้  เป็นชุมชนที่เดือดร้อนซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาดำเนินการเอง 

          “โดยชาวบ้านและชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ  เริ่มตั้งแต่การร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน   ข้อมูลผู้ที่เดือดร้อน  กำหนดทางเลือกในการแก้ไขปัญหา  เช่น หากเป็นชุมชนบุกรุกที่ดินของรัฐก็จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง  หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่  และร่วมกันออกแบบบ้าน  ออกแบบผังชุมชน  ให้ตรงกับความต้องการของชาวชุมชน  โดยมีสถาปนิกชุมชนจาก พอช.  หรือสถาบันการศึกษาเป็นพี่เลี้ยง  และร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนดำเนินการ  จนถึงการบริหารงานก่อสร้างบ้านและชุมชน”  ผอ.พอช. กล่าว

(สมชาติ  ภาระสุวรรณ)

          ส่วนการสนับสนุนของ พอช.นั้น  สมชาติกล่าวว่า  นอกจาก พอช.สนับสนุนด้านความรู้  ส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่มให้แก่ชุมชนที่เดือดร้อนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแล้ว  พอช.ยังสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัยให้แก่ชุมชนโครงการบ้านมั่นคงเมืองเฉลี่ยครัวเรือนละ  62,500 บาท  และบ้านมั่นคงชนบทเฉลี่ยครัวเรือนละ  62,000 บาท  และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินหรือก่อสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ  360,000 บาท  ผ่อนระยะยาว 15-20 ปี  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี

 

บ้านมั่นคง 16 ปี  พอช.สนับสนุนไปแล้ว 1,021 โครงการ  รวม 112,777 ครัวเรือน

            ทั้งนี้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี  จำนวน 1,050,000  ครัวเรือนที่กำลังดำเนินการโดย พอช.ขณะนี้  แยกเป็น    1.แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัดและผู้มีรายได้น้อยในเมือง รวม 77 จังหวัด จำนวน 6,450 ชุมชน รวม 701,702 ครัวเรือน (แยกเป็นบ้านมั่นคงทั่วประเทศ จำนวน 6,450 ชุมชน รวม 690,000 ครัวเรือน,  ชุมชนริมคลอง กรุงเทพฯ 74 ชุมชน รวม 11,004 ครัวเรือน และคนไร้บ้าน 3 แห่ง  คือ ปทุมธานี/ขอนแก่น/เชียงใหม่ รวม 698 ครัวเรือน) 2.แผนพัฒนาผู้มีรายได้น้อยในชนบท  (โครงการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน หรือ ‘บ้านพอเพียงชนบท’) รวม 76 จังหวัด จำนวน 5,362 ตำบล รวม 352,000 ครัวเรือน

            อย่างไรก็ตาม  ก่อนจะดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี   พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในชุมชนที่มีรายได้น้อย  มีความไม่มั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ มาตั้งแต่ปี 2546  โดยเริ่มจากชุมชนนำร่อง 10 ชุมชนทั่วประเทศ  เช่น  ชุมชนบ่อนไก่  เจริญชัยนิมิตใหม่ (กรุงเทพฯ)  แหลมรุ่งเรือง  จ.ระยอง,  บุ่งคุก  จ.อุตรดิตถ์,  เก้าเส้ง  จ.สงขลา  ฯลฯ  โดยมีรูปแบบการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามสภาพของชุมชน  เช่น  ปรับปรุงหรือก่อสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม  โดยการซื้อหรือเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง  จัดหาหรือซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่ไม่ไกลจากชุมชนเดิมเพื่อสร้างบ้าน-สร้างชุมชนใหม่  ฯลฯ

            จากโครงการนำร่องบ้านมั่นคง 10  ชุมชนแรกในปี 2546  จนถึงวันนี้ (พ.ศ.2562) เป็นเวลา 16 ปี  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงไปแล้วทั่วประเทศ  รวม 1,231 โครงการ  จำนวน  112,610 ครัวเรือน  รวมเงินอุดหนุน 6,311 ล้านบาท

(ตัวอย่างโครงการบ้านมั่นคงในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์)

            “นอกจากนี้  การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ พอช. ไม่ใช่เป็นการสร้างเฉพาะ “บ้าน” เท่านั้น  แต่ยังมีกระบวนการ ‘พัฒนาชุมชน’ และ ‘การพัฒนาคุณภาพชีวิต’ ของชาวชุมชนด้วย  เช่น  ที่ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่  กรุงเทพฯ  มีการจัดการขยะโดยชุมชน  นำขยะเปียกมาทำเป็นปุ๋ยหมัก  ขยะรีไซเคิลนำไปขาย  มีการจัดตั้งอาสาสมัครป้องกันยาเสพติด   ส่งเสริมการออมเงิน  โดยให้ทุกครอบครัวออมเงินเข้ากลุ่มทุกเดือน  ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนประมาณ 10 ล้านบาท  ถือเป็น ‘ธนาคาร’ ของชาวบ้าน  เพราะนอกจากจะสร้างวินัยในการออมแล้ว  ยังเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในยามที่เดือดร้อนจำเป็น   ไม่ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ”  ผอ.พอช.ยกตัวอย่างการพัฒนาที่มากกว่าการสร้างบ้าน

รวมพลังคนจน  รณรงค์ วันที่อยู่อาศัยโลก 2562’ 

            วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปี  องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น วันที่อยู่อาศัยโลก(World Habitat  Day)  เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์  ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม  และเพื่อสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต 

            ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม  ในประเทศไทยจะมีการรณรงค์เคลื่อนไหวของภาคประชาชน  เช่น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  นำประชาชนที่เดือดร้อนทั่วประเทศที่ประสบปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยมาชุมนุมหน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ  สำนักงานประเทศไทย  บริเวณถนนราชดำเนินนอก  เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้แทนสหประชาติ  รวมทั้งรัฐบาลไทย

            เช่น  1.ชุมชนที่อยู่ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบทางรถไฟ  จำนวน 260 ชุมชนทั่วประเทศ  ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับโดยให้ชุมชนเช่าอย่างถูกต้อง  ให้ยุติการดำเนินคดีกับชุมชน  และให้ รฟท.จัดหางบประมาณสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  2.ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีนโยบายให้กรมกิจการผู้สูงอายุสนับสนุนการปรับปรุงบ้านที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตผู้สูงอายุสำหรับผู้มีรายได้น้อยในโครงบ้านมั่นคง  ฯลฯ  นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอด้านที่ดิน  เช่น  รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีต่อคนจน  ผู้ที่ไร้ที่ดินทำกิน  และที่อยู่อาศัย  ฯลฯ

(รณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2562 ที่กรุงเทพฯ โดยเครือข่ายสลัมสี่ภาพ)

            นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวรณรงค์ของสมาชิกเครือข่าย ‘สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ’ (สอช.) และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศที่จัดกิจกรรมเดินรณรงค์  การจัดเวทีให้ความรู้  สร้างความเข้าใจ  เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย  รวมทั้งยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ

            อร่ามศรี  จันทร์สุขศรี  ผู้แทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ   กล่าวว่า  การจัดงานรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้  สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ร่วมกับเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จะจัดกิจกรรมรณรงค์ในหัวข้อ   “บ้านมั่นคง บ้านโดยชุมชน  ทุกคนร่วมกันสร้าง” หรือ “Collective Housing”  โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจ  ให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน  ทั้งในเมืองและชนบท โดยจะมีการจัดกิจกรรมในกรุงเทพฯ  และภูมิภาคตลอดเดือนตุลาคมนี้

            เช่น  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กรุงเทพฯ (วันที่ 10 ตุลาคม)  ภาคกลางและตะวันตกที่ จ.เพชรบุรี (วันที่ 22-23 ตุลาคม)  ภาคเหนือที่ จ.เชียงราย  (24-25 ตุลาคม)  ภาคอีสานที่ จ.กาฬสินธุ์และขอนแก่น (25-26 ตุลาคม) ภาคตะวันออกที่ จ.ชลบุรี (28 ตุลาคม) ภาคใต้ที่ จ.กระบี่ (30 ตุลาคม) ฯลฯ  โดยจะมีการนำเสนอรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในประเด็นต่างๆ  เช่น  การจัดตั้งกองทุนที่ดิน  บ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก.  การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนบ้านมั่นคง การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชายฝั่งและการอนุรักษ์ทรัพยกรชายฝั่งทะเล  ฯลฯ

            ทั้งนี้ในวันที่ 10 ตุลาคม นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์  รองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ  ได้เดินทางมาเป็นประธานในการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยนายจุรินทร์ได้กล่าวถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยว่า  รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยอย่างเต็มที่  ทั้งในเรื่องการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย  โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเพิ่มเงินสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคโครงการบ้านมั่นคงจากเดิม 80,000  บาทต่อครัวเรือน  เป็น 89,800 บาทต่อครัวเรือน  และในปีงบประมาณ 2563  จะสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านมั่นคง โครงการบ้านพอเพียงชนบทต่อเนื่อง  รวมทั้งโครงการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรที่เป็นโครงการใหม่

            “นอกจากนี้รัฐบาลจะคลี่คลายปัญหาข้อติดขัดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะเรื่องที่ดินรัฐ  ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาที่ดิน  โดยอนุญาตให้ใช้ที่ดินรัฐแบบสิทธิร่วมหรือที่เรียกว่าโฉนดชุมชน  สำหรับชุมชนหรือสหกรณ์ในการอยู่อาศัยทำกินได้ชั่วลูกชั่วหลาน  ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย  รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ” รองนายกฯ กล่าว

 

“บ้านมั่นคง  บ้านโดยชุมชน  ทุกคนร่วมกันสร้าง” 

 

             

              พรรณทิพย์  เพชรมาก   รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวถึงประเด็นการรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2562  หัวข้อ  “บ้านมั่นคง  บ้านโดยชุมชน  ทุกคนร่วมกันสร้าง”  ว่า  คนจนหรือผู้มีรายได้น้อยเป็นกลุ่มคนที่ขาดแคลนทรัพย์สิน  การเข้าถึงสิทธิโอกาสต่างๆ  น้อยกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม  หากอยู่เดี่ยวๆ  หรือต่างคนต่างอยู่  ยิ่งจะไม่มีพลังต่อรอง  แต่คนกลุ่มนี้มีฐานความเป็นกลุ่มเป็นชุมชนที่มีการพึ่งพาช่วยเหลือกัน  มีจำนวนมากพอที่จะรวมกันสร้างพลังเจรจาต่อรองให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร  และบริการต่างๆ ที่มีในสังคมได้

          โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย  เป็นสิ่งที่มีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของผู้มีรายได้น้อย การเพิ่มขึ้นของรายได้  การออมเงินที่ทำได้ไม่ทันต่อการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินและที่อยู่อาศัย  อาชีพที่มีรายได้น้อย  ไม่แน่นอน ไม่มีหลักฐานเงินเดือนหรือทรัพย์สิน   จึงทำให้ยากที่คนจนจะเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบสถาบันการเงิน

          “ดังนั้นคนจนจึงต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่ม  เป็นชุมชน   รวมกลุ่มออมทรัพย์   เป็นการรวมคน   รวมเงิน  รวมความคิดและรวมพลังในการพัฒนา  สร้างโอกาสและความสามารถในการร่วมกันสร้างบ้าน  และจัดการที่อยู่อาศัยร่วมกัน  เพื่อให้มีบ้านและที่ดินที่มั่นคง  เพื่อเป็นฐานในการสร้างความมั่นคง   พัฒนาคุณภาพชีวิต  และความเป็นอยู่ด้านต่างๆ ต่อไป”  รอง ผอ.พอช.กล่าวถึงความจำเป็นในการรวมพลังคนจน

          ส่วนกระบวนการที่จะนำไปสู่การสร้างบ้าน ‘โดยชุมชน  ทุกคนร่วมกันสร้าง’ นั้น  รอง ผอ.พอช.อธิบายว่า จะต้องเริ่มจาก 1.ระบบความคิด  โดยคนจนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความเชื่อมั่นว่า “คนในชุมชนที่เดือดร้อนที่อยู่อาศัยเป็นคนที่มีศักยภาพ  ถ้ามีโอกาสก็สามารถลุกขึ้นมารวมตัวกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของตนเองได้”   เพราะคนจนสามารถออมเงินและสร้างวินัยการเงินได้   ถ้าจัดระบบให้เอื้อและมีระบบการเงินที่ยืดหยุ่นจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยได้  โดยมีหน่วยงานและภาคีต่างๆ ร่วมให้การสนับสนุน

2.ระบบคน   การรวมตัวเป็นกลุ่มออมทรัพย์ถือเป็นงานพื้นฐานสำคัญของการสร้างบ้านโดยชุมชน  กลุ่มออมทรัพย์ไม่ใช่แค่การออมเงินอย่างเดียว  แต่เป็นการพัฒนาคน  จัดระบบการทำงานร่วมกัน  พัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการ  เกิดเป็นกลุ่มคนที่มีพลัง  มีระบบกลุ่มย่อย  กลุ่มกิจกรรมที่หลากหลาย  ทำให้คนเล็กคนน้อย  ผู้หญิง  เด็กและเยาวชน            มีโอกาสพัฒนาตนเอง  เป็นผู้นำด้านต่างๆ ตามความถนัด  

3.ระบบการเงิน  การออมเงินโดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อการมีบ้านและที่ดินที่มั่นคง  มีระบบการออมหลายรูปแบบเช่น  รายวัน  รายสัปดาห์  รายเดือน  ฝึกวินัยการออมต่อเดือนให้เท่ากับจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระค่าบ้านและที่ดินรายเดือน  เมื่อออมเงินในกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนไปช่วงหนึ่งแล้วก็จะต้องจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล  สามารถเสนอโครงการขอใช้สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินหรือปลูกสร้างบ้านตามโครงการบ้านมั่นคงจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้

4.การออกแบบวางผัง   การออกแบบวางผังที่อยู่อาศัยโดยชุมชนมีส่วนร่วม  โดยมีสถาปนิกชุมชนเป็นพี่เลี้ยง  เพื่อให้ได้แบบบ้านและผังชุมชนตรงกับความต้องการของชาวบ้าน   สอดคล้องกับวิถีชีวิตและรายได้ของครัวเรือน  มีบ้านกลางสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่ไม่มีรายได้  มีความเอื้อเฟื้อเอื้ออาทร   เน้นการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน  เป็นเจ้าของร่วมกัน

          “นอกจากนี้ยังจะต้องคำนึงถึงเรื่อง ‘ระบบที่ดินร่วม’  เพราะในอนาคตที่ดินและที่อยู่อาศัยจะมีราคาสูงขึ้น  จึงต้องมีระบบป้องกันการเปลี่ยนสิทธิหรือซื้อขายเปลี่ยนมือ  เพราะหากเป็นกรรมสิทธิ์รายเดี่ยวก็มีความเสี่ยงที่คนจนจะสูญเสียที่ดินและบ้าน  ดังนั้นจึงต้องจัดระบบที่ดินร่วมให้เป็นกรรมสิทธิร่วมของสหกรณ์ฯ หรือของชุมชน  และเมื่อสร้างหรือปรับปรุงบ้านเสร็จแล้วก็จะนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ  เช่น  การจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน  การพัฒนาเด็กและเยาวชน  ผู้สูงอายุ  ส่งเสริมอาชีพและรายได้  ปลูกผักสวนครัวลดรายจ่าย  สร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชน  มีสวนหย่อม ลานเด็กเล่น เป็นที่พักผ่อนและออกกำลังกายเพื่อทุกคนในชุมชน  จึงเป็น ‘บ้านมั่นคง  โดยชุมชนชน  ทุกคนร่วมกันสร้าง’  อย่างแท้จริง”  รอง ผอ.พอช.กล่าว

 

 ‘บ้านมั่นคงเมืองชุมแพ  ต้นแบบพัฒนาทั้งเมืองและทุกมิติ’

 

(บ้านมั่นคงเมืองชุมแพดูเป็นระเบียบ สวยงาม ต่างจากสภาพชุมชนแออัดในอดีต)

          ย้อนอดีตเมื่อประมาณ 20-30  ปีที่แล้ว  เมืองชุมแพ  อ.ชุมแพ  จ.ขอนแก่น  มีชุมชนแออัดเกิดขึ้นกว่า 20 แห่ง  ส่วนใหญ่เป็นชุมชนบุกรุกปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินราชพัสดุและที่ดินเอกชน  เนื่องจากชุมแพเป็นเมืองใหญ่  เป็นปากประตูของภาคอีสานที่เชื่อมต่อกับภาคเหนือตอนล่าง  มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง  จึงทำให้มีประชาชนจากพื้นที่ใกล้เคียงอพยพโยกย้ายครัวเรือนเข้ามาทำมาหากินในเมืองชุมแพอย่างต่อเนื่อง 

          คนที่มีทุนรอนก็จะหาเช่าบ้านหรือที่ดินปลูกสร้างบ้าน  คนที่มีเงินน้อยเป็นแรงงานรับจ้างหรือค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ก็จะบุกรุกที่ดินหลวงและเอกชนที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์ปลูกสร้างที่พักจนขยายกลายเป็นชุมชนแออัดขึ้นมา  ขาดแคลนน้ำประปา  ไฟฟ้าจากหน่วยงานรัฐ  เพราะเป็นชุมชนบุกรุก  ต้องพ่วงไฟฟ้าและน้ำประปาจากภายนอกเข้ามาใช้ในราคาแพง  ถนนหนทางเดินเป็นหลุมบ่อ  เฉอะแฉะ  น้ำท่วมขัง  บ้านเรือนผุพังทรุดโทรม  ไม่มีใครอยากจะซ่อมแซม  เพราะซ่อมไปแล้วไม่รู้ว่าจะถูกเจ้าของที่ดินขับไล่ในวันไหน  จึงอยู่กันแบบตามมีตามเกิด  มีสารพันปัญหา  รวมทั้งปัญหาหนี้นอกระบบต้องหาเงินมาจ่ายเป็นรายวัน  

          ป้าสนอง  รวยสูงเนิน  ประธานเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ  เล่าว่า  ตอนนั้นคนจนในเมืองชุมแพต่างคนต่างอยู่  ลำบากลำบนกันทั่วหน้า  แกเองก็เคยปลูกสร้างบ้านในที่ดินบุกรุก  เมื่อถูกเทศบาลขับไล่จึงต้องมาเช่าบ้านแคบๆ  ไม่มีหน้าต่าง  อยู่กับครอบครัว  มีอาชีพค้าขายเล็กๆ น้อยๆ  ไม่มีปัญญาจะขยับขยายหาที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง   จนถึงปี 2547 รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายลงทะเบียนคนจนทั่วประเทศ  เทศบาลเมืองชุมแพจึงประกาศให้คนยากคนจนไปลงทะเบียนว่าใครเดือดร้อนเรื่องอะไรบ้าง  จะได้ช่วยแก้ไขปัญหา  ป้าสนองและเพื่อนบ้านคนอื่นๆ จึงไปลงทะเบียน  ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่อยู่อาศัยนั่นแหละ  เพราะมีคนลงทะเบียนเรื่องบ้านกว่า 1,000 คน

          ขณะเดียวกันในช่วงนั้น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’  เริ่มดำเนินโครงการบ้านมั่นคงนำร่อง 10 โครงการทั่วประเทศ (เริ่มในปี 2546)   เทศบาลเมืองชุมแพจึงร่วมกับ พอช.จัดทำโครงการบ้านมั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในเขตเทศบาลเมืองชุมแพ  โดยมีป้าสนองเป็นแกนนำ  รวบรวมเพื่อนบ้าน 30 ครอบครัวลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา  โดยมีเจ้าหน้าที่ พอช.เข้ามาให้คำแนะนำ  เริ่มจากการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา   ออมเงินกันเป็นรายวันคนละ 40 บาท   เพื่อเป็นทุนรอนในการสร้างบ้าน  และเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการ ‘บ้านมั่นคง’

          หลักการสำคัญของบ้านมั่นคงของ พอช.ก็คือ  ให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา เช่น มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นตัวแทนของชาวบ้าน จัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจโครงการ   ร่วมกันสำรวจข้อมูลและปัญหาความเดือดร้อน   จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน  ร่วมกันสำรวจที่ดินแปลงใหม่ที่เหมาะสมเพื่อขอเช่าหรือซื้อ  หรือเช่า-ซื้อที่ดินแปลงเดิมเพื่อปลูกสร้างบ้านใหม่  ออกแบบบ้านและผังชุมชนร่วมกัน   ขออนุญาตการก่อสร้าง  เสนอขอใช้สินเชื่อจาก พอช.  วางแผนการพัฒนาชุมชนหลังก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ  ฯลฯ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นจะให้การสนับสนุน  เช่น  อบต.  เทศบาลราชพัสดุ  พมจ.  และ พอช. ฯลฯ

          ป้าสนองเล่าต่อไปว่า  เมื่อรวบรวมคนและจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ได้แล้ว ชาวบ้านจึงไปเจรจากับเทศบาลเมืองชุมแพเพื่อขอเช่าที่ดิน  ซึ่งทางเทศบาลได้ให้การสนับสนุนชาวบ้านเต็มที่  โดยการแบ่งพื้นที่โรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุให้ชาวบ้านเช่าจำนวน 3 ไร่เศษ  ระยะเวลา 30 ปี ในอัตราตารางวาละ 50 สตางค์ต่อเดือน รวมทั้งยังส่งสถาปนิกมาออกแบบบ้านให้ตรงกับความต้องการของชาวบ้านด้วย

          พอถึงปี 2548 หลังจากที่ชาวบ้านสะสมเงินออมได้จำนวน 10 % ของวงเงินที่จะก่อสร้างบ้านแล้ว จึงเสนอโครงการขอใช้สินเชื่อก่อสร้างบ้านจาก พอช. เป็นบ้าน 2 ชั้น  ขนาด 20 ตารางวา  ราคาวัสดุและค่าก่อสร้างประมาณหลังละ 150,000 บาท ผ่อนชำระคืน 15 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี หลังจากนั้นจึงเริ่มก่อสร้างบ้านเฟสแรก 30 หลัง โดยเทศบาลเมืองชุมแพสนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภค  ในปีถัดมาบ้านหลังแรกในฝันของป้าสนองและเพื่อนบ้านก็เป็นความจริง

          เมื่อบ้านมั่นคงโครงการแรกในเขตเทศบาลเมืองชุมแพสำเร็จเห็นผล  ชาวบ้านในชุมชนอื่นๆ ที่ไม่เชื่อมั่นว่าจะมีหน่วยงานไหนมาช่วยเหลือชาวบ้านจริง  บ้างก็บอกว่าน่าจะถูกหลอก  บ้างก็ว่ามีจริงแต่ต้องไปสร้างบ้านอยู่หลังเขา  จึงเชื่อว่าคนจนๆ  ไม่มีเงินเดือน  สามารถมีบ้านเป็นของตนเองได้  จึงได้รวมกลุ่มกันตามคำแนะนำจากป้าสนองเพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมา 

          ปัจจุบันชุมชนบ้านมั่นคงในเขตเทศบาลเมืองชุมแพสร้างบ้านเสร็จไปแล้วจำนวน 13 ชุมชน  รวม 1,000 ครัวเรือน โดยชุมชนต่างๆ  รวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ’  และร่วมกับเทศบาลเมืองชุมแพพัฒนาเมืองร่วมกัน  มีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  กลุ่มออมทรัพย์  สหกรณ์เคหสถาน  สหกรณ์บริการ  กองทุนสวัสดิการชุมชน  มีกิจกรรมเด็กและเยาวชน  ส่งเสริมเรื่องดนตรี  ศิลปะ  การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม  ป้องกันยาเสพติด  กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ  ส่งเสริมผู้สูงอายุ  ออกกำลังกาย  รำวงย้อนยุค  การส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้ ฯลฯ

          นอกจากนี้ยังมีกองทุนที่สำคัญ เช่น  'กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ'  เริ่มในปี 2550  โดยให้ชาวบ้านเข้าร่วมเป็นสมาชิกและสมทบเงินเข้ากองทุนทุกเดือน  แล้วนำเงินกองทุนให้สมาชิกกู้ยืมหมุนเวียนเพื่อประกอบอาชีพ  ปลดหนี้นอกระบบ  ซ่อมแซมบ้าน  เพื่อการศึกษา ฯลฯ  วงเงินไม่เกิน 5 เท่าของหุ้นสะสมที่สมาชิกมีอยู่  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 บาทต่อปี  และนำดอกเบี้ยกลับมาพัฒนาชุมชน   ปัจจุบันกองทุนมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 12 ล้านบาทเศษ  โดยเทศบาลเมืองชุมแพได้สนับสนุนเงินเข้ากองทุนจำนวน 2 ล้านบาท  และมูลนิธิศูนย์ศึกษาและพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชียสมทบ 1 ล้านบาท

          มีธุรกิจชุมชน  เช่น  นารวมแบบเกษตรอินทรีย์ เนื้อที่ 38 ไร่  ในปี 2553  ชาวบ้านรวมตัวกันซื้อที่ดินของธนาคารออมสิน  โดย พอช.ได้สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 2.6 ล้านบาท  มีสมาชิกจากเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพร่วมลงหุ้นๆ  ละ 150 บาท   เพื่อเป็นทุนในการทำนา  ขุดบ่อเลี้ยงปลา  และปลูกผักสวนครัว  มีการบริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการนา  โดยสมาชิกจะช่วยกันทำนา  ปลูกผักสวนครัว มะละกอ พริก มะม่วง กล้วย ฯลฯ  เลี้ยงปลาต่างๆ เอาไว้กินและขาย สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่สมาชิก 

          ปัจจุบันนารวมแห่งนี้สามารถปลูกข้าวเจ้าและข้าวเหนียวได้ประมาณปีละ 30 เกวียน  ขายเป็นรายได้เข้ากองทุนปีละกว่า 200,000 บาท อีกทั้งที่นายังมีราคาสูงกว่าเดิมหลายเท่า  จากราคาที่ซื้อมา 2.6 ล้านบาท  แต่วันนี้ราคาประเมินประมาณ 38 ล้านบาท

          โรงงานผลิตน้ำดื่มชุมชน   เริ่มผลิตในปี 2559  โดยการระดมหุ้นจากชุมชนต่างๆ ได้เงินประมาณ 800,000 บาท    มีกำลังการผลิตประมาณวันละ 200 โหล (ผลิตทั้งชนิดขวดและถัง) ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นหน่วยราชการ เทศบาล สำนักงานเอกชน  เครือข่ายชาวบ้าน และสมาชิกในชุมชนได้บริโภคน้ำดื่มที่สะอาด  ทำรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท   นอกจากนี้ยังสร้างงานให้ชาวบ้านที่มาทำงานผลิตน้ำดื่มได้อย่างน้อยวันละ 3 คน  คนละ 200-300 บาทต่อวัน 

          นี่คือตัวอย่างของการพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพที่เริ่มจากการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  จากชุมชนเดียวขยายไปสู่การแก้ไขทั้งเมือง  จนกลายเป็น ‘เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ’  และยังร่วมมือกันพัฒนาชุมชนและเมืองในด้านต่างๆ  ทุกมิติ  ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต  สิ่งแวดล้อม  การพัฒนาเด็กและเยาวชน  ผู้สูงอายุ  สร้างความมั่นคงด้านอาหาร-น้ำดื่ม  รวมทั้งยังมีกองทุนต่างๆ เอาไว้ช่วยเหลือดูแลกัน  ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่สร้างบ้านแต่ได้มากกว่าบ้าน !!                                                                                  

 

‘กองทุนรักษาดินรักษาบ้าน’ หลักประกันของคนจน สมทบเงินปีละ 240 บาทคุ้มครองรอบด้าน-ช่วยผ่อนบ้าน

          เป็นเรื่องไม่แปลกหากมนุษย์เงินเดือน  ข้าราชการ  หรือผู้คนทั่วไปที่มีฐานะ  จะซื้อกรมธรรม์หรือประกันภัยต่างๆ เพื่อคุ้มครองสุขภาพ อุบัติเหตุ  บ้านเรือน  รถยนต์  และทรัพย์สินต่างๆ  ของตนเอง  โดยมีบริษัทเอกชนมากมายที่ให้บริการด้านนี้ 

          แต่การที่คนจน  คนเล็กคนน้อย  ได้รวมตัวกันจัดตั้งกองทุนระดับประเทศขึ้นมา  เพื่อช่วยเหลือกันในยามที่เดือดร้อน  ประสบอุบัติ  ประสบภัยต่างๆ  และร่วมกันบริหารจัดการเอง  ถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยที่น่าสนใจยิ่งนัก !!

          ‘กองทุนรักษาดินรักษาบ้าน’   เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2553  เป็นกองทุนที่ส่งเสริมให้เกิดกองทุนระดับชุมชน  ระดับเมือง  และระดับชาติ  เพื่อช่วยเหลือสมาชิกโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ  รวมทั้งสมาชิกชุมชนใกล้เคียง  เพื่อลดภาระการชำระค่าบ้าน  ค่าที่ดิน ฯลฯ  โดยสมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนในชุมชนปีละ  20  บาท  สมทบเข้ากองทุนระดับเมืองปีละ  140  บาท  สมทบเข้ากองทุนระดับภาคปีละ 20  บาท  และสมทบกองทุนระดับชาติปีละ 60  บาท  รวมสมทบเข้ากองทุนรักษาดินรักษาบ้านปีละ 240 บาท  โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มาจากชุมชน  เครือข่าย  และทุกภาคส่วนร่วมบริหารกองทุน

          เมื่อสมาชิกเจ็บป่วย  ประสบอุบัติเหตุ  ภัยพิบัติ  ทุพพลภาพ  หรือเสียชีวิต กองทุนรักษาดินรักษาบ้านจะช่วยเหลือสมาชิกกองทุน  เช่น   ในระดับชุมชน  จะช่วยเหลือกรณีเร่งด่วน  หรือตามข้อตกลงของแต่ละชุมชน  

          ระดับเมือง  จะช่วยเหลือ  กรณีเสียชีวิต  หรือทุพพลภาพถาวร (ไม่สามารถประกอบอาชีพได้) หากไม่มีหนี้ที่ดินและบ้าน  กองทุนจะช่วยเหลือรายละ 10,000 บาท  หากมีหนี้ที่ดินและบ้านกับ พอช. (สินเชื่อที่ดินและบ้าน) กองทุนจะช่วยชำระหนี้ให้ครึ่งหนึ่งของหนี้ (เงินต้น) คงเหลือ  กรณีเจ็บป่วย  ทุพพลภาพชั่วคราว  หากมีหนี้ที่ดินและบ้านกับ พอช. กองทุนจะช่วยชำระค่างวดให้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน  ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง (สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน) กรณีภัยพิบัติ  ไฟไหม้  น้ำท่วม  ฯลฯ ช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 10,000 บาท

          ระดับชาติ  จะช่วยเหลือ 1.จ่ายเงินสมทบ 50 %  จากที่กองทุนเมืองจ่ายตามเกณฑ์กลางที่กำหนด  2.จ่ายเงินสมทบไปที่กองทุนระดับเมือง (ส่วนต่างที่กองทุนเมืองจ่ายไปและเกินจากวงเงินที่มี)

          ปัจจุบันกองทุนรักษาดินรักษาบ้านมีสมาชิกกองทุนทั่วประเทศ  40,247 ราย  มีเงินสมทบจากสมาชิกรวม 9.86  ล้านบาท  เงินทุนประเดิมจาก พอช. 17.6 ล้านบาท  จ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือสมาชิกทั่วประเทศไปแล้ว 14.36 ล้านบาท  ถือเป็นหลักประกันที่ช่วยแบ่งเบาภาระและสร้างความอุ่นใจให้แก่สมาชิก !!

 

แผนพัฒนาภาคประชาชนพื้นที่ ‘อ่าว ก.ไก่ เคลื่อนยุทธศาสตร์ 6 ด้าน สร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย-ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง

 

(เรือประมงพื้นบ้านที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ / เครือข่ายภาคประชาชนเสนอแผนพัฒนาอ่าว ก ไก่ ให้แก่ผู้ว่าฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์)

          ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า  ประเทศไทยมี 23 จังหวัดที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล  ความยาวชายฝั่งตั้งแต่ภาคตะวันออก อ่าวไทยตอนบน  ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย  และชายฝั่งทะเลอันดามัน  มีความยาวทั้งหมดประมาณ 3,148 กิโลเมตร  มีชุมชนชายฝั่งที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนหรือติดกับป่าชายเลน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องพึ่งพิงป่าชายเลนประมาณ 958 หมู่บ้าน 

          ชุมชนชายฝั่งเหล่านี้ต้องประสบปัญหาด้านต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลน  เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม  ผลผลิตทางการประมงลดลง  ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน  นอกจากนี้ยังมีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยเพราะส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินป่าชายเลนที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดูแลอยู่  และบางส่วนอยู่ในที่ดินที่กรมเจ้าท่าดูแล

          จากปัญหาดังกล่าว  ขบวนองค์กรชุมชน 4 จังหวัดในพื้นที่ภูมินิเวศน์ อ่าว ก ไก่ (อ่าวไทยตอนบนที่มีลักษณะ 4 เหลี่ยมคล้ายพยัญชนะ ก ไก่) คือ  ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี  สมุทรสงคราม  และสมุทรสาคร  จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาภาคประชาชนระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2562-2565) เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินที่ไม่มั่นคง  

          พงษ์ศักดิ์ คำทรัพย์  คณะทำงานพัฒนาที่อยู่อาศัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  กล่าวถึงแผนพัฒนาภาคประชาชนในพื้นที่อ่าว ก ไก่ ว่า  เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ภูมินิเวศน์อ่าว ก ไก่  ส่วนใหญ่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน  มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย   เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน   ได้รับผลกระทบจากการทำประมงพาณิชย์  การจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเล  อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  และผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน  ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทะเลและชายฝั่งถูกทำลาย  ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในอ่าว ก.ไก่ ที่เคยเป็นแหล่งอาหารสำคัญของประเทศลดน้อยลง   เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้าน  รวมทั้งเกิดผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

           “ดังนั้นพวกเราในนามของผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนทั้ง 4 จังหวัด  จึงได้รวบรวมข้อมูลและปัญหาต่างๆ  นำมาจัดทำเป็นแผนพัฒนาภาคประชาชน  เพื่อเป็นทิศทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา  โดยมียุทธศาสตร์ 6 ด้าน  คือ 1.การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวประมงพื้นบ้าน  2.การฟื้นฟู  อนุรักษ์  การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม 

3.ยกระดับการแปรรูปสินค้าและการตลาดของชาวประมงพื้นบ้าน  4.ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนประมงพื้นบ้าน  5.ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน  และ 6.การปรับตัวเพื่อบรรเทาปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านจากภาวะโลกร้อน  โดยมีเป้าหมายคือการจัดการพื้นที่ชายฝั่งอ่าวทะเล ก ไก่ อย่างยั่งยืน  เพื่อชาวประมงพื้นบ้านจะได้มีที่อยู่อาศัยและทำกินมั่นคง และหลุดพ้นจากปัญหาความยากจน”  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนกล่าว

          ทั้งนี้ผู้แทนเครือข่ายอ่าว ก ไก่  4 จังหวัดได้ยื่นเสนอแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้แก่นายพัลลภ  สิงหเสนี  ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดแรกเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา  หลังจากนั้นจะดำเนินการในจังหวัดอื่นๆ ต่อไปเพื่อขับเคลื่อนแผนงานตามยุทธศาสตร์

          ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนฯ ยกตัวอย่างการฟื้นฟู  อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วมตามยุทธศาสตร์ที่ 2 ว่า  จะมีการจัดตั้งคณะทำงานและสร้างภาคีเครือข่ายขึ้นมา  เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรต่างๆ  เช่น  การจัดการขยะและน้ำเสียไม่ให้ไหลทิ้งลงทะเล  โดยร่วมมือกับโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ เช่น  จัดตั้งธนาคารปู  ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ  และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอ่าว ก ไก่  ฯลฯ

(การขยายพันธุ์ปูม้าที่ชุมชนบ้านปากคลอง อ.บางสะพาน)

ใช้ที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือพัฒนาทุกมิติ

          ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลน 4 จังหวัด ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของแผนดังกล่าว  มีเป้าหมาย  คือ จังหวัดสมุทรสาคร  รวม 616 ครัวเรือน  จังหวัดสมุทรสงคราม  รวม  76 ครัวเรือน   จังหวัดเพชรบุรี  รวม  89  ครัวเรือน   และประจวบคีรีขันธ์  รวม 502 ครัวเรือน  รวมทั้งหมด  1,283 ครัวเรือน  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 

          โดยในกรณีที่ดินป่าชายเลน  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ผ่อนผันให้ชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในป่าชายเลนก่อนปี 2557  อยู่อาศัยได้  แต่ไม่อนุญาตที่ดินทำกิน   (ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปี 2557) โดยมีคณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) มีผู้แทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องที่และท้องถิ่น  ผู้นำชุมชน  ฯลฯ  ร่วมเป็นคณะทำงาน  มีหน้าที่สำรวจข้อมูล  แปลงที่ดิน  จำนวนครัวเรือน  ตรวจสอบ  การบริหารจัดการ  และเสนออนุมัติ  โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนามการอนุญาตให้ใช้ที่ดินป่าชายเลนเพื่อการอยู่อาศัย

          นายปฏิภาณ  จุมผา  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคกลางและตะวันตก  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ ‘พอช.’กล่าวว่า  การแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในป่าชายเลนตามแผนพัฒนาภาคประชาชน 4 จังหวัดนั้น   พอช.ให้การสนับสนุนชุมชนต่างๆ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท  ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการสำรวจข้อมูล  แปลงที่ดิน  จำนวนครัวเรือนที่เดือดร้อน  และตรวจสอบสิทธิ์ผู้ที่เดือดร้อน  ก่อนเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง

          ขณะที่บางชุมชนอยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการ  เช่น  ชุมชนบ้านปากคลอง  และชุมชนหนองเสม็ดซิตี้  อ.บางสะพานน้อย  จ.ประจวบคีรีขันธ์  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท  เนื่องจากบ้านเรือนส่วนใหญ่ปลูกสร้างมานาน  มีสภาพทรุดโทรมเพราะถูกน้ำทะเลกัดเซาะ  เพื่อให้บ้านเรือนมีความมั่นคง  แข็งแรง  ผู้อยู่อาศัยมีความปลอดภัย  และนำไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ต่อไป

          นายปฏิภาณยกตัวอย่างการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ชุมชนบ้านปากคลอง  ต.แม่รำพึง  อ.บางสะพานน้อย  ซึ่งมี 4 หมู่บ้าน  รวม  247 ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในที่ดินป่าชายเลนตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทของ พอช.  โดย พอช.สนับสนุนการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเรือนที่ทรุดโทรมจำนวน 11.9 ล้านบาทเศษ  ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560  ขณะนี้ซ่อมแซมบ้านไปแล้วประมาณ 70 %  จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด

          ขณะเดียวกันชุมชนได้ร่วมกันเพาะพันธุ์และขยายสัตว์น้ำ  เช่น  จัดทำธนาคารปูเพื่อขยายพันธุ์ปูทะเลมาตั้งแต่ปี 2551 สามารถนำแม่พันธุ์ปูมาเพาะพันธุ์ได้ประมาณปีละ 1,500-1,700 ตัว  นอกจากนี้ยังทำ ซั้ง ในทะเลเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน  ทำให้มีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น  ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปูได้มากขึ้น  จากเดิมวันละ 3-4 กิโลกรัม  เพิ่มเป็น 7-8     กิโลกรัมต่อวัน

          “แนวทางการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อการอยู่ร่วมกันของ  ‘คน  ป่า และทะเล’ นั้น  พอช.ใช้เรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนา  เพราะนอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยและที่ดินที่มั่นคงแล้ว  ยังจะนำไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ  เช่น  การสร้างเครือข่ายประมงพื้นบ้านขึ้นมา  เพื่อร่วมกันฟื้นฟู  ดูแล  อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  พัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้าน  ต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวชุมชน  เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจชุมชน  โดยความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นต่างๆ  รวมทั้งการบูรณาการแผนงานและงบประมาณเข้าด้วยกัน  นอกจากนี้จะนำไปสู่การผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายด้วย  โดยใช้พื้นที่อ่าว ก ไก่  เป็นต้นแบบ  ขยายผลไปสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศต่อไป”  นายปฏิภาณกล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"