24ต.ค.พระราชพิธีประวัติศาสตร์


เพิ่มเพื่อน    


    รัฐบาลพร้อมจัดขบวนพยุหยาตราชลมารค 24 ต.ค.  เปิดพื้นที่เฝ้าฯ รับเสด็จ 2 เส้นทาง รองรับพสกนิกร 4 หมื่นคน การรถไฟจัดขบวนรถฟรีรับคนต่างจังหวัด "วิษณุ" เผย 94 ปี ไทยว่างเว้นพระราชพิธีประวัติศาสตร์ ซ้อมใหญ่เสมือนจริง 17 และ 21 ต.ค.นี้ พร้อมประดับไฟสะพานพระราม 8 ถนนราชดำเนิน
    เมื่อวันศุกร์ ที่หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ กรุงเทพฯ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แถลงข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค วันที่ 24 ตุลาคม 2562 มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์, นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกรุงเทพมหานคร, พล.ร.อ.จงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ และ พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการยุทธศาสตร์ตำรวจ ร่วมแถลงข่าว 
    นายวิษณุกล่าวว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร หมายถึงการชมเมือง และเป็นโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมี ซึ่งการจัดด้วยวัตถุประสงค์เช่นนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2468 สมัยรัชกาลที่ 7 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งนั้นมีการเสด็จเลียบพระนครทางสถลมารคและทางชลมารคเป็นครั้งสุดท้าย โดยสมัยรัชกาลที่ 8 ไม่มีการจัดพิธีบรมราชาภิเษก ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 9 มีเหตุหลายประการไม่พร้อมในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กระทั่งเสด็จนิวัตพระนครและประทับเป็นการถาวร ได้มีการฟื้นฟูพิธีถวายผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งครั้งนั้นเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารค แต่ไม่ใช่การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร จึงถือว่าว่างเว้น 94 ปี และจะมีพระราชพิธีเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 24 ต.ค.นี้ ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์
    ส่วนนายจุรินทร์กล่าวว่า ประชาชนทั่วทั้งประเทศจะมีส่วนร่วมในพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ด้วยการเฝ้าฯ รับเสด็จตลอดสองฟากฝั่งของลำน้ำเจ้าพระยาที่ขบวนเรือจะเคลื่อนผ่าน และเฝ้าฯ รับเสด็จชื่นชมพระบารมีตลอดเส้นทางที่ขบวนจะเสด็จฯ ผ่านในทางบก ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนในทุกเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การจัดขบวนเรือ ความหมายของเรือ หรือบทเห่แต่ละบท รวมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดจุดรับเสด็จ การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การจัดรถรับ-ส่ง การดูแลด้านสุขภาพ การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ได้ทางเว็บไซต์ w ww.phralan.in.th และเฟซบุ๊กพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 หรือไลน์ @บรมราชาภิเษก หรือหากประชาชนไม่สามารถเดินทางมารับชมได้ สามารถติดตามการถ่ายทอดสดได้ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย 
    ด้านนางวิภารัตน์กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมพื้นที่สำหรับประชาชน โดยประดับตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับและปรับภูมิทัศน์ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ท่าวาสุกรี ท่าราชวรดิฐ สวนหลวงพระราม 8 สวนสันติชัยปราการ อีกส่วนคือถนนที่มีการเสด็จพระราชดำเนินผ่าน ได้แก่ถนนราชดำเนินตลอดเส้นทาง คาดจะตกแต่งแล้วเสร็จภายในวันที่ 21-22 ต.ค.นี้ นอกจากนี้ ยังมีไฟประดับบริเวณถนนสะพานพระราม 8 ถนนราชดำเนินทั้งเส้น คาดว่าแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ 
    ด้านการให้บริการรถสุขา จะจัดไว้ที่สวนสาธารณะต่างๆ ส่วนบางพื้นที่รถสุขาเคลื่อนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็ประสานร้านค้าบ้านเรือนบริเวณนั้น โดยจะนำสติกเกอร์ไปติดไว้ว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านนี้ รวมทั้งการสร้างอัฒจันทร์และพื้นยกระดับรวม 6 จุด รองรับคนได้ 17,000 คน ด้านสถานที่เฝ้าฯ รับเสด็จแบ่งเป็นสองเส้นทาง จุคนได้ประมาณ 40,000 คน พื้นที่เฝ้าฯ รับเสด็จตามบ้านเรือนริมแม่น้ำ จุได้ 1,000 คน, ส่วนที่ 2 เป็นสถานที่ราชการ จุได้ 4,000 คน, ส่วนที่ 3 พื้นที่ริมสวนสาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา  13 จุด จุได้ 15,600 คน, ส่วนที่ 4 พื้นที่ของเอกชน ห้างร้าน ร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาลศิริราช และสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา จุได้ 6,000 คน 
    สำหรับวัด 6 วัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร, วัดสามพระยาวรวิหาร, วัดบวรมงคลราชวรวิหาร, วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร มีจะมีพิธีเจริญชัยมงคลคาถา โดยกรุงเทพมหานครสร้างแท่นอาสนะโต๊ะหมู่บูชาให้พระสงฆ์ประกอบพิธีเมื่อเรือพระที่นั่งเคลื่อนผ่าน พร้อมกับติดตั้งจอแอลอีดี 20 จุด จำนวน 28 จอ โดยกรมประชาสัมพันธ์จะเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสดตลอดงานพระราชพิธีดังกล่าว นอกจากนี้มีการตั้งโรงครัวพระราชทานแจกอาหารและน้ำดื่มจำนวน 7 จุด
    พล.ร.ท.จงกลกล่าวว่า กองทัพเรือได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดขบวนเรือพระราชพิธีในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 โดยกองทัพเรือได้เตรียมการฝึกมาตลอด 1 ปีเต็ม ใช้เรือพระราชพิธีทั้งหมด 52 ลำ ใช้กำลังพลฝีพายจำนวน 2,200 นาย ความยาวของขบวนเรือประมาณ 1.2 กม. และระยะทางเสด็จพระราชดำเนินจากท่าวาสุกรีถึงท่าราชวรดิฐประมาณ 3.5 กม. โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยบทเห่เรือทั้งหมด 3 องก์ด้วยกัน ประกอบด้วยบทสรรเสริญพระบารมี (บทใหม่), บทชมเมือง และบทชมวัง ซึ่งประพันธ์ขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย  สำหรับการฝึกซ้อมใหญ่เสมือนจริงที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 และ 21 ตุลาคมนี้ ฝีพายเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำจะแต่งกายเหมือนวันจริงทุกประการ
         ในส่วนของ พล.ต.ท.ไกรบุญ กล่าวถึงการอำนวยความสะดวกประชาชนต่างจังหวัดที่จะเดินทางเข้าร่วมงานพระราชพิธี การรถไฟจัดบริการฟรีขบวนพิเศษเพิ่มโบกี้เข้ากรุงเทพฯ 4 ทิศ ได้แก่ทิศตะวันตก จ.นครปฐม, ทิศเหนือ จ.พระนครศรีอยุธยา, ทิศตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา และทิศใต้ จ.สมุทรสาคร เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ จะมีรถชัตเทิลบัสพาเข้าพื้นที่พระราชพิธีตามจุดต่างๆ สำหรับจุดจอดรถรอบนอกและกรุงเทพฯ ชั้นกลาง จัดเตรียมพื้นที่รวม 24 จุด รองรับได้ 26,000 คัน ทิศเหนือ เมืองทองธานี, ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต,ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะและสโมสรตำรวจ ทิศใต้ ลานพุทธมณฑลสาย 5, เซ็นทรัลศาลายา, เซ็นทรัลพระราม 2, รร.บางมดวิทยา และวิทยาลัยทองสุข ทิศตะวันออก พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง,เมกะบางนา, อีเกียบางนา และไบเทคบางนา ทิศตะวันตก เซ็นทรัลเวสต์เกต และอาคารจอดรถบางรักน้อยท่าอิฐ ขณะที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง ประชาชนจอดรถได้ที่อู่จอดรถบรมราชชนนี,สำนักงานอัยการสูงสุด, ศาลอาญารัชดาฯ, อาคารจอดรถไฟฟ้าใต้ดินรัชดาฯ, ลานจอดรถไฟฟ้าใต้ดินรัชดาฯ, สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์, แอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน, ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 และท่าเรือคลองเตย 
         "ประชาชนที่จะเข้าชมขบวนเรือจะต้องใช้บัตรประชาชนเพื่อผ่านจุดคัดกรองรวม 19 จุดคัดกรอง ได้แก่ มทร.พระนคร ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งพระนคร พิพิธภัณฑ์บางลำพู ทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระแม่ธรณีบีบมวยผม สนามหลวงด้าน ม.ธรรมศาสตร์ สนามหลวงด้านศาลฎีกา ใต้สะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนครท่ามหาราช ท่าช้าง แยกท่าเตียน หน้าวังสราญรมย์ ใต้สะพานพระราม 8  ฝั่งธนบุรี เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี ทางเข้าท่ารถไฟ อุทยานสถานพิมุข ท่าเรือวังหลัง หน้าวัดระฆังโฆสิตาราม หน้าวัดกัลยาณมิตรวรวิหาร นอกจากนี้ ยังมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 120 ชุด กระจายตามพื้นที่ต่างๆ และจุดบริการทางแพทย์ 35 จุด จัดบริการในแต่ละพื้นที่เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนให้มากที่สุด".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"