ล็อกเป้าถล่มกลาโหม ฝ่ายค้านตั้ง12หัวหมู่ชำแหละงบ/รบ.จัดทัพรับศึก


เพิ่มเพื่อน    

 รัฐบาล-ฝ่ายค้านแบ่งเวลาถกร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 ฝ่ายละ 18 ชั่วโมง มิติใหม่วิปรัฐบาลเจียดให้ฝ่ายค้านอิสระ 20 นาที พปชร.จัดทัพ 26 ขุนพลรับศึก มั่นใจเสียงหนุนผ่านวาระแรกกำชับห้ามขาดพร้อมลงคะแนนตลอด 3 วัน ห่วงฝ่ายค้านเน้นตัวบุคคล แนะอดใจรอซักฟอกสมัยหน้า "เพื่อไทย" วางกรอบชำแหละ 4 ประเด็น ตั้ง 12 หัวหมู่ตามซ้ำรายหัวข้อ พุ่งเป้างบ ก.กลาโหม 2.33 แสนล้าน ซัดซื้ออาวุธ-สร้างบ้านพักรับรองไม่ตอบโจทย์ขณะที่ ปชช.ยังลำบาก จ่อยื่นศาล รธน.วินิจฉัย รมต.ร่วมโหวต "ปิยบุตร" พ้อ "ทอน" ชวดชำแหละทั้งที่เป็นผู้วางเกมอภิปราย

    ที่รัฐสภา วันที่ 16 ตุลาคม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวก่อนการประชุมร่วมกับนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และวิปฝ่ายค้าน ว่าในวันที่ 17 ต.ค.นี้ จะเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในเวลาประมาณ 12.00 น. เนื่องจากมีวาระการพิจารณาพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ที่ต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อนในช่วงเช้า 
    “ยืนยันว่าไม่กังวลในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ เมื่อฝ่ายค้านสงสัย รัฐบาลก็มีหน้าที่ชี้แจง เชื่อว่าไม่มีปัญหา ซึ่งในส่วนของ ส.ส. รัฐบาลพร้อมลงมติทุกเมื่อ โดยก่อนการประชุมสภา วิปรัฐบาลจะซักซ้อมการประชุมก่อนในช่วงเช้า” นายวิรัชกล่าว
    ภายหลังการประชุม นายวิรัชแถลงว่า จากการประชุมได้ข้อสรุปเรื่องเวลาในการอภิปราย โดยฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะได้เวลาฝ่ายละ 18 ชั่วโมง คาดว่าวันที่ 17-18 ต.ค.นี้ จะเลิกการประชุมหลังเที่ยงคืน แล้วจะใช้วิธีพักการประชุม เพื่อจะได้มาประชุมต่อในช่วงเช้าของอีกวัน โดยไม่ต้องนับองค์ประชุม ส่วนหากฝ่ายใดประท้วง ก็ให้หักเวลาของฝ่ายนั้น สำหรับการแถลงรายละเอียดงบประมาณของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะให้เวลา 2 ชั่วโมง โดยไม่นับรวมเวลาอภิปรายของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ขณะที่เวลาอภิปรายของ ครม. 6 ชั่วโมงนั้น ให้รวมอยู่ในโควตา 18 ชั่วโมงของฝ่ายรัฐบาล
    ด้านนายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระ เปิดเผยภายหลังเข้าหารือด้วยว่า หลังจากที่ตนและพรรคไทยศรีวิไลย์ได้ประกาศวางตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระ และต้องการทำหน้าที่ของผู้แทนปวงชนอภิปรายสะท้อนปัญหาการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้รัฐบาลทำการปรับปรุง ซึ่งวิปรัฐบาลได้ตกลงแบ่งเวลาในส่วนของฝ่ายรัฐบาลให้อภิปรายประมาณ 20 นาที ถือเป็นมิติใหม่ในสภา เพื่อยืนยันว่าอย่างน้อยในอนาคตไม่ให้การทำการเมืองถูกโน้มน้าวไปทางใดทางหนึ่ง จึงขอขอบคุณที่ให้ฝ่ายค้านอิสระได้มีโอกาสร่วมอภิปราย
     ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อใช้เวลาฝ่ายรัฐบาลอภิปราย จะถือเป็นข้อผูกมัดว่าจะต้องโหวตรับร่าง พ.ร.บ.งบฯ ด้วยหรือไม่ นายพิเชษฐ กล่าวว่า ต้องรอฟังเหตุผลว่าตนจะอภิปรายอะไร ซึ่งอาจจะขัดกับความรู้สึกของประชาชน แต่จะมีประโยชน์ต่อประชาชนที่จะได้รับเช่น การใช้คำสั่ง คสช.ระงับการทำเหมืองทองอัครา ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบกลางเป็นหมื่นล้านบาทมาจ่ายทดแทนนั้น สมควรหรือไม่อย่างไร เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสินบนข้ามชาติด้วย
    "การจะลงมติอย่างไรนั้น จะต้องรอหารือกับนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ก่อนว่าทั้ง 2 พรรคจะมีความเห็นอย่างไร ผมยืนยันว่าการใช้เวลาของรัฐบาลในการอภิปรายไม่ได้ผูกมัดว่าจะต้องเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ แม้จะถูกมองว่าเป็นการหักหลังกันก็ยอม เพราะทุกอย่างต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก” นายพิเชษฐกล่าว 
     นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ประมาณว่า เราเตรียมพร้อมในทุกเรื่องที่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลและพร้อมที่จะชี้แจง รวมถึงรับฟังความเห็นและข้อชี้แนะจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและทุกฝ่าย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้แถลงเปิด จากนั้นจะเป็นผู้นำฝ่ายค้านขึ้นอภิปราย โดยขึ้นอยู่กับประธานจะอนุญาตให้ใครขึ้นอภิปราย ในส่วนของตนจะชี้แจงทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ รายได้ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง หากไปเกี่ยวกับกระทรวงอื่น แต่ละกระทรวงก็จะเป็นผู้ตอบ
    "มั่นใจว่าจะมีเสียงสนับสนุนให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯ ได้" นายอุตตมกล่าว 
ห่วงฝ่ายค้านซักฟอกบุคคล
    เมื่อถามว่า ได้กำชับ ส.ส.เป็นพิเศษหรือไม่ นายอุตตมกล่าวว่า ในส่วนของพรรค พปชร.มีการเตรียมการและเน้นย้ำ ส.ส.ไปแล้ว รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลก็มีเตรียมการเช่นเดียวกัน เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่าอาจมีฝ่ายค้านมายกมือโหวตให้กับรัฐบาล นายอุตตม กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างนั้น
     นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ขอให้ฝ่ายค้านเตรียมข้อมูลมาอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ ไม่นำประเด็นทางการเมืองมาตีรวนกับเรื่องงบประมาณ เพราะประชาชนทั่วประเทศกำลังติดตามอยู่ โดยในส่วนการตั้งงบของรัฐบาลในส่วนไหนที่ฝ่ายค้านเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ ก็ขอให้อภิปรายแบบติเพื่อก่อ เสนอแนวทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติมากที่สุด
    เมื่อถามถึงกระแสข่าวเรื่องเสียงรัฐบาลปริ่มน้ำอาจทำให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ผ่านที่ประชุมสภา นายสิระกล่าวว่า ตนมั่นใจว่าในหลักการ และทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านต่างก็อยากให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะทุกคนคือตัวแทนของประชาชน คงไม่มีใครอยากจะทำให้การเมืองชะลอการเดินหน้าของประเทศ
    "ผมกังวลอยู่แค่เรื่องเดียว นั่นก็คือการอภิปรายของฝ่ายค้าน ที่อาจจะเน้นไปที่ตัวบุคคล จนกลายเป็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แบบที่ฝ่ายค้านพยายามใช้เวทีสภาในรูปแบบนี้มาโดยตลอด ซึ่งมองว่า สมัยประชุมที่ผ่านมา ฝ่ายค้านยังทำหน้าที่ได้ไม่สร้างสรรค์ ก็หวังว่าการอภิปรายในวันที่ 17-19 ต.ค.นี้ คงจะเป็นการอภิปรายที่อยู่ในกรอบของเนื้อหา และอยากให้ฝ่ายค้านอดใจรอไว้ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจในโอกาสหน้า อย่าได้เอามารวมกัน เพราะจะทำให้ฝ่ายค้านดูไม่มีความเป็นมืออาชีพ” นายสิระกล่าว
          ผู้สื่อข่าวรายรายงานจากพรรคพลังประชารัฐว่า ในการประชุม ส.ส.พรรคเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ได้มีการกำหนดตัวผู้อภิปรายจำนวน 26 คน รวมเวลาอภิปรายประมาณ 4 ชั่วโมง โดยแต่ละคนได้รับมอบหมายให้อภิปรายรายละเอียดงบประมาณในหัวข้อที่แตกต่างกันไป ได้แก่ 1.นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ รับผิดชอบภาพรวมและอุดมศึกษา 2.น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ รับผิดชอบอภิปรายภาพรวม และนโยบายอีอีซี 3.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและสมาชิกพรรค รับผิดชอบอภิปรายในภาพรวมและนโยบายอีอีซี 4.นางปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี รับผิดชอบหัวข้อความยากจนและแรงงาน 5.นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. รับผิดชอบหัวข้อพัฒนาเมืองและนโยบายชิมช้อปใช้ 6.นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา รับผิดชอบด้านความมั่นคงและสามจังหวัดชายแดนใต้
    7.น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. หัวข้อ กทม. 8.นายอรรถกร ศิริลัทยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวข้อกลาโหม 9.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี หัวข้อกลาโหม 10.นายสันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อหัวข้อภาพรวมงบประมาณ 11.น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี หัวข้อกระทรวงดิจิทัลฯ 12.นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา หัวข้อกระทรวงศึกษาธิการ 13.นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย หัวข้องบฯ อปท. 14.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา หัวข้อโครงสร้างกระทรวงศึกษา 15.นายจักรัตน์ พั้วช่วย ส.ส.เพชรบูรณ์ หัวข้อการเก็บภาษียาสูบ 16.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. หัวข้อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและการศึกษา 
    17.น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี หัวข้อวิทยาศาสตร์ 18.นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร หัวข้อเกษตรกร และ 19.น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร หัวขอบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะที่ผู้อภิปรายในภาพรวม ได้แก่ 20.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม. 21.น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. 22. นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช 23.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร 24.นายสุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี 25.นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช และ 26.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก
ปชป.ชี้ 4 ประเด็นต้องแก้ไข
     "โดยเบื้องต้นไม่มีการพูดคุยกันเรื่ององครักษ์พิทักษ์ ครม.เหมือนคราวแถลงนโยบายรัฐบาล พร้อมกันนั้นยังได้กำชับให้ ส.ส.ทุกคนห้ามขาด ห้ามลา และมาสายเด็ดขาด โดยให้เตรียมความพร้อมในการลงคะแนนเสียงตลอดระยะเวลา 3 วัน ซึ่งพรรค พปชร.ยังเชื่อว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ น่าจะผ่านพ้นไปด้วยดี และไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการยกมือสนับสนุนแต่อย่างใด" รายงานข่าวระบุ
    นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.การคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “งบประมาณปี 2563 ที่จะมีการพิจารณาในวาระแรกปลายอาทิตย์นี้ควรต้องมีการแก้ไขปรับปรุงค่อนข้างมากในชั้นกรรมาธิการ เพราะตามที่เสนอมา เป็นการร่างตามกระบวนการเดิมๆ ที่ยังไม่สอดคล้องสถานการณ์ที่เป็นจริงของประเทศ และยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนตามที่ทุกคนคาดหวัง
    "นี่คือข้อสรุปของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ประชุมร่วมกันเมื่อวานนี้ เราจะใช้สิทธิอภิปรายชี้แจงประเด็นปัญหาและเสนอแนวทางที่รัฐบาลสามารถปรับเปลี่ยนงบประมาณเพื่อให้ส่งผลต่อ 4 ประเด็นหลักในการแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 2.การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมลํ้า 3.การแก้ไขปัญหาปากท้อง 4.ประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล เราพร้อมทำหน้าที่ของเราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันพฤหัสบดี และศุกร์ 17-18 ตุลาคมนี้ เชิญติดตามการอภิปราย” นายกรณ์ระบุ 
        นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ว่า ที่ประชุมได้เตรียมความพร้อมสำหรับการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2563 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17-18 ต.ค.นี้ โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้รับการจัดสรร 9,812 ล้านบาท ลดลง 599 ล้านบาท หรือลดลง 7.73% ซึ่งจะต้องมีการเตรียมการในด้านข้อมูลเพื่อชี้แจง หากมีการสอบถามมา
         ทั้งนี้ ในส่วนของงบที่ได้รับลดลงนั้น เนื่องจากในปี 2563 ไม่มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายสำหรับใช้ในการรักษาข้าวในสต๊อกที่ค้างมาจากโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ซึ่งปกติจะใช้งบประมาณปีละประมาณ 1,500 ล้านบาท พอขายข้าวในสต๊อกได้หมด ก็ไม่มีภาระตรงนี้อีกต่อไป
    นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า มั่นใจว่าในส่วนของงบประมาณคมนาคมจะไม่มีปัญหา สามารถชี้แจงได้แน่นอน ซึ่งในปี 2563 นั้น กระทรวงคมนาคมของบประมาณไปราว 210,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบหน่วยราชการ 170,000 ล้านบาท และงบประมาณรัฐวิสาหกิจ 40,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมจะอธิบายข้อซักถามได้ เพราะมีการเชิญหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมรอชี้แจงด้วย
    ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค เรียกประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค รวมถึง ส.ส.พรรคเพื่อไทย มาประชุมเตรียมเนื้อหา และความพร้อมในการเตรียมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค.
    โดยนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านต้องการเวลาอภิปราย 20 ชั่วโมง เนื่องจากมีเนื้อหาและบุคคลที่ต้องการอภิปรายจำนวนมาก หวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจ จากการพูดคุย ก็เห็นว่ารัฐบาลมีท่าทีที่อ่อนลง ส่วนรูปแบบการอภิปรายจะใช้วิธีแบบลูกเสือ คือมีผู้อภิปรายทั่วไปก่อน จากนั้นนายหมู่จะเป็นผู้เติมเต็มสรุปข้อมูลเป็นบางช่วง เพื่อให้เนื้อหาครอบคลุม เบื้องกำหนดตัวนายหมู่ไว้ 12 คน แบ่งตามหมวด เช่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน, นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม., นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และตน ส่วนเนื้อหาภาพรวมจะเน้นชี้ให้เห็น 4 ประเด็นหลัก คือการใช้งบให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนหรือไม่ แก้ปัญหาตอบโจทย์ประเทศได้สูงสุดหรือไม่ ใช้งบประมาณได้ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และสุดท้ายจัดงบประมาณมีความโปร่งใสถูกต้องหรือไม่ โดยจะชี้ให้เห็นเหตุผลว่าเหตุใด ฝ่ายค้านจึงไม่สามารถยกมือสนับสนุนให้กับ พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ได้
เล็งถล่มงบ กห.ซื้ออาวุธ
    “เราไม่ได้จ้องล้มรัฐบาล หรือเอางบประมาณมาเป็นเกมการเมือง แต่ต้องทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ หาก พ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่านสภา รัฐบาลยังสามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่เข้ามาภายใน 1-2 เดือน และยังสามารถเบิกจ่ายงบประมาณที่จำเป็นได้ล่วงหน้า จึงไม่กระทบกับการใช้จ่ายงบประจำของแต่ละกระทรวง” นายสุทินกล่าว
    ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายค้านอาจจะยอมให้ผ่านร่างพ.ร.บ.งบฯ ในวาระรับหลักการนั้น นายสุทินกล่าวว่า จะมีข้อสรุปในวันสุดท้าย หลังจากหารือร่วมกับ 7 พรรคฝ่ายค้าน ส่วนจะยกมือให้ผ่านหรืองดออกเสียง ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะรับฟังคำแนะนำและนำไปปรับปรุงหรือไม่ เชื่อว่าจะไม่มีงูเห่าหรือมีใครแตกมติพรรค รวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ยืนยันไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แกนนำพรรคเศรษฐกิจใหม่ จะยังไม่ร่วมอภิปรายในครั้งนี้ เพราะแสดงความต้องการตั้งแต่ต้นว่าจะขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเท่านั้น ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีสามารถโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณได้หรือไม่ เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงจะต้องมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการอภิปรายครั้งต่อไป
    เมื่อถามว่า นักกิจกรรมการเมืองเรียกร้อง ส.ส.งดออกเสียงให้กับร่างพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นการเสนอกฎหมายไม่ถูกต้อง เหมือน พ.ร.ก.ชะลอการบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมสถาบันครอบครัวก่อนหน้านี้ นายสุทินกล่าวว่า เป็นมุมมองเสียงสะท้อนจากสังคม ซึ่งก็ต้องรับฟัง แต่จะปฏิบัติตามข้อเสนอหรือไม่ ขอหารือรายละเอียด เนื้อหา เหตุผลกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่พูดคุยกัน
    น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของกองทัพหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ควรสนใจและให้ความสำคัญ ไม่ใช่การชังชาติหรือไม่รักชาติ เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์และผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งแกนนำรัฐบาลบางคนพยายามสร้างกระแสชี้นำสังคม ฝ่ายค้านต้องการชี้ให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญการใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ล่าสุดสวนดุสิตโพลได้สะท้อนถึงความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนมากกว่ามุ่งไปที่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เหมือน 5 ปีที่ผ่านมา 
    "เฉพาะงบกระทรวงกลาโหมที่ตั้งไว้สูงถึง 2.33 แสนล้านบาท เพิ่มจากปี 2562 ถึง 6,200 ล้านบาท ปีที่ผ่านมามีการตรวจพบถึงการใช้งบของกองทัพไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น มีการเปิดเผยถึงเรื่องการสร้างบ้านพักรับรองผู้บัญชาการทหารเรือบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยงบสูงถึง 112 ล้านบาท หรือสร้างบ้านพักรับรองบนยอดเขาริมทะเลที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จำนวน 51 ล้านบาท ตนเป็นทหาร มาเข้าใจว่าการสร้างบ้านพักรับรองให้หรูหรา สมเกียรติ ก็มีความจำเป็น แต่ไม่ควรสร้างขณะที่คนไทยจำนวนมากยังลำบากอยู่" 
     น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลอย่าอ้างเรื่องความมั่นคงเพื่อจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมากให้กองทัพไปจัดซื้ออาวุธ วันนี้ทุกประเทศในภูมิภาคของเราต่างแข่งขันกันในเรื่องเศรษฐกิจ มีแต่ประเทศไทยที่เร่งสะสมอาวุธ และใช้หน่วยงานด้านความมั่นคงไปจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง มั่นใจว่าการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านจะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแน่นอน เพราะเราจะแจกแจงความบกพร่องและความไม่เหมาะสมในการทำงบประมาณของรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดวางงบประมาณที่ไม่ถูกต้องตามสถานการณ์ และการให้ความสำคัญความมั่นคงมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ไม่ตอบโจทย์สงครามการค้าที่ส่งผลกระทบกับประเทศอย่างรุนแรง มีการจัดงบประมาณแบบขาดวินัย โดยเขียนเช็คเปล่าให้นายกฯ มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่สำคัญเป็นการจัดงบประมาณที่ไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน.
เสียดาย"ทอน"อดร่วมวง
    นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนพรรคเพื่อไทยมีผู้อภิปรายจำนวน 66 คน พรรคอนาคตใหม่ 20 คน เท่ากับจะได้อภิปรายคนละ 56 นาที ฝ่ายค้านจะอภิปรายบนเนื้อหาสาระที่ดี ไม่ตีรวน เพราะไม่เกิดประโยชน์ จะเป็นลักษณะทักท้วงติติง และแสดงหลักฐานว่าการจัดงบประมาณไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศอย่างไร โปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นไปตามที่รัฐบาลแถลงนโยบายไว้หรือไม่
     เมื่อถามว่า จะเน้นการอภิปรายในกระทรวงใดบ้าง นายชลน่าน กล่าวว่า มีผู้อภิปรายเป็นรายกระทรวงอยู่แล้ว เช่น งบกระทรวงกลาโหมจะมีคนชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสม ไม่ตอบโจทย์กับสภาวะของประเทศที่กำลังยากลำบาก รวมถึงงบกลางที่ตั้งงบประมาณในส่วนของเงินทดรองจ่ายฉุกเฉินไม่เหมาะสม ส่วนการลงมติ คงต้องรอดูสถานการณ์จากการรับฟังการอภิปราย และการชี้แจงของรัฐมนตรี รวมถึงของนายกฯ ก็จะเป็นตัวชี้วัดด้วยส่วนหนึ่ง หากร่าง พ.ร.บ.งบฯ ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาวาระที่ 2 ชั้นคณะ กมธ. หากมีมาตราใดที่ตั้งงบไม่สอดคล้องและไม่เหมาะสม กมธ.ก็สามารถลงมติไม่เห็นชอบเป็นรายมาตราได้ หรือไม่เห็นชอบร่างดังกล่าวในวาระที่ 3 ได้ เพราะการเห็นชอบที่สำคัญที่สุดคือวาระที่ 3 
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่า พรรคอนาคตใหม่เตรียมพร้อมในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ แล้ว แม้มีเอกสารมาก แต่เตรียมตัวทุกวัน โดยการอภิปรายจะเน้นเนื้อหาสาระมากกว่าจำนวนคน และเน้นอภิปรายในภาพรวมว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่ และจะเสนอแนะว่าหากพรรคอนาคตใหม่มาเป็นรัฐบาล จะจัดทำงบประมาณอย่างไร ในการที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 
    "อย่างไรก็ตาม รู้สึกเสียดายที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคไม่สามารถมาร่วมอภิปรายได้ ทั้งที่เป็นผู้วางแผนในการอภิปรายทั้งหมด และเสียดายที่ได้รับการจัดสรรเวลาน้อยกว่าที่คิด โดยในส่วนของพรรคได้ประมาณ 391 นาที" นายปิยบุตรกล่าว
    พล.ท.พงศกร รอดชมภู  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ยังได้กล่าวถึงร่างงบประมาณทางการทหารของปี 2563 ว่ามีอยู่ 2 ประเด็นหลักที่อาจจะต้องอภิปรายในรัฐสภา คือ 1.การซื้ออาวุธทางการทหาร ก็ไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะซื้ออาวุธอะไร เพื่ออะไร เกิดผลอย่างไร ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการซื้ออาวุธ อีกประเด็นหนึ่งคือ หากซื้ออาวุธที่ท่านว่ามานี้ จะเกิดต่อความมั่นคงหรือเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันประเทศมากน้อยแค่ไหน เพราะการที่จะป้องกันประเทศได้ต้องมีความสัมพันธ์กันตั้งแต่ระบบอาวุธ ไปจนถึงยุทธศาสตร์การเตรียมกำลังพลกับอาวุธต้องสัมพันธ์กันหมด 
    "ถ้ามีการเตรียมกำลังอย่างหนึ่ง ใช้อาวุธอีกอย่างหนึ่ง การซื้ออาวุธที่ท่านว่าจะไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้พรรคอนาคตใหม่พบว่าการซื้ออาวุธกับการจัดกำลังพลไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน เหมือนกับว่างบประมาณ ก็ตั้งแบบที่เคยๆ กันมา โดยไม่มีเป้าหมายที่จะทำให้กองทัพมีความเข้มแข็งเท่าที่ควร ซึ่งเห็นว่ากองทัพควรจะมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและโปร่งใสที่สุด" พล.ท.พงศกรกล่าว.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"