กษ.แจ้งผลแบน3สารพิษ บีบกก.วัตถุอันตรายมีมติ


เพิ่มเพื่อน    

  "รมว.เกษตรฯ" แจ้งมติเอกฉันท์แบน 3 สารพิษ ส่งให้ คกก.วัตถุอันตรายพิจารณายกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 "อนุทิน" โพสต์ขอบคุณ "เฉลิมชัย" ชัดเจนทำเพื่อสุขภาพ ปชช. "สธ." รุกเพิ่มสั่ง รพ.ทั่วประเทศเร่งรวบรวมผู้ป่วยที่รับผลกระทบสารเคมีเกษตร "ส.ส.อนาคตใหม่" โผล่ค้าน อ้างกลัวเปิดทางสารเคมีตัวใหม่ 

    เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.เกษตรและสหกรณ์) กล่าวถึงความคืบหน้าการยกเลิกสารเคมีการเกษตร 3 ชนิดว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ลงนามหนังสือแจ้งมติคณะทำงาน 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้สารเคมี 3 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส, พาราควอต และไกลโฟเซต ปรับจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป ถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รมว.อุตสาหกรรม) 
    นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ในหนังสือระบุกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาความเห็นเรื่องนี้ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน และหาวิธีดำเนินการได้ โดยมอบหมาย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน คณะทำงานได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและลงมติอย่างเปิดเผยจนได้ผลสรุปดังกล่าว
    "มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทำหนังสือแจ้งมติคณะทำงานข้างต้นให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อปรับสารเคมีทั้ง 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยด่วน ซึ่งจะมีผลให้ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครอง ดังนั้นจากนี้ไปขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะประชุมวันที่ 22 ต.ค. ว่าจะบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมหรือไม่ และจะมีมติอย่างไร กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติพร้อมทำตามมติ" นายเฉลิมชัยกล่าว
    รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร โดยสั่งการอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้ดำเนินตามนโยบายส่งเสริมการผลิตพืชปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคทั้งประเทศ ซึ่งทุกหน่วยงานของกระทรวงจะเข้าไปให้ความรู้ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และประสานหาตลาดรองรับผลผลิต
    "ระหว่างที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ได้ประชุมเพื่อมีมติใหม่ กระทรวงเกษตรฯ ยังคงต้องปฏิบัติตามมติเดิมในการจำกัดการใช้ โดยวันที่ 20 ต.ค.2562 ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับ จะมีผลบังคับใช้ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต การนำเข้า การส่งออก การครอบครองวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต สาระสำคัญคือ ผู้ขายต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด และต้องเข้าอบรมทุกๆ 3 ปี ต้องใช้เครื่องวัตถุอันตรายดังกล่าวกับพืชและพื้นที่ตามที่แสดงหลักฐานการซื้อขาย ผู้ที่มีไว้ในครอบครองจะต้องจัดให้มีบุคลากรเฉพาะในการขายวัตถุอันตราย ต้องแยกออกจากวัตถุอันตรายอื่นๆ และมีป้ายแสดงข้อความว่า วัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้ อย่างชัดเจน" รมว.เกษตรฯ กล่าว
เกษตรฯ เซ็นแบนสารพิษ
    นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ในส่วนฉบับที่ 2 เรื่อง การจำกัดการใช้ การกำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซตที่ห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ ในกรณีอยู่นอกพื้นที่ข้างต้น ให้ใช้เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล ส่วนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าวัตถุอันตรายเกี่ยวกับไกลโฟเซต ต้องแสดงข้อความในฉลากว่า เป็นวัตถุอันตราย และระดับความเป็นพิษเพื่อประโยชน์ในการควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม 
    นอกจากนี้ ฉบับที่ 3 กำหนดให้ใช้คลอร์ไพริฟอสในไม้ผลเฉพาะเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นเท่านั้น ฉบับที่ 4 เกี่ยวกับพาราควอต โดยห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ รวมถึงมีข้อกำหนดการใช้อื่นๆ เช่นเดียวกับไกลโฟเซต และฉบับที่ 5 เรื่องแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้มีอำนาจตรวจสอบการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ภายในเขตท้องที่รับผิดชอบ ตามมาตรา 54 (1) แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 
     "กระทรวงเกษตรฯ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจำกัดการใช้ดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติใหม่อย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตาม ในระหว่างนี้ยินดีรับฟังข้อมูลรอบด้านจากทุกฝ่าย ซึ่งวันที่ 21 ต.ค. จะมีกลุ่มเกษตรกรที่คัดค้านการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดเข้าพบ ในฐานะ รมว.เกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดทั้งต่อเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคทั้งประเทศ" รมว.เกษตรฯ กล่าว
    ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้โพสต์รูปภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "อนุทิน ชาญวีรกูล" ซึ่งเป็นภาพเอกสารแจ้งมติคณะทำงานเพื่อพิจารณาความคิดเห็นของภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ต่อการยกเลิกคลอร์ไพริฟอส, พาราควอต และไกลโฟเซต ลงนามโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ส่งถึง รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งมีใจความว่า คณะทำงานฯ มีมติให้สารดังกล่าวทั้ง 3 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562
    "ขอบคุณท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุณาทำความชัดเจนให้ปรากฏ เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน" ข้อความที่นายอนุทินระบุในโพสต์ดังกล่าว
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการรณรงค์และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่อันตรายต่อสุขภาพ พร้อมด้วย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษา รมว.ศธ. และคณะ ประชุมผ่านระบบวิดีโอกับสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ชี้แจงแนวทางการทำงานเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด ซึ่ง สธ.ได้ให้ความสำคัญกำหนดให้การป่วยและเสียชีวิตจากพิษสารเคมีทางการเกษตรเป็นตัวชี้วัด และอยู่ในระบบรายงานโรค
    นพ.ม.ล.สมชายกล่าวว่า การประชุมชี้แจงครั้งนี้เป็นการยกระดับการเฝ้าระวังระบบการรายงานผู้ป่วยจากพิษสารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ทั้งเป็นสารก่อมะเร็งในผู้ที่สัมผัสในปริมาณน้อยแต่ต่อเนื่อง และเกิดพิษเฉียบพลัน เช่น ปอดพัง หนังเน่า เนื้อเน่าจากสารฆ่าวัชพืชพาราควอต หรือสารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส ที่จะรบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก ส่วนสารไกลโฟเซต จะรบกวนการทำงานระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น ซึ่งมีรายงานชัดเจนว่าหลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้และประกาศห้ามใช้
    "สธ.ได้เร่งรัดจัดการภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพ ได้เปิดวอร์รูมพร้อมตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อรณรงค์และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่อันตรายต่อสุขภาพ มีเป้าหมายที่จะยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด คือ พาราควอต, ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ซึ่งประเทศไทย พบรายงานผู้ป่วยด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2559 พบอัตราป่วยด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 18.91 ต่อประชากรแสนราย เพิ่มเป็น 21.52 ต่อประชากรแสนรายในปี 2560 ขณะนี้ 9 เดือนของปี 2562 พบป่วยจากสารเคมีทางการเกษตร (ที่ไม่รวมการฆ่าตัวตาย) ในทุกกลุ่มโรคจำนวน 4,833 รายทั่วประเทศ" นพ.ม.ล.สมชายกล่าว
ส.ส.อนาคตใหม่โผล่ค้าน
    ด้านนายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.จังหวัดตราด พรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "ผมนายศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะลูกชาวสวน ขอคัดค้านการแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดแบบหักดิบในเวลานี้...ผมเห็นด้วยกับการลดการใช้สารเคมีในการผลิตพืช ผัก ผลไม้ และสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ แต่เราต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ในด้านการตลาด การคิดค้นชีวภัณฑ์ทดแทน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแบนสารเคมีตัวเก่า เพื่อเปิดทางให้ใช้สารเคมีตัวใหม่ เท่ากับเป็นการหลอกลวงประชาชน ประเทศเราควรมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์อย่างสมบูรณ์ใน 10 ปี หรือ 15 ปีข้างหน้าโดยดำเนินการไปอย่างมีกระบวนการลดการนำเข้าและลดการใช้สารเคมีควบคู่ไปกับการค้นคว้าวิจัยชีวภัณฑ์ทดแทน แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ไม่ได้มีการเตรียมการที่ดีพอเพื่อหาทางออกให้กับประชาชน เกษตรกรจึงต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น"
    ส.ส.พรรคอนาคตใหม่รายนี้ระบุว่า "จังหวัดตราดเป็นแหล่งผลิตผลไม้เพื่อการส่งออก ผมในฐานะรองประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร จะพยายามผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐาน GAP ซึ่งจะสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเป็นผลดีต่อการส่งออกผลไม้จังหวัดตราดต่อไป ผมขอยืนเคียงข้างพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรตลอดไป"
    เช่นเดียวกับ นางวรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว รัฐบาลควรให้ระยะเวลาเอกชนและเกษตรกรอย่างน้อย 2 ปี การยกเลิกสารเคมีวันที่ 1 ธ.ค.นี้ อาจทำให้ภาคการเกษตรเสียหายอย่างมาก เพราะยังไม่มีสารใดมาทดแทน และสารที่เสนอให้ทดแทนเป็นสารที่มีราคาสูงถึง 6 เท่า จะทำให้เกษตรกรมีต้นทุนสูงขึ้น และรัฐบาลควรให้เวลาเอกชนในการจัดสต๊อกสินค้าคงค้างประมาณ 40,000 ตัน ทำให้รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายทำลายสารดังกล่าวประมาณ 5,000 ล้านบาท ค่าขนย้ายเช่าโกดังเก็บสินค้าอีก 5,050 ล้านบาท และค่าชดเชยเกษตรกรอีกประมาณ 3 เท่าของราคาสินค้า. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"