อนค.กร้าวเผยธาตุแท้ ‘ปิยบุตร’นำทีมขวางพรก.โอนกำลังพลก่อนสภาลงมติ374ต่อ70


เพิ่มเพื่อน    

 "ปิยบุตร" นำทีมอนาคตใหม่ 70 เสียงค้าน พ.ร.ก.โอนกำลังพลกองทัพบกให้หน่วยถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์  อ้างขัด ม.172 ไม่เป็นเรื่องฉุกเฉิน ซัด "บิ๊กตู่" เสพติด ม.44 ใช้อำนาจออก พ.ร.ก. "บิ๊กช้าง" ยันฉุกเฉินรีบด่วนหลีกเลี่ยงมิได้ ก่อนสภาลงมติ 374 ต่อ 70 เสียงผ่านฉลุยส่งต่อวุฒิสภา ฝ่ายค้านส่อร้าว! "วัฒนา" โพสต์หนุน "พท." ยกมือสวน "อนค." ระบุไม่เกี่ยวกับยืนข้าง ปชช.หรือความเป็นประชาธิปไตย

    ที่รัฐสภา วันที่ 17 ต.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ
    ภายหลัง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (รมช.กลาโหม) เป็นผู้ชี้แจงเหตุผลในการออกพ.ร.ก.นี้ว่า เพื่อสนับสนุนภารกิจส่วนราชการในพระองค์ในการปฏิบัติหน้าที่การถวายพระเกียรติและการรักษาความปลอดภัยขององค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งให้การปฏิบัติภารกิจทั้งปวงตามพระราชอัธยาศัย และตามพระราชประเพณีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงในการที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้
    จากนั้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ลุกขึ้นอภิปรายว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารับหน้าที่เป็นเวลา 3 เดือน ตรา พ.ร.ก.ไปแล้ว 2 ฉบับ ซึ่งทั้งสองฉบับนี้มีปัญหาว่าเป็น พ.ร.ก.ที่เข้าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 หรือไม่ เมื่อเรามาพิจารณาถึงเหตุผลในการตรา พ.ร.ก.นี้ ตามที่ พล.อ.ชาญชัยได้อภิปรายถึงเหตุผล เท่ากับว่า ครม.อ้างเหตุเรื่องความปลอดภัยของประเทศ และยืนยันว่านี่เป็นกรณีฉุกเฉิกที่มีความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในเรื่องความปลอดภัยของประเทศ ถูกต้องว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นหลักสำคัญของประเทศ เป็นประมุขของประเทศไทย การถวายความปลอดภัยแด่องค์พระมหากษัตริย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ตรงนี้ไม่น่ามีปัญหา 
    "แต่ประเด็นที่มีปัญหาอยู่ที่ว่า กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ เพราะคำว่าฉุกเฉินคือสิ่งที่เป็นไปปัจจุบันทันด่วนและแก้ไขโดยพลัน และคำว่าจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ หมายถึงต้องทำทันที ถ้าไม่ทำจะเกิดผลร้ายแรงตามมา และในหมายเหตุท้ายพ.ร.ก.ยืนยันว่า เป็นไปเพื่อสนับสนุนภารกิจส่วนราชการในพระองค์เกี่ยวกับการถวายอารักขา ถวายพระเกียรติ และถวายรักษาความปลอดภัย นี่คือวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แต่ประเด็นคือ ถ้าหากว่า ครม.ยืนยันว่า พ.ร.ก.นี้มีความจำเป็นรีบด่วน ครม.จำเป็นต้องแสดงข้อเท็จจริงให้สภาทราบว่า ณ วันที่ออก พ.ร.ก. มีเรื่องอะไรที่กระทบต่อการถวายอารักขา การถวายพระเกียรติ แต่ ครม.ไม่ได้ชี้แจงเลย" นายปิยบุตรกล่าว
'ปิยบุตร'นำอนค.ค้านเต็มที่
    ส.ส.พรรคอนาคตใหม่รายนี้กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้มีปัญหากับการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์คุ้นชินกับการมีอำนาจพิเศษกับอำนาจมาตรา 44 ที่ใช้มา 5 ปีเศษ ประเภทเปิดปุ๊บติดปั๊บ ตลอด 5 ปี ที่ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งมามากแล้วเกิดความผิดพลาด และออกมาตรา 44 แก้ไข บางกรณีวันนี้ออกอีกวันเลิก ฉะนั้นในวันนี้เราเข้าสู่ระบบปกติแล้ว เราใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ท่านไม่มีมาตรา 44 อีกแล้ว ไม่มีมนต์วิเศษ และประเภทที่สั่งอะไรแล้วไม่ขัดรัฐธรรมนูญไม่มีอีกแล้ว ที่สำคัญมีสภาแล้ว ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและ ครม.ต้องไม่ลืมว่ามีสภาแล้ว เขาไม่ใช่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน การใช้อำนาจของ ครม.จึงต้องเคารพรัฐธรรมนูญ และระมัดระวังรอบคอบกว่าเดิม ไม่ใช่อยากทำอะไรก็ทำ ตนเห็นว่าการตรา พ.ร.ก.นี้เป็นข้อยกเว้นยอมให้อำนาจกับ ครม. ดังนั้นจึงต้องทำอย่างจำกัดเคร่งครัดตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 172 กำหนด
    "หากเราปล่อยผ่านเรื่องนี้ เท่ากับว่าเรากำหนดสนับสนุนนิสัยการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยืนยันว่าอะไรก็จะใช้อำนาจรวดเร็วเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่เสมอ หากไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้ เราจะช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อำนาจ แต่หากปล่อยผ่านเรื่องนี้ จะกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิด นายกฯ อยากได้อะไรขี้เกียจรอสภา ไม่อยากชี้แจงต่อสภา ก็ใช้อำนาจตรา พ.ร.ก. นานวันเข้าการออก พ.ร.ก.จะกลายเป็นสภาพเป็นมาตรา 44 จำแลง เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง" ส.ส.พรรคอนาคตใหม่รายนี้กล่าว 
    นายปิยบุตรกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร และรัฐธรรมนูญไทยก็รับรองต่อเนื่องเรื่อยมา คือประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจประชาธิปไตยผ่านทางรัฐสภา ครม. และศาล พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำอะไรผิด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิดชอบ แต่รัฐมนตรีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ และไม่ใช่แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2562 ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื้อหาของคำวินิจฉัยของศาลยืนยันว่ามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นกลางทางการเมือง และใช้คำว่าปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง หนังสือตำราหลายเล่มของนักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็อยู่ในรัฐมนตรีชุดนี้ด้วย ก็เขียนเรื่องนี้เช่นกันว่า ระบอบนี้คือพระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ
    "พรรคอนาคตใหม่และผมยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การอภิปรายในวันนี้เป็นไปเพื่อยืนยันอำนาจของสภาตามรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร รักษาระบบรัฐสภา ที่สำคัญที่สุดคือการรักษา ปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี มิใช่ชี้หน้าด่าคนอื่นว่าไม่จงรักภักดี การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีไม่ใช่การใช้อำนาจกระทำการใดเพื่อทำให้คนคิดว่าพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ ด้วยเหตุผลที่อภิปรายทั้งหมด เห็นว่า พ.ร.ก.ตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามมาตรา 172 ผมในฐานะ ส.ส. ไม่สามารถลงมติอนุมัติพ.ร.ก.นี้ได้" นายปิยบุตรกล่าว
    ด้าน พล.อ.ชัยชาญชี้แจงว่า การปรับโอนครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ จึงต้องดำเนินการโอนอัตราทั้งสองหน่วยไปเพื่อให้หน่วยมีความพร้อมทุกด้านตลอดเวลา มีการจัดอัตรากำลังพลที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการต้องมีหมุนเวียนกำลังพลต่างๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ และมีการฝึกเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของกำลังพลให้มีความพร้อมอยู่เสมอ และต้องไม่มีข้อบกพร่องโดยเด็ดขาด และให้สอดคล้องกับการบริการจัดการเรื่องงบประมาณให้สอดคล้องงบปี 63 จึงถือเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นรีบด่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ผ่านฉลุย พรก.โอนกำลังพล
    ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ชาติและความเป็นมาไม่เหมือนประเทศอื่น ที่เรายืนยาวมาถึงวันนี้ได้เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ หากไม่มีสถาบันนี้ก็คงไม่มีพวกเรามาถึงวันนี้ แต่ด้วยวิวัฒนาการของประเทศและโลก ทำให้ระบบสถาบันกษัตริย์มีความเปลี่ยนแปลงไป จนมาเป็นสถาบันระบบประมุขของระบอบประชาธิปไตยของไทย ดังนั้นความเป็นราชอาณาจักรไทยไม่สามารถแบ่งแยกออกได้ระหว่างความมั่นคงของประเทศกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน อะไรที่กระทบสถาบันกษัตริย์ ก็เท่ากับกระทบความมั่นคงของประเทศด้วยเช่นกัน
    “ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศที่ไม่เป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ในเมื่อความปลอดภัยของประเทศถือเป็นเรื่องเร่งด่วน อะไรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสถาบันกษัตริย์จึงไม่ต่างกัน” นายพีระพันธุ์กล่าว
    จากนั้นที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่มีมติชอบด้วยคะแนน 374 ต่อ 70  เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และจะได้ส่งต่อให้วุฒิสภาอนุมัติจาก พ.ร.ก.เป็น พ.ร.บ. ในวันที่ 20 ต.ค.นี้
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.ที่ลงคะแนนไม่อนุมัติมาจากพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด ขณะที่งดออกเสียง 2 เสียง ได้แก่ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ อย่างไรก็ดี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่บางส่วนได้ลงมติเห็นด้วยคือ นายกฤติเดช สันติวชิระกุล ส.ส.แพร่, นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี และ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี 70 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ ว่าไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรผิดปกติ ตนไม่ถือว่าผิดปกติ การมีเสียงไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อในสภามีการลงมติ ก็ต้องมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นจึงไม่เห็นว่าเป็นความแปลกประหลาดอะไร เรื่องนี้เป็น พ.ร.ก.ของรัฐบาล อย่างที่นายปิยบุตรพูดนั้นถูกต้อง รัฐบาลเป็นคนคิด เป็นคนเสนอ และรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพราะฉะนั้นถ้า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา รัฐบาลเป็นคนรับผิดชอบ ต้องลาออกหรือยุบสภา
    ถามว่าการอภิปรายที่มีการพูดเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ผู้พูดต้องรับผิดชอบตัวเองใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็รับผิดชอบกันเอง 
    ซักว่าหลายคนรู้สึกตกใจกับการอภิปรายของนายปิยบุตร นายวิษณุสวนทันทีว่า ตนไม่ตกใจ          
    วันเดียวกัน นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟสบุ๊ก Watana Muangsook ระบุว่า กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.11 ทม.รอ.) มีภารกิจในการถวายการอารักขาและถวายพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ ฯลฯ แต่เป็นส่วนราชการที่อยู่ในการบังคับบัญชาของกองทัพบก
    ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 เพื่อกำหนดฐานะของส่วนราชการที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับราชการในพระองค์และพระราชกรณียกิจขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ให้เป็นส่วนราชการในพระองค์ โดยปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การโอน ร.1 ทม.รอ. และ ร. 11 ทม.รอ. ไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงสายการบังคับบัญชา แต่ภารกิจยังคงเป็นเช่นเดิม
    ส่วนเหตุที่จะออกเป็นพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ประกอบด้วย (1) เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ (2) ความปลอดภัยสาธารณะ (3) ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ (4) เพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งผมเห็นว่าภารกิจที่เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยถือเป็นเรื่องของประเทศและเป็นเรื่องสาธารณะ จึงเป็นเงื่อนไขที่จะออกเป็น พ.ร.ก.ได้ แต่จะเป็นกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่นั้น กฎหมายถือเป็นดุลพินิจและอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารที่อยู่นอกเหนืออำนาจการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ ผมจึงไม่ขอก้าวล่วง
    "ดังนั้น สาระของเรื่องนี้มีเพียง 2 ประเด็น คือการเปลี่ยนแปลงสายการบังคับบัญชาและวิธีการในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งผมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสายการบังคับบัญชาของ 2 หน่วยทหารดังกล่าวจะตรงและสั้นลงทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนวิธีการนั้นจะเสนอเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. ก็คงไม่มีอะไรแตกต่างกัน นั่นคือเหตุผลผมเห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยยกมือผ่านพระราชกำหนดดังกล่าว เพราะไม่มีอะไรเกี่ยวกับการยืนข้างประชาชนหรือมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ คนละเรื่องกันครับ".
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"