สร้างความรู้เด็กไทย ป้องกันตนจากสารพิษ


เพิ่มเพื่อน    

        ยุทธศาสตร์การศึกษาของชาติเน้นการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยทุกคนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เด็กต้องมีคือมีความรู้พื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจําวัน มีสมรรถนะขีดความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อน และสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ รวมทั้งมีทักษะสมองการคิดวิเคราะห์ และเรียนรู้ หมายรวมถึงเด็กในพื้นที่เสี่ยงผลกระทบจากโลหะหนักที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาระยะยาวต่อสุขภาพและการเรียนรู้ของเด็กได้     

                สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ริเริ่ม "โครงการวิจัยเพื่อติดตามผลกระทบจากสารโลหะหนักในเขตอุตสาหกรรม และฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางสติปัญญา กระบวนการรู้คิดและการเรียนรู้ในเด็กประถมศึกษาปีที่ 4-6" โดยการมีส่วนร่วมของคณะครู 6 โรงเรียนในจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ และการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยมีเป้าหมายเพื่อติดตามสถานการณ์ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา กระบวนการรู้คิด และการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งศึกษาปัจจัยทางด้านครอบครัวและสังคมที่มีความสัมพันธ์กับภาวะบกพร่องดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็ก โดยการมีส่วนร่วมของครู รวมทั้งให้เด็กตระหนักและมีความรู้ในการป้องกันตนเองจากสารพิษ      

                รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศยุติกิจการเหมืองทองในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสารโลหะหนักในจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ สารโลหะหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สารหนู" ซึ่งจัดว่าเป็นสารพิษที่มีฤทธิ์ต่อความผิดปกติทางปัญญา (cognitive dysfunction) ที่อาจปนเปื้อนไปกับอาหารและน้ำดื่มจากห่วงโซ่อาหารในสิ่งแวดล้อม ทั้งทางดิน น้ำ และอากาศ ส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ หรือภาวะการเจ็บป่วยหรือโรคเรื้อรัง และทักษะด้านสติปัญญา การเรียนรู้       

                จากการศึกษาติดตามผลกระทบในเด็กวัยเรียนอายุ 8-13 ปี จำนวน 199 คน ในปี 2562 พบว่ามีอุบัติการณ์การรับสัมผัสสารหนูอนินทรีย์ในปัสสาวะมากกว่าเกณฑ์ปกติ (35 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นระดับที่เป็นอันตราย)ในเด็ก ร้อยละ 4.5 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในปี พ.ศ.2559 โดยลดลงถึง 12 เท่าตัวภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในปี 2559 พบสารหนูในปัสสาวะในเด็กถึงร้อยละ 35.6 และจากการประเมินความบกพร่องทางการเรียน (Learning Disabilities: LD) ในเด็ก พบความบกพร่องทางการเรียนรู้ ร้อยละ 22.22 ส่วนการสำรวจในปี พ.ศ.2559 พบภาวะบกพร่องทางการเรียนอยู่ที่ ร้อยละ 23.5 นอกจากนั้นจากการประเมินระดับสติปัญญา (Intelligence Quotient: IQ) พบว่าเด็กมีระดับสติปัญญา IQ ปกติ (เกณฑ์เฉลี่ย) ร้อยละ 59.4 และพบว่าเด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ถึงร้อยละ 40.6                

                คุณหมออดิศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ปัญหา LD เกิดจากสารหนูส่วนหนึ่ง แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาความยากจน เพราะการยุติการประกอบกิจการเหมืองไป ทำให้พ่อแม่เด็กขาดรายได้ ทำให้ต้องไปทำงานไกลขึ้น เด็กส่วนใหญ่จึงต้องถูกทิ้งให้อยู่กับปู่ย่าตายายที่ขาดความรู้ความเข้าใจเลี้ยงดูเด็ก นอกจากนั้น พบว่าเด็กทำกิจกรรมการเล่นสร้างสรรค์ลดลง แต่ไปอยู่กับโซเชียลมีเดีย เล่นมือถือมากเกินไป จึงเกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้เช่นกัน ซึ่งหากจะมีการอนุญาตให้ประกอบกิจการเหมืองต่อในพื้นที่ รัฐบาลต้องทบทวนให้ดีว่าจะมีมาตรการที่จะป้องกันสารพิษจากโลหะหนักกับเด็กและชุมชนโดยรอบอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรไม่ให้ผลกระทบหวนกลับมาอีก หรือเมื่อกลับมาควรจะต้องมีวิธีการควบคุมที่เข้มข้นยิ่งกว่าเดิม ส่วนเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษก็ยังจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูกันอยู่ต่อไปในระยะยาว           

                ด้าน อาจารย์ ดร.นุชนาฏ รักษี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจปัญหาดังกล่าวทำให้ทราบเป้าหมายที่ชัดเจนในการฟื้นฟูและส่งเสริมเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยโครงการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสแรก คือ  

                Pre-test เด็กใน 4 ด้าน คือ 1.ดัชนีชี้วัดทางชีวภาพ (Biomarker) 2.พฤติกรรมของเด็กและครอบครัว (Behaviour) 3.สติปัญญาและการเรียนรู้ (Cognitive& Learning) และ 4.การดูแลตนเองด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (Health Literacy)             

                ขณะนี้อยู่ในเฟสที่ 2 คือ การส่งเสริมเรียนรู้และการดูแลตนเองด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในเด็ก (Intervention) โดยการลงพื้นที่จัดอบรมติดปีกความรู้ให้กับครูทั้ง 6 โรงเรียน เริ่มจากการปรับทัศนคติให้ครูเข้าใจความบกพร่องของเด็ก และตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการสังเกต ประเมิน และส่งเสริมเริ่มตั้งแต่การกับเด็กสื่อสารอย่างเข้าใจ เทคนิคกระบวนการสอน และการจัดทำสื่อเพื่อพัฒนาเด็กการเรียนรู้เด็ก

                นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้จัดทำคู่มือพร้อมสื่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสิ่งแวดล้อมแก่เด็ก เพื่อให้ครูนำไปส่งเสริมให้ความรู้แก่เด็กในการป้องกันตนเองจากสารพิษ การลดความเสี่ยงจากการได้รับสัมผัสสารพิษ จากการปนเปื้อนทั้งทางน้ำและทางอากาศ ตัวอย่างวิธีการป้องกันตนเองจากสารพิษ 1.ล้างผักผลไม้ก่อนรับประทานทุกครั้ง 2.สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีฝุ่นควันสารพิษ 3.อาบน้ำชำระล้างร่างกายทุกครั้งหลังกลับจากทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน 4.ล้างมือทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก 5.ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด 6.ดื่มน้ำที่มาจากขวดปิดสนิท หรือน้ำกรอง และ 7.สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน   

                ซึ่งหากเด็กมีความรู้สำหรับการป้องกันตนเองในเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง ย่อมช่วยหล่อหลอมจนเป็นลักษณะนิสัย และเกิดเป็นพฤติกรรมในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ ที่ผ่านมาพบว่าเด็กๆ สนุกกับการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม และยังจะช่วยเผยแพร่ความรู้นี้แก่เด็กในโรงเรียน ครอบครัว และชุมชนอีกด้วย ซึ่งเป็นการพัฒนาเด็กอย่างยั่งยืน โดยเฟสที่ 3 จะดำเนินการในปีหน้า เพื่อประเมินติดตามผลการ Intervention หรือ Post-test ต่อไปตลอด 22 ปีที่ผ่านมา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงมุ่งเป้าหมายในการเป็นหน่วยงานกลางทางวิชาการที่จะพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยโครงการวิจัยนี้ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาทั้งของสถาบันและนักศึกษาจากคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน เตรียมข้อมูล และลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูล เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งนอกเหนือจากความรู้ด้านทฤษฎีแล้ว นักศึกษาจะได้เปิดมุมมอง เรียนรู้จริงจากการได้ลงพื้นที่ปฏิบัติจริง และบางคนยังได้ประเด็นไปต่อยอดทำเป็นวิทยานิพนธ์            

                “โครงการวิจัยเราไม่ได้ทำเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เพียงอย่างเดียว แต่เด็กและครอบครัวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลงานวิจัยในพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ และขับเคลื่อนสู่สังคมและนโยบายในการเฝ้าระวัง ติดตาม ให้ส่งเสริมเด็กได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดปัญหา ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายหลักของ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะเป็นทั้งคลังและขับเคลื่อนด้านวิชาการ ความรู้ ให้นำไปสู่การพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งตรงกับยุทธศาสตร์ชาติที่เน้นการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยทุกคนต่อไป" อาจารย์ ดร.นุชนาฏ รักษี กล่าวทิ้งท้าย.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"