ชงศาลเปิดทำการวันหยุด ให้สิทธิประกันตัวผู้ต้องหา


เพิ่มเพื่อน    

  ประธานศาลฎีกาเสนอแนวคิดให้ศาลเปิดทำเพื่อพิจารณาการขออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ในวันหยุดราชการ   ขณะที่นักวิชาการ-ทนายความหนุน เพราะเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหา

    นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารสื่อมวลชนและผู้สื่อข่าวสายศาลยุติธรรมเข้าพบปะพูดคุย  หลังจากที่นายไสลเกษได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานศาลฎีกาตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.นี้ โดยนายไสลเกษกล่าวถึงการกำหนดนโยบายประธานศาลฎีกาว่า จากการที่สำนักประธานศาลฎีกาได้สอบถามความเห็นจากบุคลากรภายในองค์กร อันประกอบด้วยผู้พิพากษาและข้าราชการศาลยุติธรรม รวมทั้งสอบถามความเห็นจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนประชาชนทั่วไปในประเด็นต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลกำหนดเป็นนโยบายประธานศาลฎีกาเพื่อพัฒนาองค์กรศาลยุติธรรมนั้น โดยหลังจากสิ้นสุดการรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2562 สํานักประธานศาลฎีกาได้ประมวลผลเสนอมายังตนแล้ว ซึ่งคาดว่าจะนำข้อมูลที่มีการประมวลผลมาประกอบในการกำหนดเป็นนโยบายประธานศาลฎีกาที่พร้อมจะเผยแพร่ได้ภายในสัปดาห์หน้า 
    อย่างไรก็ดี ในการบริหารและพัฒนาองค์กรศาลยุติธรรม นายไสลเกษเผยว่า ได้ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะในเรื่องการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือการประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลย จะวางแนวทางการกำหนดมาตรการในการขอปล่อยตัวชั่วคราวที่มีความสะดวก รวดเร็ว มีความเสมอภาค และจะพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเพิ่มขึ้น โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลย และความปลอดภัยของผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมในคดี ตลอดจนความสงบสุขของสังคมเป็นสำคัญ 
    ประธานศาลฎีกากล่าวว่า จะให้ศาลเปิดทำเพื่อพิจารณาการขออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุดราชการ อันเป็นแนวทางที่จะไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมหรือขังเกินความจำเป็นในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี อันเป็นการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วย
    ขณะที่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ความคิดเห็นถึงกรณีที่นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ต้องการให้ศาลพิจารณาประกันตัวในวันหยุดว่า ถ้าหากมองโดยรวม การทำงานของข้าราชการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ศาล ถึงแม้จะมีวันพักเสาร์-อาทิตย์ แต่สำหรับผู้ต้องคดี ต้องได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือเข้าสู่กระบวนการประกันตัว ถ้าต้องรอเสาร์-อาทิตย์ ติดวันศุกร์รอวันจันทร์ เท่ากับว่าต้องขังไปแล้ว 2-3 วัน ก่อนที่จะได้ดำเนินการ ส่วนใหญ่แล้วเรื่องของการประกันตัวต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ไม่ใช่แป๊บเดียวทำได้
    “เพราะฉะนั้นการที่เปิดให้วันเสาร์-อาทิตย์ด้วย วันหยุดราชการด้วย หรืออาจจะรวมวันหยุดนักขัตฤกษ์ด้วย ยิ่งเป็นเรื่องดี เพราะโดยหลักแล้วถ้าไม่มีปัญหาว่าจะหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปกระทำผิดเพิ่ม ก็ต้องได้รับการปล่อยชั่วคราวอยู่แล้ว จะปล่อยชั่วคราวโดยให้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้มีบุคคลค้ำประกันหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องที่เราพูดกันง่ายๆ ว่าการประกันตัวสมควรที่จะให้พี่น้องประชาชนได้รับอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีวันเสาร์-อาทิตย์ด้วยยิ่งดี” นายเจษฎ์กล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีข้อเป็นห่วงเรื่องการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นหรือการทำงานของศาลที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ นายเจษฎ์กล่าวว่า ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นคงแน่นอน การทำงานเพิ่มขึ้นของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของศาลต้องมีแน่ ตนคิดว่าอาจจะต้องเวียนให้ท่านได้หยุด คนที่ทำวันเสาร์-อาทิตย์ อาจต้องให้หยุดในวันธรรมดาด้วย สมมติให้แต่ละท่านทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ก็ต้องมีวันอื่นให้ท่านได้หยุด หรือถ้าทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ก็ต้องมีเบี้ยพิเศษให้ท่านในวันที่เป็นวันหยุด ก็ต้องทำความเข้าใจว่างบประมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องอำนวยความสะดวกและเอื้อประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนมากขึ้น ตนพร้อมสนับสนุน เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน
    ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความสิทธิมนุษยชนและเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) กล่าวว่า การพิจารณาปล่อยชั่วคราวในวันหยุดราชการ อาจเป็นมาตรการผ่อนคลายการจำกัดสิทธิเสรีภาพให้ดีขึ้นก็ได้ แต่การขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญานั้น พูดตามตรงว่าเป็นภาระกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา เพราะการดำเนินคดีในบ้านเรา เป็นระบบกล่าวหา ที่เน้นระบบการควบคุมอาชญากรรมโดยให้อำนาจอย่างกว้างแก่เจ้าพนักงานของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายและมุ่งที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ จึงส่งผลให้รัฐต้องควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้เพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนีไปก่อภยันตรายแก่สังคม อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ถูกควบคุมหรือคุมขัง
    นายวิญญัติกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้โดยไม่ต้องมีประกัน หากมีเหตุจำเป็นต้องมีหลักประกันให้วงเงินไม่เกิน 200,000 บาท เว้นแต่มีเหตุสมควรที่จะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ให้ระบุเหตุนั้นไว้โดยชัดแจ้ง ตนเห็นว่าหากสามารถนำไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ในชั้นสอบสวนของตำรวจหรืออัยการได้ด้วยจะดีมาก
    "แม้ตามหลักการสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญจะให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดก็ตาม แต่ก่อนจะมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ต้องผ่านกระบวนการทางคดีอาญาตั้งแต่ชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ กระทั่งมาถึงชั้นศาล ซึ่งมีระยะเวลาพอสมควรถึงยาวนานในบางคดี ดังนั้น เส้นทางในระหว่างเริ่มต้นกว่าคดีจะถึงที่สุดก็ต้องได้รับโอกาสในการปล่อยชั่วคราว โดยต้องถือหลักพึงมีสิทธิที่จะได้รับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก การจะไม่อนุญาตเป็นข้อยกเว้น แต่ในทางปฏิบัติกลับมีปัญหาหลายประการที่ศาลใช้ดุลพินิจตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 108, 108/1 และ 109 เป็นการจำกัดสิทธิอยู่ดี แต่หากปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขอนุญาตไว้สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และไม่เป็นการเพิ่มจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำอีกด้วย" นายวิญญัติกล่าว
    ทนายความผู้นี้กล่าวด้วยว่า ทุกฝ่ายหากเข้าใจถึงหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้รับ และที่สำคัญหากลดปัญหาของการเลือกปฏิบัติหรือความไม่เสมอภาคลงได้ โดยรัฐต้องตระหนักให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มากกว่าการดำเนินนโยบายป้องกันและปราบปรามของรัฐ เพราะในระยะหลัง รัฐกลายเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง จึงมักใช้อำนาจในการดำเนินคดีอาญาเป็นเครื่องมือหนึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจึงต้องช่วยกันสร้างสมดุลยภาพระหว่างความยุติธรรมในการปล่อยชั่วคราวกับการดำเนินคดีอาญา.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"