ขวาง‘ทอน’นั่งกมธ.งบ63 ชงชวนวินิจฉัยคุณสมบัติ


เพิ่มเพื่อน    

 "ทอน" โดนอีก "สุชาติ" ทำหนังสือถึง "ชวน" วินิจฉัยนั่ง กมธ.วิสามัญงบฯ ปี 63 ได้หรือไม่ ชี้ไม่เหมาะสม หลังศาล รธน.สั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ที่ปรึกษารองประธานสภาฯ ยันเข้ามาในฐานะ ส.ส.ไม่ได้ ถ้าใช้สิทธิ์คนนอกก็ต้องลาออกจาก ส.ส.ก่อน ข้องใจเจตนาทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะหรือไม่ แนะส่งศาล รธน.ตีความ "ธนาธร" เมิน ระบุปล่อยไปตามกระบวนการ "ปิยบุตร" ปัดเป็นเผด็จการในพรรค จ่อนัดคุยปัญหาทั้งหมดหลังเลือกตั้งซ่อม ลั่นลาออกเป็นเสรีภาพ มีคนเข้าก็มีคนลาออกปกติ 

    เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม  มีรายงานจากรัฐสภาระบุว่า นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ในฐานะผู้รับผิดชอบส่วนงานร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ใช้อำนาจประธานสภาฯ วินิจฉัยคุณสมบัติของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างต้องคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว จะสามารถดำรงตำแหน่ง กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ได้หรือไม่ ทั้งนี้ ในหนังสือที่ส่งถึงนายชวน มีทั้งสาระที่เป็นความเห็นทางข้อกฎหมายและความเห็นส่วนตัว 
    โดยความเห็นทางกฎหมายของฝ่ายกฎหมายสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกมธ.ได้ เพราะก่อนหน้านั้นมี ส.ส.ที่เคยถูกคำสั่งศาลให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.สามารถแต่งตั้งให้เป็น กมธ.วิสามัญสัดส่วนบุคคลภายนอกได้ แต่ความเห็นส่วนตัวของนายสุชาติเห็นว่านายธนาธรไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็น กมธ.วิสามัญงบฯ ได้ เพราะไม่เหมาะสม อีกทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดไว้ไม่ชัดเจน
    ด้านนายทศพล เพ็งส้ม ที่ปรึกษารองประธานสภาฯ (นายสุชาติ ตันเจริญ) สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวในรายการ "มองรัฐสภา” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาว่า อำนาจการตั้ง กมธ.วิสามัญของสภาฯ บัญญัติไว้ในมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า สภามีอํานาจเลือกบุคคลผู้เป็น ส.ส.หรือมิได้เป็น ส.ส.ตั้งเป็น กมธ.วิสามัญเพื่อกระทํากิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ และรายงานให้สภาทราบตามระยะเวลาที่กําหนด ฉะนั้นจึงมี 2 ทางเลือกสำหรับ กมธ.วิสามัญ ว่าจะเป็น ส.ส.หรือบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ได้ จึงต้องถามว่าคุณธนาธรเข้ามาในเงื่อนไขไหน ถ้าเข้ามาในฐานะ ส.ส. ถือว่าไม่ได้เลย เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงทำหน้าที่ ส.ส.ไม่ได้ ส่วนจะใช้สิทธิ์คนนอกก็มีปัญหาอีกว่านายธนาธรเป็นคนนอกหรือไม่ เพราะยังมีสมาชิกภาพ ส.ส.อยู่ ไม่สามารถถอดสถานะ ส.ส.และเดินเข้ามาในฐานะคนนอกได้เอง
     "สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากว่านายธนาธรขาดคุณสมบัติในการที่จะเข้ามาเป็น กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่กำลังจะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 24 ต.ค.นี้แล้ว หากมีการเสนอความเห็นหรือสงวนความเห็น ตลอดจนร่วมลงมติใดๆ ก็อาจส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 เป็นโมฆะได้ ดังนั้นเจตนารมณ์ของเขาเพื่อให้กฎหมายใช้ไม่ได้หรือไม่ เพราะเอาคนที่ขาดคุณสมบัติการเป็น กมธ.วิสามัญมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 จึงควรที่จะมีการยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน มิเช่นนั้นหากสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 แล้วเสร็จในวาระที่ 2 และ 3 เกิดมีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ามีผู้ขาดคุณสมบัติร่วมเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว"
มีปัญหา อนค.ต้องรับผิดชอบ
     ที่ปรึกษารองประธานสภาฯ กล่าวต่อว่า ในกระบวนการมี 2 ทางเลือก หนึ่ง คุณธนาธร ต้องไปลาออกจาก ส.ส. เพื่อใช้สถานะคนนอกเข้ามาเป็น กมธ.วิสามัญ หรือสอง หากอยากเป็น ส.ส. ต้องลาออกจาก กมธ.วิสามัญ ต้องเลือกเอาว่าอยากเป็นอะไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องกีดกันการทำหน้าที่ของนายธนาธร เพียงแต่เป็นการทำเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น มิเช่นนั้นก็จะมีคนมองว่าพรรคอนาคตใหม่ตั้งคนที่ขาดคุณสมบัติ พรรคคุณต้องรับผิดชอบ หากกฎหมายมีปัญหา ในกรณีที่นายธนาธรขาดคุณสมบัติ ซึ่งส่งผลต่อการทำหน้าที่ของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ประธานสภาฯ อาจต้องเรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง กมธ.แทนนายธนาธร เพื่อให้ครบ 64 คน ตามมติที่ประชุมสภา 
    "ช่วงที่พรรคอนาคตใหม่เสนอชื่อนายธนาธรเมื่อวันที่ 19 ต.ค.นั้น ที่ประชุมสภาอาจจะยังไม่ทราบว่าประเด็นคุณสมบัติดังกล่าวจึงไม่มีผู้คัดค้านหรือทักท้วง แต่เมื่อมีประเด็นขึ้นมา ก็ต้องมาตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อความถูกต้อง ผู้ที่เป็นประธานในการดำเนินการประชุม กมธ.วิสามัญฯ นัดแรก ในวันที่ 24 ต.ค.นี้ จำเป็นต้องหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะไม่สามารถเริ่มประชุมได้ ก่อนทำหนังสือแจ้งประธานสภาฯ ต่อไป" นายทศพลกล่าว
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีหลังจากสภาพิจารณาผ่านวาระแรก รัฐบาลจะดำเนินการต่อไปอย่างไรว่า รัฐบาลไม่มีการดำเนินการ เป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว โดยต้องใช้เวลา 105 วัน โดยประมาณ ซึ่งเมื่อผ่าน กมธ.แล้วจะผ่านเข้าวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งนี้ อย่าไปกังวลว่างบประมาณจะผ่านหรือไม่ผ่าน ขอให้ดำเนินการด้วยความถูกต้อง และจะส่งต่อเข้าสู่การประชุมวุฒิสภากลางเดือน ม.ค.63 ซึ่งการพิจารณาของวุฒิสภาจะใช้เวลาประมาณ 20 วัน คาดจะเสร็จสิ้นภายในปลายเดือน ม.ค.63 หลังจากนั้นจะทูลเกล้าฯ ถวาย หากไม่มีเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามปกติ แต่รัฐบาลเชื่อมั่นว่าไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านจะคิดอย่างไร
      "ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ต้องมีการระมัดระวัง เนื่องจากการพิจารณางบประมาณครั้งนี้ไม่เหมือนการพิจารณางบประมาณที่ผ่านมา ต้องระวังมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ คือต้องไม่นำงบประมาณไปใช้เป็นของส่วนตัว อาทิ การแปรญัตติที่นำงบมาเข้าประโยชน์ของตนเอง แต่การโยกงบประมาณภายในกระทรวงนั้นไม่เป็นปัญหา เพราะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว" นายวิษณุกล่าว  
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความคุณสมบัติของนายธนาธร ที่จะร่วมเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ตามที่พรรคอนค.เสนอ ว่าเรื่องนี้เป็นมุมมองทางกฎหมาย แต่ส่วนตัวเชื่อว่านายธนาธรสามารถนั่งเป็น กมธ.งบประมาณฯ ได้ เพราะโควตาบุคคลภายนอกที่เข้ามาเป็นกรรมาธิการก็มีเยอะ และที่ผ่านมาที่ศาลสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ดังนั้นนายธนาธรก็เข้ามาทำหน้าที่โดยไม่ได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส.แต่อย่างใด ส่วนที่ ส.ส.พปชร.ระบุให้นายธนาธรลาออกจาก ส.ส.ก่อนจึงจะใช้โควตาคนนอกได้นั้น ที่ผ่านมานายธนาธรแทบจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ส.ส.อยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องนี้อยู่ที่ใจของสมาชิกว่าจะเปิดโอกาสให้กับคนอื่นแค่ไหน หรือจะคอยตามบี้ตามกีดกันไปทุกอย่าง
    เมื่อถามว่าความวุ่นวายของ ส.ส.ในพรรค อนค.จะกระทบต่อการพิจารณางบประมาณในวาระ 2-3 ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่นั้น นายสุทินกล่าวว่า เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะกว่าจะโหวตในวาระ 2-3 ยังอีกนาน เชื่อว่าพรรค อนค.จะสามารถจัดการปัญหาภายในได้ทัน
ปล่อยตามกระบวนการ
     ทางด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เป็นสิทธิของพรรค พปชร. คงจะห้ามอะไรไม่ได้ ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการไป
    เมื่อถามถึงกรณีที่ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค อนค. เดินทางเข้าไปพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ภายหลังจากที่มีการโหวตสวนมติพรรค นายธนาธร กล่าวว่า พอทราบเรื่องแล้ว แต่ภายในพรรคยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ตอนนี้เรากำลังให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งซ่อม หลังจากรู้ผลการเลือกตั้งวันนี้แล้วคงจะได้เข้าไปปรึกษาหารือกันในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพรรค ตอนนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจในกรณีใดๆทั้งนั้น 
     นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ศรีนวลไปพบกับนายอนุทิน ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนให้เห็นระบบการบริหารราชการรวมศูนย์ของประเทศไทย ที่ทำให้ ส.ส.เขตของประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งความจริงแล้วหน้าที่หลักของ ส.ส.คือการออกกฎหมายระดับชาติ และรับทราบถึงปัญหาของประชาชนในเขต ซึ่งหน้าที่การแก้ปัญหาควรเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หากประเทศไทยมีการกระจายอำนาจได้อย่างแท้จริง ภารกิจเรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง มีงานทำ โรงพยาบาล ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ก็จะเป็นของ อปท.ทั้งหมด ซึ่งเราเข้าใจการทำงานของ ส.ส.เขต
    เมื่อถามว่า มองว่าอาจจะมีการย้ายพรรคหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ทางผู้บริหารของพรรคเชื่อมั่นในตัวคุณศรีนวล เพราะท่านเป็น ส.ส.ที่เราภาคภูมิใจ เป็นตัวแทนของคนที่พูดภาษาคำเมืองในสภา เป็นตัวแทนการแสดงอัตลักษณ์ของคนภาคเหนือ ที่สำคัญคุณศรีนวลเป็นคนขานเสนอนายธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันโหวตนายกฯ อีกด้วย เพราะฉะนั้นเรามั่นใจ ทั้งนี้ หลังจากการเลือกตั้งซ่อมเสร็จ ก็จะมีการพูดคุยกันทั้งหมดเลย ทุกกรณีที่มีปัญหาก็จะมาคุยในครั้งนี้
    เมื่อถามถึงกรณีนายนิรามาน สุไลมาน ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค นายปิยบุตรกล่าวว่า นายนิรามาน เป็นกรรมการบริหาร ซึ่งตนก็เรียกแกว่าอาจารย์บ้าง หรือพี่นิรามานบ้าง เป็นผู้ใหญ่ที่สมาชิกพรรคเราเคารพนับถือ และเป็นกำลังสำคัญของเราในการรณรงค์หาเสียงของเราในหลายพื้นที่ ตนเข้าใจดีว่าสมาชิกแต่ละท่าน ส.ส.แต่ละคน มีข้อจำกัดส่วนตัวในการลงคะแนน อย่างการลงคะแนนเรื่องคณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ ก็มี ส.ส.ที่เป็นคริสเตียนและมุสลิม ขออนุญาตในที่ประชุมพรรค ด้วยเงื่อนไขทางความเชื่อว่าโหวตรับไม่ได้ ก็ได้ทางออกเป็นการงดออกเสียง
    “กลไกที่เราออกแบบไว้มีวิธีการจัดการปัญหาภายในโดยใช้กลไกในการประชุม ส.ส.ของพรรค ซึ่งเราเปิดโอกาสให้มีการอภิปราย ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่ ซึ่งยืนยันว่ามีหลายครั้งที่ผมและหัวหน้าพรรคเองเป็นเสียงข้างน้อย การที่สมาชิกพรรคเห็นด้วยหรือเห็นต่างกันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ความแตกต่างเหล่านี้สะท้อนในมุมกลับด้วยซ้ำว่าข้อกล่าวหาที่บอกว่าหัวหน้าพรรคหรือผมเป็นเผด็จการในพรรคนั้น ไม่เป็นความจริงเข้าไปใหญ่ เพราะเราเปิดโอกาสให้ ส.ส.ในพรรคได้แลกเปลี่ยน หากเราเป็นเผด็จการจริง คงไม่มีความคิดแตกต่างที่ออกไป"
ลาออกเป็นเสรีภาพ
    เลขาธิการพรรค อนค.กล่าวว่า ทุกคนยังสามัคคีกันดี หากเราคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคจำนวนมากก็ยังคงทำงานกับพรรค แม้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งอะไรเลย คนที่เข้าแข่งขันไพรมารีโหวตของพรรคในหลายพื้นที่ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นสมาชิกพรรค และยังรณรงค์อย่างขยันขันแข็งกับพรรค ข่าวที่ออกไปเป็นความเห็นที่แตกต่าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของพรรค เราพยายามสร้างพรรคเป็นของสมาชิกทุกคน เราเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในพรรคหากมีอุดมการณ์เดียวกัน
    “ตอนเราคัดเลือกผู้สมัคร เรามีการสอบสัมภาษณ์ สอบข้อเขียนให้ทำด้วย มีระบบการคัดกรองอย่างเต็มที่ เราพยายามทำให้พรรคเป็นของทุกคนจริงๆ ส.ส.เองก็ต้องช่วยเหลือพรรคโดยการหักเงินเดือน เดือนละ 15-20% เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของพรรค และขอยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่บ้านของใครคนใดคนหนึ่งที่จะมาอาศัยชื่อพรรคเพื่อให้ตัวเองได้เป็น ส.ส. ในส่วนของอดีตผู้สมัครส.ส.ที่ยืนใบลาออก เป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละคน เวลาที่เขามาสมัครเขาอาจเห็นด้วยกับแนวทางของเรา บางคนอาจเหนื่อยล้าบ้าง ไม่อยากอยู่ในวงการการเมืองแล้ว บางคนอาจเห็นไม่ตรงกันกับพรรค ทางออกที่ดีคือการลาออก มีคนเข้า ก็ต้องมีคนออกเป็นเรื่องปกติ"
    เมื่อถามถึงกระแสข่าวการซื้องูเห่าโดยพรรครัฐบาล นายปิยบุตรกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมองโครงสร้างเป็นหลัก ตนไม่เคยตำหนินักการเมืองในกรณีแบบนี้ แต่ควรตำหนิที่สุดคือโครงสร้างที่ทำให้นักการเมืองมีพฤติกรรมแบบนี้ หากรัฐธรรมนูญออกแบบมาดีก็จะไม่มีรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และย่อมไม่มีการติดต่อทาบทามการซื้องูเห่า
    นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนคดีที่นายธนาธรปล่อยเงินกู้ให้กับพรรคอนาคตใหม่ว่า อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้น ซึ่งคงจะเสนอความเห็นในไม่ช้านี้ ไม่ถือว่าช้าหรือเร็วไป เพราะต้องทำตามลำดับขั้นตอน ซึ่ง กกต.ไม่สามารถไปเร่งรัดได้
     นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ กกต.มีคำวินิจฉัยที่ 152/2562 เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2562 โดยยกคำร้องกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แถลงข่าวว่าเมื่อตนเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองจะโอนหุ้นของบริษัทมหาชนในเครือซัมมิทให้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด บริหารจัดการทรัพย์สินแทนในรูปของบลายด์ทรัสต์ ซึ่งกกต.เห็นว่าการกล่าวอ้างของนายธนาธรในลักษณะเช่นนี้ มีลักษณะเป็นเพียงการหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองเท่านั้น ไม่เป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 ม.73 (5) จึงยกคำร้องนั้น
     "ปรากฏหลักฐานโดยชัดแจ้งว่าหุ้นของบริษัทมหาชนในเครือซัมมิทดังกล่าวนายธนาธรยังคงถืออยู่ จะไม่เรียกว่าเป็นการหาเสียงหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นได้อย่างไร หรือว่าจะมีงูเห่าเกิดขึ้นในศูนย์ราชการ ดังนั้นสมาคมฯ จำต้องนำหลักฐานดังกล่าวไปยื่นอุทธรณ์ต่อ กกต. เพื่อขอให้ทบทวนการวินิจฉัยดังกล่าวอีกครั้ง เพราะถือว่าเป็นข้อมูลใหม่ตามกฎหมาย ที่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ โดยจะนำหลักฐานไปยื่นคำร้องในวันพฤหัสฯ ที่ 24 ต.ค.2562 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน กกต. ศูนย์ราชการฯ" สมาคมฯ ระบุ 
    ส่วนนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะกรรมาธิการงบประมาณ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การจัดทำงบประมาณปี 2563 เป็นการจัดทำงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การชี้แจงจากสำนักงบประมาณ ไม่สามารถอธิบายได้ถึงข้อสงสัยที่สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านสอบถาม รวมทั้งมีการเลือกใช้กฎหมายวินัยการเงินการคลังและกฎหมายวิธีการงบประมาณบางมาตรา ส่วนกองทุนหรือทุนหมุนเวียน มีการทำเสนอของบประมาณมาเพียงบางหน่วยงานเท่านั้นจากทั้งหมด ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดกฎหมาย จากการสอบถามไม่มีคำตอบจากสำนักงบประมาณว่าทำไมมีการดำเนินการเช่นนี้ ทางสำนักงบฯ ไร้คำตอบให้กับ กมธ.การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ รัฐบาลใช้วิธีเอาการจัดทำงบประมาณสมัยรัฐบาลคสช.มาจัดทำใหม่ ส่งผลให้คำของบประมาณไม่สอดรับนโยบายที่แถลงต่อสภา อยากตั้งข้อสังเกตว่ามีการเอาแผนงานงบประมาณเก่ามายำใหม่ แล้วใส่นโยบายเร่งด่วนเข้าไป จึงไม่มีการของบประมาณในการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญลงไปด้วยใช่หรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"