จอมพล ป.'พิบูลซัง' ที่คนญี่ปุ่นรู้จัก


เพิ่มเพื่อน    


    ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2499 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2499 ฉบับใหม่ และกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 จอมพล ป.  พิบูลสงคราม ในฐานะหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา พร้อมด้วยสมาชิกพรรคอีก 8 นายลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดพระนคร ผลปรากฏว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามพร้อมด้วยสมาชิกพรรคอีก 6 นายได้รับเลือกตั้ง 
    ส่วนในต่างจังหวัดสมาชิกของพรรคได้รับเลือก 79 นาย รวมเป็นผู้แทนสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา  86 นาย จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนทั้งหมด 160 นาย พรรคเสรีมนังคศิลาจึงรับหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลโดยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2500
    แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะทำให้จอมพล ป.พิบูลสงครามได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่ชัยชนะของรัฐบาลในครั้งนี้ถูกนักศึกษาที่ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งจับได้ว่ามีการโกงการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก  นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากกว่า 5,000 คนได้ชุมนุมประท้วง การเลือกตั้งสกปรก โดยพากันเดินขบวนประท้วงไปตามถนนราชดำเนิน มุ่งไปยังทำเนียบรัฐบาล และมีการชุมนุมไฮด์ปาร์คของประชาชนนับหมื่นคนที่สนามหลวงเพื่อขับไล่รัฐบาล
    การเลือกตั้งสกปรกและการประท้วงการเลือกตั้งของนักศึกษา ประชาชน ทำให้สถานะความชอบธรรมทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงครามตกต่ำและหมดไปในที่สุด พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลาออกจากคณะรัฐบาลเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 และนำคณะทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีจึงสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการรัฐประหาร และได้ตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยทางจังหวัดตราด เข้าสู่กัมพูชาและไปลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น


    จอมพล ป. พิบูลสงครามได้พำนักในประเทศญี่ปุ่น ที่ตำบลชินจูกุ ชานกรุงโตเกียวเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีเต็ม ในบ้านของนายวาด้า คหบดีญี่ปุ่น ผู้จัดการบริษัทน้ำมันมารูเซ็น ซึ่งได้ยกบ้านหลังหนึ่งให้เป็นที่อยู่อาศัย ต่อมาได้เดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา พักที่เมืองเบิร์กเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะกลับมายังประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง และได้เดินทางไปอุปสมบทที่วัดไทยพุทธคยา  ประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2503 ตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้ รวมเวลาที่อยู่ในเพศบรรพชิต 24  วัน
    เมื่อลาสิกขาแล้วได้เดินทางกลับมาพำนักอยู่ที่บ้านเดิมของนายวาด้า จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม  พ.ศ.2506 จึงย้ายเข้าบ้านหลังเล็กที่ซื้อไว้ที่เมืองซากามิฮาร่า ห่างจากกรุงโตเกียวประมาณ 30 กิโลเมตร และได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในบ้านหลังนี้อย่างสงบ
    ในระหว่างที่พำนักในประเทศญี่ปุ่น จอมพล ป. พิบูลสงครามมีอาการเจ็บไข้เล็กๆ น้อยๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของอากาศ มีเพียงครั้งเดียวที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ผ่าตัดถุงน้ำดีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2506 ภายหลังการผ่าตัดสุขภาพอนามัยของจอมพล ป. พิบูลสงครามแข็งแรงดี โดยมีกิจกรรมที่โปรดปรานคือการขับรถไปทัศนาจรในที่ต่างๆ ระยะไกล เล่นกอล์ฟ พรวนดินทำสวน ปลูกต้นไม้ 
    ในยามว่างจอมพล ป. พิบูลสงครามมักจะพาครอบครัวไปเที่ยวตามเมืองต่างๆ หลายแห่งที่มีสิ่งน่าสนใจ บางครั้งก็พาไปทานอาหารตามภัตตาคารที่มีชื่อเสียงในโตเกียว บ่อยครั้งก็พาไปตามร้านอาหารเล็กๆ นอกเมืองที่มีอาหารพิเศษของร้านโดยเฉพาะ และที่บ้านซากามิฮาร่าในตอนกลางวันมักจะมีแขกเหรื่อมาเยี่ยมเยียนจอมพล ป. พิบูลสงครามทุกวันตั้งแต่เช้า 
    หลังอาหารกลางวันจอมพล ป. พิบูลสงครามมักจะนอนพักถ้าไม่ขับรถออกไปเที่ยวนอกเมือง ครั้นเวลาเย็นจะลงสวนปลูกต้นไม้พรวนดินและแต่งสวนสนามหญ้า จนถึงเวลาอาหารค่ำจึงขึ้นบ้าน จอมพล ป. พิบูลสงครามจะอยู่ท่ามกลางมิตรสหายใจดีทั่วไป ชาวญี่ปุ่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะรู้จักจอมพล ป. พิบูลสงครามในนาม "พิบูลซัง" เป็นอย่างดี


    จอมพล ป. พิบูลสงครามมีกิจวัตรประจำวันเช่นนี้มาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็ปรากฏอาการเจ็บหน้าอกซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว จนกระทั่งวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2507 จอมพล ป. พิบูลสงครามถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย รวมอายุได้ 66 ปี 10 เดือน 11 วัน พิธีฌาปนกิจศพจอมพล ป. พิบูลสงครามประกอบขึ้นที่วัดเรอิเกนจิ ตำบลโกทันดา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2507  โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก พล.ท.วิทูร หงสเวส เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว อัฐิของจอมพล ป. พิบูลสงครามทั้งหมดได้ถูกเชิญมายังประเทศไทยเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2507
    จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้ที่ได้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติในหลายๆ ด้าน ตลอดระยะเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดคือ 14 ปี 11 เดือน 18 วัน ได้รับประกาศเกียรติคุณจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นเป็นคนแรก ดังนั้นพิธีต้อนรับอัฐิที่สนามบินดอนเมืองจึงจัดอย่างสมเกียรติท่ามกลางข้าราชการและประชาชน ตลอดจนพระภิกษุจากอารามต่างๆ อีกหลายรูปซึ่งเดินทางมาร่วมในพิธีต้อนรับอัฐิจอมพล ป. พิบูลสงครามกลับสู่ประเทศไทย
    อัฐิของจอมพล ป. พิบูลสงครามถูกเชิญมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านซอยชิดลมจนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2507 จึงได้นำไปบรรจุในเจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ร่วมกับอัฐิของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
    อัฐิอีก 2 ชิ้น ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้มอบให้โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนแรกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อีกชิ้นหนึ่งได้เชิญไปบรรจุไว้ในเจดีย์องค์เล็กร่วมกับบิดา มารดาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในบริเวณวัดปากน้ำ ริมคลองบางเขนเก่า จังหวัดนนทบุรี.
-------------------------
ข้อมูล: สถาบันพระปกเกล้า, รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"