ปี68ได้ใช้รถไฟ3สนามบิน ซีพีทุ่ม1.4แสนล.มักกะสัน


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ ปลื้มเซ็นสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินฉลุย เล็งตอกเสาเข็มปลายปีหน้า เปิดใช้ปลายปี 68 กระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียสร้างอาชีพกว่าแสนตำแหน่ง ซีพีทุ่มลงทุนมักกะสัน 1.4 แสนล้าน เนรมิตอสังหาริมทรัพย์ไฮเอนด์ รัฐบาลเดินหน้ารถไฟเร็วสูงอีก 2 เส้นทาง 

    ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยนายวราวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพีเอช) โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ 
    จากนั้นร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)  หรืออีอีซี  โดยนายคณิตศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. รฟท. โดยนายวรวุฒิ และกลุ่มซีพีเอช โดยนายศุภชัย 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทพันธมิตรของกลุ่มซีพีเอช ได้เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย
    ภายหลังการเซ็นสัญญา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ดีใจกับความก้าวหน้าของโครงการ เพราะเห็นว่าเราทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้มากว่า 2 ปีแล้ว วันนี้ถือเป็นการนับหนึ่งลงนามสัญญาในการเริ่มก่อสร้าง โดยมีหลายภาคส่วนมาร่วมมือกัน ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงแต่เป็นการเชื่อมทั้ง 3 สนามบิน ยังเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่นด้วย 
    สำหรับภาพรวมในการลงทุนขั้นต้นกว่า 2 แสนล้านบาท โดยเราจำเป็นต้องพัฒนาประเทศไทย ทั้งในเรื่องทางบก รถไฟฟ้าความเร็วสูง ทางอากาศ รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด ทั้งหมดคือการช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ และวางอนาคตที่เป็นความร่วมมือของ 3 ประเทศร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีอิตาลีมาร่วมด้วยในส่วนของการเดินรถ ตามสัญญาการร่วมทุน PPP ซึ่งเป็นการลงทุนใหม่ของเราที่มีกฎหมายกำกับควบคุมทุกตัว ขอให้เชื่อมั่นไว้วางใจว่าเราเดินมาก้าวหนึ่งแล้ว และขอให้ทุกคนสนับสนุนให้เดินไปสู่ก้าวที่สองให้ได้
    ส่วนการก่อสร้างคาดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามสัญญา แต่ทั้งนี้ได้หาทางออกไว้แล้วในกรณีที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อย่างกรณีการรื้อย้ายสาธารณูปโภคเดิมที่กีดขวางในเส้นทางการก่อสร้าง จำเป็นต้องแก้ปัญหาให้ในฐานะความรับผิดชอบของรัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทยได้เป็นเจ้าภาพในการประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลงานนี้ถือว่าเป็นผลงานของรัฐบาลชุดที่แล้วที่ปัญหายังไม่จบ และรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้สานต่อในการเรื่องการลงนามสัญญาก่อสร้าง
    “ความมุ่งหมายเราจะต้องมองไปยังอนาคตข้างหน้า เพราะถ้ามองปัจจุบันก็จะเห็นแต่ปัญหาของเรา เห็นถึงการที่จะต้องดูแลประชาชนของเรา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีรายได้เพิ่ม อาจไม่เร็วนัก เพราะจะต้องใช้เวลาก่อสร้าง แต่สิ่งสำคัญเมื่อสำเร็จ จะเกิดผลหลายอย่าง ทั้งผลต่อเศรษฐกิจ การจ้างงาน การขยายเมืองใหม่ การเพิ่มพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องลดผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยทุกสถานีที่รถไฟจอดล้วนมีโอกาสเติบโตทั้งสิ้น ทำให้เกิดการเชื่อมต่อเส้นทางและเปิดพื้นที่เชื่อมต่อพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศการขนส่งสินค้า เกี่ยวข้องการโลจิสติกส์ของไทย ตลอดจนรถไฟรางคู่ เครื่องบินก็จะมาจอดยังพื้นที่ดังกล่าว โดยไม่ต้องห่วง เชื่อว่ารัฐบาลสามารถขับเคลื่อนได้” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงนามรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีอีซี (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร 2.24 แสนล้านบาท เป็นโครงการประวัติศาสตร์ที่จะพลิกโฉมไปสู่ยุคใหม่ของระบบรางประเทศไทย สนับสนุนการเดินทางแบบไร้รอยต่อระหว่างระบบขนส่งคมนาคม ไปพร้อมกับยกระดับไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว  ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่าสูงที่สุดตั้งแต่ไทยเคยพัฒนาระบบขนส่งมวลชน แน่นอนว่าไม่เพียงเกิดประโยชน์ต่อประชาชนไทย ทั้งการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโครงการไม่ต่ำกว่า 100,000 ตำแหน่ง แต่ยังเกิดประโยชน์กับประชากรเอเชียที่สามารถเดินทางถึงกันได้แบบไร้รอยต่อ ผ่านเส้นทางรถไฟไฮสปีดในไทย 2 สาย ได้แก่ ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย และช่วงดอนเมือง-อู่ตะเภา
     นายอนุทินกล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างอีกหลายโครงการมูลค่ารวมหลายแสนล้านบาท เช่น เมืองการบินอู่ตะเภา วงเงิน 2 แสนล้านบาท และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ซึ่งโครงการนี้จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนที่จะเข้ามาในไทย ถือเป็นเรื่องที่ดีในการพัฒนาอีอีซี ผลักดันประเทศไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ สร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทย
    นายหยาง จินจุน รองประธานบริษัท China Railway Construction Corporation หรือ CRCC กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนในประเทศไทย ในวันที่การเดินทางสะดวกมากขึ้น ย่อมเป็นสิ่งจูงใจให้โอกาสไหลเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งผลประโยชน์ยังกระจายโอกาสไปยังเพื่อนบ้านในอาเซียนและมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจในทวีปเอเชียได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม รู้สึกยินดีมากที่ได้ร่วมลงทุนระหว่างจีน-ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง
    ขณะที่นายศุภชัยกล่าวว่า โครงการนี้ต้องเริ่มการก่อสร้างภายใน 12 เดือน และแล้วเสร็จภายใน 5 ปี คือเริ่มต้นก่อสร้างในช่วง ต.ค.2563 และเปิดบริการในช่วงปลายปี 2568 ซึ่งในส่วนของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เป็นส่วนการก่อสร้างได้เร็วที่สุด เนื่องจากได้เตรียมรองรับรถไฟความเร็วสูงไว้แล้ว แต่ส่วนดอนเมือง-พญาไท และพื้นที่สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา น่าจะเป็นส่วนที่มอบพื้นที่ยากที่สุด อย่างไรก็ตาม ด้านการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บนที่ดินมักกะสันนั้นจะมีการลงทุนราว 140,000 ล้านบาท เน้นพัฒนาเป็นพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ ศูนย์วิจัยฯ รวมถึงรีเทล โรงแรม เพื่อรองรับกลุ่มนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว และผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 
    ส่วนด้านเงินกู้นั้น จะมาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีธนาคารจากจีนและญี่ปุ่น รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ขณะที่การแบ่งงานภายในกลุ่มพันธมิตร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน และบริษัท ช.การช่าง จำกัด มหาชน มีความสามารถในการก่อสร้างด้านโยธา บริษัท China Railway construction Corporation limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เชี่ยวชาญเรื่องระบบรางรถไฟความเร็วสูงและการบริหารงานเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง และการจัดหาดำเนินการรถไฟ สำหรับบริษัทจากประเทศอิตาลีเชี่ยวชาญการบริการหลังจากเอาระบบรถไฟขึ้น ซึ่งพาร์ตเนอร์ทั้ง 3 หน่วยงานนั้น มีความเข้มแข็ง ส่วนตัวเลขสัดส่วนผู้ถือหุ้นยังไม่สามารถบอกได้     
    นายคณิตกล่าวว่า ถือเป็นโครงการแรกที่เข้าสู่กระบวนการรัฐร่วมลงทุนกับเอกชนของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ความชัดเจนในการส่งมอบพื้นที่แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงให้แก่เอกชนจะดำเนินการในระยะกรอบเวลาสูงสุดไม่เกิน 2 ปี 3 เดือน ส่วนกรณีที่จะผลักดันให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ตอนนี้กำลังคุยกับตลาดหลักทรัพย์เพื่อส่งทีมมาดูว่าโครงการพวกนี้จะนำเข้าตลาดได้เมื่อไร
    นายวรวุฒิกล่าวว่า ในสัญญาระบุว่าจะมีการส่งมอบพื้นที่ให้ไม่เกิน 2 ปี โดย รฟท.จะพยายามเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ให้เร็วขึ้น ส่วนปัญหาพื้นที่เวนคืนนั้น คาดว่าจะมีการนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในครั้งหน้า สำหรับประเด็นที่ทางกระทรวงคมนาคมมีนโยบาย Thai first ที่จะมีการนำวัสดุภายในประเทศมาใช้นั้น มองว่าผู้รับเหมาไทยมีความสามารถที่จะสามารถออกแบบและใช้วัสดุภายในประเทศไทยในการก่อสร้าง รวมถึงมีผู้ประกอบการของไทยหลายรายสามารถดำเนินการผลิตได้ แต่สิ่งที่ไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้เองคือเทคโนโลยีการควบคุมการเดินรถไฟความเร็วสูง.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"