พอช.ครบรอบ 19 ปี “สานต่องานพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง”


เพิ่มเพื่อน    

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / พอช.จัดงานครบรอบ 19 ปี ‘สานต่องานพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง’ เผยภารกิจสำคัญสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศแล้ว  1,231 โครงการ  จำนวน  112,610  ครัวเรือน  ส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชน  6,001 กองทุน  ยอดเงินรวม 15,841 ล้านบาท  ฯลฯ  พร้อมก้าวเดินสู่ปีที่ 20 ชูคำขวัญ  “พลังองค์กรชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”  ขณะที่ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมประกาศเจตนารมณ์  เป้าหมายชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดินภายในปี 2580

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดตั้งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543  ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ต่อมาในเดือนตุลาคม 2545  ได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และถือเอาวันที่ 26 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันครบรอบการจัดตั้งสถาบันฯ  โดยในปีนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ดำเนินการมาได้ 19 ปี

 

วันนี้ (26 ตุลาคม) ระหว่างเวลา 07.00-13.00 น.มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวาระครบรอบ 19 ปีการดำเนินงานของสถาบันฯ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ   โดยมีนายไมตรี  อินทุสุต  ประธานคณะกรรมการสถาบันฯ เป็นประธานในการจัดกิจกรรม  มีผู้บริหารสถาบันฯ เจ้าหน้าที่ ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน  โดยในช่วงเช้ามีพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามและพุทธ  หลังจากนั้นจึงเป็นการกล่าวปาฐกถา  โดย ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

 

นายไมตรี   อินทุสุต  ประธานคณะกรรมการสถาบันฯ กล่าวเปิดงานว่า  พอช.เป็นหน่วยงานส่งเสริมสนับสนุนพี่น้ององค์กรชุมชนทั่วประเทศ  เพื่อเคลื่อนขบวนนำธงไปปักให้ชุมชนเข้มแข็งเต็มพื้นที่ภายในปี 2579  ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ  และต่อไปจะต้องขับเคลื่อนงานอย่างเข้มข้น ซึ่งตนขอฝากข้อคิด  “มอง 3 มอง” 

 

มองแรก คือ  “มองเขาและมองเรา”   ดูว่าเรามีความสามารถพอหรือไม่ ศักยภาพพอหรือไม่ บุคลิกภาพพอจะสัมพันธ์คนอื่นได้หรือไม่  มองจุดอ่อน  จุดแข็ง เพื่อทำงานร่วมกับคนอื่น  นำไปสู่ความ Win Win  ร่วมกัน

มองที่สอง  คือ “มองการเปลี่ยนแปลงรอบทิศ”  พอช.ก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ไม่ได้ปูพรมแพงอย่างเรียบง่าย  เพราะโลกเราหมุนไปเรื่อย  เป้าหมายเปลี่ยนไปเรื่อยๆ  เป้าหมายคนเปลี่ยนไป  การรับภาระเรื่องบ้าน 1.5 ล้านหลัง  เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามพื้นที่    และต้องคำนึงถึงเรื่องต่างๆ อย่างรอบทิศ  เช่น  สภาวะความเป็นเมือง  ภัยพิบัติ น้ำท่วม บ้านพัง บ้านชำรุด ต้องผ่อนหนี้  พักชำระหนี้  กรณีภัยพิบัติ  มีทั้งภัยแล้งและอุทกภัย  ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอนาคตและต้องมีการเตรียมการของชุมชน

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี   และสังคมสูงวัย  ปี 2564  ผู้สูงอายุจะมีจำนวนถึง 20 % ของจำนวนประชากรในประเทศไทย  แรงงานจะลดลง  คนสูงวัยจึงต้องทำงานต่อเนื่องตลอดชีวิต  มีคลังสมอง คลังปัญญา  การขับเคลื่อนเรื่องผู้สูงอายุซึ่งเป็นภาระของสภาองค์กรชุมชน   รวมทั้งเรื่องสุขภาพ  ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บจะมีมากขึ้น

และมองที่สาม  คือ “หลุมพรางและกับดัก” ปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็วมาก   หากเกิดภัยพิบัติการทำงานกับชาวบ้านต้องว่องไว  มีเงื่อนเวลา  มีงบประมาณ  จึงต้องเตรียมรับกับดักหลุมพรางและวางไว้ตั้งแต่แรกๆ  คนที่ก้าวไปในทศวรรษหน้าต้องก้าวไปอย่างชาญฉลาดทุกลมหายใจเข้าออก

 

ดร.กอบศักดิ์   ภูตระกูล  รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง  กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การพัฒนาประเทศที่มีชุมชนเป็นแกนหลัก  และบทบาท พอช.ในการสนับสนุน”  มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า   การพัฒนาที่แท้จริงนั้น ตนได้ฟังจากพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9  เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548  เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  คือ ต้องทำให้พอเพียง  ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้  แต่ถ้าพอเพียงสามารถนำพาประเทศไปได้ดี และการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น  เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีก่อน 

 

“ผมคิดว่า 4.0 ต้องทำและทำคู่ขนาน  คือ  สร้างเศรษฐกิจของประเทศ  พร้อมกับดูแลพี่น้องประชาชนด้วย  ส่วนเรื่องความพอเพียง  เปรียบเหมือนเสาเข็มที่จะทำให้ฐานตึกเข้มแข็ง  นำมาสู่ภาพความสุขของทุกคน  ซึ่งทุกอย่างที่เราพูดมาสามารถทำได้หมดเลย  ต้องตั้งเป้าหมายจะทำให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริง  ความสำเร็จที่พี่น้องเป็นพื้นฐาน  ชุมชนเป็นแกนหลัก  ยืนด้วยตัวเองให้ได้  โดยต้องเริ่มจากการคิดถูก  คือต้องพัฒนาจากข้างล่างขึ้นไป เพราะนี่คือหัวใจ  และเรื่องความเหลื่อมล้ำสามารถแก้ไขได้  ต้องเชื่อว่าเราทำเองได้   ไม่รอเงิน  ไม่รอคำสั่ง แต่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  มีคำตอบคือชุมชนของตนเอง” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างว่า  สถาบันการเงินชุมชนตำบลหนองสาหร่าย  อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี   หรือกรณีลุงอัมพร  ด้วงปาน  ครูชบ  ยอดแก้ว  ทำเรื่องธนาคารชุมชน  และกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของพระสุบิน ปณีโต  จ.ตราด  ปัจจุบันมีเงินกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ประมาณ 1,000 ล้านบาท  โดยประชาชนนำเงินมาออมร่วมกันจนกลายเป็นเงินกองทุนสัจจะออมทรัพย์จำนวนมาก  เปรียบเหมือนเม็ดฝนเล็ก  รวมกันเป็นน้ำฝนได้  นี่คือหัวใจว่า  ไม่ต้องรอเงินจากธนาคาร 

“ทั้งหมดนำมาสู่แนวคิด  ‘การพัฒนาประเทศที่ชุมชนเป็นแกนหลัก  พอช.หนุนเสริม’  ต้องเชื่อว่าเราทำได้ ต้องเห็นทางออกว่า  ทางออกอยู่ตรงไหน  การพัฒนาที่มาจากข้างล่าง   ผมเห็นว่า  พี่น้องคือคำตอบ  ต้องใช้ชุมชนเป็นฐาน  ขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้  ต้องสร้างการพัฒนาแบบใหม่ที่เข้มแข็งจากฐานราก” ดร.กอบศักดิ์กล่าว 

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ มีภารกิจหลักในการสนับสนุนชุมชนในด้านต่างๆ ทั่วประเทศ  เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อย  การจัดสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือกัน  การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชน  การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ฯลฯ  โดยในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา  ได้สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อยตามโครงการบ้านมั่นคง   โดยดำเนินการไปแล้ว  รวม 1,231  โครงการ  จำนวน  112,610 ครัวเรือน  รวมเงินอุดหนุน  6,311 ล้านบาท  สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน  ดำเนินการไปแล้ว6,001 กองทุน  จำนวนสมาชิกประมาณ 6 ล้านคน  เงินกองทุนรวมประมาณ  15,841  ล้านบาท   ฯลฯ

นายสมชาติ  ผอ.พอช. (ที่ 3 จากขวา) รับมอบของที่ระลึกจากผู้แทนชุมชน

นายสมชาติ  ผอ.พอช. (ที่ 3 จากขวา) รับมอบของที่ระลึกจากผู้แทนชุมชน

ส่วนแผนงานที่สำคัญในช่วง 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2563-2565) เช่น   1. การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง  มีเป้าหมายสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง  มีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง    โดยการจัดทำแผนพัฒนาตำบล  รวม 3 ปี จำนวน  6,000 ตำบลทั่วประเทศ  2. การสนับสนุนให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  รวม  3 ปี จำนวน  211,482 ครัวเรือน 

3.การพัฒนาศักยภาพคนในขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชน  มีเป้าหมายให้ผู้นำชุมชนมีศักยภาพ  องค์กรชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล  เช่น  มีผู้นำที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาและได้รับการพัฒนา  รวม 3 ปี  จำนวน 30,000 คน   4.สภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถดำเนินงานได้ตามภารกิจ  รวม 3 ปี จำนวน  6,680 ตำบล   5.มีตำบลที่มีการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้กับสมาชิกในชุมชน  รวม 3 ปี  จำนวน 6,700 ตำบล   ฯลฯ

 

ในช่วงท้ายของการจัดกิจกรรม  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนได้ร่วมกันกล่าวคำประกาศเจตนารมณ์ว่า “ในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา   สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและและขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ทั้งเมืองและชนบท ได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนทัองถิ่นจัดการตนเองในทุกมิติ ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชุมชนและสวัสดิการชุมชน โดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นแกนกลาง  ตามปรัชญาความเชื่อที่ว่า “การสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งให้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากฐานรากคือการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ในปีที่ 20 ของ พอช.  ขบวนองค์กรชุมชนและ พอช. จะร่วมกันทบทวนผลการทำงานเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งในทุกๆ ด้าน ทั้งระดับตำบล จังหวัด ประเทศ ร่วมกันวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจ สังคมต่าง ๆ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางการก้าวเดินของขบวนชุมชนในช่วงต่อไป

รวมทั้งจะมีการบอกกล่าวกับสาธารณะถึงผลงานการเปลี่ยนแปลงประเทศของขบวนชุมชนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเชื่ิอมั่นให้กับสังคมว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมจากฐานรากและการสร้างชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเองนั้นเป็นไปได้ ดังที่ขบวนองค์กรทั่วประเทศได้ดำเนินการมาแล้ว มีตัวอย่างประจักษ์ชัดอยู่ทุกหนแห่ง คำขวัญของการจัดงาน 20 ปี พอช.และขบวนองค์กรชุมชนในปี 2563 คือ ‘20 ปี พอช. พลังองค์กรชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’

ขอเชิญชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ ขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศและเพื่อนภาคีพัฒนา ประชาสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนงานนี้ตลอดปี 2563 โดยทบทวนและสรุปบทเรียนการทำงานของตนเอง วิเคราะห์สถานการณ์ กำหนดยุทธศาสตร์ และจัดปรับขบวนองค์กรชุมชน  เพื่อทำงานไปสู่เป้าหมายชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเองเต็มแผ่นดินในปี 2580”

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"