โหนGSPสับรัฐบาล ฝ่ายค้านจี้เจรจา'สหรัฐ' 'พณ.'ยันกระทบจิ๊บจ๊อย


เพิ่มเพื่อน    


    พาณิชย์แจงสหรัฐตัด GSP กระทบส่งออกไม่มาก ชี้เพิ่มภาระภาษี 1.5-1.8 พันล้านบาท เตรียมอุทธรณ์ให้ทบทวนใหม่ ยันไม่เกี่ยวแบน 3 สารพิษ "หม่อมเต่า" ถกด่วนผู้บริหารกระทรวงแรงงาน โต้ไทยคุ้มครองสิทธิแรงงานยึดหลักสากล ฝ่ายค้านบี้รัฐบาลเร่งเจรจาต่อรองให้ได้สิทธิคืน พร้อมเตรียมมาตรการเยียวยา
    เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทางการค้า หรือจีเอสพี ที่ให้กับไทยบางรายการในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่า ปัจจุบันนี้สหรัฐให้สิทธิจีเอสพีที่ส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐ รวมทั้งหมดมูลค่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยไม่ได้ใช้สิทธิ์เต็มตามจำนวนที่ให้โดยใช้สิทธิ์แค่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ส่งออกไปในทุกวันนี้ จึงหมายความว่าต่อไปนี้สินค้าของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐ จำนวนยอดขายรวมกัน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น จะต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐ จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษี โดยภาษีที่่ไทยต้องเสียประมาณร้อยละ 4-5  
    "กล่าวโดยสรุปก็คือการตัดสิทธิ์จีเอสพีทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปขายยังสหรัฐอเมริกา มีภาระที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 1,500-1,800 ล้านบาทต่อปี ส่วนประเด็นที่เป็นที่มาของสหรัฐอ้างว่าใช้เป็นเงื่อนไขในการตัดสิทธิ์ ทำให้เราต้องเสียภาษีคือเรื่องแรงงาน สหรัฐต้องการให้ไทยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทยสามารถตั้งสหพันธ์แรงงานได้เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ส่วนประเด็นอื่นนั้น ขอให้ทางกระทรวงแรงงานเป็นผู้ให้ข้อเท็จจริง" นายจุรินทร์ระบุ
    อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงพิจารณาประจำปีของสหรัฐ แต่ไทยสามารถที่จะอุทธรณ์หรือขอให้ทบทวนใหม่ได้ ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมา อย่างเช่นปีที่แล้ว ทบทวนรายการสินค้าคืนมาให้ 7 รายการ และปีนี้จะยื่นขอทบทวนอีก หากสหรัฐไม่ทบทวนถือว่าเป็นอำนาจของเขาเช่นกัน ต่อไปนี้ไทยจะต้องจ่ายภาษีตามเงื่อนไขที่เขากำหนด ทำให้เรามีภาระทางภาษีเพิ่มขึ้น 1,500-1,800 ล้านบาท ส่วนคำถามเรื่องการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตรนั้น เท่าที่ติดตามไม่ได้เป็นเงื่อนไขของครั้งนี้ สิ่งที่ทราบเป็นทางการคือ เกี่ยวกับประเด็นแรงงาน สรุปว่าสิ่งที่สหรัฐอ้างในการตัดสิทธิ์ไม่เกี่ยวกับ 3 สารแต่อย่างใด
    นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบคิดเป็นประมาณร้อยละ 0.01 ของการส่งออกรวมของไทยเฉลี่ยรายปี แต่จะมีสินค้าบางรายการที่ใช้สิทธิมากที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่ารายการอื่น โดยมีรายละเอียดดังนี้ วันที่ 25 ต.ค.62 สหรัฐประกาศตัดสิทธิ์จีเอสพีประเทศไทย (Country Review) 573 รายการ (ร้อยละ 40 จากจำนวนสินค้าที่ไทยใช้สิทธิในปี 61 รวม 1,485 รายการ) มีผลบังคับใช้ 25 เม.ย.63 และมีการคืนสิทธิให้ไทย 7 รายการ
    ปี 61 ไทยมีการใช้สิทธิจีเอสพี เพียง 355 รายการ (จาก 573 รายการ) มูลค่า 1,279.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการใช้สิทธิเฉลี่ยร้อยละ 66.7 อาทิ อาหารทะเลแปรรูป พาสต้า ถั่วชนิดต่างๆ แยมผลไม้ น้ำผลไม้ ซอสถั่วเหลือง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องครัวและของใช้ในบ้าน มอเตอร์ไฟฟ้า เหล็กแผ่นและสเตนเลส เครื่องดนตรี และอุปกรณ์ตกปลา ซึ่งการถูกตัดสิทธิ์จีเอสพี ทำให้ต้นทุนส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากสินค้าไทยกลุ่มนี้จะถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 4.5 (อ้างอิงจากอัตรา MFN rate ของสหรัฐ ปี 61)
กระทบส่งออกไม่มาก
    "สนค.ประเมินว่าการถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างจำกัด อัตราภาษีที่สูงขึ้นอาจทำให้มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐ สำหรับสินค้ากลุ่มที่โดนตัดสิทธิ์ในปี 63 (เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้) ลดลงมูลค่า 28.8-32.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.01 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย" นางสาวพิมพ์ชนกระบุ
    ทั้งนี้ การส่งออกไทยที่มีจุดเด่นในการกระจายตัวของสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน จะช่วยยังสนับสนุนการส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐต่อไปได้ แต่การถูกตัดจีเอสพีทำให้ความได้เปรียบด้านต้นทุนภาษีหมดไป และไทยจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้น การรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ส่งออกควรกระชับสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการส่งเสริมการส่งออกและการตลาดเชิงรุก เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด
    สำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด (มีการพึ่งพาสิทธิจีเอสพี มากกว่าร้อยละ 50 และส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่าร้อยละ 10) ได้แก่ คอนโซล โต๊ะและฐานรองอื่นๆ ที่ติดตั้งด้วยเครื่องอุปกรณ์ (HS8537) รถจักรยานยนต์ (HS8711) แว่นสายตาหรือแว่นกันลม/กันฝุ่น (HS9004) หลอดหรือท่ออ่อนทำจากยางวัลแคไนซ์ (HS4009) อ่างล้างหน้า (HS6910) เครื่องสูบของเหลว (HS8413) สารเคลือบผิว Epoxy Resin (HS3907) เครื่องสูบลมหรือสูบสูญญากาศ (HS8414) อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืช (HS1904) ยางนอกชนิดอัดลม (HS4011) หากไทยสามารถกระจายความเสี่ยงส่งออกสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ไปยังตลาดอื่นๆ ได้ จะช่วยลดกระทบต่อการส่งออกไทยได้ 
    ที่กระทรวงแรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน ถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะตัดสิทธิ์จีเอสพีไทย เนื่องจากทางการไทยไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลว่า ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลคุ้มครองแรงงานทุกคน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์และความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทุกภาคส่วนได้บูรณาการการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากผลการดำเนินงาน ทำให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จมากของสถานการณ์การขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ในปี 2560 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
    นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ยังได้ปรับสถานการณ์ปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยจาก Tier 2 Watch List มาเป็นระดับ Tier 2 และสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศปลดใบเหลืองไอยูยู ในส่วนของการรับรองอนุสัญญาฯ ต่อองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) กระทรวงแรงงานได้ให้สัตยาบันพิธีสารส่วนเสริมปี ค.ศ.2014 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ.1930 และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อบังคับใช้กฎหมาย การช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากแรงงานบังคับ และกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานหรือบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 
    รวมทั้งการยื่นจดทะเบียนให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานภาคประมง ค.ศ.2007 ต่อไอแอลโอ เพื่อคุ้มครองแรงงานประมงให้ได้รับสิทธิด้านสุขภาพ ประกันสังคม และความปลอดภัยในการทำงาน โดยจะมีผลบังคับใช่ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ ขณะเดียวกันยังได้พิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 87 และ 98 เกี่ยวกับการรวมตัวตั้งเป็นสหภาพแรงงานและเจรจาต่อรอง ซึ่งขณะนี้กำลังปรับปรุงกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและกฤษฎีกา รวมทั้งรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับไอแอลโอ เพื่อให้การดูแลคุ้มครองแรงงานทุกคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากลต่อไป
ปมแรงงานแค่ข้ออ้าง
    นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ 3 สาเหตุกรณีสหรัฐตัดจีเอสพีไทยบางรายการมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้าน มีผลอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยอ้างเรื่องปัญหาแรงงานนั้น น่าจะเป็นข้ออ้างหาเหตุมากกว่า เพราะก่อนหน้านี้สหรัฐพอใจการแก้ไขปัญหาแรงงานจนยกฐานะไทยจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 ส่วนปัญหาประมงได้มอบธงเขียวให้ไทยและยกเป็นตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านประมงผิดกฎหมายไอยูยู 
    ทั้งนี้ เท่าที่เคยเจรจากับผู้แทนการค้าของสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) สมัยรัฐบาลโอบามา พอประเมินได้ว่าสาเหตุหลักน่าจะเหลือแค่ 3 กรณี 1.สหรัฐตัดจีเอสพี เพราะรายการสินค้ากลุ่มที่ถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีมียอดส่งออกไปสหรัฐเกินพิกัดกติกาจีเอสพี แบบนี้เรียกว่าตัดจีเอสพีตามเนื้อผ้า ยังเจรจาขอผ่อนปรนออกไปก่อนหรือลดรายการที่ตัดสิทธิพิเศษบางรายการโดยอาศัยความเป็นมิตรพิเศษตามสนธิสัญญาเอมิตีและการค้า 
    2.สหรัฐค้าขายสู้ไม่ได้ เสียเปรียบดุลการค้าไทยหลายแสนล้าน เลยใช้มาตรการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีกับกลุ่มสินค้าไทยที่ได้สิทธิประโยชน์จีเอสพี เช่นเดียวกับการที่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและสหภาพยุโรป หากเป็นเหตุผลนี้ ก็ยังมีโอกาสเจรจาต่อรองอีก 6 เดือน 3.สหรัฐต้องการใช้การตัดสิทธิพิเศษจีเอสพีเพื่อต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แบบหมูไปไก่มา เช่น การขอให้ไทยเปิดให้นำเข้าเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐ หรือขอให้ไทยทบทวนการแบนสารพิษไกลโฟเซตที่ทั้งทางการสหรัฐและหอการค้าสหรัฐไม่เห็นด้วย เพราะกระทบผลประโยชน์ของบริษัทอเมริกัน
    "เห็นว่าถ้าเป็นเหตุผลหลังสุด คงยากที่ทางการไทยจะยอมอ่อนข้อ เพราะเป็นเรื่องสุขภาพของคนไทย ด้วยสาเหตุดังกล่าว ทางการสหรัฐควรทบทวนตัวเองมากกว่าเรียกร้องให้ทางการไทยทบทวน และหากยังคิดจะเป็นมิตรที่ดีกับคนไทยและประเทศไทย อย่าใช้มาตรการจีเอสพีกดดันแบบนี้เป็นอันขาด" นายอลงกรณ์กล่าว
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้รับทราบข้อมูลมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว เมื่อครั้งที่ รมว.พาณิชย์ของสหรัฐมาร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่ไทย ซึ่งมีการหยิบยกประเด็นนี้มาหารือ ขณะเดียวกัน นายจุรินทร์ได้มีหนังสือรายงานถึงนายกรัฐมนตรีถึงประเด็นดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้แถลงชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องนี้เอง นอกจากนี้ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ไทยห้ามนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรของสหรัฐอย่างแน่นอน 
    น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศรับทราบรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้ประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์แล้วเช่นกัน ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะมีการแถลงข่าวรายละเอียดเรื่องนี้ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลไทยมีนโยบายยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิดในภาคเกษตรของไทย
    เมื่อถามว่า กรณีนี้จะสร้างความน่ากังวลหรือส่งผลกระทบกับประเทศไทยหรือไม่ เพราะขณะนี้การประชุมสุดยอดอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไม่มี เพราะกรอบการเจรจาด้านการค้ากับสหรัฐเป็นเรื่องที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องหารือกันมาก่อนแล้ว
บี้รบ.เร่งเจรจาสหรัฐ
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การตัดจีเอสพีถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้การส่งออกมีปัญหาอยู่แล้ว จากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ แต่ในสงครามการค้าไทยเรายังมีโอกาส จากที่สหรัฐไม่ซื้อสินค้าหลายอย่างจากจีน เราก็อาจเข้าเป็นตัวแทนได้ แต่เมื่อถูกตัดจีเอสพีและสินค้าส่วนใหญ่ที่เป็นธุรกิจกลุ่มเอสเอ็มอี ยกเว้นธุรกิจรายใหญ่อย่างชิ้นส่วนยานยนต์ จึงกระทบคนส่วนใหญ่ และยังกระทบไปสู่การเลิกจ้างแรงงาน ดังนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งเจรจาและหาสาเหตุในการถูกตัดจีเอสพี และแก้ให้ถูกจุด ว่าจะสามารถเจรจากับสหรัฐได้อย่างไรในฐานะคู่ค้า ประเทศไทยจะต้องไม่เป็นลูกไล่ของประเทศใด เรามีศักดิ์ศรีที่ทัดเทียมกับทุกประเทศ
    "เราต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าเขาใช้เหตุผลที่เป็นธรรมอะไรมาตัดจีเอสพี และเราจะยกเรื่องอะไรมาต่อสู้ เพื่อยกอำนาจการต่อรองกับเขา โดยที่สหรัฐเองก็ต้องพึ่งพาเราหลายเรื่อง ดังนั้นการตัดจีเอสพีโดยที่เหตุผลไม่พอ เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดจีเอสพีครั้งนี้มีมูลค่าถึง 40,000 ล้านบาท จะต้องกระทบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้ 4 เครื่องยนต์แรกของเรา คือการส่งออก ก็สลบอยู่แล้ว ค่าเงินบาทที่แข็งก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ การท่องเที่ยวก็ชะลอตัวลงมาก ขณะที่การลงทุนใหม่ไม่มีเลย ขณะที่โรงงานกำลังปิดตัวลงเพราะกำลังซื้อไม่พอ เพราะการส่งออกน้อยลง แล้วยังต้องมาได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อีก อาจทำให้คนตกงานเยอะ ปีหน้าคาดว่าคนจะตกงานถึง 500,000 คน” คุณหญิงสุดารัตน์ระบุ
    ส่วนที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลออกมาพูดถึงความสำเร็จของการแก้ปัญหาแรงงานและได้รับการยอมรับจากสหรัฐ แต่สวนทางกับเหตุผลที่ใช้ตัดสิทธิ์ไทยในครั้งนี้นั้น คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า เป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องทำให้เกิดความชัดเจน เพราะการแก้ปัญหาประมงของรัฐบาล คือการทำลายระบบภาคประมงทั้งหมด ทำให้คนเป็นแสนเป็นล้านต้องตายสนิท เพื่อแลกกับเรื่องของแรงงาน ท้ายที่สุดเมื่อรัฐบาลบอกว่าสำเร็จ แต่เป็นสาเหตุของการถูกตัดสิทธิ์ ก็ต้องมาดูว่าเป็นข้อบกพร่องในส่วนใดที่รัฐบาลต้องแก้ไข
    นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า การถูกตัดสิทธิ์จีเอสพี จะทำให้การลงทุนในสินค้าหมวดหมู่ดังกล่าวลดลง หรือจะมีการย้ายฐานการผลิตออกจากไทย เพื่อไปลงทุนในประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีอยู่ ซึ่งจะทำให้การลงทุนของไทยที่ลดต่ำอยู่แล้วลดต่ำลงไปอีก แถมอาจจะมีการโยกย้ายฐานการผลิตและการส่งออกซ้ำเติมด้วย ผลของการที่ไทยถูกสหรัฐตัดสิทธิ์จีเอสพีเหมือนกับผลของการที่ไทยไม่สามารถเจรจาการค้ากับสหภาพยุโรป (อียู) ในช่วงที่มีรัฐบาลจากการปฏิวัติได้ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหา และเร่งเจรจากับสหรัฐเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว 
       น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การถูกระงับสิทธิจีเอสพียังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไร้ประสิทธิภาพและไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากต่างชาติเหมือนที่เคยอวดอ้าง แต่ผลงานเดียวที่รัฐบาลสามารถเจรจาสำเร็จคือการสั่งซื้ออาวุธจากสหรัฐ ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาติดลบอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิจีเอสพีสูงเป็นอันดับ 1 การถูกระงับสิทธิจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลง เพราะสินค้าไทยหลายรายการอาจถูกประเทศที่ยังได้รับสิทธินี้ใช้ความได้เปรียบในแง่ของราคาเข้ามาแย่งตลาด หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้จะกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะยาว ดังนั้นขอให้เร่งออกมาตรการเยียวยาและลดผลกระทบที่สามารถดำเนินการได้จริง 
แนะเตรียมเยียวยา
    นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่เกินคาดหมาย และควรเป็นประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรับมือเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะประเทศไทยเป็น 1 ใน 21 ประเทศ ที่ถูกสหรัฐอเมริกาตรวจสอบอย่างละเอียด เนื่องจากมีมูลค่าการค้ากับสหรัฐอเมริกาสูงกว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึงร้อยละ 7 ของจีดีพี  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สหรัฐอเมริกากำหนดไว้มาก 
    สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ควรต้องตอบคำถามกับประชาชน คือ 1.ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าหรือไม่ ว่าประเทศไทยอาจจะถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ์จีเอสพี และประเมินผลกระทบไว้มากน้อยเพียงไร 2.ได้เตรียมมาตรการรองรับเพื่อแก้ปัญหา หรือบรรเทาผลกระทบจากการถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ์ไว้ล่วงหน้าหรือไม่ อย่างไร 3.ในระยะเวลา 6 เดือนนับจากนี้ ก่อนถึงวันที่ 25 เม.ย.63 ที่การถูกตัดสิทธิ์จีพีเอสจะมีผลบังคับใช้ มีแผนที่จะดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ รัฐบาลควรจะต้องประเมินว่าการถูกตัดสิทธิ์ในกรณีนี้ จะส่งผลให้เกิดการหดตัวของภาคการส่งออกมากน้อยเพียงไร และการหดตัวของการส่งออกนั้นจะส่งผลต่อแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานผู้มีรายได้น้อยมากแค่ไหน ผลของการตัดสิทธิ์จีเอสพีในกรณีนี้ จะซ้ำเติมการแรงงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขนาดไหน และรัฐบาลได้เตรียมมาตรการเยียวยาอะไรไว้รองรับแล้วบ้าง
    "รัฐบาลยังมีเวลาอีกตั้ง 6 เดือน ในการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานประมงให้มีน้ำหนักเพียงพอ ที่จะทำให้สหรัฐอเมริกายกเลิกคำสั่งการตัดสิทธิ์ได้ ซึ่งรัฐบาลควรจะรายงานความคืบหน้าถึงการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหานี้ ให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ" นายวิโรจน์ระบุ
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า สถานการณ์ในวันนี้คล้ายก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 นอกจากประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ประเทศจีนก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เราจะต้องวางแผนรับมืออย่างหนัก จากการเข้ามาแทรกแซงสินค้าเกษตร ทำลายตลาด ทำลายระบบ ที่เราจะได้ผลประโยชน์แค่ช่วงแรก แต่จะส่งผลอย่างมากในระยะยาว กับสินค้าเกษตรไทย เราอย่าหวังลมๆ แล้งๆ ว่าประเทศมหาอำนาจจะจริงใจกับเรา การที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตัดจีเอสพีไทย มิใช่เรื่องปัญหาสิทธิแรงงาน แต่เป็นเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ เรื่องจีเอสพีเป็นแค่การเริ่มต้นเปิดประตูให้เศรษฐกิจไทยล้มระเนระนาด เพื่อที่เขาจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดจากไทย 
    "เราต้องประกาศนโยบายแข็งกร้าว แข็งขืน แสดงให้เห็นว่า อย่าทำแบบนี้กับประเทศไทย ระยะเวลา 6 เดือนต่อจากนี้ เราต้องตั้งหลัก ปรับตัว เปลี่ยนทิศทาง ผมเชื่อว่าหากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 เราปรับสถานการณ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง รับมือเรื่องนี้ได้ เราจะรอด และสามารถยืนได้อย่างแข็งแรง สภาพการณ์เช่นนี้ ถ้ารัฐบาลยังพอมีปัญญาเหลืออยู่ ก็ควรปรับตัว แต่ถ้าไม่มีปัญญา ก็ควรออกไปได้แล้ว ให้คนมีปัญญาได้เข้ามาทำงาน" ประธาน นปช.กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"