พาเหรดป้อง'เสรีพิศุทธ์' พปชร.ตีมึนกฐินซักฟอก


เพิ่มเพื่อน    


    "เพื่อไทย" จองกฐินอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหลังเปิดสภา 1 พ.ย.นี้ ลั่นหากมีหลักฐานและข้อเท็จจริงต้องยื่นซักฟอกทันที "เด็กพรรคเสรีพิสุทธ์" โต้ "เทพไท" เป็นองครักษ์ลุงตู่ เสียดายเป็น ส.ส.หลายสมัยแต่ไม่เข้าใจกฎหมาย ย้ำรัฐบาลถวายสัตย์ฯ ไม่ครบยังไม่เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องจะทำงบประมาณได้ไง  รองโฆษก พปชร.งง เพิ่งเป็นรัฐบาลนึกไม่ออกจะซักฟอกเรื่องอะไร  ประธานญาติวีรชนฯ ซัด "บิ๊กตู่" แก้ความขัดแย้งล้มเหลว แต่ตีกัน "บิ๊กแดง" เป็นนายกฯ โพลตอกย้ำกังวลความขัดแย้งเพิ่มเติม
    เมื่อวันอาทิตย์ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยว่า วันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ส่วนใหญ่พูดถึงสิ่งที่ดำเนินการมาแล้ว เช่น การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา รวมถึงมีการหารือถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงเปิดสมัยประชุมสภาหลังวันที่ 1 พ.ย.ด้วย ซึ่งเป็นการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ หลักการของการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป้าหลักจะไปอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและกระทรวงใหญ่ที่มีงบประมาณรวมถึงบุคลากรจำนวนมาก ตอนนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านทำหน้าที่ในการตรวจสอบหาหลักฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุด ทั้งนี้ มีสมาชิกพรรคบางคนบอกว่ารัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่ หากรีบอภิปรายจะเร็วไปหรือไม่ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเงื่อนของเวลา ถ้ารัฐบาลทำงานดี บริหารงานมีประสิทธิภาพ ต่อให้เวลาผ่านไปเป็นปีก็อภิปรายไม่ได้ แต่ทางกลับกัน หากทำงานผิดพลาด รวมถึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริต บริหารงานไป 1 หรือ 2 เดือนก็ต้องอภิปราย 
    "ดังนั้นการจะอภิปรายเมื่อไหร่จึงขึ้นอยู่กับหลักฐานและข้อเท็จจริง เพราะการอภิปรายจะมีผลทั้งบวกทั้งลบ ถ้าหลักฐานเราไม่แน่นพอ รัฐบาลชี้แจงได้ฝ่ายค้านก็จะขาดความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าข้อมูลเราดี ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ ขณะนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงอยู่ในขั้นการรวบรวมหลักฐาน หากมีน้ำหนักและข้อมูลเพียงพอ เราจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจทันที ไม่ต้องรอให้ไปถึงปลายเดือน ธ.ค. และหลังจากเปิดสมัยประชุมสามัญวันที่ 1 พ.ย. คงได้มีการหารือร่วมกันพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อไป" น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
     นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่เห็นด้วยที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เข้าชี้แจงเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณและการจัดทำงบประมาณ แต่ควรใช้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจมากกว่า ว่าการใช้เวทีกรรมาธิการไม่ผิด ถือว่าเป็นการใช้เวทีที่เหมาะสมแล้ว เพราะความเหมาะสมหรือไม่นั้น อยู่ที่แต่ละบุคคลแต่ละกรณี เรื่องนี้เคยมีการใช้เวทีสภาอภิปรายอย่างที่นายเทพไทพูดแล้ว แต่นายกฯ ไม่ตอบคำถาม และสภาก็ไม่ได้คำตอบอะไรจากวิธีดังกล่าวเลย ดังนั้นการให้มาชี้แจงใน กมธ.จึงเป็นกลไกหนึ่งที่จำเป็นต้องทำ 
    "เชื่อว่าจะได้คำตอบดีกว่าการอภิปรายหรือซักฟอกทั่วไป เพราะการซักถามใน กมธ.เป็นการพูดคุยวงแคบ สามารถซักถามหรือพูดคุยกันได้ในหลายอารมณ์ คนตอบหากไม่ประสงค์จะตอบให้สาธารณะรับรู้ ก็สามารถตอบใน กมธ.ได้ การเชิญนายกฯ มาชี้แจงเข้าใจว่าเขาอยากได้ข้อเท็จจริงมากกว่าการเล่นเกมการเมือง เพราะถ้ามุ่งเน้นจะเล่นเกมการเมือง ต้องใช้การอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 หรือ 151 ของรัฐธรรมนูญ" นายสุทินกล่าว
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะฝ่ายบริหาร ควรสละเวลาให้ความร่วมมือมาให้ข้อมูลกับ กมธ.เพื่อตอบคำถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น อะไรแจงได้ก็แจงไป จะได้จบ ถ้าทุกฝ่ายเคารพประชาชน ให้ความร่วมมือกันในการทำงาน จะเป็นบรรยากาศที่ดีของการสร้างประชาธิปไตยและความปรองดองของคนในประเทศ ความกลัวทำให้เสื่อม ไม่มีอะไรต้องกลัว ควรดูตัวอย่าง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ยังสละเวลามาชี้แจง กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่มาเสียชื่อหมด เดี๋ยว กมธ.เขาหาว่ากลัว เพราะปรกติ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยกลัวใครอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ
"เด็กเสรีฯ"ตอบโต้"เทพไท"
    น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตอบโต้นายเทพไท เสนพงศ์ ว่าเห็นข่าว ส.ส.หลายสมัยออกมาสอนมวย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์แล้วคุ้นๆ แต่งานนี้คนที่จะ "จุก" คือคนที่คิดว่าตนเองเป็น ส.ส.หลายสมัย หรือคนสอนมวย เพราะ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไม่ใช่แค่ ส.ส.สมัยแรก แต่ทำงานเกี่ยวข้องกับกฎหมายและงานสอบสวนมาทั้งชีวิต ส่วนตัวรู้สึก "เสียดาย" 4 ข้อจริงๆ 1.เสียดายแทน ส.ส.หลายสมัย เพราะการกล่าวหาว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ใช้ความรู้สึกส่วนตัว ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทชัดเจน ส.ส.หลายสมัยคงลืมไปว่าการพูดนอกสภาเช่นนี้จะไม่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง 2.การถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญเห็นชัดเจนว่าประพฤติมิชอบตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ฟันธงเรื่องนี้ สงสัยว่าท่านคงคิดว่าตนเองเหนือกว่าศาลรัฐธรรมนูญ 
    3.เสียดายที่ ส.ส.หลายสมัยแสดงความคิดเห็นว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ควรนำเรื่องนี้ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี การแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ มันช้าและไม่ทันเกมฝ่ายค้านเลย ส.ส.สมัยแรกรู้กันทั้งสภาแล้วว่าเรื่องนี้มีการเตรียมข้อมูลไว้เกิน 100% แล้วนายกฯ โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องนี้ 1,000% และถ้านายกฯ ไม่ไปชี้แจง กมธ. ก็จะมีเรื่องให้ไม่ไว้วางใจเพิ่มเป็น 2 เด้ง ฐานไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้าจะเป็น "องครักษ์พิทักษ์ลุงตู่" ควรไปเตรียมข้อมูลไว้เพื่ออธิบายแก้ตัวให้ลุงตู่ในสภาจะดีกว่า 4.เสียดายที่แนะนำว่าเรื่องการจัดทำงบประมาณไม่ถูกต้อง ควรใช้บทบาทของกรรมาธิการการเงินการคลัง  เพราะ 1) ไม่รู้เลยหรือว่าประธาน กมธ.การเงินการคลังเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลที่จะไม่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว 2) จับประเด็นเรื่องนี้ผิด เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ตัวเนื้อหาของงบประมาณที่ไม่ถูกต้อง แต่เป็นเรื่องความไม่ชอบธรรมของคนจัดทำงบประมาณ 
    "พูดง่ายๆ คือ รัฐบาลถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ถือว่ายังไม่เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อยังไม่เป็นรัฐบาล จะมาทำงบประมาณได้ไง เรื่องเท่านี้ ส.ส.หลายสมัยน่าจะเข้าใจ เพราะคนเขาเข้าใจกันทั้งประเทศ แล้วน่าเสียดายจริงๆ” น.ส.นภาพรระบุ
    ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวว่า เป็นสิทธิของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่สามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมที่จะชี้แจงฝ่ายค้านในทุกเรื่อง แต่รัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้ไม่นาน ตนยังนึกไม่ออกว่าจะอภิปรายเรื่องอะไร เพราะที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ มุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องคอยไปชี้แจงฝ่ายค้านในสภาเป็นระยะๆ ทั้งกรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ฯ และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ถึง 3 วัน ทั้งๆ ที่ควรจะเอาเวลาเหล่านี้ไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ จึงนึกไม่ออกจริงๆ ว่าฝ่ายค้านจะเอาเรื่องอะไรมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ
     "สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 รัฐบาลก็สามารถชี้แจงได้หมด ดังนั้นหากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มั่นใจว่ารัฐบาลสามารถชี้แจงได้ วันนี้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป ก้าวเข้าสู่โลกข้อมูลข่าวสาร หากอภิปรายไม่สร้างสรรค์ ไม่มีสาระสำคัญ หรือมุ่งอภิปรายโจมตีรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน อยากจะให้ฝ่ายค้านให้เวลาในการทำงานให้กับบ้านเมืองก่อนจะดีกว่าหรือไม่ เมื่อมีข้อมูลว่ารัฐบาลทำงานบกพร่อง หรือไม่ชอบมาพากล ก็ค่อยยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ" นายธนกรกล่าว 
หาบรรทัดฐานเคส"ธนาธร"
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค อนค. ร่วมเป็นหนึ่งใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ในสัดส่วนของ อนค.ว่า ตนเข้าใจว่า กมธ.วิสามัญอนุญาตให้เป็นได้ทั้ง ส.ส.และคนนอก แต่ในกรณีนี้นายธนาธรถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. แต่ไปเป็น กมธ.ในสัดส่วนคนนอก แต่ลงมติไม่ได้ สามารถเป็นไปได้ทำจริงหรือไม่ เพราะถือว่าการลงมติเป็นหน้าที่ของ กมธ.ทุกคน 
    "หากยังให้นายธนาธรปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการในฐานะคนนอก อะไรคือเครื่องมือยืนยันว่านายธนาธรจะไม่ลงมติในที่ประชุม ใครจะมีอำนาจสั่งห้ามนายธนาธรไม่ให้ลงมติได้ และคำถามต่อว่าหากนายธนาธรลงมติดังกล่าว ผลการทำงานของกรรมาธิการชุดนี้จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 เป็นโมฆะในอนาคตหรือไม่ กรรมาธิการควรหาข้อสรุปในเรื่องนี้ บรรทัดฐานในเรื่องนี้ควรข้อสรุปอย่างไร สภาชุดนี้ควรไตร่ตรองและสร้างมาตรฐานสำหรับกรณีเช่นนี้ เพื่อนำไปใช้ในอนาคตจะได้ไม่เป็นข้อถกเถียงกันในอนาคตต่อไป" นายสิระกล่าว 
     ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง ภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย และตัวแทน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายโคทม อารียา ตัวแทนภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย แถลงเสนอหลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วน และเปิดกว้างให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มที่ 2.ต้องทำให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครอง และยุติการสืบทอดอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน 3.ต้องทำให้เกิดฉันทามติร่วมกันในสังคมเพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 4.ต้องทำให้เกิดกระบวนการที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งมั่นคงขึ้นพร้อมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทางด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้ถกแถลงและปรึกษาหารือกัน 
     "ภาคีฯ จะร่วมกันจัดเวทีถกแถลงเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจว่า ทำไมจึงกล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ยึดรัฐราชการเป็นศูนย์กลาง จึงไม่อาจแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนได้ ขณะที่ “รัฐธรรมนูญที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” จะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาประเทศชาติและประชาชนที่ดีกว่า นอกจากนี้ ภาคีฯ จะจัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการทำหน้าที่ประสานงานเพื่อดำเนินการและจัดกิจกรรมโดยมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเป็นจุดหมาย" นายโคทมกล่าว
    นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะเลขาธิการคณะอำนวยการภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า จากข้อสรุปในวันนี้ เราได้ประสานที่จะไปพบนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอจัดตั้งโครงสร้างของเวทีถกแถลงเพื่อเป็นพื้นที่ทำให้ประชาชนทุกภาคส่วน ประชาชน รัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ส.ส. ส.ว. หารือร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ดีที่สุดที่ประเทศไทยเคยมี ที่คล้ายกับสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ปี 2540 (ส.ส.ร.) จะมีการรณรงค์ควบคู่กันไปที่จะให้แก้มาตรา 256 ให้เปิดช่อง ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ นอกจากนี้ ยังคิดว่าจะมีการจัดกิจกรรมเดินวิ่งเพื่อประชาธิปไตยในวันรัฐธรรมนูญที่ 10 ธ.ค.นี้ 
"บิ๊กตู่"ปรองดองล้มเหลว
    นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และอดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยยังติดหล่มอยู่กับความแตกแยกทางความคิดขัดแย้งทางการเมือง สืบเนื่องจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไร้ความสามารถในการบริหารบ้านเมือง หลัง คสช.ยึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค.2557 ผ่านมา 5 ปีกว่าก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ทำตามสัญญา ข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ก็ไม่ได้นำไปใช้ กลับซื้อเวลาเพื่อสืบทอดอำนาจของตนเองออกไปเรื่อยๆ ซ้ำเติมด้วยการเพิ่มความขัดแย้งมากยิ่งกว่าเดิม ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมในระยะยาวที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ 
    นายอดุลย์กล่าวว่า หลังมีชื่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.เป็นนายกฯ คนต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ได้บอกว่าเป็นนายกฯ ไม่ง่าย ซึ่งเหมือนเป็นการตีกันไม่ให้ใครคิดอยากจะเป็นนายกฯ ในภาวะที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งทางความคิดเช่นนี้ ทั้งที่ความจริงเป็นเพราะตนเองไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้ง ในเมื่อเป็นผู้นำประเทศมา 5 ปีกว่าแล้ว แต่ประสบความล้มเหลว ประชาชนก็ย่อมต้องแสวงหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาแก้ปัญหาของบ้านเมือง สำหรับ พล.อ.อภิรัชต์ ในฐานะที่เป็นทหารของพระราชา จะต้องตระหนักถึงวิกฤติของบ้านเมือง และพร้อมออกมาคุ้มครองประชาชนที่กำลังประสบทุกข์ยาก หากสามารถสร้างความรัก ความสมานฉันท์สามัคคีเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกันตามพระราชดํารัสในหลวง ทำให้สังคมไทยกลับมาสงบสุขสันติดังเดิมได้ ก็มีสิทธิ์เป็นนายกฯ ได้เช่นเดียวกัน หากสามารถนำพาประเทศไปสู่ความสามัคคีสมานฉันท์ และสร้างความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองได้ ก็เป็นผู้นำประเทศแทน พล.อ.ประยุทธ์ได้ทั้งนั้น
    “การเป็นผู้นำต้องมีใจกว้าง รับฟังประชาชนทุกส่วน และทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ บ้านเมืองเรามีคนเก่งมากมาย ถ้าหากผู้นำประเทศมีความใจกว้าง ไม่คับแคบเอาแต่พรรคพวก รู้จักรับฟังคำแนะนำของผู้รู้ที่ได้รับการยอมรับจากสังคม เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน เก่งด้านบริหาร นายชวน หลีกภัย ผู้ซื่อสัตย์สุจริต อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักปราชญ์สยาม ผู้มีความจงรักภักดีไม่ยอมให้มีการอ้างอิงมาตรา 112 ทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ที่สำคัญหากสามารถนำพาประเทศไปสู่ความสามัคคีสมานฉันท์และสร้างความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองได้ ก็เป็นผู้นำประเทศแทนพล.อ.ประยุทธ์ได้ทั้งนั้น” นายอดุลย์กล่าว  
    วันเดียวกัน “นิด้าโพล” เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง” ระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค 1,253 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความคาดหวังของประชาชนต่อความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.44 ระบุว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะเพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 31.36 ระบุว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะเท่าเดิม, ร้อยละ 23.94 ระบุว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะลดลง, ร้อยละ 7.18 ระบุว่าจะไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองอีกแล้ว 
    ด้านความคิดเห็นต่อความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน  ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.85 ระบุว่าความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 36.71 ระบุว่าเท่าเดิม, ร้อยละ 14.53 ระบุว่าลดลง, ร้อยละ 3.35 ระบุว่า ไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองอีกแล้ว 
    เมื่อถามถึงสาเหตุของความขัดแย้งพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.34 ระบุว่าการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 42.19 ระบุว่าผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว, ร้อยละ 32.64 ระบุว่า อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน, ร้อยละ 14.04 ระบุว่า ความเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล, ร้อยละ 12.87 ระบุว่าความขัดแย้งส่วนบุคคล, ร้อยละ 7.23 ระบุว่าความต้องการปกป้องเกียรติยศและศักดิ์ศรีของฝ่ายตนเอง 
    เมื่อถามถึงความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง พบว่า ร้อยละ 21.43 ระบุว่ามีความกังวลมาก เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนแย่ลงกว่าเดิม นักลงทุนต่างชาติก็ไม่กล้าเข้ามาลงทุน ขณะที่บางส่วนระบุว่ากลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบในอดีตที่ผ่านมา, ร้อยละ 33.14 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกังวล กลัวว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะแย่กว่านี้, ร้อยละ 20.51 ระบุว่าไม่ค่อยมีความกังวล เพราะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง รัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้, ร้อยละ 24.09 ระบุว่าไม่มีความกังวลเลย เพราะไม่ถึงขั้นรุนแรงหรือน่ากังวล และเชื่อมั่นในรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมทุกอย่างได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"