ลุย! รีไซเคิล


เพิ่มเพื่อน    

 

           ปัจจุบันประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญกับการลดขยะอยู่ โดยเฉพาะที่มาจากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง  เช่น ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก แก้วพลาสติก และอื่นๆ  เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และยังสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมเมื่อขยะเหล่านั้นไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสมเพียงพอ ดูได้จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา อย่างเช่น การสูญเสียลูกพะยูนน้อย น้องมาเรียม จากการพบขยะพลาสติกในช่องท้อง

                ซึ่งการณรงค์ดังกล่าวเกิดเป็นกระแสที่ได้รับการตอบรับอย่างดีในวงกว้าง และเชื่อว่าในอนาคตคนไทยเราเองก็จะเข้าใจในการใช้พลาสติกมากขึ้น และรู้จักในการไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกันนั้นขยะชนิดอื่นๆ ก็ยังมีอยู่ และยังต้องการได้รับแนวทางดูแลและแก้ไขเช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือแผงโซลาร์เซลล์ หรือแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อมาผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน ที่ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

                ถึงแม้ว่าอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์นั้นจะยาวนานเป็นเวลากว่า 25 ปีก็ตาม แต่อย่างไรก็ต้องได้รับการกำจัดและแนวทางการดูแลอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รกโลกต่อไป จึงมีหลายหน่วยงานที่คิดค้น วิจัยและพัฒนาเพื่อหาเทคโนโลยีรองรับการกำจัดตัวแผงดังกล่าว ไม่ให้เป็นซาก แต่ให้กลายเป็นวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อที่จะสร้างประโยชน์ได้ต่อไป

                และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)  ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ทั้งวัตถุดิบจากแหล่งแร่ธรรมชาติ วัตถุดิบทดแทนที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย และวัตถุดิบขั้นสูงที่เป็นแร่ โลหะและสารประกอบโลหะชั้นคุณภาพสูง สำหรับรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตของประเทศ ตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมไทย 4.0 ได้ตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน ซึ่งผลการดำเนินการประสบความสำเร็จตามแผนมาโดยตลอด

                และในปี 2562 นี้เอง ก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลจัดการของเสียที่ประเทศไทยยังไม่มีกระบวนการจัดการและเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ดีได้เป็นผลสำเร็จเป็นแห่งแรก ได้แก่ เทคโนโลยีรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Panel) และเทคโนโลยีรีไซเคิลถุงบรรจุภัณฑ์ที่มีอะลูมิเนียมฟอยล์เป็นองค์ประกอบ ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ตอบโจทย์ในการจัดการของเสียที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต

                โดย นายสุระ เพชรพิรุณ รองอธิบดี กพร. ได้ออกมากล่าวว่าแผงเซลล์แสงอาทิตย์เป็นอุปกรณ์ผลิตพลังงานทางเลือกที่มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา  และจะเริ่มหมดอายุการใช้งานกลายเป็นของเสียระลอกแรกในระยะ 5 ปีนี้ กพร.จึงได้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้ประสบผลสำเร็จ โดยสามารถสกัดโลหะมีค่า คือ เงินบริสุทธิ์ 99.98% ออกมาใช้ใหม่ได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย

                ซึ่งนับเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสียกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างคุ้มค่า และเตรียมต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลส่วนประกอบอื่นที่สำคัญจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เช่น ซิลิกอน (Silicon) อย่างครบวงจรในระยะต่อไป โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของ กพร. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

                ผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลดังกล่าว นับเป็นความสำเร็จตามเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยนวัตกรรม และรูปแบบธุรกิจใหม่ โดยการเปลี่ยนขยะหรือของเสียที่ถูกมองว่าเป็นปัญหากลับมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบทดแทน ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก และหวังว่าในอนาคตการรีไซเคิลจะสามารถตอบโจทย์การกำจัดขยะได้กับทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทย.

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"