'ทอน'ต้องทะเยอทะยาน


เพิ่มเพื่อน    


    "ธนาธร" แผ่นเสียงตกร่อง! เดินสายขายไอเดียแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ต้องแก้รัฐธรรมนูญ อ้างไม่มีอำนาจประชาชนอยู่ใน รธน.เลย แต่อยู่ในมือระบบราชการ กลุ่มทุน ปืนและรถถัง  ฉะนั้นนี่คือเวลาที่ต้องคิดอย่างทะเยอทะยานเพื่อคนรุ่นต่อไป 
    เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่โรงแรมชัยคณาธานี จ.พัทลุง เครือข่ายภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมจัดเวทีเสวนา “แก้ปัญหาปากท้องประชาชน ต้องแก้รัฐธรรมนูญ?” โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเวทีเสวนาและรับฟังปัญหาจากเครือข่ายต่างๆ 
    นายธนาธรเริ่มต้นด้วยการถามผู้เข้าร่วมว่า หากสมมติว่าที่นี่เป็นสภา แล้วเราต้องตัดสินใจว่ามีงบประมาณก้อนหนึ่งประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท จะเอาไปทำอะไร 4 ตัวเลือก 1.เพิ่มเบี้ยเลี้ยงดูบุตรจากคนละ 600 บาทต่อเดือนสำหรับคนจน เป็น 700 บาทต่อเดือนแบบถ้วนหน้า ใช้งบ 1.7 หมื่นล้านบาท 2.นำไปพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก 10,000 โรงทั่วประเทศ โรงละ 2 ล้านบาท ใช้งบ 2 หมื่นล้านบาท 3.นำไปอุดหนุนค่าสัมปทานให้กับบริษัทโทรคมนาคมที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ 2 หมื่นล้านบาท หรือ 4.นำไปซื้อเรือดำน้ำ 3 หมื่นล้านบาท 
    ทั้งนี้ ทุกคนในห้องร่วมกันยกมือให้กับตัวเลือกที่ 1 และ 2 โดยไม่มีใครเลือกตัวเลือกที่ 3 และ 4 เลยแม้แต่คนเดียว
    นายธนาธรกล่าวว่า หากนี่เป็นสภาจริงๆ เราคงจะได้นำงบประมาณไปพัฒนาสิ่งเหล่านี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในความเป็นจริงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมา ได้มีการใช้ ม.44 ไปลดค่าสัมปทานให้กับทุนคมนาคมไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท และซื้อเรือดำน้ำไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนของอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ความจนหรือรวยในประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องของบุญทำกรรมแต่ง เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ยังยากจนเป็นเพราะพวกเขาไม่มีอำนาจ สิ่งที่เรามานั่งพูดกันวันนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ก็คือเรื่องของอำนาจ
    "นี่คือเรื่องอำนาจที่จะเอางบจากภาษีประชาชนกว่า 3 ล้านล้านบาท จะเอาไปใช้เพื่อใคร ถามว่าทำไมในข้อเท็จจริงมันกลับถูกนำไปใช้ในสิ่งที่คนทั้งห้องนี้ไม่ได้เลือกเลย คำตอบเพราะอำนาจไม่ได้อยู่ที่ประชาชน และรัฐธรรมนูญ 60 คือรัฐธรรมนูญที่บอกว่า อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสูงส่งกว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง นี่คือรัฐธรรมนูญที่ไม่มีอำนาจของประชาชนอยู่ในนั้น ที่มาของอำนาจมาจากไหน อำนาจต้องรับใช้คนกลุ่มนั้น คนที่มีอำนาจในปัจจุบันก็คือกลุ่มคนเดียวกันกับที่รัฐประหารปี 2557 มาจากระบบราชการ กลุ่มทุน ปืนและรถถัง ไม่มีประชาชนเป็นที่มาของอำนาจ พวกเขาจึงออกแบบงบประมาณออกมาแบบนี้ ไปอุ้มกลุ่มทุน ไปหล่อเลี้ยงระบบราชการที่ใหญ่เทอะทะ" นายธนาธร กล่าว
ต้องคิดอย่างทะเยอทะยาน
    นายธนาธรกล่าวว่า ดังนั้นถ้าเราอยากเห็นสังคมไทยเดินไปข้างหน้า โดยที่ดอกผลของการพัฒนาได้รับการแจกจ่ายอย่างถ้วนหน้า ถ้าเราอยากเห็นสังคมไทยอยู่ในโลกาภิวัตน์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ถ้าเราอยากเห็นงบประมาณถูกนำไปใช้เพื่อประชาชน ถ้าเราอยากเห็นสิ่งเหล่านี้ เราต้องแก้รัฐธรรมนูญ ผมว่านี่คือโจทย์ใหญ่ว่าตกลงอำนาจในประเทศนี้เป็นของใคร อำนาจในการจัดสรรงบประมาณ 3.2 ล้านล้าน ใครควรจะได้เป็นคนจัดสรร 
    "นี่คือเวลาที่เราต้องคิดอย่างทะเยอทะยานเพื่อคนรุ่นต่อไป เพื่อให้ปัญหานี้จบในคนรุ่นเรา ว่าอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรในประเทศนี้ควรอยู่ที่ประชาชน และเพื่อจะแก้ปัญหานี้ เราต้องทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย, ยุติระบบราชการรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง, การลดบทบาทของกองทัพ มีการแต่การทำ 3 อย่างนี้เท่านั้น ประเทศไทยถึงจะเดินไปข้างหน้าได้ และจะทำอย่างนี้ได้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าก้าวแรกก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" นายธนาธรกล่าว
    ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา นักเคลื่อนไหวทางสังคมและพลังงาน กล่าวว่า ปลดปล่อยประชาชนจากความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากรัฐและทุนจิตวิญญาณหรืออุดมการณ์หลักในการร่างรัฐธรรมนูญคือหัวใจที่ทำให้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีความแตกต่างกัน รัฐธรรมนูญฉบับธงเขียว 2540 เกิดจากจิตวิญญาณของภาคประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยเต็มใบที่ไปให้พ้นจากการครอบงำของฝ่ายทหาร และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างในยุคเผด็จการ คสช.นี้ ชัดเจนว่ามีจิตวิญญาณหรืออุดมการณ์หลักที่ร่างเพื่อสืบทอดรักษาฐานอำนาจเผด็จการ คสช.ไว้ให้ยาวนานที่สุด และรวมทั้งเสริมสร้างฐานความเข้มแข็งของรัฐราชการให้แข็งแกร่ง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “เพิ่มอำนาจรัฐ ขจัดอำนาจประชาชน”
    เขาบอกว่า ปัญหาของคนใต้นั้น รัฐไทยคืออุปสรรคอันสำคัญยิ่ง ทั้งในแง่ของการละเลยการทำหน้าที่ที่ควรจะทำในการปกป้องและดูแลประชาชน และทั้งในเง่ของการที่รัฐไทยทำตัวเป็นผู้นำการทำลายล้างเสียเอง แล้วเราภาคประชาชนจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ประท้วงไปทีละประเด็นๆ ไปกระนั้นหรือ ยื่นหนังสือฉบับที่นับไม่ถ้วนกระนั้นหรือ บุกศาลากลางบุกทำเนียบฯ ด้วยความเหนื่อยยากอีกแล้วหรือ
ราชการเป็นอุปสรรค
    ดังนั้นเมื่อรัฐไทยคือตัวปัญหา และกลไกของรัฐไทยคือกลไกราชการเป็นอุปสรรคของการแก้ปัญหา ทั้งด้วยการติดที่วิธีคิด ติดข้อกฎหมายและระเบียบที่รุงรังยิ่งกว่าสายไฟบนท้องถนน รวมถึงติดขัดที่ความไร้ประสิทธิภาพของระบบในการทำหน้าที่ การแก้ปัญหาทีละประเด็นคงไม่ไหวแน่ เช่นนี้แล้วการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นคำตอบแห่งความหวังที่ไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา คือรัฐไทยที่ไร้ประสิทธิภาพและไร้ซึ่งจุดยืนในการยืนข้างประชาชนได้หรือไม่ นี่คือคำถามสำคัญของสังคมไทย
    "สำหรับผมปัญหาปากท้องไม่ได้เกิดจากชาวบ้านขี้เกียจทำกิน  ไม่ได้เกิดจากชาวบ้านมีความรู้น้อยจึงโง่จนเจ็บ แต่ที่ยังจนยังลำบาก และการที่คนทั่วไปทำงานขยันขันแข็งทั้งชีวิตแต่ก็ยังไม่สามารถเงยหน้าอ้าปากได้ เป็นเพราะโครงสร้างทางสังคมและโครงสร้างรัฐไทยที่พิกลพิการ การต่อสู้แก้ปัญหาทีละประเด็นคงไปไม่ถึงไหนแน่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจส่วนบนคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น หากต้องการนำพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นวิกฤติ ไม่ใช่การทำตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อวางโครงสร้างของรัฐไทยใหม่ ให้เป็นประเทศไทยที่อำนาจรัฐส่วนกลางลดลง เพิ่มอำนาจประชาชนในการจัดการตนเองเพิ่มขึ้น”
    นพ.สุภัทรกล่าวว่า ยิ่งเมื่อวิญญาณของรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ ไม่มีวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย แต่กลับเน้นไปที่การรักษาฐานอำนาจเผด็จการและเสริมสร้างพลังอำนาจในการนำพาประเทศด้วยรัฐราชการที่คร่ำครึและไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังกดทับสิทธิเสรีภาพ เบียดขับบทบาทภาคประชาชน เมินเฉยการกระจายอำนาจ ละเลยการปฏิรูป ไม่เห็นกลไกการแก้ความเหลื่อมล้ำ และไม่เห็นอนาคตที่หวังได้ในการนำประเทศชาติในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ใหม่ทั้งฉบับ จึงมีเป็นวาระร่วมที่จำเป็นอย่างยิ่งของประชาชนทุกคนในสังคมไทย
    ที่เมืองทองธานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาจะพิจารณาญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในสมัยประชุมสมัยสามัญนี้ว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในวาระที่ 2 ที่สภาจะพิจารณาเรื่องนี้เป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์มีส่วนผลักดันตั้งแต่ต้น เป็นหนึ่งใน 3 เงื่อนไขที่กำหนดไว้ตอนเข้าร่วมรัฐบาล และรัฐบาลก็ยอมรับและให้ความเห็นชอบบรรจุไว้ในนโยบายเร่งด่วนที่แถลงต่อรัฐสภา 
นโยบายแก้รัฐธรรมนูญ
    ส่วนงานในสภาก็ต้องรอที่ประชุมสภาและที่ประชุมกรรมาธิการเมื่อมีการจัดตั้งแล้ว ว่าสุดท้ายความเห็นร่วมกันของสภาควรจะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีแนวทางชัดเจนว่าเราอยากเริ่มต้นที่หมวดว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญนี้แก้ไขยากมาก ก็อยากเริ่มที่การสะเดาะกุญแจให้เปิดประตูไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยให้ได้เสียก่อน พรรค ปชป.มีแนวทางชัดเจนขอให้เริ่มต้นตรงนี้
    เมื่อถามว่า ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลเหมือนมีพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวที่เดินหน้าในเรื่องนี้ นายจุรินทร์ตอบว่า เรื่องนี้มีความชัดเจนในตัวของมันอยู่แล้ว ในนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา แปลว่าพรรคร่วมรัฐบาลเห็นร่วมกันอยู่แล้ว จึงไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นที่น่ากังวลอะไร และเรื่องนี้ได้คุยกันในวิปรัฐบาล มีการประสานงานกันได้ด้วยดี แต่ถึงอย่างไรก็ต้องรอความเห็นของสภานิดหนึ่ง เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะดำเนินการลำพังพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมันทำไม่ได้ ต้องเป็นความเห็นร่วมของสภาทั้งสภา เพราะการจะแก้ไขได้ต้องใช้เสียงจำนวนมาก
    ถามย้ำว่า ได้พูดคุยกับพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยในประเด็นนี้บ้างหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในนโยบายรัฐบาล ทุกพรรคก็เห็นชอบกับนโยบาย เพียงแต่รอสภา ลำพังซีกรัฐบาลอย่างเดียวไม่สำเร็จ ต้องรอฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาด้วย 
    ส่วนที่ฝ่ายค้านเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจนั้น ตนไม่มีความเห็นตรงนี้ เพียงแต่ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้ คงต้องถามฝ่ายค้านจะยื่นเมื่อไหร่อย่างไร และยื่นรูปแบบไหน เพราะสามารถยื่นอภิปรายที่ตัวนายกฯ หรืออภิปรายรัฐมนตรีฝ่ายบุคคล 
    ซักว่าในส่วนของฝ่ายเศรษฐกิจพร้อมอภิปรายหรือไม่ นายจุรินทร์ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าวแต่อย่างใด และกล่าวด้วยว่า “ผมไม่ได้ตอบคำถามนี้นะ ตอบเท่าที่ตอบ”
    ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการจัดระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมสภาในวันที่ 6-7 พ.ย.นี้ ว่า ญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ 215 ส.ส.พรรคฝ่ายค้านร่วมกันลงชื่อเสนอนั้น จะยังไม่ทันเข้าสู่การพิจารณาในสัปดาห์นี้ เพราะต้องรอต่อคิวจากญัตติด่วนที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และคณะ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 44 พิจารณาให้เสร็จก่อน
"เสรีพิศุทธ์"วนในอ่าง
    นายวิรัชกล่าวต่อว่า หากไล่เรียงลำดับการประชุมในแต่ละสัปดาห์ ทั้งการเปิดให้สมาชิกปรึกษาหารือปัญหาในพื้นที่ กระทู้ถามสด กระทู้ถามทั่วไป รวมไปถึงการพิจารณารับทราบผลการดำเนินการประจำปีตามรัฐธรรมนูญของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งขณะนี้ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ และรอการพิจารณาเป็นจำนวนมากนั้น กว่าจะถึงญัตติด่วนของนายปิยบุตรและคณะก็อาจจะเป็นช่วงเย็นของวันที่ 7 พ.ย.นี้เลยก็เป็นได้ 
    อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูระเบียบวาระ ญัตติในทำนองเดียวกับที่นายปิยบุตรและคณะเสนอที่เกี่ยวข้องคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ก็มีสมาชิกทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอประกบเข้ามากว่า 10 ญัตติ ซึ่งจะต้องพิจารณาไปในคราวเดียวกันด้วย จึงทำให้ต้องใช้ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวมาก ดังนั้นจึงคิดว่าโอกาสที่สภาจะพิจารณาญัตติศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 6-7 พ.ย. จึงน้อยมาก
    พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ประธานกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ  ได้แสดงเอกสารและบันทึกการประชุมของกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ กล่าวถึงกรณีที่นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ ลาออกเพราะอึดอัดใจในการทำงานว่า การพิจารณาของ กมธ.เป็นไปตามขั้นตอนตามลำดับเรื่องที่เข้าสู่วาระ ไม่ใช่ตั้งเรื่องแบบเจาะจง และการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ใช้อำนาจโดยพลการ ซึ่งนายพยมก็อยู่ในที่ประชุมตลอด หากไม่เห็นด้วยก็ควรโต้แย้งตั้งแต่ก่อนลงมติ
    พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ยังเชื่อว่าการลาออกของนายพยม น่าจะมาจากภาระงานในกรรมาธิการที่มีข้อร้องเรียนทั้งเก่าใหม่เข้ามามาก และนายพยมไม่มีความรู้ข้อกฎหมาย จึงอึดอัดใจ ส่วนพรรคพลังประชารัฐจะส่งนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.มาแทน ก็ไม่มีปัญหา แต่เตือนว่าหากนายสิระมีปัญหา ก็จะใช้สิทธิตรวจสอบกรณีการแสดงพฤติกรรมข่มขู่เจ้าหน้าที่ที่ จ.ภูเก็ตอยู่ ซึ่งจะกร่างกับคนอื่นได้ แต่อย่ามากร่างกับตน
    ส่วนการประชุมกรรมาธิการวันที่ 6 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรจะไม่มาให้ข้อมูล เพราะติดประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า เข้าใจและจะส่งหนังสือเชิญฉบับที่ 3 เพื่อนัดวันมาให้ข้อมูลใหม่ แต่หากยังไม่มาก็จะทำหนังสือออกคำสั่งให้มาชี้แจง รวมถึงจะนำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"