พปชร.ขวางมาร์ค จองปธ.แก้ไขรธน.


เพิ่มเพื่อน    

 "จุรินทร์" กั๊กหนุน "มาร์ค" นั่งประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ โยน ส.ส.และ กมธ.พิจารณา  "ปชป." นัด 5 พ.ย.เคาะชื่อ 4 กมธ.ในโควตา "ปธ.วิปรัฐบาล" ย้ำใครนั่งหัวโต๊ะรื้อ รธน.ต้องคุยกันก่อน  "เพื่อไทย" วอน "บิ๊กตู่-ส.ว." ร่วมมือ อ้างพรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องหมด "ภูมิธรรม" ชงให้เป็นวาระสำคัญแห่งชาติ "พท." ขยับยื่นซักฟอก ครม.ประยุทธ์ บอกทำงานมา 3 เดือนพบร่องรอยส่อทุจริตคอร์รัปชันแล้ว

    เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีมีการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรค ปชป.เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้ขอไม่พูดถึงตัวบุคคล แต่ขอพูดในหลักการ คือขณะนี้ญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้บรรจุอยู่ในวาระของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีการหยิบยกขึ้นมาก็จะมีการพิจารณาว่าจะให้มีการตั้งกรรมการวิสามัญหรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่าแนวโน้มคงตั้ง เพราะทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านมีความเห็นร่วมกันให้มีการตั้งอยู่แล้วตอนเสนอญัตติเข้าไป ฉะนั้นเมื่อมีการตั้งก็จะมีการพิจารณาตัวกรรมาธิการที่จะเข้าไปสู่การพิจารณา 
    นายจุรินทร์กล่าวว่า ในส่วนของพรรค ปชป.ขอเรียนว่าการพิจารณาว่าใครจะไปเป็นกรรมาธิการขึ้นอยู่กับที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดย ส.ส.จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งตนคงไม่สามารถเรียนให้ทราบล่วงหน้าได้ว่าจะมีใครสนใจบ้างและควรจะเป็นใคร แต่หลังจากได้ตัวกรรมาธิการครบจะพิจารณาว่าใครจะเป็นประธาน รองประธาน 
    "ตำแหน่งไหนในกรรมาธิการวิสามัญขึ้นอยู่กับที่ประชุมกรรมาธิการ ซึ่งในส่วนรัฐบาลก็มีวิปรัฐบาลที่จะเป็นผู้พิจารณา โดยวิปในพรรค ปชป.จะเป็นหนึ่งในวิปรัฐบาลที่จะเข้าไปร่วมพิจารณา ซึ่งต้องรอวิปรัฐบาลเป็นผู้พิจารณาอีกขั้นหนึ่งว่าควรจะเป็นใครอย่างไร" นายจุรินทร์กล่าว
    ถามว่าหากวิปรัฐบาลไฟเขียว ในขณะที่ฝ่ายค้านก็เห็นถึงความเหมาะสมของนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า ขอให้เป็นเรื่องของวิปที่จะไปคุยกัน ในส่วนของพรรคก็จะคุยกัน เพราะเป็นกลไกที่เราทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ต้นในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล และจำเป็นจะต้องหารือกันในวิปรัฐบาล เพราะซีกรัฐบาลมีความสำคัญต่อความสำเร็จเหมือนกัน และจะเป็นความสำเร็จของทุกฝ่าย เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่ต้องรวมไปถึงวุฒิสมาชิกด้วย นั่นแปลว่าจะต้องมีความเห็นพ้องต้องกัน 
    "ยืนยันในส่วนของ ปชป.จะต้องไปนับหนึ่งที่วิปรัฐบาล ในฐานะพรรคร่วม ซึ่งเราจะเจรจากันตรงนั้น  ตอนนี้ขอไม่พูดในรายละเอียด ขอให้เป็นหน้าที่วิปที่จะคุยกัน" หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว 
    ซักว่าส่วนตัวเห็นว่านายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสมหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็นส่วนตัว เป็นเรื่องของพรรคที่จะพิจารณาตัวบุคคล 
    ส่วนนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า การเสนอรายชื่อกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคคาดว่าน่าจะได้จำนวน 4 คน แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยพิจารณาเรื่องดังกล่าวว่าใครจะไปดำรงตำแหน่งบ้าง ซึ่งในการประชุม ส.ส.ของพรรควันที่ 5 พ.ย.นี้ เวลา 13.30 น.จะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกัน ซึ่งผลการประชุมจะออกมาเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบภายหลังการประชุม 
    "ตำแหน่งกรรมาธิการไม่จำเป็นต้องผ่านคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเรื่องในที่ประชุม ส.ส.จะเป็นผู้พิจารณาผู้ที่เหมาะสม" โฆษกพรรค ปชป.กล่าว
    ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ญัตติเรื่องการตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะเสนอไม่ทันในสัปดาห์นี้ เพราะว่าในวันที่ 6  พ.ย.มีวาระหลายเรื่องที่อาจจะใช้เวลานาน อาทิ วาระหารือทั่วไปของสมาชิก กระทู้ถามสดและกระทู้ถามทั่วไป การรับทราบรายงานประจำปีของหน่วยงานต่างๆ และการรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ที่ต้องรายงานแก่สภาทุก 3 เดือน ตรงนี้อาจจะกินเวลานานเพราะน่าจะต้องมีการอภิปรายของสมาชิกด้วย และญัตติการตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบคำสั่งคสช.ต้องใช้เวลานานเช่นกันในการอภิปรายถกเถียง แต่ทั้งนี้ตนยืนยันว่าการประชุมจะเป็นไปตามระเบียบวาระตามปกติ ไม่มีการยื้อเวลาหรือถ่วงเวลาอย่างแน่นอน
    "เรื่องการเสนอนายอภิสิทธิ์มาเป็นประธาน กมธ.ศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ ผมยังไม่ทราบรายละเอียด รอให้มีการตั้ง กมธ.ให้เรียบร้อยก่อนดีกว่า เพราะวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าแต่ละพรรคใครจะมาบ้าง  และเมื่อมาแล้วต้องมาคุยกันก่อนว่าใครจะเป็นประธาน" ประธานวิปรัฐบาลกล่าว
    นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอชื่อประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะต้องเป็นคนในพรรค พปชร. ซึ่ง กมธ.ชุดดังกล่าวเป็นแค่การศึกษาหาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้เป็นเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง โดยจะไปสามารถแก้ไขอย่างรวดเร็วคงไม่ใช่ ก็ต้องศึกษาก่อน เพราะฉะนั้นคนในพรรค พปชร.ก็สามารถนั่งเป็นประธาน กมธ.ได้ทั้งนั้น เบื้องต้นอาจเป็นนายวิรัช รัตนเศรษฐ, นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรค พปชร. หรือแม้แต่ตนก็สามารถนั่งเป็นประธาน กมธ.ได้ โดยจะต้องผู้ที่มีความอาวุโส ซึ่งภายในพรรคก็มีผู้ที่มีความอาวุโสอยู่หลายคน
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเห็นอย่างไรต่อกระแสข่าวการผลักดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธาน นายวีระกรกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติของกรรมาธิการคณะใหญ่ๆ ที่จะต้องเป็นแกนนำพรรครัฐบาล แต่เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นแกนนำพรรครัฐบาล ซึ่งการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์นั้นมีสิทธิ์ที่จะเสนอได้ แต่ตามหลักและมารยาทจะต้องเป็นพรรคใหญ่ที่สุดของรัฐบาลนั่งเป็นประธาน กมธ.
    เมื่อถามว่าสามารถกล่าวได้หรือไม่ว่า พปชร.ไม่ขัดข้องหากนายอภิสิทธ์จะนั่งประธาน กมธ. นายวีระกรกล่าวย้ำว่า จะบอกว่าขัดข้องหรือไม่ขัดข้องนั้นไม่ได้ แต่ย้ำว่าไม่ได้รังเกียจนายอภิสิทธิ์ แต่เขาเสียงน้อยมานั่งตรงนี้คงจะไม่ได้ ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสมในสายตาของตน แต่เป็นตัวแทนพรรค ปชป.มองว่ายังเล็กไป ควรจะต้องเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรค พปชร. สำหรับคุณสมบัติประธาน กมธ.จะต้องรู้เรื่องกฎหมายและมีประสบการณ์ทางการเมืองมากพอสมควร รวมถึงจะต้องรู้ว่ารัฐธรรมนูญเก่าๆ ที่ผ่านมาให้สิทธิเสรีภาพอย่างไร หรือมีอะไรที่แตกต่างจากฉบับปัจจุบันเพื่อเปรียบเทียบ" 
    ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์จะมาเป็นประธาน กมธ.ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า คนนอกมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปเป็น กรรมาธิการได้ ส่วนตนจะร่วมไปเป็นกรรมาธิการด้วยหรือไม่ คงต้องรอพรรคหารือกันเพื่อเสนอว่าจะส่งใครเข้าไป แต่อยากให้เป็นคนที่มีความรู้ด้านกฎหมายเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจะไปช่วยผลักดันให้การทำงานของ กมธ.ให้ประสบผลตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท.กล่าวถึงข่าวนายอภิสิทธิ์จะมาเป็นประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคล เป็นใครก็ได้ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน และมีหลักที่ชัดเจน ไม่กลับไปกลับมา รวมทั้งต้องทำให้ประชาชนมั่นใจ มีจุดยืนที่เป็นประชาธิปไตย มีหลักการที่เป็นสากล จะเป็นชื่อใครไม่มีปัญหา เราลดเงื่อนไข แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ชงแก้ รธน.วาระแห่งชาติ
    ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พท.กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจากการพูดคุยกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคพลังประชารัฐ เห็นตรงกันว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่อุปสรรคคือหากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือผู้มีอำนาจไม่เอาด้วยก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องให้ผู้มีอำนาจและสมาชิกวุฒิสภาเห็นด้วย แต่ก็ไม่ง่ายเพราะ ส.ว.เกรงว่าอำนาจที่ตัวเองมีจะหายไป ดังนั้นอาจจะต้องหารือกับ ส.ว.ว่าเราจะแก้ไขในส่วนใดบ้าง อาจจะมีการแก้ในส่วนของบทเฉพาะกาล ให้คงอำนาจของ ส.ว.ตามวาระ หลังหมดวาระแล้วว่ากันใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
    "ทั้งหมดทั้งมวลการแก้รัฐธรรมนูญต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากไม่ร่วมมือหรือไม่เห็นแก่ประชาชนก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้" นพ.ชลน่าน
     นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง "ลดเงื่อนไข เลิกแบ่งฝ่าย ร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ตอนหนึ่งระบุว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญสมควรที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายรัฐบาลจะยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด โดยร่วมกันทำให้วาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระสำคัญของชาติ และช่วยกันเร่งสร้างบรรยากาศความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ประชาชนในสังคม มุ่งช่วยกันปลดล็อกหาทางออกให้ประเทศ โดยลดอคติการแบ่งฝักฝ่าย ลดการสร้างเงื่อนไขต่างๆ 
    ที่พรรคเพื่อไทย วันเดียวกันมีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนพรรคตรวจสอบการทำงานรัฐบาล เตรียมความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมีแกนนำพรรคเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
    น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค พท.แถลงหลังการประชุมว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พรรคมีข้อมูลการบริหารงานรัฐบาลที่บกพร่องไร้ประสิทธิภาพ แม้รัฐบาลนี้จะบริหารงานมาเพียง 3 เดือนเศษ ก็พบร่องรอยบางประการที่อาจจะมีการทุจริตคอร์รัปชัน จากข้อมูลที่ได้มาเรามีความพร้อมที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 
    "ขณะนี้พรรค พท.ทำงานร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งรายละเอียดวันอภิปรายจะยื่นอภิปราย ครม.ทั้งคณะหรือรายบุคคล รัฐมนตรีคนใด กระทรงใดบ้าง คงต้องรอการหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง แ ต่ยืนยันว่าข้อมูลที่เราได้มา มีรัฐมนตรีหลายคนเข้าข่ายถูกอภิปรายได้ ตอนนี้ขอยังไม่เปิดเผยว่ามีใครบ้าง กระทรวงใดบ้าง แต่อาจจะมีบางคนที่คาดไม่ถึงรวมอยู่ด้วย" เลขาฯ พรรค พท.กล่าว
    นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล อาจจะมีคำถามตามมาว่าพรรคฝ่ายค้านยื่นเร็วไปหรือไม่ ต้องบอกว่ารัฐบาลประยุทธ์อยู่ในอำนาจมา 6 ปีแล้ว  ไม่ใช่อยู่มา 3 เดือน เราไม่อยากให้คนผิดลอยนวล 
    "พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมตัวอภิปรายอย่างเต็มที่ ซึ่งยืนยันเวลานี้การทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านยังเหนียวแน่นมั่นคง รวมทั้งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเราก็เปิดใจกว้าง จะเป็นใครทั้งนายอภิสิทธิ์หรือใครก็ได้ที่มีความเหมาะสม มาเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เราก็เปิดใจกว้างรับ เช่นเดียวกับ ส.ว.ถ้ายินดีจะมาในขั้นตอนนี้เราก็เปิดใจกว้างรับ" ประธานวิปรัฐบาลกล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"