'ชมกันเองบ้างจะเป็นไรไป'


เพิ่มเพื่อน    

            วันนี้...ต้องชมกันเองแล้วล่ะ

                งานประชุมสุดยอดอาเซียน ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ๒-๔ พ.ย.๖๒

                จัดได้สมหน้า-สมตา สมฐานะไทย ดีจริงๆ

                "นายกฯ ประยุทธ์" ก็ทำหน้าที่ ทั้งประธานอาเซียน และทั้งประเทศเจ้าภาพ ชนิดที่ต้องบอกว่า

                ไม่ทำให้เสียชื่อประเทศ และไม่ทำให้คนไทยเสียหน้า!

                ต้องชื่นชมกระทรวงการต่างประเทศเขาด้วย เรียกว่า งานนี้ไปได้ด้วยดี เพราะพี่เขาประสาน

                แล้วเราได้อะไรบ้างจากการประชุม?

                เรา-เจ้าบ้าน..........

                ได้-ไม่ได้เป็นเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่ประเทศต้องได้แน่ๆ คือ "ได้หน้า-ได้ตา"

                การประชุมครั้งนี้ เป้าหมายหลักอยู่ที่ "ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค" ที่เรียกกันว่า RCEP

                คือแผนความตกลงเกี่ยวกับเขตการค้าเสรี ระหว่าง ๑๐ ชาติอาเซียน กับ ๖ ชาติคู่เจรจา

                "จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์"

                เริ่มกันมาตั้งปี ๒๕๕๕ จะจบ..จะจบ ก็ไม่จบซักที

                ก็ตั้งใจกันว่า อาเซียนซัมมิตครั้งนี้นี่แหละ

                การเจรจา RCEP จบแน่.......

                จะได้ร่วมกันประกาศให้โลกรู้ กลุ่มการค้า RCEP ขนาดใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของโลก ด้วยประชากร  ๓.๕ พันล้าน ด้วยมูลค่าการค้าสูงเกือบ ๓๐% ของโลก เกิดขึ้นแล้ว

                แต่น่าเสียดาย เจรจาจบก็จริง แต่ยังมีติ่งเล็กๆ น้อยๆ จากบางประเทศ เช่น อินเดีย ที่เขาต้องไปพูดจากับภายในของเขาให้สะเด็ดน้ำก่อน

                ไทยที่จะเป็นเวทีประกาศ ก็เลยต้องส่งผ่านไปให้เวียดนาม ที่จะเป็น "ประธานอาเซียน" ต่อจากไทย

                กุมภา ๖๓ RCEP ตูมตาม "ตลาดโลก" แน่!

                ถามว่า แล้วไทยได้-เสียอะไรมั้ย กับการที่ RCEP จบแล้ว แต่ยังไม่จบ?

                ทำความเข้าใจให้ชัดตรงนี้ RCEP จะเกิดหรือยังไม่เกิด ไม่มีผลกับไทยโดยตรง

                เพราะทุกวันนี้ ไทยเปิดเสรีการค้ากับ ๑๖ ประเทศ RCEP ปลอดกำแพงภาษีอยู่แล้ว

                เพียงแต่ถ้า RCEP เสร็จ..ประกาศใช้ได้เร็ว

                ทางค้า-ทางผลิต ไทยจะต่อยอดเชื่อมโยงขยายตัวได้มากขึ้นเท่านั้น

                เรื่องเขตการค้าเสรีนี่ บอกตรงๆ น่าปวดหัว!

                นอกจากกรอบใหญ่แล้ว แต่ละประเทศ แต่ละกลุ่ม ยังไปจับกลุ่มเป็นทวิภาคีซ้อนในซ้อนกันนุงนังไปหมด

                สรุปแล้ว การเกิดกลุ่มด้วยข้อตกลงทางการค้านั้น เบื้องหลังจริงๆ ของมัน ปากว่า "การเมืองไม่เกี่ยว"

                ที่แท้ "การเมืองทั้งดุ้น" ทั้งนั้น!

                มี WTO แล้ว ยังมี AFTA, NAFTA, ASEAN Plus แล้วตอนนี้ CPTPP มี Indo-Pacific มี One Belt  One Road เข้ามาอีก

                การเมือง เพื่ออำนาจชิงพื้นที่ของประเทศตีนใหญ่ทั้งนั้น แต่ปากก็บอกว่า.....

                เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน ทั้งนั้น!

                CPTPP ก็จาก TPP ของสหรัฐฯ เดิม ที่มี ๑๒ ประเทศเป็นสมาชิก

                "ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม"

                ไทยเราจะเข้า-ไม่เข้า ถกกันไป เถียงกันมา พอดีโอบามาไป ทรัมป์มา ก็เลยจบไป

                พอสหรัฐฯ ถอนตัว ญี่ปุ่นกลัวจีน เป็นตั้วเฮียแทน เอา TPP มาปรับเป็น

                Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership=CPTPP

                ให้ขนาดมันเล็กลงหน่อย และปรับเงื่อนไขให้มันยืดหยุ่นเข้าง่าย-ออกง่ายหน่อย

                ตอนนี้มีอีกหลายประเทศจะเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของญี่ปุ่น เช่น ไต้หวัน อังกฤษ เกาหลีใต้  ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น

                และไทย ก็คงต้องร่วมขบวนกับเขาด้วย เพียงแต่ไทยมีสุภาษิตว่า "ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม" จึงไม่รีบ

                นอกจาก CPTPP ของญี่ปุ่น

                ตอนนี้ สหรัฐฯ โดยทรัมป์ตั้งกลุ่มขึ้นมาใหม่ เรียกว่า Indo-Pacific

                กรอบขอบเขต Indo-Pacific ของสหรัฐฯ กวาดพื้นที่ไปตั้งแต่ชายฝั่งตะวันตกอินเดีย ไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก

                ครอบคลุมเอเชียตะวันออก, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ ไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก

                นี่..ผมอ่านที่ "อาร์ม ตั้งนิรันดร์" เขาเขียน จะสังเกตเห็นว่า อินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐฯ มีอินเดีย, ออสเตรเลีย รวมอยู่ในนั้น

                แต่ไม่มีจีน!

                และอาเซียน รวมทั้งไทย ก็จะต้องเล่นแชร์วงนี้อีกเช่นกัน สรุปว่า ตอนนี้ ขาใหญ่อย่างญี่ปุ่นตั้งแชร์  CPTPP วงหนึ่ง สหรัฐฯ ตั้ง Indo-Pacific อีกวงหนึ่ง

                อาเซียน นอกจาก RCEP แล้ว หนีไม่พ้นต้องเล่น ๒ วงนี้ด้วย เขตการค้าซ้อนทับซ้อนนัวเนีย ชนิดขาใครต่อขาใครก่ายกันวุ่นไปหมด

                พูดถึง RCEP มีแค่ ๑๖ ประเทศ คือ ๑๐ ชาติอาเซียน กับอีก ๖ ชาติคู่เจรจา

                ไม่มีสหรัฐฯ นะครับ เข้าใจด้วย!

                แต่มาร่วมในฐานะคู่เจรจากับอาเซียน ที่เป็นข่าวเมาธ์แตกกันตอนนี้ว่า สหรัฐฯ ไม่พอใจ

                ว่าผู้นำประเทศอาเซียนบางประเทศไม่ให้เกียรติ ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมนั้น

                คือ หอการค้าสหรัฐฯ และสภาหอการค้าไทย ตั้งเวทีคู่ขนานกับเวทีอาเซียนซัมมิตเมื่อวาน (๔ พ.ย.) ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานีด้วย

                แล้วคนที่เป็นตัวแทนสหรัฐฯ มาเจรจากับ ๑๐ ชาติอาเซียนคือใคร

                คือ นายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา

                มาเป็นผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ!

                ก็เลยเป็นข่าวอย่างที่ว่านั่นแหละ

                ในวงเจรจา มีแต่นายกฯ ประยุทธ์ ในฐานะประธานอาเซียน นายเหงียน ซวน ฟุก นายกฯ เวียดนาม ผู้จะทำหน้าที่ประธานอาเซียนต่อ และนายทองลุน สีสุลิด นายกฯ สปป.ลาว ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-สหรัฐฯ เท่านั้น ที่เข้าร่วมประชุม

                ส่วนนายกฯ กัมพูชา เมียนมา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

                ส่งระดับตัวแทนเข้าร่วม!

                ความจริง สหรัฐฯ จะไม่พอใจ บอกว่าไม่ให้เกียรติก็ไม่ถูกนัก เพราะสหรัฐฯ เป็นฝ่ายไม่ให้เกียรติผู้อื่นเขาก่อน

                ประชุมสุดยอดอาเซียน ก็รู้อยู่ ต้องเป็นระดับผู้นำประเทศมาร่วม

                แต่ทรัมป์ไม่มา แทนที่จะส่งรองประธานาธิบดีมา ก็ไม่ส่ง กลับให้คนระดับ "ที่ปรึกษา" ซึ่งบ้านเราเรียกตำแหน่ง "เทกระโถน" มาแทน

                ผู้นำประเทศอาเซียน ๗ ประเทศ ไม่เข้าประชุมเจรจาเอง เพียงส่งตัวแทนไป ก็สมเหตุ-สมผลแล้วนี่

                แต่นายกฯ ไทยเรา ทำหน้าที่เจ้าบ้านและหน้าที่ประธานอาเซียนได้สวยงาม ถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะ เรียกว่างานนี้

                คะแนนเต็ม ๑๐ เอาไป ๙ เลย! 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"