กนง.หั่นดอกเบี้ย0.25% งัดมาตรการลดบาทแข็ง


เพิ่มเพื่อน    

 กนง.เสียงแตก 5 ต่อ 2 หั่นดอกเบี้่ย 0.25% เหลือ 1.25% ต่ำสุดในประวัติการณ์ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังประเมินโตสุดแผ่ว ส่งออกยังโคม่า ธปท.ออก 4 มาตรการลดบาทแข็ง กกร.ชงปรับโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยน เสนอตั้งคณะทำงานร่วมดูแลค่าเงิน 

    เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวภายหลังการประชุม กนง.ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เหลือ 1.25% โดยให้มีผลทันที โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลงจากสงครามการค้าส่งผลให้มีการเลิกจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ มีปัจจัยเสี่ยงต้องติดตาม
     ทั้งนี้ คณะกรรมการเสียงส่วนใหญ่ให้ลดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และทำให้เงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย ขณะที่คณะกรรมการฯ อีก 2 คนเห็นว่าภาวะปัจจุบันนโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว การลดดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจมากนัก และจำเป็นต้องรักษาความสามารถดำเนินนโยบาย (Policy Space) ที่มีจำกัดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
    นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอ การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวตามรายได้ที่น้อยลงและการถูกเลิกจ้างงานในภาคการผลิตส่งออก รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การลงทุนภาคเอกชนก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า
    "การปรับลดดอกเบี้ยลงมาที่ 1.25% ต่อปี ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ เทียบกับช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เนื่องจาก กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยระยะต่อไปยังต้องเผชิญความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะด้านต่างประเทศ ผลกระทบจากสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และปัจจัยภายในประเทศเรื่องการทุนภาครัฐและเอกชน ที่ กนง.ยังต้องติดตามใกล้ชิด" นายทิตนันทิ์ ระบุ
    สำหรับอัตราเงินเฟ้อปี 2562 และ 2563 ที่แนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ขณะเดียวกัน กนง.ยังเป็นห่วงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น คณะกรรมการฯ จึงสนับสนุนให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก ลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น
    เลขานุการ กนง.กล่าวว่า กนง.ได้ประเมินแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับที่ประเมินครั้งล่าสุดปีนี้ ที่คาดว่าที่ 2.8% มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด ทั้งจากปัจจัยการส่งออกที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด การจ้างงานชะลอตัวเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่ำ แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศของรัฐแล้วก็ตาม ทำให้การประชุมครั้งต่อไปในเดือน ธ.ค. จะต้องมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจใหม่
    อย่างไรก็ดี สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะต้องติดตามต่อเนื่อง เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด ส่งผลให้ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้น ดอกเบี้ย MRR และดอกเบี้ย MOR ปรับตัวลดลงตาม แต่ดอกเบี้ย MLR ไม่ได้ปรับลง ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรอบใหม่ จะส่งผลให้ MLR ลดลงหรือไม่ จะต้องติดตาม และยอมรับว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายลง ส่งผลให้ Policy Space มีจำกัดมากขึ้น
    วันเดียวกัน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและ ธปท.ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออก ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท รวมทั้งจะช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 8 พ.ย.นี้ 
    สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1.การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ อนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 เหรียญสหรัฐ จากเดิม 50,000 เหรียญสหรัฐต่อใบขน สามารถฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลา นอกจากนี้หากผู้ส่งออกมีรายได้สูงกว่าวงเงินข้างต้น ยังสามารถนำไปหักกลบกับรายจ่ายในต่างประเทศได้ ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ ทั้งนี้ ธปท.ได้หารือเบื้องต้นกับ รมว.การคลัง ว่าจะขยายวงเงินรายได้จากการส่งออกไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศเป็น 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อใบขน ภายในระยะ 3 เดือนข้างหน้า โดยการผ่อนคลายดังกล่าวจะครอบคลุมประมาณ 80% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด
    2.การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองในวงเงิน 200,000 เหรียญสหรัฐต่อปี จากเดิมที่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศ หรือต้องมีสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด และเพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้นักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็น 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 
    3.เปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นเพียงไม่กี่รายการ และการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ สามารถโอนได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และ 4.อนุญาตให้ลูกค้าคนไทยที่มีการลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ชำระราคาในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ ทั้งนี้เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ และหวังว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุนจะมีความสมดุลมากขึ้นระหว่างเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าและไหลออก
    ทางด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่าที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าขณะนี้มีความจำเป็นต้องทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ที่ควรต้องมีการปรับโครงสร้างระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบกึ่งจัดการในปัจจุบันให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยภายในสัปดาห์หน้าภาคเอกชนจะทำหนังสือขอเข้าหารือกับ ธปท. ว่ามีมาตรการอะไรที่ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ให้ดีขึ้นในระยะกลางกับระยะยาวหรือไม่ 
    นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย กล่าวว่า ในระยะสั้น กกร.ยังมีข้อเสนอให้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจระหว่าง กกร., ธปท., กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันหาแนวทางดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และให้มีมาตรการลดผลกระทบเงินบาทแข็งค่าโดยเร็ว เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า อย่างไรก็ตาม กกร.ยังมีมติคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ 2.7-3% การส่งออกคาดอยู่ที่ติดลบ 2% ถึงโตได้ 0% และเงินเฟ้อคาดอยู่ที่ 0.8-1.2%.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"