กมธ.แก้ รธน.เริ่มต้นก็งัดข้อ พปชร.สกัด 'มาร์ค' ดัน 'สุชาติ'


เพิ่มเพื่อน    

เริ่มจะเห็นร่องรอยความขัดแย้งของสองพรรคแกนนำรัฐบาล พลังประชารัฐ กับ ประชาธิปัตย์ ในเรื่องการเดินหน้าเพื่อนำไปสู่การ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เสียแล้ว

เพราะนอกจากแกนนำ-ส.ส.อาวุโสของพรรคพลังประชารัฐหลายคนอย่าง วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ ที่มีบทบาทสูงในการกำกับงานในห้องประชุมสภาให้รัฐบาล ยืนกรานว่าเมื่อที่ประชุมสภามีมติตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน-พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา ร่วมกันเสนอญัตติแล้ว ประธาน กมธ.วิสามัญ ควรต้องเป็นคนจากพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ไม่ใช่อภิสิทธิ์จากประชาธิปัตย์

               จากนั้น สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม-แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ก็ออกมาตีกันอภิสิทธิ์เช่นกัน  โดยพูดดักทางไว้ว่า “ที่มีการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นประธาน กมธ. เชื่อว่าเขาอาจจะไม่รับ ควรเป็นแกนนำหลักของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นประธานกรรมาธิการ”

                ทั้งนี้เป็นที่รู้กันดีทางการเมืองว่า "อภิสิทธิ์" แสดงท่าทีชัดเจนไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตั้งแต่ตอนทำประชามติแล้ว ด้วยการเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในนามพรรค ปชป. ผนวกกับพรรค ปชป.ในช่วงหาเสียงที่อภิสิทธิ์ยังเป็นหัวหน้าพรรค ได้ชูธงการแก้ไข รธน.หลังการเลือกตั้งเช่นกัน แม้จะไม่เข้มข้นเท่าพรรคเพื่อไทย-อนาคตใหม่ ผนวกกับจุดยืนของเจ้าตัวก็ชัดเจน คือไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาตามช่องทางรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มี ส.ว. 250 คนคอยโหวตสนับสนุน  จึงเลือกลาออกจาก ส.ส.ทันทีหลังพรรค ปชป.มีมติร่วมรัฐบาลกับ พปชร.

และแม้หลังลาออกจาก ส.ส.แล้ว เดอะมาร์ค-อภิสิทธิ์ ก็ยังแสดงความเห็นเรื่องการแก้ไข รธน.ในลักษณะไม่ไว้ใจพลังประชารัฐว่าจะเอาจริงเรื่องการแก้ไข รธน.ตามที่เขียนไว้ในนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา

เช่นเมื่อสื่อถามว่า ฝ่ายพลังประชารัฐก็เสนอญัตติประกบเข้าไปในสภาให้มีการตั้ง กมธ.ศึกษาการแก้ไข รธน.ด้วย มองว่ามีความจริงใจหรือไม่ในการแก้ไข รธน. แต่คำตอบที่ได้กลับทิ่มแทงไปยัง พปชร.โดยตรง

                "ก็ยังเห็นเขาไปรณรงค์อยู่ว่าไม่ต้องแก้ ผมก็ยังแปลกใจอยู่ เพราะเป็นแกนนำพรรครัฐบาล  แต่ไม่ยึดถือสิ่งที่แถลงต่อรัฐสภา ที่ไปรณรงค์ไม่ต้องแก้ (เวทีประชาธิปไตยไทยอิ่ม ไม่ต้องแก้ก็กินได้)” (อภิสิทธิ์ 21 ต.ค.)

               ด้วยท่าทีทางการเมืองข้างต้นดังกล่าวของอภิสิทธิ์ จึงทำให้ฝ่าย พปชร.ย่อมไม่ต้องการให้อภิสิทธิ์มีบทบาทนำในการเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญใน รัฐสภา แม้ กมธ.วิสามัญที่ตั้งขึ้นจะเป็นแค่ กมธ.ศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญและศึกษาแนวทางการแก้ไข รธน.เท่านั้น แต่จุดสำคัญต้องไม่ลืมว่าหาก  กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าวที่ตั้งขึ้นโดยมติของที่ประชุมสภามีผลการศึกษาออกมาอย่างเป็นทางการ เช่น เห็นควรให้แก้ไข รธน.มาตรา 256 เพื่อปลดล็อกนำไปสู่การแก้ไข รธน.ให้ง่ายขึ้น พร้อมกับมีข้อเสนอพ่วง เช่น ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ

               หากผลการศึกษา-ข้อสรุปของ กมธ.วิสามัญออกมาเช่นนี้ แล้วนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมสภา โดยที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมสภาจะเอาด้วยกับรายงานฉบับดังกล่าวหรือไม่ แต่มันก็จะเป็น Report ข้อสรุปอย่างเป็นทางการจาก กมธ.วิสามัญที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งขึ้น นั่นย่อมทำให้ Report ดังกล่าวกลายเป็น Reference ที่ทรงพลังมากที่สุดชุดหนึ่งในทางการเมือง ที่ฝ่ายเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไข รธน.จะนำไปใช้อ้างอิง เพื่อต่อยอดนำไปสู่การเคลื่อนไหวทั้งในและนอกรัฐสภาให้มีการแก้ไข รธน.ให้ได้

ปรากฏการณ์แบบนี้เคยมีให้เห็นมาแล้วในทางการเมืองหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครนำรายงานของ กมธ.ไปใช้ในทางใด หากนำไปใช้ในทางหาประโยชน์ให้ตัวเองโดยไม่ชอบก็ย่อมถูกต่อต้านได้

ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็เช่นยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.เพื่อไทยก็เคยใช้รายงานของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช.เป็นประธาน กมธ. ที่มีข้อสรุปเสนอให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยให้มีการสอบสวนคดีในชั้น คตส.ใหม่หมด

จนต่อมา ส.ส.เพื่อไทยนำรายงานของ กมธ.ชุดดังกล่าวไปอ้างอิง ไปสร้างความชอบธรรมในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยเพื่อลบล้างคดี คตส.ให้ทักษิณ ชินวัตร จนเกิดปรากฏการณ์ กปปส.นั่นเอง

ด้วยเพราะแกนนำ พปชร.ย่อมอ่านสถานการณ์ข้างหน้าออก จึงไม่ต้องการให้ผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไข รธน.ออกมาแล้วถูกนำไปต่อยอด เรียกร้องให้แก้ รธน.เพื่อให้มีการร่าง รธน.ฉบับใหม่ ทำให้ พปชร.จึงต้องการลงมาคุมเกมใน กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าว เพื่อคุมธงและทิศทางการศึกษาของ กมธ.เอาไว้

จึงเป็นที่มาของการที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐปิดห้องประชุมที่ทำเนียบฯ เพื่อถกการเมืองหลายเรื่อง หลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม.เมื่อวันพุธที่ 6 พ.ย. โดยมีข่าวว่าในวงหารือเป็นระดับแกนนำพรรคทั้งสิ้น อาทิ อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมศักดิ์ เทพสุทิน, ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นต้น นอกจากคุยการเมืองทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีการพูดกันถึงเรื่องการส่งคนไปคุมหางเสือ ใน กมธ.ศึกษาการแก้ไข รธน. บนกระแสข่าวว่าข้อสรุปในวงหารือก็คือ พรรค พปชร.จะดัน สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพลังประชารัฐ เข้าไปเป็น กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าวในโควตา พปชร. เพื่อให้ไปรับตำแหน่งประธาน กมธ.วิสามัญต่อไป ซึ่งคาดว่าญัตติดังกล่าวจะมีการหารือกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์หน้า

สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ต้องจับตาดูกันให้ดีว่า สองพรรคร่วมรัฐบาล "พปชร." กับ "ปชป." จะหาจุดสมดุลในเรื่องนี้อย่างไร

มองไปข้างหน้าเห็นได้ชัด แค่ขนาด กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน.ยังไม่ทันได้ตั้งไข่ เพราะสภายังไม่ได้หารือญัตติดังกล่าว ยังไม่มีการเสนอชื่อคนเป็น กมธ.วิสามัญอย่างเป็นทางการ แต่ก็เริ่มเห็นร่องรอยความเห็นต่าง ความไม่ลงรอยกันเสียแล้ว ในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

                เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ประเมินได้ว่า หาก พปชร.กับ ปชป.ยังเคลียร์กันไม่ได้ การทำงานของ กมธ.ชุดนี้ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงวันที่ทำรายงานข้อสรุปเสนอแนวทางแก้ไข รธน.ต่อสภา เราจะได้เห็นการงัดข้อเกิดขึ้นแน่นอน ระหว่าง กมธ.ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน รวมถึง กมธ.จากฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองด้วย!!!! 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"