เหตุไม่เอาบิ๊กตู่!ห้ามมารค์นั่งปธ.


เพิ่มเพื่อน    

 “วิษณุ” ชี้ประธาน กมธ.ศึกษารัฐธรรมนูญไม่ใช่ผู้ชี้เป็นชี้ตาย แค่มีมนุษยสัมพันธ์ดีก็ใช้ได้ เพราะทำหน้าที่แค่วิศวกรเปิดประตูชำเรา รธน. พลังประชารัฐทุบโต๊ะหัวเด็ดตีนขาดห้าม “มาร์ค” นั่งประธาน เหตุไม่เอา รธน.60 และไม่เอา “ลุงตู่” ส่วนสุชาติยังแบ่งรับแบ่งสู้ เผยขึ้นอยู่กับมติพรรค “ชวน” ไม่ฟันธงรองประธานสภาฯ คั่วเก้าอี้ประธาน กมธ.ได้ไหม วีระกรเผยเรื่องส่อดองยาวไปปลายเดือน พ.ย. หลัง กมธ.วิสามัญคณะต่างๆ พาเหรดเสนอผลงาน

      เมื่อวันพฤหัสบดี ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ว่า คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (ปสส.) หรือวิปรัฐบาล รายงานว่า กมธ.ดังกล่าวมีทั้งหมด 49 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล 18 คน, พรรคร่วมฝ่ายค้าน 19 คน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 คน ซึ่งในส่วนของ ครม.จะใช้เพียง 6 คน ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะมี ครม.เข้าไปด้วยเพื่อแสดงถึงความร่วมมือ แต่อาจไม่มีเวลาจึงไม่เอา ครม.เข้าไป โดยจะให้เป็นส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าไป เพราะถ้าไม่มี ส.ว.อาจสำเร็จยาก รวมถึงคนจากองค์กรอิสระและฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล แต่จะเป็นใครบ้างตอบไม่ถูก คงต้องให้ไปหากัน ส่วนที่เหลืออีก 6 คนจะคืนให้วิปรัฐบาลไปจัดการ โดยต้องคุยกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกับรัฐบาล ซึ่งตรงนี้ได้คุยกับวิปรัฐบาลแล้ว
      เมื่อถามถึงบุคคลจะมาเป็นประธาน กมธ.ที่มีการพูดถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายวิษณุกล่าวว่า เห็นพูดกันมาหลายวันแล้ว แต่ ครม.ไม่มีความเห็นนี้ เพราะ กมธ. 49 คนต้องโหวตกันเอง รัฐบาลไม่ได้ไปโหวตด้วย ส่วนที่มีชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจะมาเป็นประธาน กมธ.ด้วยนั้น ไม่ทราบ ส่วนคนมาเป็นประธาน กมธ. ต้องเป็นคนจากพรรคแกนนำรัฐบาลหรือไม่นั้น ไม่มีความเห็น เป็นเรื่องที่ 49 คนไปโหวตกันเอง แต่เอาใจช่วยให้เริ่มต้นตั้ง กมธ.ให้ได้เสียก่อน ส่วนรายชื่อจะออกมาเมื่อไหร่นั้น ไม่ทราบ แต่จะมีก่อนญัตติเข้าสภา และหากเขาเสนอให้ไปเป็นที่ปรึกษาก็ไม่ขอเป็น
      ถามอีกว่า มีคนมักวิจารณ์ว่าคนร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ร่าง เพราะประธานร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ไม่ใช่นักการเมือง นายวิษณุระบุว่า หากหมายถึงประธานในการร่างเช่นนั้นอาจจริง แต่วันนี้ที่พูดกันอยู่ไม่ใช่การหาคนเพื่อไปร่าง เรากำลังหาคนมาเป็น กมธ.ไปศึกษาวิธีแก้รัฐธรรมนูญ ยังไม่มีการร่างเลยสักมาตรา ตรงนี้ไม่มีปัญหา แต่พอไปถึงตอนยกร่าง ตรงนั้นจะมีปัญหาว่าผมไม่ไว้ใจคุณ คุณไม่ไว้ใจผม เพราะมีส่วนได้เสีย ตรงนั้นจึงกลายเป็นคนนอกเสียเสมอไป 
“ตรงที่บอกว่าประธานควรเป็นคนชนิดไหนต้องดูเป็นพิเศษนั่นคือตอนร่าง แต่ขั้นตอนที่ศึกษากันนั้นไม่ต้องเอาถึงขั้นเก่ง เอาคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีในการพูดคุยกับ กมธ. 49 คนในทิศทางเดียวกัน มีบารมีก็พอสำหรับการเป็นประธาน กมธ.ทั้งหลาย แต่ถ้าถึงขั้นตอนร่างต้องการคนที่เก่งเรื่องเทคนิคเพราะต้องตัดสินบางเรื่องเหมือนที่ผ่านมา เอะอะต้องเป็นคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ เพราะหากใครไปนั่งร่วมประชุมกับท่านจะรู้ว่าถึงเวลาไม่รู้จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ท่านจะบอกเลี้ยวซ้ายเกิดปัญหาอย่างไร เพราะเคยเกิดมาแล้ว ทุกคนก็ถอยกลับมาขวาหมด ถ้าร่างเราต้องการคนแบบนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่ร่าง” นายวิษณุกล่าว
      นายวิษณุกล่าวว่า ไม่คิดว่า กมธ.จะชี้เป็นชี้ตายอะไรมาก แต่จะเป็นการเปิดประตูให้ศึกษาว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปได้ควรแก้โดยวิธีใด เช่น การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือแก้เฉพาะมาตรา เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญด่านที่ 1 ต้องเสนอเป็นร่างเข้าไปในที่ประชุมรัฐสภา ด่านที่ 2 ต้องได้คะแนนเสียงจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งซับซ้อนกว่าเอา 700 มาหาร 2 และด่านที่ 3 แก้บางเรื่องต้องไปสู่การทำประชามติ ถ้าเรื่องที่ไม่วุ่นวายกับประชามติก็แก้ไปเลย แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะแก้เรื่องอะไร ถ้ากระทบเรื่องประชามติก็ต้องทำประชามติ รวมถึงควรลึกลงไปว่าประเด็นใดด้วย เพราะจะนำไปสู่การยอมรับ เช่น การเสนอรายงานความคืบหน้าการปฏิรูปเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ก็มี ส.ส.อภิปรายว่าปฏิรูปไม่ได้ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ หากยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรานั้นมาตรานี้ ดังนั้นเรื่องนี้มันใช้เวลาและยุ่งยากพอสมควร แต่ไม่พ้นวิสัยจนกระทั่งเป็นไปไม่ได้ กมธ.ชุดนี้จะเป็นวิศวกรออกแบบสิ่งเหล่านี้
มีรายงานจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แจ้งว่า การเสนอชื่อนายสุชาติเป็นประธาน กมธ. เป็นมติจากการประชุมวงเล็ก ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการประชุม ครม. โดยมีนายวิษณุเป็นประธานการประชุม พร้อมแกนนำระดับรัฐมนตรีของพรรค พปชร. อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ เป็นต้น ซึ่งหลังได้ชื่อนายสุชาติ, นายสุริยะ และนายสมศักดิ์ได้ต่อสายไป ซึ่งนายสุชาติยังแบ่งรับแบ่งสู้ 
ห้ามมาร์คนั่งประธาน กมธ.
    “พปชร.ต้องการรักษาตำแหน่งประธาน กมธ.ชุดนี้เอาไว้ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และไม่ต้องการให้ตำแหน่งประธาน กมธ.ตกไปอยู่ในมือพรรค ปชป. โดยพรรคไม่ยอมให้นายอภิสิทธิ์มาดำรงตำแหน่งประธาน กมธ.แน่นอน เพราะท่าทีของนายอภิสิทธิ์นั้นชัดเจนว่าไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ หากนายอภิสิทธิ์นั่งเป็นประธานการทำงานร่วมกันนั้น คงเป็นไปได้ยาก แต่หาก ปชป.ยังต้องการสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ทางออกเดียวคือ ปชป.ต้องไปรวมเสียงกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง พปชร.จะใช้เสียงในสัดส่วนของ ครม.ตอบโต้แทน แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วหากแกนนำ พปชร.และ ปชป.จับเข่าคุยกันถึงความจำเป็นแล้ว จะทำให้พรรค ปชป.เข้าใจและถอยให้ในที่สุด”
    ด้านนายสุชาติยอมรับว่า ไม่ได้เสนอตัวทำหน้าที่นี้ แต่หากไม่มีบุคคลที่เหมาะสมจริงๆ ก็ไม่ปฏิเสธ ถ้าพรรค พปชร.มีมติเสนอชื่อ เพราะตำแหน่งประธาน กมธ.ไม่ได้มีความสำคัญมากไปกว่าเนื้อหาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการรับหน้าที่นี้ก็ไม่มีข้อห้ามหรือซ้ำซ้อนกับตำแหน่งรองประธานสภาฯ แต่อาจทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้น ส่วนที่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร.มองว่าเป็นการลดระดับจากรองประธานสภาฯ หากรับหน้าที่นั้น มองว่าไม่ได้เป็นการลดสถานะ และไม่ได้มีข้อห้ามไม่ให้รองประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธาน กมธ.
    ส่วนนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรค ปชป. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ต้องรอผลการหารือของวิปรัฐบาลก่อน เพราะพรรคได้มอบหมายให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ วิปรัฐบาลของพรรคไปแจ้งมติกับวิปรัฐบาลแล้ว ซึ่งถือว่ายังมีเวลา เพราะคาดว่าจะได้พิจารณาตั้ง กมธ.ในวันพุธที่ 13 พ.ย. โดยตำแหน่งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นของพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก เพราะเป็นการทำงานของสภา เหมือนกรณีเลือกประธานสภาฯ ที่ได้นายชวนก็ได้รับการยอมรับทั้งจากคนในสภาและคนภายนอก  
“ที่ พปชร.จะเสนอชื่อนายสุชาติ ก็ต้องฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน โดยพิจารณาตัวเลือกที่ดีที่สุด เป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมที่สุด ซึ่งพรรคให้แกนนำไปคุยกับระดับคีย์แมนของรัฐบาล เพื่อลดความระแวงแคลงใจด้วย เพราะ กมธ.ชุดนี้จะศึกษาในเชิงวิชาการ เสนอทางเลือก ไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพียงแต่การเริ่มนับหนึ่งสำคัญมาก ถ้าเริ่มได้ด้วยความเห็นที่ตรงกันก็จะเป็นผลดีต่อการแสวงหาความร่วมมือและการหาฉันทามติจากสังคม ไม่ให้การแก้รัฐธรรมนูญไปเป็นชนวนความขัดแย้ง” นายสาทิตย์กล่าว
    นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ได้นำมติพรรคไปแจ้งต่อวิปรัฐบาลแล้ว โดยวิปแต่ละพรรคจะไปหารือภายในพรรคตัวเองก่อนกลับมาหารือร่วมกันในการประชุมวิปรัฐบาลวันที่ 11 พ.ย.นี้
      ขณะที่นายชวนกล่าวถึงกรณี พปชร.เสนอชื่อนายสุชาติเป็นประธาน กมธ. ว่านายสุชาติถือเป็นคนที่มีความสามารถคนหนึ่ง แต่ปกติเมื่อมีการตั้ง กมธ.ในญัตติใด เมื่อตั้งเสร็จแล้ว กมธ.เหล่านั้นจะเป็นผู้เลือกประธาน ซึ่งไม่ได้เลือกในที่ประชุมสภา 
         เมื่อถามว่า ประธาน กมธ.ต้องเป็น ส.ส.หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า แล้วแต่กรณี ขึ้นอยู่กับ กมธ. อย่างไรก็ตาม ไม่ขอตอบว่ารองประธานสภาฯ จะเป็นประธาน กมธ.ได้หรือไม่
ตั้ง กมธ.ส่อเค้ายาว
    ทั้งนี้ ในการประชุมสภาเมื่อวันที่ 7 พ.ย. มีวาระการพิจารณาญัตติด่วนเรื่องการให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 นั้น ปรากฏว่าที่ประชุมไม่สามารถพิจารณาการตั้ง กมธ.ได้ทัน เนื่องจากมีวาระรับทราบเรื่องต่างๆ ตกค้างหลายเรื่อง และแต่ละเรื่องมี ส.ส.อภิปรายเป็นจำนวนมาก ทำให้การพิจารณาญัตติด่วนเรื่องการตั้ง กมธ.ดังกล่าวถูกเลื่อนไปในสัปดาห์หน้า ซึ่งล่าสุดปรากฏว่ายังมีวาระเรื่องที่ กมธ.วิสามัญคณะต่างๆ ได้พิจารณาเรื่องเสร็จเรียบร้อยแล้วเตรียมนำสู่ที่ประชุมสภาอีก ซึ่งตามข้อบังคับจะถูกนำเข้าพิจารณาก่อนญัตติเร่งด่วน ทำให้ญัตติเรื่องตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจากคำสั่ง คสช. และการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอาจถูกเลื่อนออกไปอีก 
นายวีระกรกล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.พิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำที่เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ซึ่งตามข้อบังคับจะถูกบรรจุเข้าไปพิจารณาก่อนญัตติด่วนที่ค้างไว้ ทำให้คาดว่าเรื่องการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาผลกระทบจากการใช้มาตรา 44 น่าจะเข้าสู่วาระพิจารณาได้เร็วสุดในวันที่ 14 พ.ย. ส่วนการตั้งการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจถูกเลื่อนยาวออกไปเป็นช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ เพราะมีเรื่องที่ กมธ.ชุดต่างๆพิจารณาเสร็จแล้วหลายคณะรอนำเข้าสู่ที่ประชุม
สำหรับความเห็นของพรรคฝ่ายค้านในการเสนอชื่อประธาน กมธ.นั้น นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นว่าประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ จะลงมาเป็นประธาน กมธ.วิสามัญ ซึ่งหากขาดคนจริงๆ ค่อยว่ากัน เพราะอาจขัดกับหลักการ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความรู้ความสามารถของนายสุชาติ ก็ถือว่าเหมาะสม 
         น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ไม่ขอไปก้าวล่วงหรือวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอของพรรค พปชร. ซึ่ง พท.ไม่ติดยึดติดกับตัวบุคคล แต่คาดหวังว่าเสียงส่วนใหญ่ของ กมธ.จะยกมือโหวตให้กับบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย มีความจริงใจ และสามารถเป็นเสาหลักในการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท. มองถึงการเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นประธาน กมธ. ที่มีทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุชาติ ว่าประเทศเสียโอกาสมามากแล้ว ทุกฝ่ายควรลดเงื่อนไข อย่าตีรวน สร้างเงื่อนไขไม่จบสิ้น ให้โอกาสสภา เท่ากับให้โอกาสประชาชน ในการศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าตั้งแง่เอาเป็นเอาตาย ชิงการนำกับตำแหน่งประธาน หรือสร้างเงื่อนไขไม่รู้จบ
    นายชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ระบุเช่นกันว่า การแย่งกันเสนอชื่อนี้เหมือน Power Play หรือเกมแห่งอำนาจระหว่างสองพรรคการเมือง เพราะ ปชป.ถือไพ่ใบสำคัญ รัฐบาลก็ขาด ปชป.ไม่ได้ ปชป.ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ลำบาก เพราะสมาชิกก็จะเล่นงานเอา กลุ่มที่อยากเข้ารัฐบาลก็มีอยู่ เป็นการถือไพ่กันคนละใบ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการเจรจากันทั้งนั้น ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าตราบใดยังใช้อามิส สินจ้าง หรือใช้วิธีการงูเห่าเข้ามา หากนายสุชาติได้เป็นประธานเราก็ไม่มีปัญหา โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องตำแหน่งประธาน กมธ.ในสัปดาห์หน้า
    นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า เมื่อพรรค ปชป.เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์แล้วทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ก็ถือเป็นบุคคลที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง และอยากให้เริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยความสามัคคีปรองดอง และอยากให้พรรคฝ่ายค้าน พรรคฝ่ายรัฐบาล ส.ว. และพี่น้องประชาชนร่วมมือกันใช้โอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในทุกหมู่เหล่าให้ได้ ซึ่งการเอาคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เข้าใจการเมือง เป็นอดีตนายกฯ และทุกฝ่ายสนับสนุนน่าจะเป็นเรื่องที่เป็นนิมิตหมายที่ดี 
“ผมไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นนายอภิสิทธิ์เท่านั้น คนอื่นก็เป็นได้ เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากการแก้ไขมาตราที่เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไข คือมาตรา 256 ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่จะแก้ไขค่อยมาคุยกัน” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"