หวัง“ชิมช้อปใช้”หมุนเงินเข้าระบบ พยุงเศรษฐกิจไทยให้พอไปต่อได้!


เพิ่มเพื่อน    

    ลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับมาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 2 ซึ่งเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเพิ่มอีก 3 ล้านคน ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 มีมติเห็นชอบมาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจจากมาตรการระยะแรก
    โดยการลงทะเบียนชิมช้อปใช้ในรอบใหม่นี้ กระทรวงการคลังได้มีการปรับปรุงเรื่องเวลาลงทะเบียนใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับประชาชนมากขึ้น จากเดิม 00.00 น. โดยแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละ 5 แสนราย รอบแรกเริ่มเวลา 06.00 น. และรอบที่ 2 ลงทะเบียนเวลา 18.00 น. โดยจะยังจำกัดจำนวนวันละ 1 ล้านคน ซึ่งมาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 2 สามารถใช้สิทธิ์ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2562 ขณะที่ร้านค้าก็สามารถรับสมัครได้ถึง 31 ธ.ค.ด้วยเช่นกัน
    อีกหนึ่งประเด็นที่ดูจะยังได้รับความสนใจ คือ ผู้ลงทะเบียนในมาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 2 นี้ ก็จะยังได้รับเงินสนับสนุน 1 พันบาท เข้ากระเป๋าเงิน G-Wallet 1 เช่นเดิม พร้อมทั้งยังจะได้รับเงินชดเชย (Cash Back) 15% หรือ 4,500 บาท ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 3 หมื่นบาท ในกระเป๋า G-Wallet ที่ 2 และจะได้รับสิทธิ์เงินชดเชย 20% ของยอดใช้จ่าย ตั้งแต่ 30,001 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท หรือ 4,000 บาท โดยสิทธิ์นี้จะครอบคลุมถึงผู้ที่ลงทะเบียนร่วมโครงการ 10 ล้านคนแรกด้วย
    ในด้าน “กระทรวงการคลัง” เอง ชี้แจงว่าได้ตั้งงบประมาณเพื่อมาอุดหนุนมาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 2 จำนวน 2,000 ล้านบาท และยังคาดหวังว่ามาตรการรอบใหม่นี้จะยังได้รับความสนใจจากประชาชนในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากมาตรการชิมช้อปใช้ระยะ 2 มีกุญแจสำคัญ 4 เรื่อง ที่จะทำให้ผู้ใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น คือ 1.ให้สิทธิประโยชน์มากขึ้น มีการใช้เงินชดเชยเพิ่มขึ้น 20% จะเป็นแรงจูงใจที่ดีขึ้น 2.การเติมเงินเข้ากระเป๋า 2 ง่ายขึ้น 3.จำนวนร้านค้าเข้าร่วมโครงการมีมากขึ้น เปิดกว้างขึ้น สามารถจัดโปรโมชั่นร่วมการขายได้ และ 4.ร้านค้าที่ร่วมโครงการจะไม่ถูกตรวจสอบภาษี
    อุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังพยายามเต็มที่ในการออกชุดมาตรการ เพื่อประคองเศรษฐกิจ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าเศรษฐกิจโลกมันมีปัญหา ทำให้บอกไม่ได้ 100% ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเป็นอย่างไร แต่กระทรวงการคลังก็จะพยายามทำให้เต็มที่ที่สุด เพื่อให้การขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้ใกล้เคียงที่เป้าหมาย 3% ซึ่งคลังจะมีการติดตามข้อมูลแบบไตรมาสต่อไตรมาส และสิ้นปีก็จะมาดูผลของมาตรการอีกครั้ง
    โดยล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.0% โดยหลักๆ เป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงจากนอกประเทศที่เข้ามากดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในภาคการส่งออก แต่เชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะฟื้นกลับมาเติบโตได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลได้ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการชิมช้อปใช้ที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    ทั้งนี้ ภายหลังการเปิดลงทะเบียนจนถึงวันที่ 30 ต.ค.2562 ซึ่งเป็นวันลงทะเบียนสุดท้ายของมาตรการชิมช้อปใช้ระยะที่ 2 ก็พบว่ามีประชาชนให้ความสนใจลงทะเบียนครบตามจำนวนเป้าหมายที่ 3 ล้านคน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สะท้อนว่ามาตรการยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างดี จึงทำให้รัฐบาลมีแนวคิดที่จะเดินหน้า “มาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 3” ต่อ
    สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาระบุว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการประเมินผลของมาตรการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของมาตรการ เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ การท่องเที่ยวในระดับชุมชน เพื่อชดเชยภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจภายนอกประเทศ
    “เบื้องต้นเตรียมจะออกมาตรการชิมช้อปใช้ระยะที่ 3 ต่ออีก แต่อยากขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ ไว้ก่อน เพราะตอนนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการประเมินรายละเอียดทั้งหมด”
    เกี่ยวกับเรื่องนี้ รมว.การคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังยังต้องขอเวลาในการประเมินผลของมาตรการชิมช้อปใช้ที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมดก่อน โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน โดยต้องรอดูก่อนว่ามาตรการที่ออกไปแล้วจะมีผลอย่างไรบ้าง เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
    กระทรวงการคลังขอดูก่อนว่ายังมีความต้องการที่จะลงทะเบียนมากน้อยแค่ไหน และก็ต้องดูว่าจะต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขอะไรหรือไม่ เช่น การให้เงินอุดหนุนในกระเป๋าที่ 1 จำนวน 1,000 บาท ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ รวมถึงการขยายจำนวนผู้รับสิทธิเพิ่มเติมจาก 13 ล้านคน ทั้งจากมาตรการในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ก่อนที่จะเปิดให้ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ในระยะที่ 3 ได้
    ทั้งนี้ ยืนยันว่ามาตรการชิมช้อปใช้เป็นมาตรการที่รัฐบาลตั้งใจทำ แม้ว่าหลายหน่วยงานจะประเมินว่าจะไม่ช่วยผลักดันให้จีดีพีปี 2562 ขยายตัวถึงเป้าหมายที่ 3% แต่ท้ายที่สุดแล้วมาตรการนี้มีผลต่อเศรษฐกิจแน่นอน โดยรัฐบาลพร้อมน้อมรับคำติชมของทุกฝ่าย
    เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีคำถามเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับมาตรการชิมช้อปใช้ของรัฐบาล ซึ่ง รมว.การคลัง ระบุว่า ประโยชน์จากมาตรการระยะสั้น คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี ผ่านการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ของชุมชนจังหวัดต่างๆ ด้วยการท่องเที่ยว การซื้อสินค้าและบริการ ผ่านผู้ได้รับสิทธิ์จำนวน 13 ล้านคน โดยจากคาดการณ์ของสศค. มองว่าเม็ดเงินที่อัดฉีดลงไปจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินประมาณ 5-6 เท่าในระบบเศรษฐกิจ ผ่านร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน โฮมสเตย์ จำนวนกว่า 1.7 แสนราย ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก 2-3 หมื่นล้านบาท
    โดยภาพของการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบ เริ่มต้นจากผู้มีสิทธิ์ 13 ล้านคน ใช้สิทธิ์ในร้านค้าประเภทชิมช้อปใช้ ซึ่งก็คือ ร้านอาหาร OTOP ร้านค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อย ที่พัก โฮมสเตย์ รวมทั้งสิทธิ์จาก Cash back 15-20% ในกระเป๋า 2 เม็ดเงินนี้จะพุ่งเป้าหมายตรงไปสู่ชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจฐานราก ผ่านภาคแรงงาน ภาคบริการ ภาคการผลิต ที่จะจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือนผ่านสินค้าอุปโภค บริโภค ไปสู่ภาคการผลิต เม็ดเงินจากโรงงานจะกระจายไปยังแรงงานและครอบครัว ก่อนที่จะหมุนกลับไปที่ร้านค้า ร้านอาหารในชุมชนอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ประมาณ 5-6 รอบการหมุนเวียน หรือมากกว่านั้น
    และก่อนที่เม็ดเงินจากระบบการหมุนเวียนจะกลับมายังภาครัฐผ่านระบบภาษี ซึ่งถือเป็นงบประมาณส่วนหนึ่งของรัฐ ที่จะใช้ในการกำหนดนโยบายและโครงการเพื่อการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชน
    อุตตม ยืนยันหนักแน่นอีกครั้งว่า มาตรการชิมช้อปใช้ไม่ใช่การแจกเงินเพื่อให้ผู้มีสิทธิ์จำนวนเพียงแค่ 13 ล้านคนได้รับประโยชน์เพียงเท่านั้น แต่หมายถึงการเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจฐานรากทั้งประเทศ ร่วมกับโครงการต่างๆ ของรัฐบาลต่อจากนี้ที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึงในทุกกลุ่ม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ ด้วยการใช้จ่ายเงินงบประมาณทุกบาทอย่างคุ้มค่าที่สุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"