สุชาติถอยแต่พปชร.ยังยี้มาร์ค


เพิ่มเพื่อน    


    “บิ๊กตู่” ออกตัวไม่เกี่ยวเลือกประธาน กมธ.แก้ รธน.หวั่นถูกหาว่าไม่เป็นธรรม ระบุใครจะเป็นก็เหมือนกันถ้าทำประโยชน์เพื่อประชาชน แกนนำ พปชร.ย้ำโดยมารยาทและความเหมาะสมประธานต้องเป็นของพรรคแกนนำรัฐบาล ปัดขวาง "มาร์ค" เพราะเหตุไม่เอา "บิ๊กตู่" เชื่อไม่ทำให้ พปชร.-ปชป.ขัดแย้งกัน  แต่ "สุชาติ" ถอยแล้ว แนะให้พิจารณาคนอื่นก่อน "สิระ" โต้ "เทพไท" อย่าเสียมารยาทจุ้นพรรคอื่น "มาร์ค" ปิดปากหลบสื่อ “เพื่อไทย” จี้ทุกพรรคจริงใจดันเป็นวาระเร่งด่วน ด้านโฆษกวิปรัฐบาลเผยสัปดาห์หน้าญัตติตั้ง กมธ.แก้ รธน.พิจารณาไม่ทัน
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 8 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมเสนอนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า “แล้วทำไม” เมื่อถามว่า แต่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. เป็นประธานด้วยเช่นกัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แล้วไง
    “เป็นเรื่องของเขาที่จะพิจารณากันไม่ใช่หรือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ก็ชี้แจงไปแล้วว่าเมื่อมีการเสนอมาคณะกรรมาธิการฯ จะต้องพิจารณาร่วมกัน และสภาก็มีหน้าที่ในการตั้งกรรมาธิการ และกรรมาธิการก็จะหารือกันว่าจะเอาใครเป็นประธาน แค่นั้น ไม่ยุ่งเกี่ยวกับผม ใครจะเป็นก็เหมือนกัน ถ้าทำประโยชน์เพื่อประชาชนก็ทำไปสิ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเมื่อถามอีกว่าสุดท้ายต้องมีการหลีกทางให้กันหรือไม่   
    เมื่อถามว่า หากเป็นคนนอกที่มีความรู้ด้านกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้ ไปว่าของเขาเอง เป็นกลไกทางการเมือง ตนไม่ตอบ ให้เขาหามา เขาก็หามาอยู่แล้ว ถามอีกว่าได้มีการมอบแนวทางอะไรเกี่ยวกับการหาตัวประธานกรรมาธิการชุดนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มอบๆ ไม่เกี่ยวข้อง ก็ทำไปสิ ถ้าตนไปเกี่ยวข้องเดี๋ยวก็จะหาว่าไม่เป็นธรรม
      นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกรรมการบริหารพรรค พปชร. กล่าวถึงการตั้ง กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า กมธ.ชุดนี้ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่ถึงขั้นแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายพรรคการเมืองมีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็น เช่น มีการพูดคุยกันว่าหากมีการศึกษาแก้ไขควรจะมีกรอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใด และแนวทางการแก้ไขจะนำไปสู่การแก้ไขได้จริง ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งแนวคิดของแต่ละพรรคที่จะมาอยู่ใน กมธ.ชุดนี้มีความแตกต่างกันมาก จึงมีการพูดคุยกันว่าควรจะมีประธานและ กมธ.ที่สามารถควบคุมการประชุมได้ดี อยู่ในประเด็นหลีกเลี่ยงการต่อว่าต่อขานกัน ให้เป็นเรื่องของการศึกษาเท่านั้น
    เมื่อถามว่า ข้อสรุปพรรค พปชร.จะเสนอนายสุชาติ ตันเจริญ หรือสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธาน กมธ. นายพุทธิพงษ์ตอบว่า คิดว่าพรรคก็อยากให้เป็นคนของพลังประชารัฐ ซึ่งนายสุชาติเป็นคนหนึ่งที่ถูกพูดถึง และอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่ทั้งนี้พรรค พปชร.ถือเป็นแกนนำ การนำไปสู่การแก้ไขต้องมีแนวคิด แนวทาง และอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติแล้ว หากจะมีการศึกษาแก้ไข ต้องเคารพเสียงประชาชนที่ให้ฉันทามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้
    "หลายพรรคการเมืองก็ได้รับโอกาสจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่หมายถึงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาแล้วต้องแก้เสมอไป หลายๆ เรื่องก็เป็นประโยชน์" นายพุทธิพงษ์กล่าว
พปชร.อ้างมารยาทนั่งปธ.แก้รธน.
    แกนนำพรรค พปชร.กล่าวว่า ส่วนการสรรหาบุคคลที่จะมาเป็นกมธ.สัดส่วนของพลังประชารัฐนั้น ทราบว่ามีการสรรหาบุคลากรบางส่วนอยู่บ้าง อาจจะเป็นคนนอกที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องแก้รัฐธรรมนูญและเป็นกลางที่สามารถหาข้อสรุปการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ คาดว่าภายใน 2-3 วันนี้ หรือสัปดาห์หน้าได้รายชื่อแน่นอน มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นคนนอกด้วย โดยมี 2-3 รายชื่อแล้วที่ได้พูดคุยกันไว้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะต้องทาบทามก่อน เนื่องจากเป็นผู้ใหญ่ที่รู้เรื่อง กมธ. มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ร่างรัฐธรรมนูญ
     เมื่อถามว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อยู่ในผู้ที่จะทาบทามหรือไม่ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า เอาไว้ให้ทางพรรคตัดสินใจและทาบทามก่อน ทั้งนี้ การชิงตำแหน่งประธาน กมธ. จะไม่ทำให้พรรค พปชร.กับพรรค ปชป.มีปัญหากัน พูดคุยกันอย่างดี และมีการหารือร่วมกันมาตลอดว่าแนวทางเป็นอย่างไร เท่าที่ทราบทุกอย่างเป็นการโยนหินถามทาง ยังไม่ได้มีการสรุป  
    นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงตำแหน่งประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยความเหมาะสมควรเป็นของพรรค พปชร. ในฐานะแกนนำรัฐบาลหรือไม่ ว่าเป็นไปตามความเหมาะสมและมารยาททางการเมือง 
     เมื่อถามว่า ที่เสนอชื่อนายสุชาติ เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ต้น และไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ นายณัฏฐพลกล่าวว่า ไม่เกี่ยว แต่เกี่ยวกับเรื่องแกนนำรัฐบาลและหลักในการทำงาน รวมถึงแนวทางการเคลื่อนไหวของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะไม่ทำให้เป็นปัญหาระหว่าง พปชร.และ ปชป. เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกันลงลึกแล้ว คงแก้ไขปัญหาที่มีในปัจจุบันได้ ในขณะนี้ตนยังไม่ได้มีการพูดคุยกับผู้บริหารสูงสุดของพรรค หากผู้บริหารสูงสุดของพรรคได้มีการพูดคุยกันจริงๆ ถึงความเหมาะสมและเสถียรภาพของรัฐบาล ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องข้อมูลการสื่อสารกับประชาชนและสื่อมวลชน คิดว่าคำตอบคงเห็นชัดเจนแล้วว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ คงไม่ต้องให้นายกฯ ตัดสินใจ เชื่อว่า ปชป.บริหารจัดการกันเอง คงมีโอกาสที่ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละพรรคจะได้คุยกันอย่างชัดเจน มั่นใจว่าจะไม่บานปลายเป็นความขัดแย้งของสองพรรค 
    นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพปชร. ให้สัมภาษณ์ถึงการที่แกนนำพรรคหารือกันภายหลังประชุม ครม. ที่จะเสนอให้นายสุชาติดำรงตำแหน่งประธาน กมธ. แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หลังจากที่คุยกันวันนั้น ก็ยังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้อีกเลย ซึ่งวันนั้นก็ยังไม่ได้มีมติอะไร สำหรับคนที่จะมาทำหน้าที่ประธาน ก็ขอให้เป็นคนกลางๆ แต่จะเป็นคนนอกหรือไม่ ไม่ทราบ 
    “ต้องดูคนที่เป็นกลางๆ มาทำหน้าที่นี้ เพราะเมื่อเข้าไปพิจารณาชี้แล้วจะได้ไม่จบยาก แต่จะเป็นคนนอกหรือไม่ผมไม่ทราบ ยังไม่ได้เป็นมติพรรค ต้องคุยกันอีกที ที่ผ่านมาก็เป็นความเห็นของแต่ละบุคคล จะเอามาเป็นข้อคิดเห็นออกมาทางสาธารณะคงไม่เหมาะ ถ้าพูดไปก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาล” 
    เมื่อถามว่า ส่วนตัวมองว่าเร็วเกินไปหรือไม่ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ความจริงก็ถือว่าเร็วไป แต่เมื่อเป็นมติพรรค หรือเป็นเรื่องที่เขาหาเสียงมาก็อาจต้องแสดงออกมาให้เห็นถึงเจตจำนงต่างๆ ก็เป็นเรื่องของพรรค ดังนั้นเมื่อพูดกันแล้วก็ต้องดูว่าวันนี้จะแก้หรือไม่แก้ ยังไม่ไปถึงประเด็นว่าจะแก้อะไร และคิดว่ายังไม่ต้องถึงให้ผู้หลักผู้ใหญ่ลงมาทำอะไร ซึ่งสัปดาห์หน้าจะถึงญัตตินี้พรรคร่วมรัฐบาลก็คงได้มีการพูดคุยกัน เรื่องนี้รอให้คณะกรรมการประสานงาน (วิป) พูดคุยกันก่อน ส่วนที่พรรคไม่ต้องการให้นายอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งประธาน เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯมาตั้งแต่ต้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่ใช่หรอก ท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว ส่วนที่นายณัฏฐพลระบุว่าโดยมารยาทแล้วคนที่จะดำรงตำแหน่งปธ.กมธ.ควรจะเป็นคนของพรรคแกนนำรัฐบาลนั้น ตนไม่มีความเห็นไปถึงเรื่องมารยาท แต่เท่าที่เคยเห็น วันนี้ยังเป็นประเด็นแค่แก้หรือไม่แก้ ไม่ใช่ว่าเรามีหัวข้อในการแก้แล้ว 
“สุชาติ”ถอยไม่ขอชิงปธ.กมธ.
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลัง ปชป. กล่าวถึงกรณีที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ส่งสัญญาณถึงพรรค พปชร. ไม่ให้ส่งคนลงแข่งตำแหน่งประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า นายเทพไทไม่ควรเสียมารยาทมายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมของพรรคการเมืองอื่น เพราะไม่ว่าพรรค พปชร.จะเสนอใครลงชิงตำแหน่งนี้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องภายในที่พรรคจะจัดการเอง ซึ่งมีความชอบธรรมที่จะได้ตำแหน่งประธานกมธ.ชุดนี้ เนื่องจากเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล
    "ใครจะเป็นประธานกรรมาธิการชุดนี้เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการเขาจะไปเลือกกันเอง ถ้านายเทพไทอยากให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความราบรื่น มีความปรองดองอย่างปากว่า ก็ควรหยุดให้ความเห็นที่จะนำไปสู่ความแตกแยก เมื่อประชาธิปัตย์มีมติเสนอชื่ออดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ก็เดินไปตามขั้นตอน ให้วิปของประชาธิปัตย์ไปหารือกับวิปรัฐบาล เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกัน และเมื่อได้ข้อยุติแล้วก็ต้องจบ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวใดๆ กับการบริหารภายในพรรค จึงไม่ควรดึงนายกรัฐมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้" นายสิระกล่าว
     นายสิระกล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรค พปชร.ก็ถอยมามากแล้ว ที่ยอมสนับสนุนให้นายชวน หลีภภัย เป็นประธานสภาฯ โดยไม่คิดเป็นโควตาในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นนายเทพไทก็ไม่ควรได้คืบเอาศอก ต้องให้เกียรติ พปชร.ที่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลด้วย
ด้านนายสุชาติ ตันเจริญ เปิดเผยถึงกระแสข่าวการขอถอนตัวจากการลงชิงตำแหน่งประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนได้พูดชัดเจนแล้วว่าไม่ได้เป็นคนเสนอชื่อตัวเอง แต่มีสื่อบางฉบับพาดหัวข่าวแบบนั้น เมื่อไม่ได้เสนอตัวแล้วจะถอนตัวได้อย่างไร และไม่รู้ว่ามีชื่อใครที่จะมาเป็นประธาน กมธ.บ้าง ส่วนตัวยืนยันว่าไม่ได้สนใจที่จะเข้ามาเป็นประธาน กมธ.ดังกล่าว เพราะขณะนี้ทำหน้าที่รองประธานสภาฯ อยู่ แต่หากคิดว่าตนจะทำหน้าที่ประธาน กมธ.ได้ดีกว่าก็ขึ้นอยู่กับการเสนอ เมื่อมีคนเหมาะสมหลายท่านก็อยากให้พิจารณาคนอื่นไปก่อน ส่วนการที่ พปชร.จะเสนอชื่อคนนอกนั่งตำแหน่งประธาน กมธ. ก็เป็นเรื่องของพรรค ไม่เกี่ยวอะไรกับตน เรื่องดังกล่าวยังมีเวลาจนถึงสัปดาห์หน้าที่จะอภิปราย และโหวตตั้งคณะ กมธ.ชุดนี้
    เมื่อถามว่า ปชป.ส่งหนังสือมายัง พปชร.เพื่อให้หลีกทางให้นั้น นายสุชาติกล่าวว่า เป็นเรื่องของพรรคที่ต้องไปพูดคุยกัน ตนเข้ามาทำหน้าที่รองประธานสภาฯ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคมากเท่าไหร่ โดยหลังจากปรากฏชื่อตน ก็ไม่ได้มีการพูดคุยกับผู้ใหญ่ภายในพรรค ซึ่งเหตุผลที่ปรากฏชื่อตนนั้น คิดว่าคงเป็นการพูดคุยกันเองในพรรค แต่คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นข้อสรุป
    “เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของทุกพรรค เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดระดับประเทศ และ ส.ว.ก็ต้องเข้ามาร่วมด้วย จึงเป็นการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นประธาน กมธ. คิดว่าก็ดี ใครก็แล้วแต่ที่มาดำรงตำแหน่งนี้แล้วสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากจะเป็นนายอภิสิทธิ์ ก็คิดว่าเหมาะสม เพราะส่วนตัวก็ไม่ได้ติดใจหรือยึดติดอะไรมาก” นายสุชาติกล่าว 
      นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า   เรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหา เพราะพรรคร่วมรัฐบาลคงต้องนัดพูดคุยกัน พรรคร่วมรัฐบาลจะมีความขัดแย้งกับเรื่องอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะมารยาททางการเมืองก็มีอยู่ เดี๋ยวก็หาทางออกกันได้ ทุกชื่อที่ถูกเอ่ยขึ้นล้วนเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าต่อบ้านเมือง แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องมีการหารือพูดคุยกัน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะทุกคนตั้งใจทำงานให้กับบ้านเมือง จะมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่งนั้น อยู่ที่ความตั้งใจมากกว่า เรื่องของตำแหน่งไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะเป็นเพียงหัวโขน 
    “ตำแหน่งประธาน กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าว คงเจาะจงคุณสมบัติไม่ได้ แต่ต้องเป็นคนดี รักชาติบ้านเมือง ไม่บ้าอำนาจ และคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้ก็ต้องแก้ให้กับประชาชน เพื่อให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ ไม่ใช่แก้ให้คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์”    
“มาร์ค”ปิดปากหลบสื่อ
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายอภิสิทธิ์เหมาะสมกับตำแหน่งประธานกมธ.ชุดนี้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกคนมีความเหมาะสม ทุกชื่อที่ปรากฏออกมาเป็นข่าว แต่สุดท้ายก็ต้องมีการหารือและตกลงกันให้ได้ เพื่อดูว่าอะไรที่ดีที่สุด และประเทศชาติได้ประโยชน์หรือไม่ ทุกอย่างมีกระบวนการอยู่ และตอนนี้เพิ่งโผล่มาแค่ 2 ชื่อ เดี๋ยวสัปดาห์หน้าก็คงมีชื่อเพิ่มมาอีกหลายชื่อ สุดท้ายก็คงต้องหารือกัน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องของฝ่ายค้านและวุฒิสภาด้วย หารือกันเดี๋ยวก็จบ ในรัฐบาลก็มีพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมารยาททางการเมืองในการปฏิบัติร่วมกัน ย่อมมีแนวทางอยู่แล้ว     
    เมื่อถามว่า ถึงเวลาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า มาถามตนไม่ได้ เพราะพรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีปัญหากับรัฐธรรมนูญฉบับนี้
    ที่ศูนย์การค้าพารากอน ในงานอาษา เรียลเสเตท ฟอรัม 2019 ของสมาคมสถาปนิกสยาม ซึ่งนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์กรณีการคัดเลือกประธานกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขอเสนอให้หัวหน้าพรรคในพรรคร่วมรัฐบาลและคณะกรรมการประสานงานของแต่ละพรรค พูดคุยทำความเข้าใจและหาข้อยุติ จะได้ไม่กระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล และเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ไปพูดคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลก่อน สำหรับบุคคลที่จะมาเป็นประธาน จะต้องมีบารมีเป็นที่ยอมรับ สามารถควบคุมการประชุมเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดี
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในงานดังกล่าว มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาบรรยายพิเศษ หัวข้อ "อนาคตประเทศไทย อนาคตเมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน" ด้วย โดยช่วงต้นนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าผู้จัดงานเชิญตนมาทำไม หรืออาจจะเข้าใจว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ แต่ขอพูดให้ชัดตรงนี้เลยว่าไม่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.
    อย่างไรก็ตาม ทั้งก่อนและหลังบรรยาย นายอภิสิทธิ์เลี่ยงไม่เจอสื่อมวลชนที่มาเฝ้าติดตามเพื่อสัมภาษณ์ในประเด็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า สำหรับวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า วันที่ 13-14 พ.ย.นี้ ญัตติด่วนเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และคณะเป็นผู้เสนอนั้น จะเข้าสู่การพิจารณาได้ ขณะที่ญัตติขอตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้น คิดว่าไม่ทันการพิจารณาในสัปดาห์หน้าแน่นอน เพราะญัตติที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 44 นั้น มีสมาชิกเสนอประกอบรวมกันกว่า 10 ญัตติ ซึ่งที่ประชุมจะนำมาพิจารณาในคราวเดียวกัน ดังนั้น จึงทำให้ญัตติดังกล่าวต้องใช้เวลาในการพิจารณานานพอสมควร
“ขณะนี้ได้มีเรื่องที่คณะ กมธ.คณะต่างๆ อาทิ รายงานของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ที่มีนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กับร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เป็นประธาน ได้เตรียมบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเช่นกัน เบื้องต้นที่ประชุมวิปรัฐบาลจะพิจารณาบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมหรือไม่ในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ดังนั้นหากที่ประชุมมีมติบรรจุเป็นเรื่องที่เสนอใหม่เข้ามาสู่ระเบียบวาระของสภาฯ ญัตติเพื่อขอตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะถูกเลื่อนออกไปอีก” วิปรัฐบาลระบุ
นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาญัตติตั้ง กมธ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า มีแนวโน้มต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งไม่ได้เกิดจากเกมถ่วงเวลาใดๆ ของฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเพราะวาระของสภามีมาก ทำให้มีวาระตกค้างหลายเรื่อง    ญัตตินี้เป็นความเห็นร่วมของทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ต่างก็เสนอญัตติเข้าสภา ไม่มีเหตุผลที่ต้องถ่วงเวลาใดๆ และถ้าสมาชิกท่านใดเห็นความจำเป็นอยากพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน ก็เสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้ลงมติเลื่อนวาระขึ้นมาได้ จึงไม่อยากให้นำเรื่องนี้มาโจมตีทางการเมืองว่ารัฐบาลต้องการเตะถ่วง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามวาระพิจารณาปกติของสภา และต้องไม่ลืมว่าสภามีหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนดูแลทุกข์สุข ความเดือดร้อนของประชาชนด้วย จึงต้องทำคู่ขนานกันไป ไม่ใช่มุ่งแต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ
พท.จี้เป็นวาระเร่งด่วน
ทางด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การเสนอเรื่องเพื่อทราบมาพิจารณามากมายในสภา จนมีทีท่าว่าญัตติศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญที่สภาเคยมีมติให้หยิบยกนำมาพิจารณาก่อนเป็นเรื่องด่วน อาจมีอันต้องล่าช้าออกไปอาจจะถึงปลายเดือน พ.ย.นั้น หากสภามีความจริงจังจริงใจที่จะดำเนินการเรื่องญัตติศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ ก็ชอบที่จะมีมติให้หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาก่อนวาระเพื่อทราบอื่นๆ ก็ได้ จึงฝากไปยังพรรคการเมืองทั้งหลายว่า ควรเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว ไม่ควรทำเหมือนเป็นเกมการเมือง ชิงไหวชิงพริบกัน ส่วนปัญหาว่าใครควรเป็นประธาน กมธ.นั้น โดยรูปแบบฝ่ายรัฐบาลมีเสียงมากกว่า เพราะรวมตัวแทน ครม.เข้าไปด้วย ถ้าจะต้องโหวตกันก็คงชนะ 
“ญัตตินี้แม้เป็นเพียงการศึกษาวิธีแก้รัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ผู้มาเป็นประธานก็ควรจะมีทัศนคติที่เด่นชัดว่ารัฐธรรมนูญนี้ต้องแก้ไข มิใช่ว่าถูกบังคับให้แก้โดยไส่ไว้ในนโยบาย หรือแก้ก็ได้ ไม่แก้ก็ดี จุดยืนเรื่องนี้ของใครเป็นอย่างไรพิสูจน์กันได้ไม่ยาก รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับมาระยะหนึ่ง ผ่านการเลือกตั้งมาครั้งหนึ่ง คงไม่ต้องบอกว่ามีข้อบกพร่องอะไรกันบ้าง เห็นกันชัดๆ ถ้าทำใจเป็นกลางๆ ก็ควรมีคำตอบว่าต้องแก้ เว้นแต่เราจะคิดเพียงว่ารัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” นายชูศักดิ์กล่าว 
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวต่อประเด็นที่มีข้อเสนอจากรัฐบาลให้มีสัดส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นโควตาของรัฐบาล เพื่อร่วมเป็น กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ตนไม่ขัดข้อง เพราะหากเข้ามาในสัดส่วนและโควตาของรัฐบาล ทั้งนี้เชื่อว่าหากได้ ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นประสบความสำเร็จ เพราะตามกลไกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งรัฐสภา คือ ส.ว.และ ส.ส.ด้วย เชื่อว่า ส.ว. ฐานะสมาชิกรัฐสภา เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนไม่ต่างกับ ส.ส. ส่วนกรณีที่มีความเห็นแตกต่างกัน เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ถึงขั้นที่ปฏิเสธการเข้ามาทำงานสำคัญเพื่อชาติบ้านเมืองร่วมกัน
    “ผมได้คุยกับ ส.ว.สายทหารและ ส.ว.สายมหาดไทย ถ้าไม่เตะต้องส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. และไม่แก้ไขส่วนของสถานะส.ว. ที่ต้องอยู่ทำหน้าที่ 5 ปี และไปแก้ไขประเด็นที่ร่วมมือกันได้ เช่น ระบบเลือกตั้ง จะทำให้การทำงานร่วมกันไปได้ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นต้องเริ่มต้นที่การเปิดประตู แก้ไขมาตรา 256 ก่อน ดังนั้นผมไม่ขัดข้องที่ ส.ว.จะเข้ามาร่วม และเชื่อว่าจะทำให้การทำงานประสบความสำเร็จ” นายชวลิตกล่าว
    นายชวลิตกล่าวว่า สำหรับการเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประธาน กมธ. พรรคเพื่อไทยยังไม่พิจารณาว่าบุคคลใดที่เหมาะสม แต่การเสนอชื่อทั้งนายอภิสิทธิ์ นายสุชาติ หรือชื่อของ 3 ว. ในพรรคพลังประชารัฐ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นร่วมกันต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมของ กมธ.ที่จะตั้งขึ้น
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ ส.ว.ได้รับโควตาจากรัฐบาลให้ดำรงตำแหน่ง กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรว่า ตนไม่เห็นด้วย เนื่องจาก ส.ว.ควรวางบทบาทของตัวเองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญคือ การตรวจสอบ ถ่วงดุลการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งเรื่องการตั้งกรรมาธิการฯ นั้น เป็นญัตติที่ ส.ส.เป็นผู้เสนอ ดังนั้น ควรให้ ส.ส.เป็นผู้ดำเนินการด้วยตัวเอง หากสภาหรือรัฐบาลพิจารณาโควตาให้ อาจติดเงื่อนไขว่าด้วยระเบียบข้อบังคับที่จะใช้กับการปฏิบัติดังกล่าว เพราะขณะนี้ยังไม่มีข้อบังคับหรือระเบียบใดที่ให้สิทธิ์สมาชิกของอีกสภาเข้าไปร่วมในกรรมาธิการของอีกสภาได้ แต่หากเป็นเรื่องจริงตามที่มีการเสนอข่าวว่ามี ส.ว.ได้รับโควตา 6 ตำแหน่งนั้น ควรนำเข้าสู่ที่ประชุมกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่ต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"