อ่วม!เล็งฟันแก๊งล่อซื้อลิขสิทธิ์รีลัคคุมะ


เพิ่มเพื่อน    

    จบข่าว! "วิระชัย" นำเอกสารตัวแทนลิขสิทธิ์ตัวจริงยัน กระทงของเด็กหญิงวัย 15 ไม่เข้าข่ายละเมิด หลังตรวจสอบกระทงรูปทรงใบหน้า ใบหู ไม่มีความเหมือนหรือคล้ายตัวการ์ตูน “รีลัคคุมะ” ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ซาน-เอ็กซ์ฯ แต่อย่างใด เผยขั้นตอนจับกุมต้องทำหนังสือเตือนก่อน 2 ครั้งด้วย แก๊งล่อซื้อโดนแน่ ขณะที่เหยื่อรวมตัวร้อง “สมศักดิ์” ช่วยเหลือ
    เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) นำเอกสารหลักฐานมาชี้แจงต่อสื่อมวลชน หลังตัวแทนบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ของบริษัท ซาน-เอ็กซ์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เข้าพบหารือ โดยยืนยันว่ากระทงของเด็กอายุ 15 ปี ไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากตรวจสอบแล้ว กระทงดังกล่าวมีรูปทรงใบหน้า ใบหู ไม่มีความเหมือนหรือคล้ายตัวการ์ตูน “รีลัคคุมะ” ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ซาน-เอ็กซ์ฯ แต่อย่างใด 
    อีกทั้งขั้นตอนการดำเนินการของบริษัท ที.เอ.ซี.ฯ ก่อนที่มีการจับกุมใคร หากได้รับแจ้งมีการละเมิดลิขสิทธิ์ จะตรวจสอบว่ามีการละเมิดจริงหรือไม่ หากมีจริงจะออกจดหมายเตือนก่อนถึง 2 ครั้งให้หยุดการกระทำผิด หากไม่มีการแก้ไข จึงจะส่งตัวแทนดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะไม่เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่ปรากฏในข่าว
    ส่วนกรณีนายประจักษ์ โพธิผล ซึ่งอ้างเป็นตัวแทนบริษัท เวอริเซ็ค จำกัด ที่อ้างเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ของบริษัท ซาน-เอ็กซ์ฯ ยืนยันว่ามีอำนาจในการปราบปรามนั้น พล.ต.อ.วิระชัยกล่าวว่า บริษัท ซาน-เอ็กซ์ จำกัด ระบุเป็นเอกสารชี้แจงว่า บริษัท เวอริเซ็ค จำกัด ถูกยกเลิกสัญญาไปแล้ว ไม่มีอำนาจไปจับ ปรับ เรียกค่าเสียหาย ทั้งนี้ จะเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์หรือแจ้งความเท็จหรือไม่ ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดก่อน และจะเรียกนายประจักษ์ รวมถึงผู้บริหารของบริษัท เวอริเซ็คฯ มาสอบสวน รวมถึงตรวจสอบขบวนการทั้งหมดว่านายประจักษ์ได้แบ่งเงินค่าปรับให้ใครบ้าง ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา เป็นเจ้าของสำนวนดังกล่าว
    รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า เมื่อตรวจสอบแล้วเด็กอายุ 15 ปีไม่ได้ทำผิด การเสียค่าปรับไปก่อนหน้านี้ เมื่อการกระทำใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เยาวชนต้องจ่ายเงินค่าชดใช้ในการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นลาภมิควรได้ ที่คนได้ไปต้องเอามาคืน แต่การได้ไปหากเข้าองค์ประกอบกรรโชกทรัพย์ ก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย
     พล.ต.อ.วิระชัยกล่าวอีกว่า กรณีตำรวจที่ร่วมจับกุม ตรวจสอบแล้วพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการไปตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง แต่ผู้มาแจ้งความกลับแจ้งในสิ่งที่ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งหลังจากนี้ตนได้ยกร่างระเบียบปฏิบัติให้ตำรวจทั่วประเทศได้ปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้ที่มีลิขสิทธิ์ และป้องกันไม่ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาชีพแอบอ้างเรื่องนี้ไปกรรโชกทรัพย์ประชาชน โดยกำชับให้ตำรวจทุกพื้นที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานตัวแทนลิขสิทธิ์ให้ถี่ถ้วนมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปจะไม่มีตำรวจไปตีกินในลักษณะนี้อีก แต่หากใครพบเห็นให้แจ้งมาที่ตนได้
    ล่าสุด เมื่อช่วงเที่ยง จากกรณีดังกล่าว พล.ต.ท.พูนทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ.3) ได้ลงนามในคำสั่งให้ พ.ต.อ.คเชนทร์ เสตะปุตตะ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา ไปปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า สำนักงานตำรวจภูธรภาค 3 นครราชสีมา เป็นเวลา 30 วัน และให้ พ.ต.อ.สนธยา แต่แดงเพชร รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (รอง ผบก.ภ.จว.) นครราชสีมา รักษาการในตำแหน่ง ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา แทน
    ที่กระทรวงยุติธรรม นายวรกร พงศ์ธนากุล ทนายความ นำผู้เสียหายที่เคยถูกจับ-เรียกค่าปรับในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 10 ราย เข้ายื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมีนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน พร้อมระบุว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอรัฐมนตรี ยธ. เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว เนื่องจากปัญหาการใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาหากินรีดทรัพย์จากประชาชนเกิดขึ้นมานานแล้ว จึงต้องเร่งแก้ไขเพื่อตัดวงจรของขบวนการดังกล่าว ซึ่งกระทรวงยุติธรรมมีกองทุนยุติธรรมพร้อมให้ความช่วยเหลือทั้งค่าทนายความและหลักทรัพย์ประกันตัว
    นายวรกรกล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมจำนวนผู้เสียหายที่ถูกกลุ่มบุคคลแอบอ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์จับกุมข่มขู่และกรรโชกทรัพย์ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลได้ประมาณ 300 ราย ซึ่งหลายรายถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่คุกคาม โดยเฉพาะในขั้นตอนการควบคุมตัวภายหลังการถูกล่อซื้อ ส่วนใหญ่ต้องจ่ายเงินให้กับขบวนการดังกล่าวตั้งแต่ 30,000-100,000 บาท แม้บางรายจะมีลิขสิทธิ์ถูกต้อง เป็นสินค้าพรีออเดอร์นำเข้าโมเดลการ์ตูนจากญี่ปุ่นก็ถูกขบวนการดังกล่าวล่อซื้อให้นำของมาส่ง โดยจะเลือกเฉพาะตัวโมเดลที่ไม่มีกล่อง รวมถึงพ่อค้าที่ขายโมเดลการ์ตูนมือสอง ก็ถูกล่อซื้อเพื่อเรียกค่าปรับลิขสิทธิ์ในลักษณะเดียวกัน บางรายหวาดกลัวจากการถูกข่มขู่จึงยอมจ่ายเงินเพื่อยุติเรื่อง เมื่อทราบว่าเป็นขบวนการหากินจากช่องว่างทางกฎหมาย จึงรวมตัวเพื่อแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากพฤติการณ์เป็นเครือข่ายเดียวกันและมีภาพถ่ายแสดงความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มบุคคลดังกล่าว
    “เบื้องต้นขอให้กระทรวงยุติธรรมให้ความช่วยเหลือด้วยการประสานไปยังตำรวจเพื่อให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจประกันตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องเรียกหลักทรัพย์ เพราะมั่นใจว่าหากคดีขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล ศาลจะยกฟ้อง เนื่องจากการล่อซื้อเป็นเจตนาให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่ไม่สุจริต” นายวรกรกล่าว
    ผู้เสียหายรายหนึ่งที่ถูกกรรโชกทรัพย์กล่าวว่า ตนมีอาชีพเสริมขายโมเดลการ์ตูนลิขสิทธิ์แท้ ซึ่งเป็นของหิ้วนำเข้ามาครั้งละ 1-2 ตัว โดยโพสต์ขายออนไลน์ ต่อมามีผู้สั่งสินค้าโดยให้นำของที่มีอยู่ทั้งหมดมาส่งที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เมื่อส่งมอบสินค้าซึ่งมีแค่ 2 ตัว กลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ไม่พอใจว่าทำไมมีเพียง 2 ตัว และนำตนไปยัง สภ.ปากเกร็ด ข่มขู่ กรรโชกทรัพย์ พร้อมใช้อุปกรณ์สำนักงานของโรงพักทุกอย่าง โดยอ้างว่าตำรวจติดภารกิจอื่นจึงต้องสอบสวนแทน และยังแยกพ่อของตนไปสอบสวนอีกห้องหนึ่ง แต่โชคดีที่ร้อยเวรคนหนึ่งกลับมาเห็นเหตุการณ์จึงรับแจ้งความ ทำสำนวนการสอบสวนและให้ประกันตัวไปสู้คดีกันในชั้นศาล ซึ่งกรณีของตนบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นก็ยืนยันว่าเป็นโมเดลแท้ จึงอยากออกมาใช้สิทธิฟ้องกลับบุคคลที่แอบอ้างเพื่อไม่ให้คนอื่นตกเป็นเหยื่อ
    ด้านนางศิรินันท์ เหมศิริรัตน์ แม่ค้าขายของออนไลน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากลูกค้ารายหนึ่งให้จัดหาตัวการ์ตูนโดราเอมอน 5 ชุด ในราคาจำนวน 1,090 บาท และได้จึงนัดส่งสินค้าให้ลูกค้าตามที่นัดไว้ในช่วงเย็น แต่กลับถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นครปฐม จ.นครปฐม เข้าจับกุมในข้อหาละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์ และมีการเรียกเงินประกันตัวจำนวน 50,000 บาท จึงได้โต้แย้งเจ้าหน้าที่ไปว่าตัวการ์ตูนโดราเอมอนไม่ได้มีลิขสิทธิ์แล้ว และขอต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยขอใช้หลักทรัพย์คือที่ดิน เนื่องจากไม่มีเงินสดในการยื่นประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งตนเองว่าคดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้นไม่สามารถใช้หลักทรัพย์อื่นประกันตัวได้ และขอให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อขอให้จบเรื่อง
    “จากที่เรียก 50,000 บาท ก็มีการลดจำนวนเงินไปเรื่อยๆ ก็ยืนยันว่าไม่มีเงิน จะยอมติดคุกไปเลย แต่แม่กลัวว่าหนูจะเสียประวัติ คุยไปคุยมาจบลงที่ 10,000 บาท โดยได้โอนเงินเข้าบัญชีของนายดาบตำรวจชุดจับกุม ซึ่งหลักฐานต่างๆ ได้เก็บไว้หมด แม้แต่สำนวนที่ตำรวจบอกว่าให้ฉีกทิ้ง เพราะเรื่องยุติแล้ว เชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมีการทำกันเป็นขบวนการ เพราะหลังจากมีเด็กถูกจับคดีละเมิดลิขสิทธิ์กระทงที่โคราช ผู้ที่ถูกกลุ่มคนพวกนี้จับกุมจึงโผล่ออกมาร้องเยอะมาก ทั้งในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ราชบุรี ร้อยเอ็ด เชื่อว่าน่าจะมีการทำเป็นขบวนการ” นางศิริรัตน์กล่าว
    นางศิริรัตน์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมและผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์ ใช้วิธีการบีบบังคับด้วยคำพูดและการกระทำ ไม่ให้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน จึงอยากขอให้กระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือประชาชนด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ต้องหาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ใช้สิทธิ์ประกันตัวเองได้ ให้ญาติประกันตัวผู้ต้องหาได้แทนการใช้เงินสดจำนวน 50,000 บาท การถูกจับกุมในครั้งนี้รู้สึกเจ็บใจมากที่ตำรวจไม่ให้ความเป็นธรรม จะขอนำหลักฐานทั้งหมดที่มีฟ้องกลับเอาผิดตำรวจและบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์ด้วย
    ขณะที่ น.ส.วิจิตรา หรือเดียร์ กล่าวว่า ตนเป็นแม่ค้าขายของตามตลาดนัด ถูกตำรวจ สภ.นครปฐมจับกุมในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์กระเป๋าโดราเอมอน 4 ใบ ราคา 420 บาท เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้หญิงเป็นคนมาสั่งของ เมื่อนำสินค้าไปส่งให้ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทลิขลิทธิ์เข้าจับกุม และถูกแจ้งข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เรียกเงินประกันตัวจำนวน 50,000 บาท และตำรวจได้ไกล่เกลี่ยระหว่างตนกับตัวแทนบริษัท จาก 50,000 บาทจนในที่สุดลดเหลือ 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม ตนจะนำหลักฐานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นคลิป เอกสาร เพื่อนำไปฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มคนที่แอบอ้างทั้งหมด
    ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ภายหลังครอบครัวเด็กหญิงวัย 15 ปี ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถูกตัวแทนลิขสิทธิ์ล่อซื้อและจับกุมกระทงรูปตัวการ์ตูนดังละเมิดลิขสิทธิ์ เข้าร้องขอความเป็นธรรมและขอคุ้มครองพยานเนื่องจากถูกข่มขู่ ไม่ให้ดำเนินคดีกับตัวแทนลิขสิทธิ์  โดยขู่ว่าหากแจ้งความกลับจะถูกดำเนินคดีข้อหาแจ้งความเท็จและความผิดอื่นๆ ล่าสุด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้สั่งการให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครราชสีมาเข้าช่วยเหลือและแนะนำข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดี พร้อมส่งชุดคุ้มครองพยานจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเข้าดูแลความปลอดภัยให้กับครอบครัวนี้แล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"