ยังไม่เห็นประชาชน เรียกร้องแก้ รธน.


เพิ่มเพื่อน    

ประชาชนไม่เรียกร้องแก้ รธน.

มีแต่พรรคการเมือง

การเมืองเริ่มกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง หลังเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา  เพราะสมัยประชุมเทอมนี้มีหลายเรื่องร้อนรอสร้างอุณหภูมิการเมืองให้พุ่งทะลุไปตามจังหวะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเคลื่อนไหวทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภาเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ประกาศต้องเดินหน้าแก้ไข รธน.ตามข้อตกลงการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หรือการเตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านในเดือน ธ.ค. ตลอดจนการประชุมสภาเพื่อผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ในวาระ 2 และ 3 เป็นต้น

      ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล มองการเมืองหลังเปิดประชุมสภากับเรื่องร้อนๆ ทางการเมืองที่รออยู่ โดยเมื่อถามชัดๆ ถึงจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหากสภามีมติให้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย รองหัวหน้าพรรค พปชร. ระบุว่า เมื่อมีการเสนอญัตติเข้ามาแล้วมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องการแก้ไข รธน. ก็จะเป็นบทบาทของกรรมาธิการสภาไป พรรคก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น

แต่ถามว่ารัฐธรรมนูญที่มีอยู่ปัจจุบันเป็นปัญหาหลักของประเทศหรือไม่ ผมคิดว่า ณ ขณะนี้ปัญหาหลักของประเทศน่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า ก็อยากให้สภาขับเคลื่อนในเรื่องที่แก้ไขปัญหาของประชาชน เพราะสภาคือตัวแทนของประชาชน เรื่องเศรษฐกิจน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าเรื่องของประชาชน ถามว่าประชาชนมีข้อกังวลที่รัฐธรรมนูญเป็นแบบปัจจุบัน เขาก็ลงประชามติมาแล้ว ส่วนจะแก้ไขหรือไม่ ผมยังไม่เห็น ณ วันนี้ผมยังไม่เห็น ประชาชนเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเว้นพรรคการเมือง

      เมื่อถามย้ำว่า หากสุดท้ายมีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน. แล้วมีการเสนอให้แก้ไข รธน. อาจจะด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น แก้มาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่าง รธน. แล้วจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐคืออย่างไร คำตอบที่ได้ ณัฏฐพล รองหัวหน้าพรรค พปชร. ระบุว่า "ต้องรอฟังความคิดเห็นทั้งหมด เพราะอย่างที่บอก ณ ขณะนี้ เรายังไม่คิดถึงความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

        -ในฐานะแกนนำรัฐบาล การเตรียมการต่างๆ หลังพรรคฝ่ายค้านประกาศจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงก่อนสิ้นปีนี้ โดยที่เสียง ส.ส.รัฐบาลก็เกินกึ่งหนึ่งมาไม่มาก เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ?

การออกเสียงในวาระแรกของร่าง พ.ร.บ.งบ 2563 ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมความสามัคคีของพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าเสียงปริ่มน้ำ แต่เป็นเสียงที่มั่นคง เราก็ไม่ได้มีกังวลตรงนั้น คือเราทราบว่าปริ่มน้ำ แต่เรามั่นใจในเรื่องระเบียบวินัยของพรรคร่วมรัฐบาล

-กังวลหรือไม่หากมีการยื่นญัตติอภิปราย แล้วตอนออกเสียงไว้วางใจจะมีการต่อรองกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล?

ไม่ครับ เพราะพอพูดถึงเสียงปริ่มน้ำ เรารู้อยู่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียง ส.ส.อยู่กี่เสียง  และเรามั่นใจว่าทุกเสียง เข้าใจบริบทที่ต้องร่วมกันทำงาน ผมจึงไม่กังวลเรื่องเสียงแตก

ส่วนเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล ตอนนี้ดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไร ก็อาจมีคนที่แน่นอนว่าอาจผิดหวังเรื่องตำแหน่งเรื่องอะไรต่างๆ ก็คงเป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็คุมได้ โดยเรื่องผลงาน รัฐบาลก็ต้องทำเพิ่มเติม เช่น เรื่องเศรษฐกิจต้องทำให้ไปถึงรากหญ้า ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไข ซึ่งจริงๆ ที่ผ่านมา เราได้ทำไปแล้ว แต่อาจจะยังสื่อสารได้ไม่เต็มที่ ก็ต้องสื่อสารให้มากกว่านี้ 

ณัฏฐพล บอกว่า สำหรับเรื่องทางการเมือง โดยเฉพาะทิศทางการขยับของพรรค พปชร.ต่อจากนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร. จะมีบทบาทอย่างมากกับ พปชร. โดยบอกว่าต้องยอมรับว่าเมื่อ ผู้บริหารพรรค พปชร.ส่วนใหญ่ มาทำงานในฝ่ายบริหารเป็นรัฐมนตรี ก็อาจทำให้การทำงานในพรรค พปชร.ไม่เข้มข้นเหมือนก่อนหน้านี้ ซึ่งเรื่องนี้พลเอกประวิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ก็ให้ความสนใจและหาทางแก้ไข ซึ่งก็มีการประชุมกันต่อเนื่องในการทำให้พรรคพลังประชารัฐเดินไปข้างหน้า ก็มีการคุยกันต่อเนื่องโดยประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคก็รับหน้าที่ในส่วนนี้ไป ผมก็มองว่าหากเรามีการปรับปรุงการทำงานของพรรค แล้วมีการกระจายความรับผิดชอบไปอย่างชัดเจนน่าจะทำให้การขับเคลื่อนคล่องตัวขึ้น ตอนนี้เรายังสื่อสารการกระจายด้านนี้ยังไม่ดีพอ ยกตัวอย่างเช่นในระดับแต่ละภาคส่วน ต้องมีความเข้มข้น มีการติดตามและวางแผนมากกว่าปัจจุบัน ตอนนี้ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคก็กำลังปรับอยู่

บทบาทของพลเอกประวิตรก็เป็นหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ อย่างเช่นการเตรียมการเลือกตั้งซ่อมหากเกิดขึ้น ก็มีการขอให้คนที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ไปช่วยดู ซึ่งเราก็เข้าใจบริบทของการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล อย่างการเลือกตั้งซ่อมที่นครปฐม ที่พรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ได้ส่งคนลงสมัคร ก็ทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลได้เสียง ส.ส.เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ที่นั่ง

ทั้งหมดก็คือยุทธศาสตร์การทำงานการเมืองที่ต้องพร้อมในทุกรอบด้าน นอกจากนี้ที่ผ่านมาก็มีบุคคลต่างๆ ติดต่อจะขอมาร่วมงานการเมืองกับพรรค พปชร.อยู่ตลอดเวลา เพราะด้วยผลงานรัฐบาลและแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขเรื่องต่างๆ ก็ทำให้มีคนที่สนใจอยากจะเข้ามา โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็มีคนที่อยากจะเข้ามาขอลงสมัครในระดับผู้บริหารท้องถิ่น เช่น ส.ก. ก็มีคนอยากขอเป็นตัวแทนพรรค แต่พรรคก็เข้มงวดในการดูแล

ณัฏฐพล-รองหัวหน้าพรรค พปชร. ในฐานะแกนนำ-หัวหน้าทีมพื้นที่เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความชัดเจนเรื่องการส่งแคนดิเดตของ พปชร.ลงชิงชัยในสนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ เมืองหลวง-กรุงเทพมหานครว่า พรรคพลังประชารัฐให้ความสำคัญกับกรุงเทพมหานครอย่างมาก พรรคจึงใช้เวลาในการพิจารณาบุคคลที่มีความเหมาะสมพอสมควร ซึ่งขณะนี้กรอบเวลาการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ยังไม่ชัดเจน พรรคก็ขอใช้เวลาพิจารณาก่อน เพราะมีหลายบริบท ซึ่งสำหรับพรรคพลังประชารัฐ คนที่จะมาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่แค่คนคนเดียวมาทำ แต่จะต้องมีทีมที่จะมาบริหารงาน เพราะคงไม่มีผู้ว่าฯ กทม.คนไหนที่จะมีความสามารถเก่งทำได้ทุกเรื่อง ที่เป็นปัญหาของกรุงเทพมหานคร เพราะงานของ กทม.มีหลายด้าน เช่น งานด้านโยธา-กฎหมาย-งบประมาณ-สิ่งแวดล้อม ในขณะที่พรรคมองใครคนใดคนหนึ่ง ก็ต้องดูด้วยว่าแล้วทีมเสริมจะทำงานไปด้วยกันได้หรือไม่ จึงทำให้พรรคต้องใช้เวลา เพราะหากทีมยังไม่พร้อมแล้วพรรคพลังประชารัฐประกาศออกไป พลังก็จะน้อยลง

 ผมคิดว่าในบริบทของกรุงเทพมหานคร เรามี ส.ส.และผู้บริหารของพรรคหลายคนที่มีความเข้าใจในเรื่องการขับเคลื่อนงานของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นกรุงเทพมหานครถือเป็นพื้นที่ช่วงชิงสำคัญ พรรคจึงต้องขอเวลาในการพิจารณา

-ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์อาจจะจับมือกัน โดยมีการไม่ส่งคนลงพร้อมกันทั้ง 2 พรรค เพื่อไม่ให้ตัดคะแนนกันเอง?

      ในส่วนของประชาธิปัตย์ ผมคงตอบไม่ได้เพราะไม่ได้มีการพูดคุยอะไรกัน แต่เราไม่สามารถมองข้ามความคิดเห็นของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครได้ ที่ผ่านมาการตัดสินใจของคน กทม.มีองค์ประกอบหลายส่วน เช่น เรื่องกระแส ความรู้ความสามารถของคนที่ลงสมัคร ดังนั้นการใช้ความคิดว่าใครจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่เหมาะสมสำหรับคน กทม.เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องระมัดระวังและให้เกียรติคน กทม.ทั้งหมด

การที่พรรคจะส่งใคร ก็ต้องมีการฟังทั้งจากคนที่จะช่วยงาน กทม.ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น เพราะว่าบุคคลเหล่านี้คือฐานเสียงสำคัญ เราจะไม่ทำงานโดยที่เอากระแสมา แล้วได้รับเลือก โดยไม่ได้มีการแก้ปัญหาประชาชน ดังนั้นคนที่พรรคพลังประชารัฐจะเลือกมาสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต้องมีความสามารถในการขับเคลื่อนองค์กร กทม.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีภาพอย่างเดียว เราคิดว่าไม่มีความเหมาะสมในการเป็นผู้นำ กทม.ของพรรคพลังประชารัฐ

-ยืนยันได้ไหมว่าพรรคจะส่งหรือไม่ส่งคนลงผู้ว่าฯ กทม.?

พรรคจะสนับสนุนใคร ต้องให้คณะกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้ตัดสิน แต่ ณ ปัจจุบัน เราต้องดูคนที่เหมาะสมและทีมที่เหมาะสมก่อน แต่สุดท้ายการตัดสินใจว่าจะส่งใคร ก็อยู่ที่กรรมการบริหารพรรค

-ในฐานะรองหัวหน้าพรรคและดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ หากในปีหน้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่น การที่พรรคพลังประชารัฐจะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับต่างๆ เช่น นายก อบจ.หรือใน กทม.อย่างสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พรรคมีหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกอย่างไร?

เราเป็นพรรคใหญ่ เราก็อยากสนับสนุนคนที่มีพลังในการจะไปขับเคลื่อนท้องถิ่นทั่วประเทศ แล้วเราก็อยากได้คนที่มีความคิดตรงกับแนวทางของการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 เพราะจากนโยบายหลายเรื่องของรัฐบาลก็ทำให้เห็นได้ว่า จะต้องได้คนที่มีความเข้าใจในด้านต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาล เช่น มีความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีพอสมควร ดังนั้นผู้บริหารท้องถิ่นก็ต้องรับในส่วนนี้ได้ โดยตอนนี้พรรคก็กำลังพิจารณาดูกันอยู่

-พลังประชารัฐให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน คิดว่าจะต้องปักธงท้องถิ่นให้ได้

คงไม่เท่ากับตอนเลือกตั้งใหญ่ มองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการวางฐานของคนที่จะทำงานในพื้นที่มากกว่า เพื่อให้ทำงานได้ต่อเนื่อง โดยคนที่จะมาร่วมงานกับเราก็ต้องมีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อให้เดินไปในแนวเดียวกัน

........................................

ณัฏฐพล-เสมา 1 ในภารกิจ

พัฒนา-ปฏิรูประบบการศึกษา

หลังทำงานในเก้าอี้เสมา 1 - รมว.ศึกษาธิการมาได้ร่วม 4 เดือน ณัฏฐพล กล่าวถึงการทำงานในกระทรวงศึกษาธิการหลายบริบท ทั้งความตั้งใจในการแก้ปัญหาหนี้สินครู-การพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนและครูทั่วประเทศ ด้วยแนวทางใช้เทคโนโลยี หรือ Digital Literacy ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนทั่วประเทศ การทำให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี หรือ Internet Access ได้อย่างพร้อมเพียงเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นต้น

-การศึกษาไทยเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ แต่จะพบว่าที่ผ่านมาจะมีปัญหาเรื่องความไม่ต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายด้านการศึกษา เพราะการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย มีการปรับ ครม.กันบ่อยครั้ง พอรัฐบาลเปลี่ยน ตัวรัฐมนตรีของ ก.ศึกษาธิการมีการปรับเปลี่ยน นโยบายก็จะเปลี่ยนไปอีก ทำให้การดำเนินนโยบายขาดความต่อเนื่อง?

เรื่องการศึกษา อย่างตอนประชุมสภาเพื่อให้ความเห็นชอบวาระแรกของร่าง พ.ร.บ.งบ 2563 พบว่ามี ส.ส.จำนวนมากอภิปรายเรื่องของการศึกษา แสดงให้เห็นถึงว่าทุกคนให้ความสำคัญกับการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งผมอยากให้เป็นเรื่องของวาระแห่งชาติด้วยซ้ำ ที่ทุกพรรคการเมืองและคนที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาบริหารงานตรงนี้ได้มานั่งคุยกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีการแทรกแซง หรือจะเชิญผมไปพูด ไปชี้แจงในชั้นกรรมาธิการของสภาที่เกี่ยวข้องก็ได้ เช่น หากอยากถามความเห็นเรื่องการปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ จะวางรากฐานของการศึกษา จะทำอย่างไร เพื่อเราจะได้รู้ว่าแต่ละเรื่องมีขีดจำกัดอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น บอกว่าประเทศต้องเดินไปในแนวดิจิตอล เด็กนักเรียนแต่ละคนต้องมีแล็บท็อป 1 คนต่อ 1 เครื่อง แล้วหากผมไม่ทำ ก็ไม่ตรงกับความต้องการของคนอื่น หรือผมทำ แต่บางคนเห็นว่าไม่เอาแล็บท็อป แต่ให้เป็นเดสก์ท็อป แท็บเล็ตดีกว่า ก็มานั่งคุยกันมาถกกันเลยทีเดียว โดยพิจารณาจากความเหมาะสมและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ควรให้สเปกแบบไหน ไม่ใช่ว่าพอผมทำไป แล้วต่อมามีการไปโละโครงการ มาบอกว่าสเปกในยุคที่ผมทำสเปกต่ำไป หรือว่าทำโครงการไปแล้ว เกิดอนาคตเปลี่ยนจาก 5 จี เป็น 7 จี จะทำอย่างไร

หากทำแบบนี้ก็จะทำให้ หากอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารกระทรวงหรือเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีของกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะไม่มีผลกระทบในการจะเข้ามาต่อยอดสิ่งที่ได้ทำไว้ก่อนแล้ว

-มองว่าอะไรคือตัวชี้วัดว่ามาทำงานที่ ก.ศึกษาธิการแล้วประสบผลสำเร็จมีผลงาน?

ผมมองว่าหากเห็นเอกภาพในกระทรวงศึกษาธิการ โดยปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ได้รับการแก้ไข ปัญหาลดลง แปลว่า ทั้งกระทรวงพร้อมจะขับเคลื่อน โดยในการฟ้องร้องบางอย่าง อาจจะเห็นรัฐมนตรีสามารถบริหารจัดการตรงนี้ได้ และหน่วยงานที่มีปัญหา สามารถเข้าไปวางโครงสร้างในการแก้ไขปัญหาได้ อันนี้จะทำให้เห็นว่าเราเริ่มมีความเข้าใจว่า เราต้องร่วมกันแก้ปัญหา สิ่งนี้คือเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเรื่องเหล่านี้ก็จะไปผูกกับเรื่องอื่นๆ เช่น หลักสูตรที่ต้องเปลี่ยน โครงสร้างที่ต้องแก้ไข คนที่ต่อต้าน คนที่ไม่เข้าใจ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมี แต่ก็จะน้อยลง เพราะทั้งกระทรวงศึกษาธิการรับได้ Digital Literacy ทำได้ และหลักสูตรที่ให้ครูมาอบรม ลดสิ่งที่ทำในอดีตลดลง

 สิ่งเหล่านี้คือความเป็นเอกภาพ แต่อาจมองเห็นไม่ชัด แต่ผมไม่สนใจตรงนั้น ผมสนใจว่าแล้วในกระทรวงศึกษาธิการเขามองเห็นตรงนี้หรือไม่ ในกระทรวงเราขับเคลื่อนได้หรือไม่ ส่วนสื่อมวลชนจะนำไปตีความอย่างไร ตรงนี้ผมไม่มีปัญหา เพราะผมมั่นใจว่าการทำงานทุกอย่างต้องวางรากฐานก่อน หากรากฐานไม่ดี ทำแค่บอกว่า นี่คือผลงาน มันก็จะไม่ยั่งยืน ซึ่งก็อาจผิดกับแนวทางการเมืองที่ต้องโชว์ผลงานทันที ผมไม่โชว์ผลงาน ผมไม่อยากพูดถึงผลงาน หากโครงสร้างและพื้นฐานยังไม่แน่นจริง โชว์ไปสักพักก็ต้องมีคนมาบอกว่าไม่ใช่ ซึ่งสำหรับผม ผมยอมรับเรื่องความเห็นแตกต่าง

-คนมองกันว่า ก.ศึกษาธิการเป็นกระทรวงปราบเซียน รัฐมนตรี นักการเมืองดังๆ พอมาอยู่ที่กระทรวงแห่งนี้ ทำงานไปแล้ว ผลสำรวจโพลสำนักต่างๆ ที่ถามประชาชนเรื่องการจดจำผลงานรัฐมนตรีในรัฐบาล ก็จะพบตลอดว่ารัฐมนตรีของกระทรวงศึกษาธิการมักอยู่อันดับท้ายเสมอ?

ผมไม่กังวลตรงนั้นเลย ผมมองว่า อย่างที่บอกเป็นกระทรวงปราบเซียน แต่จริงๆ แล้ว กระทรวงนี้มีเซียนเยอะแยะไปหมด เราต้องเอาความรู้ความสามารถของเซียนเหล่านั้นมารวมพลังกันแล้วก็ขับเคลื่อน

หากพูดกันจริงๆ แล้ว เรื่องความแม่นในกฎระเบียบ และแนวทางที่จะเดินต่อไปของกระทรวงนี้ พบว่าต่างก็มี โดยหากบอกว่าจะทำอย่างไร ทุกคนต่างทำได้หมด เพราะด้วยประสบการณ์ต่างๆ ที่ผู้บริหารของกระทรวงต่างมีอยู่ เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าจะนำไปใช้อะไร ยังไม่มั่นใจว่าหากใช้แล้วจะตรงกับนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ ผมก็เลยบอกว่า ก็ให้นำนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของรัฐมนตรีมาก่อน แล้วแต่คนก็นำความรู้ความสามารถของแต่ละคนมาขยายผล อย่างเช่น นายกรัฐมนตรี ก็บอกต้องปฏิรูปการศึกษา ต้องทำการศึกษาให้แข็งแรง นายกฯ ก็ให้นโยบายมา ผมในฐานะรัฐมนตรีก็มีหน้าที่รับนโยบายมาปฏิบัติ

      เมื่อคุยลงลึกในเนื้องานของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็นกระทรวงซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีมากที่สุดมาตลอด ณัฏฐพล-รมว.ศึกษาธิการ พูดถึงการขับเคลื่อนงานในกระทรวงว่า กระทรวงศึกษาธิการมีการแบ่งโครงสร้างออกเป็นแท่งงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน-สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ ผมก็มีความตั้งใจในการบริหารงานที่จะทำให้ทุกหน่วยงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หลายอย่างจึงต้องนำมารวมกัน ทั้งเรื่องของความคิด เรื่องของงบประมาณไม่ให้ซ้ำซ้อน

...ซึ่ง ณ ขณะนี้ ผมก็คิดว่าผู้บริหารของกระทวงศึกษาธิการเข้าใจบริบทตรงนี้ อย่างการคัดเลือกผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผมเลือกมาดำรงตำแหน่งแทนผู้เกษียณอายุราชการไปเมื่อ 30 กันยายนที่ผ่านมา เหตุผลนอกจากเรื่องความรู้ความสามารถแล้ว ก็ยังต้องมีความสามารถในการสร้างความเป็นเอกภาพในกระทรวงศึกษาธิการได้ สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ

      รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในการขับเคลื่อนงานผมจะมีความคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า หากทีมงานรวมกันได้แข็งแรงก็จะเป็นกลุ่มสนับสนุนที่เป็นเอกภาพ เป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการทำงาน เพราะหากไม่มีตรงนี้การขับเคลื่อนงานของกระทรวงศึกษาธิการจะยาก อันนี้คือมุมมองของผม  เพราะว่าองคาพยพมันใหญ่ หากเริ่มต้นตรงหัวแล้วเริ่มมีเสียงกระเพื่อม เริ่มมีความไม่พอใจอะไรเกิดขึ้น  จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ มันมีปัญหาทันที สิ่งนี้คือเรื่องหลักที่ผมได้เข้ามาทำในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา

...และปัญหาความขัดแย้งที่กระทรวงศึกษาธิการพบว่ามีเรื่องฟ้องร้องกันเยอะมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ผมก็บอกว่าโอเค สิ่งที่ผ่านมาอยากให้มองข้ามไป ให้บริบทของกฎหมายเป็นตัวตัดสิน การเดินไปข้างหน้าไม่อยากให้มีเรื่องพวกนี้ เพราะเป็นเรื่องภายในของเราเอง หากมีเรื่องอะไรที่ไม่พอใจ มีเรื่องอะไรไม่เหมาะสม ก็ต้องมานั่งคุยกัน ก็เหมือนกับที่ผมจะเลือกคนขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการที่มีอยู่ด้วยกันสามคน ที่เป็นระดับซี 10 ผมก็เชิญทุกคนที่มีโอกาสมาพบพูดคุยด้วยกันทั้งหมด เพราะผมไม่ได้สนใจแค่สามคน แต่ผมสนใจทั้งหมดที่มีร่วมยี่สิบกว่าคน ซึ่งก็แน่นอนว่าก็ต้องมีคนผิดหวัง จากยี่สิบคนที่คัดเลือกให้เหลือสามคน ซึ่งหากคนที่ไม่ได้ต่อต้านก็เดินไปไม่ได้ แต่ผมก็ตัดสินใจบนข้อมูลพื้นฐานที่ผมมี เช่นเรื่องวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ และผมได้เจอด้วยตัวเอง เพราะก็คงไม่แฟร์ที่จู่ๆ เข้ามาทำงานได้สองเดือนแล้วจะมาบอกเลยว่าเลือกคนไหนโดยไม่ได้คุยกับคนอื่นๆ ทั้งหมด

...ผมจึงมั่นใจว่าผมจะทำงานขับเคลื่อนไปโดยได้รับความร่วมมือ แม้ในขณะนี้อาจจะมีคนที่ไม่ได้รับตำแหน่งหรือมีการโยกย้ายอะไรกันบ้าง แต่ผมก็ได้ส่งสัญญาณให้เห็นว่าทุกตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการมีความสำคัญ บางคนอาจไปคิดว่าตำแหน่งบางตำแหน่งเป็นตำแหน่งลอย ตั้งเพื่อให้ไปอยู่ลอยๆ ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะทุกตำแหน่งเมื่อได้พูดคุยถึงแนวทางการบริหารงานที่ชัดเจน เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากตำแหน่งตรงนั้นได้ ไม่อยากให้คนไปคิดว่า ที่ได้ตำแหน่งไปแล้วเพราะคนไม่สนใจ ยืนยันว่าไม่ใช่ แต่ผมจะยิ่งสนใจงานตรงนั้นมากขึ้นไปอีก ไม่ใช่ว่าไปแล้วว้าเหว่ ขวัญกำลังใจไม่มี  เพราะผมเป็นคนที่เน้นเรื่องขวัญกำลังใจ ในการทำงานที่จะทำอะไรก็ตามต้องมีสิ่งนี้

ต้องงัดกเหล็กผู้บริหาร

ห้ามมีหนี้เกิน 50% ของเงินเดือน

ณัฏฐพล-รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากที่กล่าวข้างต้นสิ่งต่างๆ ก็มาผูกกับปัญหาเรื่องของ ครู ที่ ณ ตอนนี้ต้องบอกเลยว่า จากที่ได้สัมผัสมาเสียขวัญและกำลังใจจากหลายเรื่อง เช่นเรื่อง หนี้สิน ที่ก็อาจมีทั้งเกิดจากตัวเขาเอง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข และเรื่องขวัญกำลังใจ อีกส่วนหนึ่งคือเรื่อง วิทยฐานะ ที่สายงานในการเดินไปข้างหน้า เช่น สวัสดิการ ผลตอบแทน แนวทางการทำงาน ยังเห็นไม่ชัดเจนเลยทำให้ครูที่อยู่ในสายปฏิบัติเลือกที่จะเดินมาเป็นครูในสายบริหาร เพราะคิดว่านี้คือทางออก แต่จริงๆ แล้วผมกำลังบอกว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องทำให้ครูในสายปฏิบัติมีความมั่นคง ความมั่นใจ เพราะครูเก่งก็คือครูเก่ง เหมือนในต่างประเทศครูเก่งเขาก็เป็นครู ไม่ใช่จะมาเป็นผู้บริหารกันทุกคน เพราะชีวิตจิตใจเขาอยู่ตรงนั้น บางคนสอนคณิตศาสตร์ก็สอนไปจนเกษียณ แต่ขณะเดียวกันครูที่เขาจะเลือกมาเป็นผู้บริหารก็มีการเทรนการอบรม กว่าที่จะสอบไปทำหน้าที่ตรงนั้นได้

...สิ่งนี้คือเรื่องที่ผมจะบอกว่าต้องเปลี่ยนแปลงภายในกระทรวง เพราะกระทรวงก็คือเปิดรับสมัครแต่ไม่ได้ดูคุณสมบัติ คุณสมบัติอย่างเดียวคือเป็นครู แล้วก็ไม่ได้หมายถึงว่าบางคนไปเรียนจนจบปริญญาโทด้าน Education แล้วจะมาเป็นผู้บริหารการศึกษาได้ เพราะผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีตัวชี้วัดอื่นๆ  เช่น การบริหารจัดการทางการเงิน, การบริหารเรื่อง KPI ในขณะเดียวกันกระทรวงมีกฎเกณฑ์ที่ยังไม่ได้ใช้แต่ควรนำมาใช้ เช่นจะมาเป็นผู้บริหารต้องห้ามมีหนี้สินเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ไม่เช่นนั้นจะมาเป็นผู้บริหารได้อย่างไร จริงๆ ผมอยากให้ตัวเลขนี้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนด้วยซ้ำ  เพราะแสดงว่าคุณบริหารจัดการเรื่องการเงินของตัวเองและครอบครัวตัวเองได้ ก็จะทำให้ไม่ต้องมากังวลใจกับเรื่องการหารายได้เพื่อจะมาชดเชยหนี้สินของตัวเอง 

ในอนาคตผมจะเริ่มวางกฎเกณฑ์นี้ เพราะส่วนตัวผมเองมองว่าเรื่องนี้สำคัญ ส่วนเรื่องที่ทำให้ครูเสียเวลาไปกับการอยู่นอกโรงเรียนนอกห้องเรียน ก็ต้องมาดูว่าความเหมาะสมอยู่ตรงไหน บางทีเราไปมุ่งเน้นเรื่องผลงาน-วิทยฐานะ แต่ว่าผลงานของครูจริงๆ อยู่ที่นักเรียน ซึ่งไม่ได้ดูที่ผลสอบของเด็กนักเรียนอย่างเดียว เพราะเด็กที่สอบเก่งๆ ก็มี แต่เด็กที่ไม่ได้สอบเก่งก็มี เพราะชีวิตก็ไม่ได้มีแต่หมอ, วิศวกรอย่างเดียว แต่ก็ยังมีอีกหลายบริบทหลายอาชีพ เช่น นักกีฬา, นักแสดง, นักลงทุน, นักบัญชี อันเป็นเรื่องที่เราต้องหาจุดแข็งของเด็กนักเรียนให้เจอ ซึ่งเด็กเหล่านี้ในอาชีพต่างๆ อาจจะไม่ใช่คนที่สอบเก่ง แต่มีความเก่งในเรื่องอื่น ผมยอมรับว่าเรื่องผลสอบเป็นหนึ่งในตัวชี้วัด และผมคิดว่าเรายังไม่ได้ห่างไกลในการที่จะพัฒนาเด็กด้านต่างๆ เช่น ดนตรี, กีฬา, บัญชี, การตลาด ที่เป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ก็ยังต้องทำกันอยู่ แต่ตอนนี้ก็ใช้ระบบเดิมไปก่อน แต่เมื่อต่อไปมีการพัฒนาหลักสูตรจนมีความคล่องตัวมากขึ้น ผลก็จะออกมาให้เห็นเอง เพราะเด็กก็จะสนุก แล้วเมื่อเขารู้ว่ากระทรวงศึกษาธิการมีการสนับสนุนในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เสริมสร้างทักษะมุ่งไปสู่อาชีพของเขา เขาก็จะมีกำลังใจในการทำอย่างอื่น

ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องมีความยืดหยุ่นในหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของเด็กและความต้องการของตลาด ผมยกตัวอย่าง อาชีวะ ซึ่งคนที่เรียนอาชีวะแล้วเก่งด้านต่างๆ เช่น เครื่องยนต์โดยที่ให้เขามุ่งไปทางนั้น ถามว่าเขาต้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวกับสายงานของเขาหรือไม่ ก็ต้องมาดูและเริ่มพิจารณากันว่าหากเขาต้องมาเรียนในสิ่งที่ไม่ตรงกับสายงานของเขาโดยที่เขาไม่ได้ชอบ ก็ทำให้ผลการเรียนก็อาจสอบตกจนต้องรีไทร์ไป เราก็จะเสียคนที่จะมีความสามารถด้านเครื่องยนต์ไป แต่ผมไม่ได้ทำตรงนี้เพื่อให้เด็กสบาย แต่หลักสูตรอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเครื่องยนต์ก็ต้องเข้มข้น เช่นเดียวกับหลักสูตรอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ

รมว.ศึกษาธิการ พูดถึงการพัฒนาการเรียนการสอบภาษาอังกฤษว่า เรื่องภาษาผมอยากปฏิรูป  แต่การปฏิรูปต้องเริ่มที่ครูก่อน ซึ่งผมไม่ได้ถึงขนาดว่าประเทศไทยจะต้องเก่งภาษาอังกฤษ แต่คุณครู เป็นอาชีพหนึ่งที่ไม่รู้พื้นฐานภาษาอังกฤษไม่ได้ เพราะข้อมูลที่อยู่ในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวกับการศึกษา พัฒนาการใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาอยู่บนโลกออนไลน์ที่ใช้ภาษาอังกฤษถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ผมจึงเน้นที่ตัวคุณครู อย่ามองว่าผมบีบบังคับคุณครูให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบ แต่ผมต้องการให้เขาทำในสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาการในอาชีพของครู แต่เรื่องนี้ผมก็ให้เวลา โดยให้กระทรวงวางแผนเพื่อให้เขามีโอกาสพัฒนาไปทีละขั้นตอน

ดัน Internet Access

ลดเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย

-งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของ ศธ. หลักๆ จะมุ่งเน้นไปในทิศทางใด เพราะตอนประชุมสภามี ส.ส.หลายคนอภิปรายท้วงติงกันมาก เช่น เรื่องการจัดสรรงบไม่เท่าเทียม และมีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบอุดหนุนโรงเรียน?

โครงการที่ขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ต้องยอมรับว่าได้มีการจัดทำก่อนที่จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล ผมก็ทำได้ในระดับหนึ่ง แต่หัวข้อที่เกี่ยวกับการพัฒนา เช่นโครงการพัฒนาครู ซึ่งเดิมอาจเป็นในลักษณะการอบรมสัมมนา โดยเชิญครูจากทั่วประเทศมาสองร้อยคนแล้วตั้งงบประมาณ มีการจัดตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเรื่องการอบรมสัมมนา ผมนำสิ่งที่มาทดแทนได้โดยใช้เทคโนโลยี ก็จะนำตรงนี้มาใช้ โดยตอนสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบปี 2563 ผมได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่าระบบอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมพื้นที่ 90-95 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะห้องอำนวยการของโรงเรียนหรือห้องของผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ต้องให้ครอบคลุมไปถึงห้องเรียนต่างๆ ที่ต้องใช้สื่อเทคโนโลยี ผมต้องทำให้เสร็จภายในไม่เกินเดือน พ.ค.ปีหน้าก่อนเปิดเทอมให้ได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาตารางเวลาต่างๆ เช่น กระบวนการทำทีโออาร์, การจัดซื้อจัดจ้าง และขั้นตอนปฏิบัติ ดูจากระยะเวลาก็น่าจะทำได้

เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะโยงไปถึงเรื่องการจัดอบรมสัมมนา และการดึงให้ไปอยู่ที่โรงเรียนมากขึ้น จะได้ลดเวลาการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย ทำให้ครูมีเวลาอยู่กับห้องเรียน สามารถเทรนได้ในช่วงเสาร์-อาทิตย์ อย่างหลักสูตรการเรียนการสอนที่จะเปลี่ยนไป ก็ต้องให้มาเข้าสู่การรับรู้ผ่านเทคโนโลยี และการรายงาน รีพอร์ต ส่งเอกสารต่างๆ มาที่กระทรวงหรือกระทรวงส่งไปยังโรงเรียนต่างๆ ในรูปแบบดิจิตอลจะต้องมีการใช้ทั้งสิ้น ภายใต้ Internet Access ดังนั้นถ้าจั่วหัวเลยพูดกันตรงๆ ผมจะเน้นเรื่องของเทคโนโลยี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้ครบถ้วน เพื่อเป็นฐานในการทำอีกหลายอย่างที่เราวางแผนไว้  และผมมั่นใจว่าหากเราทำได้จริงและทำได้อย่างเข้มข้น เรื่องต่างๆ จะทยอยตามมา เป็นตัวสร้างตัวชี้วัดได้ด้วย

รมว.ศึกษาธิการ ยกตัวอย่างเรื่อง Internet Access เพื่อนำมาใช้กับการบริหารงานของ ศธ.ว่า เช่น แต่ละทุกโรงเรียนทั่วประเทศต้องส่งรายงานมาว่าวันนี้มีนักเรียนขาดเรียนกี่คน ภายในไม่เกินเก้าโมงเช้าของแต่ละวัน นำเทคโนโลยีเข้ามา ก็จะทำให้เรารู้ได้ว่าวันนี้มีเด็กนักเรียนไม่มาเรียนกันกี่คน  ขาดเรียนตรงไหนเยอะ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กมาก แต่ถามว่าปัจจุบันเราจะเช็กข้อมูลนี้เราจะรู้หรือไม่  เราก็ไม่รู้ กระทรวงรู้หรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่กระทรวงศึกษาธิการต้องรู้ หรืออย่างกระทรวงให้แต่ละโรงเรียนส่งรูปเข้ามาว่า โรงเรียนให้ทำกิจกรรมอะไรบ้างในช่วงสงกรานต์ ต้องส่งมาแล้วรวบรวม หรือการให้ผู้อำนวยการโรงเรียนให้ความเห็นเรื่องครูธุรการเข้ามายังกระทรวง ก็จะต้องสามารถส่งเข้ามาได้ทันที โดยเมื่อมีการส่งข้อมูลมาแล้ว กระทรวงต้องสามารถแยกข้อมูลต่างๆ ที่ส่งมาได้ เช่นใช้ AI มาช่วยในการแยกข้อมูล เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะช่วยในด้านการสื่อสาร ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดงานเอกสาร ให้เวลา ผอ.ได้กลับไปบริหารโรงเรียน ให้ครูได้ใช้เวลาอยู่กับเด็กนักเรียนที่โรงเรียน

เรื่องนี้เป็นไฮไลต์สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2563 งบตรงไหนที่ซับซ้อนผมก็ตัดออก ก็มีการออกนโยบายเบื้องต้นมาแล้ว มีการรัดเข็มขัด ปีนี้ไม่ให้เดินทางไปดูงาน เพราะปัจจุบันเรามีทฤษฎีเยอะแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาต้องนำทฤษฎีมาปฏิบัติ

...อย่างการจัดอีเวนต์ ผมมาอยู่กระทรวงศึกษาธิการไปเปิดงานไม่รู้กี่สิบงานแล้ว จนผมรู้สึกว่าบางทีเราใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม เราสามารถใช้หน่วยงานที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ เช่น  สำนักงานคณะกรรมการกรมอาชีวศึกษา เขาก็จัดประชุมสัมมนาได้ สร้างเวทีอะไรต่างๆ ได้ ก็จะลดค่าใช้จ่ายได้ ผมก็เข้าไปดูรายละเอียดงบปี 2563 ของทุกหน่วยงาน มีการถามทุกรายการค่าใช้จ่าย โดยมุ่งเน้นการถามว่างบต่างๆ มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการพัฒนาเด็กนักเรียน เพราะเงินทุกบาทที่ใช้จะต้องกลับมาวนที่ว่า แล้วงบที่ใช้เด็กนักเรียนได้อะไรจากงบดังกล่าว

-การศึกษาไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำมาตลอด ผู้ปกครอง เด็กนักเรียน ต่างก็ต้องการเข้าเรียนโรงเรียนดังๆ จะมีนโยบายอย่างไรในการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน?

เรื่อง Internet Access เป็นการลดความเหลื่อมล้ำส่วนหนึ่ง เพราะจะช่วยเรื่องการกระจายความรู้  อย่างครูที่สอนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ควรต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานเท่ากับครูที่สอนอยู่ในเมือง ต่อให้เขาควบชั้นสอน แต่เขาต้องสามารถเข้าไปสื่อต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีได้ ว่าหากจะสอนคณิตศาสตร์เด็ก ป.3 จะสอนอย่างไร และจะสอนคณิตศาสตร์เด็ก ป.4 อย่างไร รวมถึงมีเครื่องมือ ข้อมูล เอกสารที่ใช้ในการเรียนการสอนที่ครบถ้วน ซึ่งจะทำให้ครูมีความรู้พื้นฐานใกล้เคียงกัน ส่วนจะขยับขยายไปมากกว่านั้นก็ขึ้นอยู่กับครูแต่ละคน หากเขามีความมั่นใจว่าเขามีความรู้ในการสอนขั้นพื้นฐาน ต่อให้สอนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เขาต้องมีศักยภาพในการนำสิ่งที่เขาสอนซึ่งแตกต่างจากพื้นฐานใส่เข้ามาในระบบ

สิ่งนี้ก็คือ วิทยฐานะ ของเขา เช่นหากเขาสอนเลขเด็ก ป.3 อีกแบบหนึ่ง หากเขานำมาใส่ไว้ในระบบ แล้วครูคนอื่นเข้ามาจนบอกว่าเป็นเรื่องดี แล้วนำไปใช้สอนบ้างในหลายโรงเรียน สิ่งนี้แหละคือวิทยฐานะของครู อันนี้แหละที่เรียกว่าจากเชี่ยวชาญเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และผมหวังว่าเมื่อทำโรงเรียนที่มีคุณภาพพื้นฐานทั่วประเทศ สุดท้ายพ่อแม่ก็จะมองว่าโรงเรียนที่สอน ป.3 ใกล้บ้าน ก็มีการเรียนการสอนเหมือนกับโรงเรียนในเมือง แล้วจะส่งลูกหลานไปเรียนในเมืองทำไม ก็ให้เรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน สนุกกว่าอีก ไม่ต้องห่างไกลพ่อแม่

...อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจจะต้องมีการ ควบรวมโรงเรียน บ้างในบางพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่  เพราะกระทรวงศึกษาฯ ก็มีการควบรวมโรงเรียนอยู่ต่อเนื่อง และควบรวมแล้วประสบความสำเร็จก็มีหลายแห่งหลายพื้นที่ ผมมั่นใจว่าถ้าหากมีการควบรวมโรงเรียน โรงเรียนที่นำเสนอต้องเป็นโรงเรียนที่มี คุณค่าสำหรับผู้ปกครองและเด็กแน่นอน แต่เมื่อดำเนินการแล้วก็อาจจะมีความไม่คล่องตัวเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่มาก เช่นจากปกติผู้ปกครองขี่มอเตอร์ไซค์มาส่งลูกเข้าเรียน เคยใช้เวลาจากบ้านมาโรงเรียน 5 นาที ก็อาจเพิ่มเป็น 8 นาทีหรือ 10 นาที ก็อาจเกิดความไม่สะดวก แต่ผมมั่นใจว่าทั้งเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียน ครูจะต้องได้สิ่งที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนผู้บริหารที่คิดว่าหากมีการควบรวมโรงเรียนแล้ว เขาจะมีผลกระทบตามมา

 ผมขอยืนยันว่า สิทธิประโยชน์และโอกาสในการเจริญเติบโตทางราชการก็จะยังคงมีอยู่เท่าเดิม ไม่ใช่มองว่าได้ไปอยู่โรงเรียนนี้บางแห่งเพราะถูกมองว่าไม่มีความสามารถ ไม่ได้ขึ้น ซึ่งไม่ใช่ แต่ผมกลับมองว่าคนที่เก่งๆ ก็ควรไปอยู่ในโรงเรียนเล็กๆ โรงเรียนไกลๆ ทำโรงเรียนนั้นให้เข้มแข็งขึ้นมา ก็จะลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะคนเก่งแทนที่จะมาอยู่แต่ที่โรงเรียนใหญ่ ก็จะเป็นการดึงเขาขึ้นมา ซึ่งก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจ ดังนั้นก็จะกลับมาในเรื่องของการ วางโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการให้เห็นชัดเจน

เรื่องของระบบการศึกษา ผมมองว่าผู้บริหารโรงเรียนมีความสำคัญในการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การจัดการเรื่องอาหารกลางวัน การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ทำงานเชื่อมกับชุมชน เชื่อมกับกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครอง ซึ่งต้องมีทักษะการบริหารที่ต้องมีการเทรนอย่างเข้มข้น ไม่เช่นนั้นก็ทำงานลำบาก 

-รัฐบาลชุดนี้มีแนวนโบบายเรื่อง Thailand 4.0 แล้วในส่วนของ ศธ. การขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา 4.0 เพื่อพัฒนาครูและเด็กนักเรียนให้เป็นครู-นักเรียน  4.0 จะทำอย่างไร?

ที่พูดถึงเรื่องเทคโนโลยีข้างต้น ก็จะทำให้ครูต้องมี Digital Literacy ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งแต่ละคนก็จะมีไม่เท่ากัน แต่เราก็ต้องวางรากฐานว่ามาตรฐานควรเป็นเท่าใด ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบดูจากหลายประเทศ ในเรื่อง Digital Literacy มี 1-8 ในกระทรวงศึกษาธิการผมกำลังดูข้อมูลและโครงการอยู่ โดยทั้งกระทรวงก็ต้องมาสอบว่าอยู่ระดับใด จากนั้นก็จัดอบรมสัมมนาเพื่อเพิ่ม  Digital Literacy ครูก็เช่นกันต้องมีการสอบก่อนเพื่อดู Digital Literacy อันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องอาย ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพื่อจะได้มาดูกันว่าจะขยับ Digital Literacy จากระดับ 1 ไปถึง 8 จะต้องขยับอย่างไร  เพราะอย่างบางเรื่องเช่นการทำ presentation สำหรับครูถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรต้องทำได้

ส่วนเด็กนักเรียนจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อให้เขามีความคล่องตัวในเรื่อง  Digital Literacy ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งผมบอกได้เลยว่า ณ ขณะนี้อย่าบอกว่า ต้องแจกแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ แต่สุดท้ายโรงเรียนต้องมีให้เด็กทุกคนในสัดส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง สิ่งนี้ต้องมีหนีไม่พ้นในอนาคต เพียงแต่ต้องดูเรื่องราคาให้เหมาะสมและคอนเทนต์ต่างๆ และระบบป้องกันไม่ให้เข้าไปดูเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม โดยที่ Data Center ต้องอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ

-มีแนวทางขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษาไปสู่ภูมิภาคอย่างไร?

จะเน้นเรื่องการกระจายอำนาจและการเป็นนิติบุคคลของโรงเรียน จริงๆ โรงเรียนมีกฎระเบียบที่พร้อมอยู่แล้วในการเป็นนิติบุคคล แต่กระทรวงศึกษาธิการต้องมีระเบียบที่สามารถดึงสิทธิเหล่านั้นกลับมาได้ หากไม่ผ่านการประเมินหรือเดินผิดนโยบายที่เราวางเอาไว้ แต่ผมเน้นว่ากระทรวงต้องมีความยืดหยุ่น อย่าตัดเสื้อโหลสำหรับทุกโรงเรียน เพราะแต่ละพื้นที่ความต้องการในการเรียนการสอนจะไม่เหมือนกัน หากทำงานใกล้ชิดกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็จะเห็นได้ว่าความต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างไร ประเทศกำลังจะขับเคลื่อนไปทางไหน แล้วเราควรจะผลักดันเด็กให้เรียนที่ไหน

สำหรับเรื่องการเตรียมความพร้อมเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ต้องบอกว่ายังต้องใช้เวลา เราจะบอกว่า มาสามเดือนแล้วพลิกตรงนี้เลย ไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อให้ใส่ระบบเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไป แล้วจะไปหวังว่าเด็กจะเข้าใจทันที มันก็ไม่ได้ง่าย ผมมอง 2-3 ส่วนเช่นผมมองเรื่องเด็กสายอาชีวะและนักเรียนสายสามัญ ต้องฉีดยาแรง มีแผนงานให้เขาชัดเจน เข้มงวดและเข้มข้นเพราะเป็นกลุ่มวัยที่กำลังเข้าสู่อุดมศึกษาและสายอาชีพ เราไม่มีเวลาที่จะมาวางฐานให้เขา ก็ต้องแก้ไขปัญหาให้เขาเลย จะให้เขาเรียนภาษาอะไรมากขึ้นหรือจะให้เรียนอะไรน้อยลง ส่วนเด็กปฐมวัยต้องทำให้เด็กปฐมวัย 0-6 ขวบ ก่อนเข้า  ป.1 ได้รับความใส่ใจและพัฒนามากที่สุด

หากเราทำตรงนี้ไม่จริงจัง ไม่เข้มข้นพอ ก็ทำให้เด็กมีพื้นฐานไม่แข็งแรง ก็คิดว่าการให้ความใส่ใจในเรื่องสถานเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ที่จะทำผ่านกระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต้องให้ความสำคัญ อย่างเด็กปฐมวัยหากให้เขาเรียนเรื่องภาษาตั้งแต่ต้น ผมว่าเขาจะรับได้ง่ายกว่าเด็กที่อยู่มัธยมแล้ว.

 

 

...ถามว่ารัฐธรรมนูญที่มีอยู่ปัจจุบันเป็นปัญหาหลักของประเทศหรือไม่ คิดว่า ณ ขณะนี้ ปัญหาหลักของประเทศน่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า ก็อยากให้สภาขับเคลื่อนในเรื่องที่แก้ไขปัญหาของประชาชน เพราะสภาคือตัวแทนของประชาชน เรื่องเศรษฐกิจน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าเรื่องของประชาชน...ยังไม่เห็นประชาชนเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเว้นพรรคการเมือง...ณ ขณะนี้เรายังไม่คิดถึงความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"